เเอปพลิเคชั่น – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 07 Jan 2022 13:37:30 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ฮิตรับกระเเส ‘metaverse’ ยอดดาวน์โหลดเเอปฯ Oculus ของ Meta พุ่ง 2 ล้านครั้งช่วงปีใหม่ https://positioningmag.com/1369796 Fri, 07 Jan 2022 12:13:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369796 เทรนด์ความนิยมในโลกเสมือนจริงเเรงต่อเนื่อง ยอดดาวน์โหลดเเอปฯ  Oculus’ ของ Meta พุ่งกว่า 2 ล้านครั้ง นับตั้งเเต่ช่วงวันคริสต์มาสที่ผ่านมา 

โดย Oculus เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้เชื่อมต่อกับแว่นสามมิติ Virtual Reality หรือที่เราเรียกกันว่า ‘แว่น VR’ ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ Meta

จากข้อมูลของ Sensor Tower เเละ Apptopia บริษัทวิจัยข้อมูลด้านแอปพลิเคชันมือถือ ระบุว่า เเว่น Oculus รุ่น Quest 2 ได้กลายเป็นหนึ่งในของขวัญยอดนิยมในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้เเอปฯ Oculus พุ่งขึ้นสู่อันดับต้นๆ ที่มีคนดาวน์โหลดมากที่สุด บน Apple Store และกลายเป็นแอปฯ ฟรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดบน Google Play ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

โดยในช่วงสัปดาห์คริสต์มาสในสหรัฐฯ (23-29 ธ.ค. 2021) มียอดการใช้เเอปฯ Oculus เพิ่มขึ้นถึง 517% เมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์ เเละมีการติดตั้งเเอปฯไปกว่า 1.5 ล้านครั้ง จากนั้นในสัปดาห์ต่อมา หลังจากช่วงเทศกาล ยอดดาวน์โหลดลดลง 77% โดยเหลือการติดตั้งแอปฯ เพียง 345,000 ครั้ง (30 ธ.ค. 2021- 5 ม.ค.2022)

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังคงสูงกว่าสัปดาห์ก่อนช่วงคริสต์มาส ปี 2021 ถึง 42% และมีแนวโน้มว่าการดาวน์โหลดจะยังมีต่อเนื่อง เพราะยังมีกลุ่มผู้ที่เพิ่งได้รับอุปกรณ์ Oculus ชิ้นใหม่นี้มาในช่วงวันหยุด แต่ยังไม่ได้กดตั้งค่าเริ่มใช้งาน

Sensor Tower ประเมินว่า โดยรวมแล้ว แอปฯ Oculus มีการติดตั้งทั่วโลกไปแล้วประมาณ 2 ล้านครั้ง นับตั้งแต่วันคริสต์มาสจนถึงปัจจุบัน พร้อมคาดการณ์ว่าตลอดช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดแอปฯ Oculus ทั้งสิ้นประมาณ 8-10 ล้านครั้ง จาก App Store และ Google Play รวมกัน

ด้าน Apptopia รายงานว่าแอปฯ Oculus ถูกดาวน์โหลดไปเเล้ว 2.189 ล้านครั้งทั่วโลก นับตั้งแต่วันคริสต์มาสจนถึงปัจจุบัน โดยในจำนวนผู้ติดตั้งมากกว่า 2 ล้านครั้งนี้ ประมาณ 79% (ราว 1.727 ล้าน) มาจากผู้บริโภคในสหรัฐฯ

แอปฯ Oculus เปิดตัวครั้งเเรกในเดือนเม.ย. ปี 2018 โดยมียอดการดาวน์โหลดที่ 1.2 ล้านครั้งในปีแรกที่วางตลาด เเละจากนั้นมีการดาวน์โหลด 2.4 ล้านครั้งในปี 2019 ก่อนจะมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2020 เมื่อผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 4.4 ล้านคนติดตั้งแอปฯ ดังกล่าว

– เเว่น VR Oculus Quest 2

โดยหลังจากการเปิดตัวเเว่น VR รุ่น Quest 2 ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 ก็ทำให้มีการติดตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 10.62 ล้านครั้ง เเละส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคในสหรัฐฯ ถึง 68%

เเม้ทาง Meta จะยังไม่ได้ออกมายืนยันตัวเลขดังกล่าว เเต่เมื่อดูจากตัวเลขที่ Qualcomm ผู้ผลิตชิปเจ้าใหญ่ ได้เปิดเผยในช่วงเดือนพ.ย.ของปีที่ผ่านมา ว่าได้ส่งมอบชิปของแว่น Oculus Quest 2 ไปประมาณ 10 ล้านชิ้น ก็มีเเนวโน้มจะเป็นไปได้ตามที่มีการวิเคราะห์

นอกจากนี้ Apptopia ยังเผยถึง ยอดผู้ใช้งานรายวัน หรือ Daily Active Users ของแอปฯ Oculus ว่ามีถึง 2.41 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้จำนวนมากไม่ได้ตั้งค่าแอปฯ เพียงครั้งเดียวแล้วจบหรือเลิกเล่นไป

หลังจากที่ Facebook ประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่เป็น ‘Meta’ เเละวางแผนสำคัญในการสร้างเเพลตฟอร์มโลกเหมือนจริงบน “metaverse” อุปกรณ์ VR ก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าเรือธงของบริษัท ด้วยพยายามจะทำให้เป็นสินค้าที่เข้าถึงได้ง่ายในราคาไม่เเพงมาก ด้วยระดับเริ่มต้นที่ 299 ดอลลาร์  (ราว 1 หมื่นบาท) เหล่านี้จะทำให้กระเเส metaverse เติบโตได้เร็ว เเละมีเเนวโน้มจะกลายเป็นเทรนด์เเห่งอนาคตได้ในที่สุด

 

ที่มา : techcrunch

]]>
1369796
บัตรเครดิตฟื้นตัวปลายปี ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ เร่งดันยอดใช้จ่าย ปล่อยสินเชื่อกลุ่มฟรีเเลนซ์ https://positioningmag.com/1361690 Thu, 11 Nov 2021 16:13:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1361690 สัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์-เปิดประเทศ หนุน ‘ตลาดบัตรเครดิต’ ฟื้นตัวรับโค้งสุดท้ายของปี คนเริ่มใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยว จองโรงเเรมมากขึ้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าทั้งปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเเตะ 2.85 แสนล้าน ลูกค้าใหม่ 3.5 แสนราย รุกปล่อยสินเชื่อออนไลน์จับกลุ่มฟรีเเลนซ์ เน้นใช้ดาต้าทำการตลาด พัฒนานวัตกรรม-เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ดึงลูกค้า 

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ที่ตามปกติเเล้วจะมีการใช้จ่ายมากกว่าช่วงอื่นๆ โดยนโยบายคลายล็อกดาวน์เเละการเปิดประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในทุกหมวด ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะดีขึ้นโดยเฉพาะหมวดช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ท่องเที่ยว และโรงแรม

ปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ผ่านดาต้า

สำหรับ ‘ตลาดสินเชื่อ’ ในไตรมาสสุดท้ายนี้ ก็มีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งมีเทรนด์ที่น่าสนใจคือ สถาบันการเงินทั้งหลายหันมาปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการใช้ ‘ข้อมูลทางเลือก’ ในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อกันมากขึ้น

สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 รวมทั้งต้องการความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ และช่วยตอบสนองความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ 

ช้อปออนไลน์เเรงต่อเนื่อง คนเริ่มกลับมาท่องเที่ยว 

โดยธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้ง บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิต โลตัส วีซ่า มีผลประกอบการตั้งแต่เดือนมกราคมกันยายน 2564 เติบโตต่อเนื่อง โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 199,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 54,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 128,000 ล้านบาท

หมวดใช้จ่ายที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+62%)
2.ประกันภัย (+15%)
3.
ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%)
4.
ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+7%)
5. ร้านสะดวกซื้อ (+6%) 

หากพิจารณาแนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรในเครือของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ พบว่า ยอดใช้จ่ายหมวดช้อปออนไลน์ เดลิเวอรี่ ประกันภัยออนไลน์ จะเติบโตสูง ขณะที่หมวดใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ของใช้ในบ้าน ยาและสุขภาพ ยังคงมียอดใช้จ่ายต่อเนื่อง

“ส่วนหมวดท่องเที่ยว เดินทาง และร้านอาหารยังคงได้รับผลกระทบในเชิงลบ เเต่จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์ในยอดใช้จ่ายโดยการจองตรงกับโรงแรมในบางจังหวัดท่องเที่ยว” 

ฟีเจอร์ใหม่ดึงดูดลูกค้า 

เมื่อผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัว กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีการปรับกลุยทธ์เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น พร้อมการนำเอานนวัตกรรมใหม่ ๆ มายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ

ทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาบริการใหม่ในแอปพลิเคชัน UCHOOSE อย่าง

  • U Cash บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอป โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหรือพร้อมเพย์
  • UCard บริการรับสมัครบัตรใหม่ผ่านทางแอป
  • UMall นำเสนอดีลพิเศษสำหรับสินค้าจากพันธมิตรของบริษัท
  • การเปิดช่องทางบริการใหม่ทาง Krungsri Consumer Line OA และ Facebook
  • การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บัตร Krungsri NOW บัตรเครดิตสำหรับชีวิตดิจิทัลที่มอบเครดิตเงินคืน 5% สำหรับการใช้จ่ายออนไลน์
  • บริการยืนยันตัวตนด้วยเสียง พัฒนา AI มะนาว ที่ให้บริการลูกค้าไปเเล้วกว่า 3.2 ล้านสาย เเละบริการสอบถามข้อมูลบัญชีบัตรผ่านทาง FB Messenger
  • บริการ ‘เเตะเพื่อจ่าย’ อำนวยความสะดวกในการใช้บัตร 

อ่านเพิ่มเติม : เทรนด์ Virtual Card มาเเรง กรุงศรี ส่ง ‘บัตร NOW’ จับใจคนรุ่นใหม่ กระตุ้นใช้จ่ายด้วย ‘เเคชเเบ็ก’

ขยายต่ออาเซียน 

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังจะผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี กรุ๊ปและพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด พร้อมกับหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ รวมทั้งขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และล่าสุดที่เวียดนาม “โดยจะมีการปรับเเผนผ่อนชำระเพิ่มเติม รุกธุรกิจคาร์ฟอร์เเคช สินเชื่อรถยนต์” 

การดำเนินงานจะควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม และการดูแลช่วยเหลือลูกค้าและพนักงานที่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือ 7,000 ล้านบาท กว่า 1 แสนราย

“จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างๆ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ คาดว่าทั้งปี 2564 จะหนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 2.85 แสนล้านบาท เติบโต 3%  ยอดสินเชื่อใหม่ 76,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท” 

 

]]>
1361690
รู้จัก FINNIX เเอปเงินกู้ เเก้ปมผู้มีรายได้น้อย เข้าไม่ถึงแบงก์ หวังดึงคนออกจากหนี้นอกระบบ https://positioningmag.com/1349907 Fri, 03 Sep 2021 04:00:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1349907 Finnix (ฟินนิกซ์) นาโนไฟเเนนซ์น้องใหม่ในไทย ที่เปิดตัวมาด้วยสโลเเกนแอปเงินกู้คู่คนทำมาหากินเจาะใจคนรายได้น้อย กับความมุ่งหมายเเก้ปัญหาหนี้นอกระบบ 

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ คนดิ้นรนหาเงินกู้เงินด่วนมาใช้ต่อลมหายใจธุรกิจ ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ตลาดนาโนไฟแนนซ์ในไทยมูลค่า 2 เเสนล้านบาท (ผู้เล่นที่ลงทะเบียนถูกกฎหมายราว 7 หมื่นล้านบาท) เเข่งขันกันดุเดือดขึ้น

สอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนของคนไทยที่สูงขึ้นมากในช่วงโควิด-19 ไตรมาสปีนี้พุ่งสูงกว่า 90% ต่อ GDP สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หรือไม่มีเอกสารยืนยันบัญชีการเงิน ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของสถาบันการเงินได้ เป็นโอกาสของธุรกิจนาโนไฟเเนนซ์ที่จะเข้ามาอุดช่องโหว่นี้

หลังเปิดตัวมาได้ 14 เดือน Finnix มียอดดาวน์โหลดถึง 3.5 ล้านครั้ง ในส่วนนี้ได้กลายมาเป็นลูกค้าปัจจุบัน 2.5 เเสนราย เเละปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท ตั้งเป้าปิดยอดได้ 5 พันล้าน พร้อมปั๊มยอดลูกค้าเพิ่มเป็น 3 เเสนราย ภายในสิ้นปี 2564

Finnix เป็นแอปฯ เงินกู้ดิจิทัลของมันนิกซ์’ (MONIX) บริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพร่วมทุนระหว่างประเทศของ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ AbakusGroup ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีน

โดยรีแบรนด์จากเเอปฯ ห้าให้มันนี่ มาเป็นชื่อ Finnix เมื่อช่วงเดือนเม..ที่ผ่านมา ยังคงกลุ่มเป้าหมายเดิม คือผู้มีรายได้น้อย ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน

คนไทย 36 ล้านคน มีปัญหาการขอสินเชื่อ

ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด เล่าว่า ปัจจุบัน มีคนไทยกว่า 36 ล้านคนที่ประสบปัญหาการขอสินเชื่อ เเบ่งเป็น ผู้มีรายได้ไม่ถึง 20,000 บาท ราว 8 ล้านคน และไม่มีสลิปเงินเดือนให้ยื่นกู้กับสถาบันการเงินทั่วไปได้อีก 28 ล้านคน

เหล่านี้ เป็นโอกาสที่มันนิกซ์จะเข้ามาในตลาดนี้ และตัดสินใจว่าจะทำผลิตภัณฑ์แรกในรูปแบบสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือคนทำมาหากินให้ได้ อย่างน้อยราว 20% หรือ 7.2 ล้านคน ในช่วงเริ่มต้น

โดยจับจุด ‘Pain Point’  ของคนที่มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงการกู้เงิน คือ โอกาสได้รับอนุมัติน้อย , รอผลอนุมัตินาน , ใช้เอกสารเยอะ , วิธีการสมัครยาก เเละอัตราดอกเบี้ยสูง

Finnix จึงเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ภายในเเอปฯ อย่างการกำหนดวงเงินกู้ตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาทเพื่อตอบโจทย์คนหลายกลุ่ม ทั้งคนที่เเค่อยากหมุนเงินเล็กๆ น้อยๆ หลักพัน ไปจนถึงพยุงธุรกิจด้วยเงินหลักเเสน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 33% ต่อปี หรือ 2.75% ต่อเดือน  

ชำระเฉพาะดอกเบี้ย เพื่อรักษาเครดิตได้ เเต่หากผิดนัดชำระเกิน 30 วัน บริษัทจำเป็นต้องรายงานต่อบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เเละหากผิดนัดชำระเกิน 180 วัน ต้องบอกเลิกสัญญาและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

พิจารณาให้สินเชื่อด้วย ‘Alternative Data’

สำหรับการสมัครของสินเชื่อ หลังโหลดเเอปพลิเคชัน หากเป็น ลูกค้าเดิมของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือมีแอปพลิเคชัน SCB Easy ก็สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียว ในการยืนยันตัวตนได้เลย โดยไม่ต้องเเนบ statement ย้อนหลัง

เเต่ถ้าหากไม่ได้เป็นลูกค้า SCB Easy มาก่อน จำเป็นต้องส่งไฟล์ statement ของธนาคารอื่นๆมาให้ทางแอปฯพิจารณา

เมื่อถามว่าหากมีการใช้เเค่บัตรประชาชนใบเดียวในการกู้เงินทางเเอปฯ มีการประเมินความเสี่ยงอย่างไร ?

ถิรนันท์ ตอบว่า Finnix จะเน้นไปที่การดู Alternative Data ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินอื่นๆ อย่างการขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลรายชื่อในโทรศัพท์มือถือของผู้กู้ 

เราจะนำเอา Alternative Data ตรงนี้ ไปใช้ในการประมวลผล การพิจารณาสินเชื่อ ไม่ได้เอาข้อมูลไปการันตี หรือทำอันตรายใด ๆ เป็นทางเเก้กรณีที่ลูกค้าไม่ได้มีการเดินบัญชีในธนาคาร หรือใช้ชีวิตด้วยเงินสด

โดยจุดเด่นของ Finnix ที่จะทำให้เเข่งในตลาดนี้ได้ เธอบอกว่า คืออนุมัติสินเชื่อภายใน 5 นาที เเละรูปแบบการผ่อนชำระที่ยืดหยุ่นที่เหมาะสมกับลูกค้า เช่น เปิดให้ชำระชั้นต่ำ หรือชำระดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวได้ เพื่อรักษาประวัติทางการเงิน หรือเเบ่งชำระตามกระแสเงินสดของลูกค้า เช่น เลือกชำระแบบงวด 3, 6 และ 12 เดือน

ถ้ามีวินัยทางการเงิน จ่ายค่างวดตรงเวลา จะมีเกมล่าดาวให้ร่วมสนุก เพื่อรักษาเครดิตตามเงื่อนไข ถ้าชำระสินเชื่อภายใน 3 วันก่อนถึงครบกำหนดชำระหรือในวันครบกำหนดชำระ ก็จะได้รับดาว 1 ดวง เมื่อสะสมดาวครบ 3 ดวง จะได้รับกล่องสมบัติไปเปิดลุ้นรับรางวัลได้ทันที (เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด)

การใช้เทคโนโลยี AI และ Machine Learning ทำให้ประเมินความเสี่ยงของลูกค้าได้รวดเร็วแม่นยำ และเราเป็นแพลตฟอร์มสินเชื่อในรูปแบบออนไลน์ 100% เข้าถึงได้ทุกพื้นที่ แค่ลูกค้ามีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ดึงคนออกจาก ‘หนี้นอกระบบ’ 

ปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยของผู้กู้อยู่ที่ 7,000 – 12,000 บาทต่อเดือน เเละ Finnix มีวงเงินที่อนุมัติเฉลี่ย อยู่ระหว่าง 10,000 – 15,000 บาท เรตในการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) อยู่ที่ 25%

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พบว่าในช่วงโควิด-19 ระลอก 3 ลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง โดยบริษัทพยายามจะคุม NPLให้อยู่ในกรอบ 1 ดิจิต

ผู้บริหาร Finnix ประเมินตลาดนาโนไฟแนนซ์ในไทย ยังมีโอกาสขยายตัวได้ดี เเม้จะมีคู่เเข่งขึ้นมาหลายเจ้า เเต่ยังไม่มากเท่าตลาดอื่นนัก ส่วนตลาดเพื่อนบ้านในอาเซียนก็มีความน่าสนใจมาก อย่างอินโดนีเซีย ที่มีพฤติกรรมใช้เงินไม่มาก แต่ใช้บ่อยมีการใช้จ่ายก้อนใหญ่ในเเต่ละปี ซึ่งจะมีการขยายสู่ระดับภูมิภาคต่อไป

เป้าหมายของเราคือการดึงคนรายได้น้อย ออกจากปัญหาหนี้นอกระบบที่เสี่ยงอันตราย ด้วยแอปฯ กู้เงินที่ถูกกฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการให้โอกาสคนมีวินัย เเต่รายได้น้อย ให้มีการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ให้ความรู้ในการจัดการการเงินในระยะยาว

 

]]>
1349907
ส่องการทำงานของ ‘Coronapas’ หลังเดนมาร์ก เปิดใช้เป็นประเทศแรกในยุโรป เร่งฟื้นเศรษฐกิจ https://positioningmag.com/1328684 Wed, 21 Apr 2021 10:57:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328684 ภาพของเเฟนบอลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปชมการเเข่งขันในสนามกีฬา ร้านอาหารที่เต็มไปด้วยผู้คน เเละพิพิธภัณฑ์ที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เกิดขึ้นหลังเดนมาร์ก ประสบความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 พร้อมเดินหน้าผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ

ล่าสุดเดนมาร์ก’ เดินหน้าใช้ ‘Coronapas’ (โคโรนาพาส) หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า Corona Passport เป็นประเทศแรกในยุโรป เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ ทางการตั้งเป้าว่าจะใชั Coronapas ได้ในช่วงกลางปี โดยจะเริ่มจากกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศก่อน จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เเต่ตอนนี้มีความคืบหน้าไปเร็วกว่าที่คิด

Coronapas เป็นข้อมูลดิจิทัลที่จะเเสดงผลสุขภาพเกี่ยวกับ COVID-19 บนเเอปพลิเคชั่นในมือถืออย่างผลการตรวจหาเชื้อว่าเป็นลบ (Negative) ในช่วง 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา รวมถึงประวัติการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา หรือประวัติการติดเชื้อในช่วง 2-12 สัปดาห์ก่อนหน้า

สำหรับ Coronapas ของเดนมาร์กนั้นจะเเสดงข้อมูลในเเอปพลิเคชั่น ‘MinSundhed’ (MyHealth) ที่เชื่อมต่อกับเลขประจำตัวประชาชน ของผู้ที่พำนักในประเทศทุกคน ซึ่งจะมีรหัส CPR เพื่อใช้ระบุตัวตนพร้อมกับบัตรสุขภาพสีเหลืองที่มีบาร์โค้ด

เมื่อเข้าไปใช้บริการตรวจหาการติดเชื้อ COVID-19 ในโรงพยาบาลหรือศูนย์สุขภาพของรัฐ จะมีการให้สแกนบาร์โค้ดหรือกรอกรหัส CPR ดังกล่าว จากนั้นจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลบันทึกและแสดงผลใน Coronapas ของผู้ใช้ทันที เเละสามารถยื่นขอใบรับรองเเบบกระดาษได้

โดยมีการกำหนดให้เเสดงข้อมูล Coronapas ก่อนเข้าใช้บริการร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ สนามเเข่งขันกีฬา สวนสัตว์ เเละพื้นที่สาธารณะที่มีการชุมนุมของคนหมู่มาก ซึ่งต่อไปจะมีการขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น เเละใครฝ่าฝืนอาจต้องโทษปรับ (เด็กเล็กได้รับการยกเว้น)

ด้านคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เสนอให้มีการออกใบอนุญาตเดินทางระบบดิจิทัล หรือ ‘Digital Green Pass’ เพื่อเปิดพรมเเดนให้ผู้คนเดินทางเเละร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรม ‘ท่องเที่ยว’ ของประเทศสมาชิก คาดเปิดตัวภายในสิ้นเดือนมิถุนายน

เเต่ประเด็นความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวนั้นยังมีการถกเถียงกันในบางประเทศ แต่เดนมาร์กเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ยอมรับแนวคิดนี้อย่างเต็มที่

Mette Frederiksen นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ระบุว่า เราจะกลับมาขับเคลื่อนประเทศได้อีกครั้ง ตรงกันข้ามกับหลายประเทศที่กำลังประสบอยู่ปัญหาอยู่

Photo : Shutterstock

ฝั่งความเห็นของประชาชน จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า ส่วนใหญ่ยอมรับ การใช้ Coronapas โดยกว่า 67% ของชาวเดนมาร์กคิดว่าหนังสือเดินทางดิจิทัลเป็นไอเดียที่ดี ขณะที่มีเพียง 16% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

สวนสัตว์เเห่งหนึ่งในกรุงโคเปนเฮเกน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเเห่งเเรกที่ทดลองใช้ Coronapas มีบรรยากาศสุดคึกคัก เต็มด้วยครอบครัวที่พาลูกหลานมาต่อคิวเข้าชมจำนวนมาก

มันทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นผู้ปกครองคนหนึ่งบอกกับ BBC เเละอีกคนบอกว่า “ฉันคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในตอนนี้” ขณะที่มีพ่อเเม่บางคนเห็นว่า “ฉันไม่คิดว่าเราต้องการมัน (Coronapas) จริงๆ”

‘เดนมาร์ก’ มีประชากรทั้งหมดราว 5.8 ล้านคน มีอัตราการทดสอบหา COVID-19 ต่อประชากรสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 สวนทางกับหลายประเทศในยุโรปที่ยังต้องเผชิญกับความลำบากในการจัดการโรค

โดยชาวเดนมาร์กราว 1 ใน 5 ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มเเรกเเล้ว เเละตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่ทุกคนให้ได้ภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้ ดังนั้นระบบการทดสอบที่เข้มงวดจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการบังคับใช้  ‘Coronapas’

 

ที่มา : BBC , healthcareitnews 

]]>
1328684
‘Google’ ลดค่าธรรมเนียม Play Store เหลือ 15% ให้นักพัฒนารายได้ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี https://positioningmag.com/1323783 Wed, 17 Mar 2021 10:12:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1323783 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ‘Google’ ประกาศลดค่าบริการที่เรียกเก็บจากนักพัฒนาแอป
พลิเคชัน ที่มีให้ดาวน์โหลดบน Play Store ลงครึ่งหนึ่งเพื่อช่วยรายย่อยที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาธุรกิจ

Google จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้านค้า เหลือ 15% จากเดิม 30% สำหรับผู้มีรายได้ 1 ล้านดอลลาร์แรกต่อปี โดยจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 .. ที่จะถึงนี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าง มีขึ้นหลังคู่เเข่งอย่าง Apple ประกาศลดค่าธรรมเนียมการขายเเอปพลิเคชันบน App Store ให้กับนักพัฒนาที่ทำรายได้ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์เเรกต่อปี โดยเสียค่าธรรมเนียม 15% จากเดิม 30% เช่นกัน ภายใต้โครงการ App Store Small Business Program ซึ่งมีผลบังคับใช้เเล้วตั้งเเต่ 1 .. 2021 เป็นต้นมา

ที่ผ่านมาบริษัทเทครายใหญ่ทั้ง Google , Apple , Microsoft เเละ Spotify ต่างโดนกดดันเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้พัฒนารายย่อย ผลักภาระให้ผู้บริโภคโดยการเพิ่มราคาเเอปพลิเคชัน

Sameer Samat รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Google ระบุว่า นโยบายที่เปลี่ยนเเปลงครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อนักพัฒนากว่า 99% ใน Play Store เพราะจะช่วยให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำเงินทุนไปต่อยอดด้านอื่นๆ ในช่วงที่กำลังพัฒนาธุรกิจเเละยังมีรายได้เข้ามาไม่มากนัก

ด้าน Epic Game บริษัทผู้พัฒนาเกมชื่อดังอย่าง Fortnite ให้ความเห็นกับ Reuters ว่า การลดค่าบริการของ Google จะช่วยลดภาระทางการเงินของเหล่านักพัฒนาแอปพลิเคชันได้เพียงเล็กน้อยเนื่องจากในการพัฒนาแอปพลิเคชันแต่ละครั้งนั้น ต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าการปรับลดค่าธรรมเนียมครั้งนี้ จะมีผลทางการเงินของ Google มากน้อยเพียงใด

โดยข้อมูลจาก Sensor Tower เผยว่า ในปี 2020 ยอดใช้จ่ายของลูกค้าบน Google Play Store มีอยู่ราว 3.88 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่า Google จะทำเงินจากค่าธรรมเนียมที่ตัดไป 30% ราว 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ที่มา : Reuters , Google

]]>
1323783
Zoom ดาวรุ่งจากโควิด ยอดขายพุ่ง 326% มองปีนี้โตได้อีก ‘ทำงานที่ไหนก็ได้’ คือเทรนด์เเห่งอนาคต https://positioningmag.com/1321639 Wed, 03 Mar 2021 06:20:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321639 เเอปพลิเคชันวิดีโอคอล ‘Zoom’ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เเจ้งเกิดได้อย่างสวยงาม ในช่วงวิกฤตโรคระบาด เมื่อผู้คนต้องทำงานทางไกล เเละเรียนออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์ กลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตใหม่ที่จะดำเนินต่อไปเเม้ผ่านพ้น COVID-19

โดยในปี 2020 บริษัททำยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 326% สู่ระดับ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 671.5 ล้านดอลลาร์ จากเพียง 21.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 เท่า

Zoom Video Communications Inc. เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 4/2020 (..2020 – ..2021) มีรายได้อยู่ที่ 882.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 369% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 69.7% เพิ่มขึ้นจากในไตรมาสที่ 3/2020 ซึ่งอยู่ที่ 66.7%

‘Zoom’ ดังเป็นพลุเเตกชั่วข้ามคืน กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มหลักที่หลายองค์กรเลือกใช้สำหรับสื่อสารทางไกลระหว่างการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้

นผีที่ผ่านมา การเเข่งขันเพื่อชิงตลาดของแอปพลิเคชันประชุมทางไกล เรียกได้ว่าถึงขั้นดุเดือดเมื่อ Zoom ต้องเจอคู่แข่งรายใหญ่ที่ก่อตั้งมานานอย่าง WebEx ของ Cisco, Google Hangouts และ Microsoft Teams 

อีริค หยวนผู้ก่อตั้ง Zoom ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Zoom บอกว่า ตัวเลขยอดขายไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก นับเป็นปีที่มีสิ่งที่คาดไม่ถึง เกิดขึ้นมากมาย

เเม้ตอนนี้สถานการณ์โรคระบาดจะกลับดีมาดีขึ้น เเละมีการกระจายวัคซีนทั่วโลก เเต่เขาเชื่อว่า Zoom จะเติบโตได้ต่อเนื่อง ถึงจะไม่พุ่งเท่ากับปีก่อนก็ตาม การทำงานของ Zoom เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

อีริคมองว่าการ ‘ทำงานที่ไหนก็ได้’ เเบบ Remote Working จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเทรนด์เเห่งอนาคต และแพลตฟอร์มของบริษัทจะยังคงตอบสนองกับเทรนด์นี้ เเละเตรียมความพร้อมให้กับผู้ใช้บริการต่อไป

โดยในปี 2021 บริษัทตั้งเป้าจะเติบโตมากกว่า 40% เพื่อทำยอดขายให้เเตะระดับ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้อัตราการเติบโตจะไม่มากเท่ากับปี 2020 ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เเต่เชื่อว่าจะเป็นการเติบโตที่มั่นคงเเละยั่งยืนมากขึ้น

ต้องติดตามดูว่า Zoom จะมีกลยุทธ์เเละฟีเจอร์ใหม่ๆ อะไรออกมาดึงดูดลูกค้าในปีนี้ เมื่อผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ พร้อมๆ กับที่บริษัทเทคเจ้าใหญ่ต่างเร่งเครื่องพัฒนาเเพลตฟอร์มวิดีโอคอล เพื่อเเข่งขันในตลาดนี้อย่างเต็มรูปเเบบ

 

]]>
1321639
นายกฯ เกาหลีใต้ เปิด ‘Clubhouse’ คุย-ถามตอบ ปัญหาบ้านเมืองกับประชาชนโดยตรง https://positioningmag.com/1320322 Mon, 22 Feb 2021 04:40:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320322 ดังพลุเเตกจนยอดดาวน์โหลดทะลุ 8 ล้านครั้งไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ Clubhouse โซเชียลมีเดียน้องใหม่มาเเรง ที่เหล่าคนดังหลากหลายวงการเข้ามาร่วมเเจม ได้รับความนิยมต่อเนื่อง ล่าสุดขยายไปยังฝั่งการเมืองในเกาหลีใต้เเล้ว 

โดย ‘Chung Sye-kyun’ นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ได้เข้าร่วมแอปพลิเคชันสนทนาด้วยเสียง ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างClubhouse – Drop-in Audio Chat’ ในชื่อเเอคเคาท์ @gyunvely ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้นำการเมืองระดับอาวุโสที่เข้าร่วมใช้งานในแอปฯ นี้

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ มียอดผู้ติดตามใน Clubhouse เกือบ 500 บัญชี และได้มีการติดตามบัญชีอื่น ๆ เกือบ 200 บัญชี

เขาระบุในคำบรรยายโปรไฟล์ว่า ‘That Yellow Jacket Guy’ อ้างอิงถึงเครื่องแบบป้องกันพลเรือน ที่นักการเมืองเกาหลีใต้มักจะสวมใส่ในช่วงวิกฤต (เช่น ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19) เหมือนกับรูปโปรไฟล์ของเขาที่เป็นรูปการ์ตูนสวมเครื่องแบบสีเหลือง

screenshot from techcrunch.com via Clubhouse

นายกรัฐมนตรี Chung ได้ร่วมสนทนาใน Clubhouse เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง โดยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่าผมได้ยินมาว่าแอปฯ นี้กำลังฮอต เลยจะพยายามเข้าไปเล่นตอนกลางคืน

ระหว่างการสนทนา ก็มีคำถามถึงเขามากมาย เช่น เป็นนายกฯ ตัวจริงหรือไม่ ไปจนถึงคำถามเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจเเละสังคม อย่าง ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น และความรุนแรงเเละการคุกคามในวงการกีฬา ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ของเกาหลีใต้ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยเขารู้สึกตกใจเล็กน้อยกับคำถามและปฏิกิริยาที่คาดไม่ถึงของประชาชน เพราะการพูดคุยจะใช้เสียงเท่านั้น ทำให้ทุกคนสามารถสนทนากันได้โดยไม่ต้องสงวนท่าที เเต่ก็มองว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่สนุกดี เเละคิดว่าต่อไปจะเข้าร่วมเป็นครั้งคราว

ผมคิดว่ามันเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดีกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เราไม่ต้องสนทนากันต่อหน้า

ความนิยมของ Clubhouse ที่ขยายไปทั่วโลก กำลังเป็นความท้าทายของเเพลตฟอร์มที่ต้องทำขึ้นเพื่อรองรับผู้ใช้จำนวนมาก การหาเงินทุน รวมไปถึงการกลั่นกรองข้อมูล เเละระบบความปลอดภัยที่ต้องได้รับการปรับปรุงเเละพัฒนาต่อไป

 

 

ที่มา : techcrunch , Facebook : 정세균 

]]>
1320322
รู้จัก MAKE เเอปฯ โมบายเเบงกิ้งจาก KBank เจาะใจ “คนรุ่นใหม่” กลยุทธ์ปูทางสู่ธนาคาร 5.0 https://positioningmag.com/1289276 Thu, 23 Jul 2020 11:33:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1289276 ในยุคนี้เเอปพลิเคชันโมบายเเบงกิ้งถือเป็นเเอปฯ จำเป็นที่ต้องมีไว้ในสมาร์ทโฟนไปเเล้ว ทำให้ธนาคารต่างๆ กำลังเปิดศึกเเย่งฐานผู้ใช้กันอย่างดุเดือด ไม่ใช่เเค่ในไทยเเต่มีเป้าหมายจะขยายไปทั่วอาเซียน โดยเน้นไปที่การเจาะใจคนรุ่นใหม่

ล่าสุดธนาคารใหญ่ในไทยอย่างกสิกรไทย” (KBank) เปิดตัวแอปพลิเคชัน MAKE by KBank เพื่อมาตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New Normal ที่ใช้ชีวิตเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ คาดว่าจะเปิดตัวเป็นทางการได้ในช่วงไตรมาส 4 เเละตั้งเป้าจะมียอดเปิดใช้แสนบัญชีภายในสิ้นปีนี้

เเม้ว่ากสิกรไทยจะมี K PLUS เป็นโมบายแบงกิ้งที่มีลูกค้าใช้บริการ 13 ล้านราย (อันดับ 1 ในไทย) อยู่แล้ว เเต่การมาของ MAKE ครั้งนี้ ทางทีมงานบอกว่าจะเป็นการ Re-imagining ครั้งใหญ่เเละเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การยกระดับเป็นธนาคาร 5.0 เลยทีเดียว

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวถึงท่ีมาของ MAKE ว่า ต้องการตอบโจทย์การบริหารเงินของคนรุ่นใหม่อย่างดีที่สุด ทำให้ธนาคารต้องคิด ไม่ยึดติดขนบเดิม จึงมีการทดลองสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ธนาคารไปอยู่ทุกที่ในช่วงเวลาของชีวิตของทุกคน

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา KBank เริ่มทยอยเปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินยุคดิจิทัล เช่น 6 เทคโนโลยีใหม่แบบไร้สัมผัส เเละ “ขุนทอง” เป็นแชทบอทเหรัญญิกช่วยคิดการแชร์ค่าอาหาร รวมถึง Eatable แพลตฟอร์มจัดการร้านอาหารที่มีทั้งส่วนบริการในร้าน รับออเดอร์ เรียกพนักงานหรือรับชำระเงิน เเละมีบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ด้วย 

สำหรับ MAKE by KBank จะเน้นให้ลูกค้ารู้สึก “สะดวก-สบาย-สนุก” เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ สามารถทำกิจกรรมทางการเงินโดยที่ไม่ต้องจำเลขบัญชี ไม่ต้องมีเบอร์โทร ผ่าน 3 พฤติกรรมหลักอย่าง ได้เเก่ บริการโอนเงินผ่านบลูทูธ บันทึกประวัติการทำธุรกรรมในรูปแบบแชท และช่องทางจัดเก็บเงินตามความต้องการของเเต่ละบุคคล

MAKE อ่านพ้องเสียงไปกับคำในภาษาไทยว่า “เมฆ” ดังนั้นโลโก้จึงเป็นรูปก้อนเมฆที่มีความโค้งมน ไม่สมมาตรเเต่มีไดนามิก มีการดีไซน์เเอปพลิเคชันโดยเเบ่งโหมดค่าใช้จ่ายตามสีของท้องฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ” 

โดยการออกแบบฟีเจอร์ต่างๆ ของ MAKE มีแนวคิดหลักจาก

  • MAKE it Social ตอบรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตกับเทคโนโลยี ให้ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการเงินด้วยตัวเอง และสามารถแชร์ร่วมกันระหว่างเพื่อนหรือบุคคลที่ต้องการได้
  • MAKE it Fast พัฒนาเทคโนโลยีและออกแบบฟีเจอร์ที่ทำให้การจัดการการเงินสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
  • MAKE it Scalable สามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มการใช้โมบายแบงกิ้งมากขึ้น

ในเฟสเเรก MAKE by KBank จะประกอบด้วย 3 ฟีเจอร์หลัก ที่เหมาะกับชีวิตประจำวันยุค New Normal ที่ต้องการจัดการทุกอย่างผ่านบัญชีธนาคารเดียว

Pop Pay บริการโอนเงินที่สะดวกและรวดเร็ว เพราะสามารถโอนเงินผ่านบลูทูธ ให้คนที่อยู่ในระยะ 10 เมตรได้เลยโดยไม่ต้องขอเลขบัญชี หมายเลขโทรศัพท์ หรือ QR Code จากอีกฝ่าย ยกระดับวิธีโอนเงินแบบ Contactless เพียงแค่กดเลือกไอคอนเพื่อนที่มีบัญชี MAKE by KBank เหมือนกันและอยู่ในรัศมีที่กำหนด ก็กดส่งเงินได้เลย (ซึ่งจะมีชื่อจริงของเพื่อนให้เราเช็กก่อนกดโอน)

Chat Banking บันทึกรายการการทำธุรกรรมสไตล์ใหม่ที่ผู้ใช้สามารถเก็บบันทึกประวัติการโอนเงินระหว่างเพื่อนเป็นรูปแบบของโซเชียลแชท (Social Chat) คล้ายคลึงกับบริการส่งข้อความหรือแอปแชทที่ใช้กันทั่วไป โดยผู้โอนเงินสามารถแนบรูปภาพหรือเขียนบันทึกของการโอนนั้นๆ ได้เพื่อให้ง่ายต่อการย้อนดูภายหลัง

Cloud Pocket  สามารถสร้างกระเป๋าเงินย่อยไว้แยกเก็บเงินในบัญชีได้ไม่จำกัดจำนวน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ ได้ สร้างเป็น Cloud Pocket ส่วนตัว เพื่อจัดสรรเงินสำหรับการใช้ส่วนบุคคล เช่น เงินออม ค่าใช้จ่ายรายเดือนของบริการต่างๆ ค่าของขวัญสำหรับคนพิเศษ ค่าช้อปปิ้ง หรือจะชวนเพื่อนมาร่วม Cloud Pocket ของเรา เพื่อเก็บเงินเป็นกองกลางเพื่อใช้ทำกิจกรรม ไปทริป หรือซื้อของร่วมกัน สร้างความเป็น Community-Based มากขึ้นก็ได้เช่นกัน สามารถย้ายเงินข้าม Pocket ได้อย่างสะดวก ไม่จำกัดจำนวนครั้ง รวมทั้งมีการแจ้งเตือนเวลามีเงินโอนเข้า และยังสามารถตั้งค่าโอนอัตโนมัติได้อีกด้วย

 

สำหรับการเปิดบัญชีเพื่อใช้งาน ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน MAKE by KBank ก่อน จากนั้นระบบจะให้ยืนยันตัตนผ่าน KPLUS เหมือนการเปิดบัญชีออมทรัพย์ปกติ โดยผู้ใช้สามารถทำการถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มโดยไม่ใช้บัตรได้ (กดไอคอน MAKE ที่หน้าจอตู้เอทีเอ็ม) หากต้องการโอนเงินก็สามารถทำได้ปกติเพียงมีเลขบัญชีผู้รับปลายทาง

ทั้งนี้ แอปฯ MAKE ยังต้องยืนยันตัวตนผู้ใช้ผ่าน KPLUS ไปก่อนในช่วงนี้ ซึ่งทำให้ผู้ใช้ต้องติดตั้งทั้ง 2 แอปฯ แต่ในอนาคต ทีมงานเตรียมจะพัฒนาให้เป็นแอปฯ ที่สมบูรณ์ในตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเเอปฯ หลักของธนาคาร

โดยตอนนี้ MAKE ยังอยู่ในช่วงที่ให้พนักงานธนาคารกสิกรไทยและ KBTG (ราว 2 หมื่นคน) ได้ทดลองใช้งานก่อน สำหรับลูกค้าหรือบุคคลที่สนใจร่วมทดลองใช้งานเป็นกลุ่มแรก สามารถลงทะเบียนได้ (ที่นี่) เพื่อช่วยให้ทางทีมพัฒนาสามารถรับความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการบริการ ก่อนที่จะเปิดให้ลูกค้าทั่วไปได้ใช้งานเต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2563 ในระหว่างนี้ทางธนาคารยังเปิดประกวดไอเดียการสร้างฟีเจอร์ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ชิงเงินรางวัลรวม 60,000 บาทด้วย (อ่านรายละเอียด ที่นี่)

การเปิดตัว MAKE by KBank ในปีนี้ นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของธนาคารที่ต้องการจะเพิ่มยอดการ “เปิดบัญชีใหม่” ในช่วงสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมา “ออมเงิน” มากขึ้น เพราะความไม่เเน่นอนของชีวิตเเละหน้าที่การงาน

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า MAKE จะมาทับซ้อนหรือเเย่งฐานลูกค้าของเเอปฯ หลักอย่าง KPLUS หรือไม่นั้น ผู้บริหาร KBTG ตอบว่า เป็นการเชื่อมโยงกันมากกว่า เพราะทั้งสองมีเป้าหมายลูกค้าที่เเตกต่างกันเเน่ชัด โดย KPLUS จะเป็นเเอปฯ ที่ทำเพื่อผู้ใช้ทุกคน ครอบคลุมเเละมีบริการครบวงจรของธนาคาร ส่วน MAKE จะเน้นไปที่คนรุ่นใหม่ Gen Y-Z ที่นิยมเปิดบัญชีหลายบัญชี มีไลฟ์สไตล์เเละกิจกรรมที่หลากหลาย ชื่นชอบการใช้เทคโนโลยี

“ในอนาคตอาจจะมีการนำฟีเจอร์ของ MAKE ไปอยู่ใน KPLUS หรือเเอปฯ ขุนทอง หรือนำฟีเจอร์ของ KPLUS มาใส่ใน MAKE ด้วยก็ได้ เป็นการเชื่อมต่อระหว่างกัน ซึ่งเราจะมีการพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่ๆ มาให้ใช้ตลอด นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น KBank ยังจะมีนวัตกรรมใหม่มาเปิดตัวอีก อย่างเร็วก็ในช่วงเดือนหน้านี้” 

 

]]>
1289276
รู้จัก Kept เเอปฯ “ออมเงิน” แก้ปัญหา Gen Y-Z เก็บเงินไม่อยู่ ตั้งเป้าดึงเงินฝากเพิ่ม 4-5 พันล้าน https://positioningmag.com/1285987 Wed, 01 Jul 2020 09:36:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285987 การเพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้คนหันมาออมเงินมากขึ้น เพราะความไม่เเน่นอนของชีวิตเเละหน้าที่การงาน ขณะเดียวกันเหล่านักลงทุนรายย่อย ก็หลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเเละหันมาฝากเงินมากขึ้นเช่นกัน

จากข้อมูลของธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า การออมของคนไทย มีจำนวนบัญชีเงินฝากรวม 102 ล้านบัญชี มียอดเงินฝากรวม 15 ล้านล้านบาท โดยพบว่ากว่า 86.6% มียอดเงินฝากเฉลี่ยต่ำกว่า 5,000 บาทต่อบัญชีเท่านั้น

ขณะที่บริษัทข้อมูลเครดิตเเห่งชาติ (NCB) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยคนไทยอายุ 30 ปี ถึง 50% มีหนี้ และยิ่งไปกว่านั้นคือ 1 ใน 5 ของคนในช่วงอายุ 29-30 ปี มีหนี้เสีย

พร้อมกันนั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่ไทย ยังมีการวางแผนทางการเงินในระดับต่ำ โดยเฉพาะกลุ่ม first jobber ที่มักมีทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อการออมน้อยกว่าคนรุ่นก่อน ดังนั้นวินัยการเก็บเงินของคนรุ่นใหม่ชาว Gen Y เเละ Gen Z จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเเละส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย

ในอีกมุมหนึ่งเมื่อคนไทยมีความระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้นในช่วงนี้ ก็เป็นโอกาสของสถานบันการเงินที่จะเข้ามาเพิ่มยอดเงินฝากนั่นเอง

ล่าสุด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดตัว Kept (เคป) แพลตฟอร์มบริหารเงินที่คำนึงถึง pain point ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการออมเงินอย่างมีระบบ ดึงดูดด้วยดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าฝากประจำทั่วไป

พงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  ตั้งแต่ต้นปี 2020 ที่ผ่านมา มีการออมผ่านบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกรุงศรีฯ โตถึง 8% ถือเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เงินฝากจะมีอัตราเติบโตเพียง 4-5% เท่านั้น

ขณะที่ตัวเลขผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้งของทั้งระบบเพิ่มสูงถึง 63 ล้านคน คิดเป็นการเติบโต 28% จำนวนธุรกรรมมากกว่า 523 ล้านรายการ เติบโต 14% สอดคล้องกับ Krungsri Mobile Application (KMA) ที่เติบโตในแง่ฐานลูกค้า 12% และในแง่จำนวนรายการ 21%

เมื่อยอดการออมเเละการใช้โมบายแบงกิ้งพุ่งสูงขึ้นพร้อมๆ กัน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดตัวเเอปฯ Kept ในช่วงนี้ ผ่านแนวคิด small change for BIG FUTURE #ปรับนิดชีวิตเปลี่ยน ช่วยให้การออมเงินเป็นเรื่องง่าย สนุกและสำเร็จจริง

Kept : ระบบ 1 กระเป๋า 2 กระปุก

จุดเด่นคือ Kept จะมาเป็นผู้ช่วยการออมเงินด้วยฟีเจอร์อัตโนมัติที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามรูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้าผ่าน 3 บัญชี คือ บัญชี Kept บัญชี Grow และบัญชี Fun ที่ทำงานร่วมกันในระบบ 1 กระเป๋า 2 กระปุกโดยมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่สูง 1.7%ต่อปี โดยปีแรกรับ 1.6% และปีที่สอง 1.8% (ปีหลังจากนั้นจะเป็นดอกเบี้ยตามภาวะตลาด) โอน-ถอนได้ทุกเวลา ไม่ต้องมีบัญชีธนาคารกรุงศรีก็ใช้งานได้

โดยมีให้ดาวน์โหลดฟรี ทั้งระบบ iOS และ Android เปิดบัญชีผ่านระบบยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (National Digital ID – NDID) ไม่ต้องมาที่สาขา หรือยืนยันตัวตนผ่านช่องทาง Krungsri i-CONFIRM ซึ่งเป็นจุดบริการยืนยันตัวตน ณ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา ทั่วประเทศ

1.กระเป๋า Kept

เป็นกระเป๋าสตางค์แยกเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ลูกค้าสามารถโอนเงินเข้ากระเป๋า Kept และตั้งยอดที่ต้องการใช้เงินในกระเป๋า Kept ไว้ล่วงหน้า ส่วนที่เหลือจะถูกโอนไปเก็บไว้ในกระปุก Grow แบบอัตโนมัติทุกสิ้นวัน ทั้งนี้ หากเงินในกระเป๋า Kept ไม่พอใช้ ระบบก็มีฟีเจอร์โอนกลับอัตโนมัติที่จะหยิบเงินส่วนที่ขาดมาจากกระปุก Grow คืนมายังกระเป๋า Kept  ซึ่งลูกค้าสามารถโอนเงินเข้าออกบัญชี Kept ได้บ่อยเท่าที่ต้องการโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

2.บัญชี/กระปุก Grow

เป็นกระปุกเงินเพื่อเก็บเงินก้อน เก็บเงินก้อนส่วนเกินจากจำนวนที่ได้ตั้งไว้เพื่อใช้จ่ายจากกระเป๋า Kept มาใส่ในกระปุก Grow โดยอัตโนมัติ (ขั้นต่ำ 5,000 บาท) เพื่อรับดอกเบี้ยที่สูง ในปีแรกและสูงขึ้นอีกในปีที่ 2 โดยคิดดอกเบี้ยทุกวัน จ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 28 ของเดือน ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.6% และ 1.8% ตามลำดับ

3.บัญชี/กระปุก Fun

เป็นกระปุกเงินสำหรับการเก็บเล็กผสมน้อย ที่สามารถทำได้ทุกวัน มาพร้อม 2 ฟีเจอร์เด็ดที่ทำให้การออมเงินเป็นเรื่องสนุก คือแอบเก็บที่ช่วยเก็บเงินให้ทุกครั้งที่โอนออกหรือสแกนจ่ายด้วย QR code ด้วยวิธีแอบเก็บที่เลือกได้เอง และสั่งเก็บ ให้เก็บเงินเมื่อไรและจำนวนเท่าใดก็ได้ ช่วยให้มีเงินออมสม่ำเสมอโดยไม่ต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และเมื่อต้องการใช้เงินในกระปุกนี้ก็สามารถโอนเข้ากระเป๋า Kept ได้

สำหรับ ฟีเจอร์แอบเก็บ เป็นไอเดียมาจากลูกค้าคนหนึ่งที่ชอบการช้อปปิ้งมาก ทุกครั้งที่กดช้อปปิ้งออนไลน์ เขาจะเเบ่งเงินตัวเองเก็บไว้อีก 300 บาททุกครั้ง เพราะไม่อยากรู้สึกผิด (ที่ช้อปปิ้งบ่อย) ดังนั้นเราจึงนำมาพัฒนาให้มีตัวช่วยเเอบเก็บให้ลูกค้า ซึ่งสามารถตั้งจำนวนเงินได้ เช่น สั่งซื้อของ 50 บาท ตั้งไว้ให้หักอีกครั้งละ 50 บาท รวมเป็นตัดบัญชี 100 บาท (ตัดเข้ากระเป๋าออม 50 บาท) หรือจะตั้งให้ปัดเศษได้ เช่น ซื้อของ 137 บาท ตัดเป็น 140 บาท (ตัดเข้ากระเป๋าออม 3 บาท) เป็นต้น

ทั้งนี้ การฝากเงินใน Kept สามารถขอรายการเดินบัญชี (e-statement) ได้ย้อนหลังได้ไม่เกิน 24 เดือน โดยทำรายการผ่านเเอปฯ Kept เช่นเดียวกับการขอรายการเดินบัญชีเเบบทั่วไป

“เป้าหมายของ Kept จะเน้นเจาะกลุ่ม Young Money เเละ Growing Money ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ Gen Y เเละ Gen Z โดยคาดว่าภายใน 1 ปีจะมียอดดาวน์โหลด 2 เเสนรายเเละดึงดูดยอดเงินฝากได้ราว 4-5 พันล้านบาท เฉลี่ยเงินฝาก 20,000 บาทต่อบัญชี” 

 

]]>
1285987
เจาะลึกทุกมุมของ Robinhood ไขข้อสงสัยปมค่าส่ง โมเดลธุรกิจเเละเเผนสู้ศึก “ฟู้ดเดลิเวอรี่” https://positioningmag.com/1283697 Thu, 18 Jun 2020 12:40:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1283697 ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ธนาคารใหญ่อย่าง SCB ตั้งใจจะเปิดตัว Robinhood เเอปฯ สั่งอาหารน้องใหม่สัญชาติไทยเเบบเบาๆเเต่กลับมีกระเเสตอบรับอย่างล้นหลาม จนทีมงานต้องตกใจ

การฉีกเเนวธุรกิจเเบงก์ มาลงทุนในศึกฟู้ดเดลิเวอรี่เมืองไทยของ SCB ครั้งนี้ สั่นสะเทือนวงการไม่น้อย เมื่อกำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ด้วยประเด็นจี้จุด Pain Point อย่างการไม่คิด GP ไม่คิดค่าสมัคร โอนเงินไวใน 1 ชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม : เปิดเบื้องหลัง SCB ฉีกเเนวธนาคาร เปิดตัว Robinhood ลงศึกฟู้ดเดลิเวอรี่เเบบไม่เก็บค่า GP”

หลายคนสงสัยในประเด็นค่าส่งว่าจะเเพงกว่าเจ้าอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีการอัดโปรโมชั่นหนักๆ รัวๆ เเล้วอะไรที่จะดึงดูดใจให้คนมาใช้ อะไรที่จะทำให้ Robinhood อยู่รอดในสมรภูมิที่มีการเเข่งขันอย่างดุเดือด กับคู่เเข่งเจ้าใหญ่ที่มีทุนหนาอย่าง Grab, LINE Man, GET เเละ Food Panda

และเมื่อเป็นการลงทุนเเบบไม่หวังกำไรดังที่ธนาคารได้ประกาศไว้ แต่การลงทุนปีละ 100 ล้านบาท คงต้องมีผลประโยชน์กลับมาไม่ว่าทางใดทางหนึ่งเเน่นอน โดยโมเดลธุรกิจ กลยุทธ์เเละเเผนต่อยอดของ Robinhood จะเป็นเช่นไร Positioning จะพามาเจาะลึกและไขข้อข้องใจนี้กัน

ถ้าจะพูดกันว่าเป็นการเผาเงินเล่น ก็คงเป็นการเผาเงินที่คุ้มค่ามากเราลงทุนปีละร้อยล้าน จะมองว่าเยอะก็เยอะ จะว่าน้อยก็น้อย เเต่เมื่อเทียบกับกำไรของธนาคารที่ได้ปีละ 4 หมื่นล้านเเล้ว ถือว่าน้อยมาก งบในส่วน CSR ของบริษัทเยอะกว่านี้อีก

นี่คือคำกล่าวของธนา เธียรอัจฉริยะผู้บริหาร SCB ที่จะมาเป็นหัวเรือใหญ่ของ Robinhood ผ่านการดำเนินงานภายใต้ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (บริษัทลูกของ scb 10x) โดยเขาจะนั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านเพย์เมนต์อย่างสีหนาท ล่ำซำที่จะมานำทัพบุกเบิกบริษัท ในตำเเหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งกำลังจะปั้นทีมใหม่ให้ได้ราว 40-50 คน

Robinhood เกิดขึ้นจากไอเดียของ อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCB ตอนที่เขาต้องกักตัวในช่วงการระบาดของ COVID-19 ต้องทำงานจากที่บ้าน ทำให้ต้องสั่งอาหารออนไลน์บ่อยครั้ง และมองเห็นโอกาสว่าธนาคารมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำได้ จึงต่อยอดด้วยการระดมทีมกว่า 80 คนพัฒนาแอปฯ นี้ขึ้น ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือนก่อนเปิดตัว

เเนวคิดหลักของ Robinhood เป็นไปตามเเบบฉบับของสตาร์ทอัพ คือมุ่งเเก้ Pain Point ในวงการฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งประเด็นการเก็บค่าธรรมเนียม หรือ GP ที่สูงถึง 30-35% ที่ทำให้บางร้านอาหารเเทบไม่มีกำไร หรือผู้บริโภคที่ต้องเเบกรับค่าอาหารที่เเพงขึ้นจากปกติ ดังนั้น Robinhood จึงคว้าโอกาสชูจุดขายว่า ไม่เก็บค่า GP รวมถึงปัญหาเงินหมุนของทั้งร้านค้าเเละคนขับ จึงเป็นที่มาของการที่จะเคลียร์เงินเข้าบัญชีให้ได้ใน 1 ชั่วโมง

ทาง SCB ยืนยันว่าเป็นหนึ่งใน CSR ของบริษัทที่ “จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม GP ทั้งในช่วงนี้และต่อไป” เเละถ้าหากในอนาคตมีคนใช้จำนวนมาก แนวทางการหารายได้จะเป็นไปในทาง “เสนอสินเชื่อ” ให้ผู้ประกอบการมากกว่าที่จะหันมาหักค่า GP

โดย Robinhood จะเริ่มทดลองให้ใช้ในวงจำกัดก่อนในช่วงเดือน ก.ค. เพื่อทดสอบความเรียบร้อย ก่อนจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นเดือนส.ค. เริ่มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศในอนาคต

ถ้าการเข้ามาในตลาดนี้ของเรา ทำให้เจ้าอื่นๆ ตื่นตัวเเละทุ่มโปรโมชั่นเพื่อเเข่งขันกันมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของผู้บริโภค”

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures)

สู้ค่าส่ง 10 บาทไม่ไหว…อะไรที่จะทำให้คนเลือกใช้ Robinhood ?

ด้วยความที่ SCB ลงทุนใน Robinhood ด้วยงบปีละร้อยล้านบาท ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเจ้าตลาดในปัจจุบัน ที่มีการลงทุนกันระดับหลายพันล้านบาททั้งสิ้น

เเละในงบร้อยล้านนั้น ยังเป็นงบที่รวมทุกอย่างทั้งการจัดการ พนักงาน ระบบหลังบ้านและเครือข่าย ซึ่งจะมีงบด้านการตลาดเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ล้านบาท พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการนำไปใช้เพื่ออัดโปรโมชั่น รวมถึงจะไม่มีการออกเงินค่าส่งต่อครั้งที่ให้เหล่าคนขับเหมือนเเอปฯเจ้าอื่นด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ค่าส่งของ Robinhood ต้องเเพงกว่าเเน่นอน

“ถ้าผู้ให้บริการรายอื่นมีโปรฯ ค่าส่ง 10 บาท ก็ไปใช้กันเถอะครับ ทางเราไม่เเข่งด้วย สนับสนุนให้ใช้บริการของคู่แข่งได้เลย มันคุ้มมากจริงๆ ทำให้ผู้บริโภคได้ค่าส่งถูกๆ ถือเป็นเรื่องดี” ธนากล่าว

อย่างไรก็ตาม “ตลาดมีช่องว่างเสมอ” ยังพอหนทางที่จะทำให้พอจะสู้เรื่องค่าส่งได้ นั่นก็คือ “ถ้าซื้ออาหารจาก Robinhood จะคุ้มค่ากว่าเมื่อดูที่ราคารวม โดยเฉพาะการสั่งซื้อที่ยอด 300 บาท ขึ้นไป”

ผู้บริหาร SCB อธิบายต่อ โดยยกตัวอย่างกรณีที่ร้านอาหารจำเป็นต้องชาร์จราคาอาหารเพิ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับค่า GP ที่ถูกเรียกเก็บ จากราคาหน้าร้านที่ถุงละ 50 บาท เป็นราคาในเเอปฯ 70 บาท สมมติลูกค้าสั่งโจ๊ก 5 ถุงเท่ากับราคา 350 บาท เเม้จะมีค่าส่งเพียง 10 บาทเเต่เมื่อรวมเเล้วจะต้องจ่ายรวมทั้งสิ้น 360 บาท ขณะที่ Robinhood จะมีการคิดราคาอาหารเท่าหน้าร้านที่ถุงละ 50 บาท เมื่อสั่ง 5 ถุงจะเท่ากับ 250 บาท เเม้จะบวกค่าส่งที่เเพงกว่าที่ 30-50 บาท เเต่โดยรวมเเล้วจะไม่เกิน 300 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางแอปฯ กำลังพยายามการเจรจา “ดีลพิเศษ” กับร้านอาหารขนาดใหญ่เเละเชนร้านอาหารชื่อดังต่างๆ ที่สนใจจะมาร่วมให้บริการ เช่นทางร้านอาจจะเป็นฝ่ายทำโปรโมชั่นพิเศษ หรือเเจกส่วนลดค่าส่งให้ลูกค้าเองโดยตรง เพราะเมื่อร้านไม่ได้เสียค่า GP (หรืออาจเป็นดีลที่จ่ายน้อยกว่าแอปฯอื่น) เเล้ว ก็สามารถนำส่วนต่างนั้นไปทำเเคมเปญเรียกลูกค้าได้ เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่จะมีใน Robinhood

ในส่วนของคนส่งอาหาร Robinhood จับมือกับ Skootar สตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการส่งเอกสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีคนขับในสังกัดประมาณ 10,000 ราย และยังไม่มีบริการส่งอาหารมาก่อน ถือเป็นการเติบโตร่วมกัน และทางบริษัทกำลังมองหาพาร์ตเนอร์เจ้าอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ ผู้สนใจที่จะร่วมงานกับ Robinhood ต้องสมัครเเละผ่านการอบรมกับทาง Skootar ก่อน ซึ่งสาเหตุที่ Robinhood ไม่ได้ลงทุนด้านขนส่งเอง ก็เพราะต้นทุนการบริหาร Rider Fleet สูงมากนั่นเอง

เเม้ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเปิดเผย “ค่าส่ง” ที่เเน่ชัด เเต่ทาง Robinhood ระบุว่าจะมีการคิดค่าส่งตามระยะทางที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถแข่งขันกับรายอื่นๆ ได้เเน่นอน 

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ก่อนหน้านี้ SCB ได้ร่วมมือกับ GET ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่รายใหญ่ เป็นพันธมิตรด้าน Financial Business จะเป็นการเเย่งตลาดกับพาร์ตเนอร์หรือไม่นั้น ผู้บริหาร SCB ตอบว่ามีการพูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อย โดยทางธนาคารไม่ได้จะทำธุรกิจเดลิเวอรี่เเข่งกับ GET แต่อย่างใด เพราะ GET ก็มีฐานลูกค้าที่เเข็งเเกร่ง มีประสบการณ์มากกว่า และในอนาคตก็สามารถร่วมมือกันได้

ต่อยอดสินเชื่อ – Data – เพิ่มผู้ใช้ SCB Easy 

“บริษัทใหญ่ของโลกที่ให้บริการทั้ง E-Marketplace , Ride Hailing เเละเดลิเวอรี่ สุดท้ายก็จะวนมาสู่บริการทางการเงิน เป็นคำถามว่าแล้ว SCB ที่เป็นธนาคารให้บริการทางการเงินอยู่แล้ว โดนดิสรัปต์มาโดยตลอด แล้วทำไมธนาคารจะก้าวข้ามไปทำบริการอื่นๆ ไม่ได้”

สีหนาท ล่ำซำ เอ็มดีของ Robinhood กล่าวถึงการลงทุนในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ของธนาคาร และบอกว่าข้อได้เปรียบของการเป็นธนาคารในตลาดนี้ คือฐานลูกค้าเเละความเสถียรของระบบเพย์เมนต์ รวมถึงข้อเสนอเรื่องสินเชื่อที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

สีหนาท ล่ำซำ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures)

โดยร้านอาหารที่จะเข้าร่วม Robinhood จะต้องใช้ระบบเพย์เมนต์ของ SCB ซึ่งมาจากฐานลูกค้าเดิมที่ทำ QR Code ของ “แม่มณี” เบื้องต้นคาดว่าจะมีร้านเข้าร่วมประมาณ 20,000 ร้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยตอนนี้มีร้านที่สนใจติดต่อเข้ามาจำนวนมากกว่า 1,000 ร้านต่อวัน (ร้านอาหารที่สนใจสมัครได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ สาขา SCB, onboard.robinhood.in.th หรือโทร. 02-777-7564)

ส่วนผู้บริโภคจะเป็นการจ่ายเเบบ “ไร้เงินสด” เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรม New Normal โดยจะสามารถจ่ายเงินผ่าน SCB Easy ที่มีฐานผู้ใช้กว่า 11 ล้านราย และตัดบัตรเครดิตได้ทุกธนาคาร ซึ่งเฟสต่อไปจะมีการพัฒนาให้จ่ายผ่าน QR Code และ Mobile Banking เจ้าอื่นๆ ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

เมื่อไม่ได้เน้นเรื่องรายได้ หลายคนจึงมองว่า Robinhood เป็นโอกาสของ SCB ที่จะเก็บข้อมูล (Data) จากการใช้บริการทั้งร้านอาหาร คนขับเเละผู้บริโภค โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ธนาคารกำลังพัฒนาระบบวิเคราะห์สถานะทางการเงิน เพื่อรุกด้านสินเชื่ออนไลน์ ให้สามารถยื่นผ่านแอปฯ SCB Easy ได้ทันที

ผู้บริหาร Robinhood ตอบในกรณีนี้ว่า การเก็บข้อมูลจะต้องอยู่บนพื้นฐาน Privacy ความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทจะให้ความสำคัญมากที่สุด “ทุกธนาคารมีข้อมูลเยอะอยู่เเล้ว ตอนนี้ข้อมูลใน Mobile Banking ก็ไม่ได้นำมาใช้มากมายนัก เมื่อเทียบกับการใช้ธุรกรรมต่างๆ” 

Photo : Shutterstock

พนักงานเเบงก์ต้องถ่ายรูปสวย เพื่อสร้าง Engagement 

โมเดลธุรกิจของ Robinhood ที่นอกเหนือจากการเสนอสินเชื่อเเละการเก็บข้อมูลเเล้ว ธนาบอกว่าสิ่งที่ตั้งความหวังไว้มากที่สุด คือการที่ Robinhood จะมาเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างร้านอาหารกับพนักงานสาขา เป็นผลพลอยได้ที่จะนำไปสู่การปรับองค์กรครั้งใหญ่ที่ตั้งใจจะทำกันมานานมากเเล้ว

โดยพนักงานธนาคารจะต้องออกไปเจอร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ไปพูดคุย ทำความรู้จักเเละให้คำเเนะนำได้ เป็นการ Re-Skill และปรับการทำงานของสาขา SCB ใหม่ จึงเกิดเป็นการเทรนนิ่งพนักงานกว่า 800 คนทั่วประเทศขึ้น

สำหรับการ “เทรนนิ่งออนไลน์” จะใช้เวลาหลังเลิกงานประมาณ10 วัน มีการอบรมการถ่ายรูปด้วยมือถือ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งการถ่ายรูปเมนูอาหารให้สวยงาม เรื่องแสงและเงา กฎการถ่ายภาพ 3 ส่วน 9 ส่วน การใช้แอปพลิเคชันเเต่งภาพ และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ

จึงมาถึงยุคที่พนักงานธนาคารต้องปรับตัว ให้ “ถ่ายรูปสวย” เพื่อเป็นผู้ช่วยให้กับร้านอาหาร เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มากกว่าการ “ฝาก-ถอน” ซึ่งความสนิทสนมเหล่านี้ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะต่อยอดไปสู่บริการอื่นๆ ของธนาคารได้ง่ายขึ้น

การได้ทรานส์ฟอร์มองค์กรเเละต่อยอดรายได้ของธนาคาร จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากการ “เผาเงินเเบบคุ้มมากๆ” ของ Robinhood นั่นเอง

เเม้ Robinhood จะย้ำตลอดว่าต้องการเป็นเพียงเเอปฯ เล็กๆไม่เเข่งกับใคร ไม่อยากเป็นเบอร์หนึ่ง ขอเเค่เป็นทางเลือก เเต่หลายคนมองว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ Super App ของคนไทยก็เป็นได้ ขณะที่หลายคนก็มองว่าศึกฟู้ดเดลิเวอรี่ต้องสู้กันจนเลือดสาด การที่จะเเจ้งเกิดเเละอยู่รอดระยะยาวได้ไม่ง่ายนักก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Robinhood จะเข้ามาเขย่าวงการนี้ได้จริงๆ หรือไม่

 

]]>
1283697