FMCG – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 28 Aug 2024 13:24:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สุดยอดแบรนด์ FMCG แห่งปี 2024 โดย Kantar กระแสแพลนต์เบสส่ง “แลคตาซอย” ขึ้นแท่น “โทฟุซัง” มาแรง https://positioningmag.com/1487802 Wed, 28 Aug 2024 10:54:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1487802
  • รางวัล “สุดยอดแบรนด์ FMCG แห่งปี 2024” โดย Kantar กลับมาอีกครั้ง หลายแบรนด์แกร่งยังอยู่กันครบ เช่น มาม่า คอลเกต เนสกาแฟ
  • ขณะที่หมวดเครื่องดื่ม “แพลนต์เบส” มีชื่อแบรนด์ “แลคตาซอย” พุ่งขึ้นมาในโผแบรนด์ที่ถูกเลือกมากที่สุด ขณะที่ “โทฟุซัง” เป็นแบรนด์มาแรงในกลุ่มนี้
  • ท่ามกลางตลาดเครื่องดื่มที่หดตัวลง แต่เครื่องดื่มเกลือแร่และให้พลังงานกลับโตสวนทาง โดยมี “เรดดี้” เป็นแบรนด์ที่เติบโตสูงสุด
  • Kantar บริษัทด้านข้อมูลการตลาดและการวิเคราะห์ เปิดเผยรายชื่อแบรนด์ที่ได้รับรางวัลจากงาน Thailand Brand Footprint Awards 2024 ในการศึกษาครั้งนี้ Kantar สำรวจแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) กว่า 590 แบรนด์ และแบรนด์ความงามอีก 400 แบรนด์ในประเทศไทย เพื่อเน้นย้ำว่าแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จสามารถดึงดูดผู้บริโภคในสภาพแวดล้อมที่สินค้ามีราคาสูงขึ้นได้อย่างไร

    Kantar มองว่า แบรนด์เหล่านี้สามารถสร้างความสัมพันธ์ทาง Functional และ Emotional ได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้ตัวเองเป็นที่จดจำและเข้าถึงได้ง่ายในทุกจุดสัมผัสของผู้บริโภค

    Brand Footprint คือการจัดอันดับประจำปีของแบรนด์ FMCG ที่ได้รับการเลือกซื้อมากที่สุดทั่วโลกจาก Worldpanel ของ Kantar ซึ่งใช้เมตริกเฉพาะที่เรียกว่า Consumer Reach Points (CRP) เพื่อวัดและเปรียบเทียบความสำเร็จของแบรนด์ในตลาดและภูมิภาคต่างๆ CRP แสดงถึงการเลือกซื้อแบรนด์ของผู้บริโภคหนึ่งครั้ง โดยรวมข้อมูลจากประชากร, การเข้าถึง และการเลือกของผู้บริโภค

    FMCG

    รางวัล Thailand Brand Footprint Awards 2024

    มีการแบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภทดังนี้:

    1. Most Chosen Brands: รางวัลนี้มอบให้กับแบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด วัดจากคะแนน CRP สูงสุด
    2. Top Outstanding Brands: รางวัลนี้มอบให้กับแบรนด์ที่มีผลงานยอดเยี่ยมและเติบโตอย่างโดดเด่น
    3. Top Outstanding Retailer: รางวัลนี้มอบให้กับผู้ค้าปลีกที่มีผลงานยอดเยี่ยมในตลาด
    4. Top Outstanding Manufacturer: รางวัลนี้มอบให้กับผู้ผลิตที่มีผลงานยอดเยี่ยมในตลาด

    รางวัลนี้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ FMCG ใน 6 หมวดหมู่ ได้แก่ อาหาร (บรรจุหีบห่อ), เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์นม, ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน, ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และ ความงาม รวมถึงผู้ค้าปลีกและผู้ผลิต

     

    Most Chosen Brands
    • Mama (มาม่า) – 165 ล้าน CRPs (อาหาร)
    • Nescafé (เนสกาแฟ) – 145 ล้าน CRPs (เครื่องดื่ม)
    • Colgate (คอลเกต) – 84 ล้าน CRPs (ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน)
    • Hygiene (ไฮยีน) – 111 ล้าน CRPs (ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล)
    • Garnier (การ์นิเย่) – 40 ล้าน CRPs (ความงาม)
    • Maybelline (เมย์เบลลีน) – 9 ล้าน CRPs (เครื่องสำอาง)
    • Dutch Mill (ดัชมิลล์) – 139 ล้าน CRPs (ผลิตภัณฑ์นม)
    • Lactasoy (แลคตาซอย) – 66 ล้าน CRPs (เครื่องดื่มแพลนต์เบส)

    Positioning พบว่าเทียบกับปี 2023 แล้วทุกกลุ่มยังคงเป็นแบรนด์เดิมที่แข็งแกร่ง เป็นแบรนด์ที่ถูกเลือกมากที่สุด โดยมีแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาจากการเจาะลึกหมวดย่อยสินค้าอย่าง “Maybelline” ที่แกร่งที่สุดในตลาดเครื่องสำอาง และ “แลคตาซอย” เป็นที่สุดในตลาดเครื่องดื่มแพลนต์เบสซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตสูง

    Top Outstanding Brands

    แบรนด์ต่อไปนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบรนด์ยอดเยี่ยมแห่งปี โดยอ้างอิงจากข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปีที่ผ่านมา

    ไฮไลต์อยู่ที่เครื่องดื่มแพลนต์เบสที่โตขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์นม และกลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่และให้พลังงาน (Sports and Energy Drink) ซึ่งเติบโตสูงสวนทางกับตลาดเครื่องดื่มในภาพรวมที่หดตัวลง

    แบรนด์ยอดเยี่ยมมาแรงที่สุดแห่งปี 2024 ได้แก่

    • Merrezca (เมอเรสก้า) – 2 ล้าน CRPs (เครื่องสำอาง เป็นครั้งแรกที่แบรนด์แตะ CRPs สูงถึง 2 ล้าน)
    • Clear Nose (เคลียร์โนส) – 7 ล้าน CRPs เพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ล้าน CRPs (การเติบโตของ CRPs สูงสุดในหมวดสกินแคร์)
    • Koh-Kae (โก๋แก่) – 33 ล้าน CRPs เพิ่มขึ้นจากเดิม 7 ล้าน CRPs (การเติบโตของ CRPs สูงสุดในหมวดอาหาร)
    • Phanom Rung (พนมรุ้ง) – 5 ล้าน CRPs เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ล้าน CRPs (การเติบโตของ CRPs สูงสุดในหมวดข้าว)
    • Ready (เรดดี้) – 7 ล้าน CRPs เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ล้าน CRPs (การเติบโตของ CRPs สูงสุดในหมวดเครื่องดื่มสปอร์ตและเอเนอร์จี้)
    • Tofusan (โทฟุซัง) – 5 ล้าน CRPs เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 ล้าน CRPs (การเติบโตของ CRPs สูงสุดในหมวดเครื่องดื่มแพลนต์เบส)
    เครื่องดื่มเรดดี้ เอเนอจี้ ดริงค์
    Top Outstanding Retailer

    ในตลาดความงามที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งช่องทางการขายครอบคลุมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ร้านความงามท้องถิ่นได้กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภค

    • Eveandboy (อีฟแอนด์บอย) – 2 ล้าน CRPs (ร้านความงามที่ถูกเลือกซื้อมากที่สุด)

     

    Top Outstanding Manufacturer

    ตลาดสัตว์เลี้ยงกำลังบูมอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงหนุนจากแนวโน้ม ‘Pet-humanization’

    • Perfect Companion Group – 14 ล้าน CRPs (ผู้ผลิตที่ถูกเลือกซื้อมากที่สุดในหมวดอาหารสัตว์เลี้ยง)

     

    อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ

    ]]>
    1487802
    “ดาวน์นี่” ตีตลาด “น้ำยาปรับผ้านุ่ม” กลุ่มกลิ่นหอมละมุน โปรดักส์ชูโรงดึงผู้บริโภคหันมาใช้ “สูตรเข้มข้น” https://positioningmag.com/1482359 Thu, 11 Jul 2024 10:12:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1482359
  • “ดาวน์นี่” ออกน้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรใหม่ “ดาวน์นี่ ละมุน” ตอบสนองเทรนด์กลิ่นหอมอ่อนๆ กำลังมาแรง หวังเป็นผลิตภัณฑ์ชูโรงช่วยดึงผู้บริโภคเปลี่ยนจากการใช้สูตรธรรมดาเป็น “สูตรเข้มข้น”
  • ตั้ง “น้องแอบิเกล” ขึ้นเป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์คู่กับ “แม่ชมชมพู่ อารยา” สื่อสารพุ่งตรงบรรดาแม่ๆ แฟนคลับ
  • ภาพรวมตลาด “น้ำยาปรับผ้านุ่ม” ปี 2567 คาดโต 8% เศรษฐกิจมีผลกระทบน้อยเพราะคนไทย 91% ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม ถือเป็นของใช้จำเป็นในบ้าน
  • “ดาวน์นี่” เปิดตัวน้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรใหม่ “ดาวน์นี่ ละมุน” หอมละมุนกลิ่นฟองสบู่และดอกไม้ พร้อมวางตัวแบรนด์ แอมบาสเดอร์คู่แม่ลูก “น้องเกล-แอบิเกล รังษีสิงห์พิพัฒน์” และ “แม่ชม-ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต” ให้กับผลิตภัณฑ์สูตรใหม่

    “ธัญภัค ทองถาวรกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่มซักผ้า ปรับผ้านุ่มและปรับอากาศ ดาวน์นี่ (ประเทศไทย) ในเครือ P&G กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์นี้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกของแบรนด์ที่ใช้กลิ่นในกลุ่ม “มัสกี้” คือเป็นกลิ่นหอมอ่อนคล้ายแป้งเด็ก จากปกติดาวน์นี่จะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลิ่นน้ำหอมที่มีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า

    ดาวน์นี่
    ดาวน์นี่ ละมุน

    สาเหตุที่ดาวน์นี่หันมาพัฒนาน้ำยาปรับผ้านุ่มกลิ่นหอมอ่อน เพราะเทรนด์ผู้บริโภคในตลาดเริ่มเปลี่ยนมาใช้กลิ่นลักษณะนี้มากขึ้น

    ประกอบกับอินไซต์ที่ดาวน์นี่พบว่า ตลาดน้ำยาปรับผ้านุ่มไทย 76% ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรเข้มข้น แต่อีก 24% ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรธรรมดา เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้มี ‘pain point’ สำคัญคือ กลัวว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรเข้มข้นอาจจะกลิ่นแรงเกินไป ไม่เหมาะกับเด็กเล็กในบ้าน หรือกลบกลิ่นน้ำหอมที่ใช้ไปจนหมด

    ดาวน์นี่จึงเลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ดาวน์นี่ ละมุน” มาตอบโจทย์ เป็นน้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรเข้มข้นที่หอมติดทนนาน แต่ให้กลิ่นหอมอ่อนๆ ไม่ฉุน ทำให้ใช้ด้วยกันได้ทั้งครอบครัว (*ใช้ได้กับเสื้อผ้าเด็กเล็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป) และเจาะตลาดผู้บริโภคที่ชอบกลิ่นละมุนด้วย เพื่อจะดึงให้ผู้บริโภคที่เคยใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มสูตรธรรมดาเปลี่ยนมาใช้สูตรเข้มข้นตัวนี้ของดาวน์นี่

     

    “น้องแอบิเกล” แบรนด์แอมฯ เด็กคนแรกของ “ดาวน์นี่”

    ในด้านการตลาด ดาวน์นี่แต่งตั้งแบรนด์แอมบาสเดอร์คู่คือ “น้องแอบิเกล-แม่ชม” โดยเป็นครั้งแรกในโลกที่แบรนด์ดาวน์นี่มีแบรนด์ แอมบาสเดอร์เด็ก ช่วยสื่อสารว่าเป็นน้ำยาปรับผ้านุ่มที่เสื้อผ้าเด็กก็สามารถใช้ได้

    ดาวน์นี่
    แบรนด์ แอมบาสเดอร์คู่แม่ลูก “น้องเกล-แอบิเกล รังษีสิงห์พิพัฒน์” และ “แม่ชม-ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต”

    ธัญภัคกล่าวว่า สำหรับ “ชมพู่ อารยา” เป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์ให้กับดาวน์นี่มานานกว่าสิบปีจนเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ และด้วยชีวิตของแบรนด์แอมฯ ที่เติบโตขึ้น สร้างครอบครัว ทำให้แบรนด์เลือกที่จะดึง “น้องแอบิเกล” ลูกสาวคนเล็กของชมพู่มาเป็นแบรนด์แอมฯ คู่กัน ซึ่งจะช่วยให้ได้ฐานแฟนคลับของน้องแอบิเกลเข้าหาแบรนด์และทดลองใช้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น

    แคมเปญนี้ดาวน์นี่ทุ่มงบการตลาดไปถึง 70 ล้านบาท เตรียมโหมโฆษณาทุกช่องทาง ธัญภัคระบุว่า งบการตลาดครั้งนี้มากกว่าปกติ 2 เท่าตัว เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะเป็น ‘ฮีโร่ โปรดักส์’ ในการดึงส่วนแบ่งตลาดครั้งใหญ่ของดาวน์นี่

     

    “น้ำยาปรับผ้านุ่ม” โตสวนกระแสเพราะคนไทยถือเป็น “ของจำเป็น”

    ธัญภัคให้ข้อมูลอ้างอิงจาก “นีลเส็น” พบว่า ตลาดน้ำยาปรับผ้านุ่มไทยปี 2566 มีมูลค่าเกือบ 14,400 ล้านบาท เติบโต 7% จากปีก่อนหน้า และแบรนด์​ “ดาวน์นี่” ครองตลาดเป็นอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 37% คิดเป็นยอดขายประมาณ 5,000 ล้านบาท

    “ธัญภัค ทองถาวรกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่มซักผ้า ปรับผ้านุ่มและปรับอากาศ ดาวน์นี่ (ประเทศไทย)

    สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ “ดาวน์นี่ ละมุน” ตั้งเป้าสร้างยอดขายแตะ 500 ล้านบาทได้ภายใน 1 ปีหลังเปิดตัว ซึ่งหากทำสำเร็จจะทำให้แบรนด์ดาวน์นี่ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มอีก 5% รวมเป็นส่วนแบ่งตลาด 42% ภายในปี 2568 และจะเป็นการกินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มได้เร็วที่สุดของแบรนด์

    ด้านภาพรวมตลาดน้ำยาปรับผ้านุ่มปี 2567 ธัญภัคคาดการณ์ว่าตลาดจะโตขึ้นอีก 8% จากปีก่อน แม้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่ค่อยดีนัก แต่เชื่อว่าตลาดน้ำยาปรับผ้านุ่มจะกระทบไม่มากเนื่องจากคนไทยมองน้ำยาปรับผ้านุ่มเป็นของใช้จำเป็นที่ต้องซื้อ

    ข้อมูลอ้างอิงจาก Kantar บริษัทวิจัยการตลาด พบว่า คนไทยถึง 91% ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริโภคที่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มอันดับ 1 ของโลก และสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิกมากเพราะปกติประเทศอื่นมีสัดส่วนผู้บริโภคที่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มอยู่ระหว่าง 50-80% เท่านั้น

    “คนไทยเราชอบเรื่องกลิ่นหอมมากๆ ของทุกอย่างที่ใช้ในบ้านจะต้องมีกลิ่นหอมถึงจะถูกใจคนไทย” ธัญภัคกล่าวถึงอินไซต์ว่าทำไมน้ำยาปรับผ้านุ่มถึงขายดีที่สุดที่ประเทศไทย และทำให้ตลาดนี้เป็นหนึ่งในสินค้า FMCG ที่แข่งขันดุเดือดที่สุด

    ]]>
    1482359
    รู้จัก ” NEO ” บริษัท FMCG สัญชาติไทย กับก้าวใหม่สู่บริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย https://positioningmag.com/1460022 Thu, 25 Jan 2024 11:45:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1460022

    เชื่อว่าผู้บริโภคคนไทยต้องคุ้นเคยกับสินค้าอุปโภคกันเป็นอย่างดี หรือจะเรียกกันว่าสินค้า FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) ที่ครอบคลุมการดูแลร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้เรียกว่ามีการแข่งขันดุเดือด และมีผู้เล่นที่หลากหลาย ทั้งผู้เล่นไทยและจากต่างประเทศ

    “บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO” ผู้ทำการตลาด ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคชั้นนำของไทย ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 34 ปี แม้คู่ต่อสู้ในตลาดจะเป็นผู้เล่นจากต่างชาติที่แข็งแกร่ง แต่ NEO ก็สามารถเทียบชั้นก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยได้ พร้อมเตรียมยุทธศาสตร์สู่การเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค

    ตลอด 34 ปีที่ผ่านมา NEO ยังคงสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมยังรุกขยายพอร์ตฟอลิโอให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อการดูแลชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น

    เมื่อดูเส้นทางธุรกิจของ NEO เรียกว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย บริษัทได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2532 ภายใต้ชื่อ บริษัท ไบโอ คอนซูเมอร์ จำกัด มีปณิธานที่จะพัฒนาและนำเสนอสินค้าอุปโภคที่มีคุณภาพและหลากหลายในราคาที่เหมาะสม เป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคคนไทย และแข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศได้

    ในปีเดียวกันนี้เองก็ได้เปิดตัวสินค้าแรกออกสู่ตลาด ก็คือ ผลิตภัณฑ์โคโลญแบรนด์ “เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense)” มีการวางจุดยืนชัดเจนว่าเป็นโคโลญสำหรับวัยรุ่นหญิง จับตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย แตกต่างจากแบรนด์อื่นในตลาด ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในกลุ่มสินค้าโคโลญสำหรับวัยรุ่นหญิง จากนั้นได้ออกสินค้าโคโลญ และโรลออนสำหรับผู้ชายภายใต้แบรนด์ “ทรอส (TROS)” เป็นโคโลญสำหรับผู้ชายแบรนด์แรกของประเทศไทย ประสบความสำเร็จครองอันดับ 1 มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

    หลังจากนั้นก็ได้แตกไลน์สินค้าเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ทำให้ NEO มีสินค้าอุปโภคครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม ภายใต้ 8 แบรนด์ ประกอบด้วย

    1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน(Household Products) ประกอบด้วย 3 แบรนด์ ได้แก่
    • แบรนด์ไฟน์ไลน์ (Fineline)  เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม และผลิตภัณฑ์รีดผ้าเรียบและอัดกลีบผ้า
    • แบรนด์สมาร์ท (Smart) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม สูตรแอนตี้แบคทีเรีย
    • แบรนด์โทมิ(Tomi)  เช่น  ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ

    1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) ประกอบด้วย 4 แบรนด์ ได้แก่
    • แบรนด์บีไนซ์ (BeNice) เช่น ผลิตภัณฑ์ครีมอาบน้ำและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น
    • แบรนด์ทรอส (TROS) เช่น ผลิตภัณฑ์โคโลญ และผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้ชาย
    • แบรนด์เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense) เช่น ผลิตภัณฑ์แป้ง ผลิตภัณฑ์โคโลญ และผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้หญิง
    • แบรนด์วีไวต์ (Vivite) เช่น ผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้หญิง

    1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products) ประกอบด้วย 1 แบรนด์ ได้แก่
    • แบรนด์ดีนี่ (D-nee) เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเด็ก ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มเด็ก และผลิตภัณฑ์อาบน้ำและสระผมเด็ก เป็นต้น

    นายสุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ NEO เปิดเผยว่า “บริษัทเป็นผู้ทำการตลาด ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคชั้นนำของประเทศ ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำของคนไทยที่มีคุณภาพ และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ภายใต้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่ง และคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ยึดมั่นการพัฒนา และนำเสนอสินค้าอุปโภคที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพ และหลากหลายครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ด้วยราคาที่เหมาะสม พร้อมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดสินค้าอุปโภคมากว่า 34 ปี โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค ส่งมอบนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ช่วยดูแลชีวิตประจำวันของทุกคนให้ได้รับความสะดวกสบาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น (Uplift Essentials for Everyday Betterment)”

    โดยจุดแข็งหลักของ NEO ก็คือ การเป็นบริษัทสัญชาติไทย พร้อมกับมีโรงงานผลิตในไทย ทำให้มีความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยได้เป็นอย่างดี จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ มีนวัตกรรมที่โดดเด่น ตอบสนองผู้บริโภคทุกช่วงวัย และทุกไลฟ์สไตล์

    อีกทั้งยังไม่หยุดนิ่งในการมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ในการแตกไลน์สินค้าหรือเสริมพอร์ตฟอร์ลิโอให้มีความแข็งแกร่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา NEO ได้ขยายฐานผู้บริโภคให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จากกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ (Mass Market) ไปยังกลุ่มพรีเมียมแมส (Premium Mass) และกลุ่มพรีเมียม (Premium) อีกทั้งรักษาลูกค้าปัจจุบันให้กลับมาซื้อสินค้าซ้ำได้อย่างต่อเนื่อง (Brand Loyalty) และยังมีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ 16 ประเทศ โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว และประเทศเมียนมาร์

    นอกจากนี้ ยังได้มีการคิดค้นพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์แบบใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบรับกับเทรนด์ของโลก ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แนวกลิ่น และส่วนผสมหลักจากสารสกัดจากธรรมชาติ (Natural and Organic) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลปกป้องจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และมลภาวะต่าง ๆ อีกด้วย

    เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญของ NEO ที่ได้ทำการยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) จำนวนไม่เกิน 78 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 26% ของจำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนของบริษัท

    จุดประสงค์หลักในการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ก็เพื่อนำมาใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจ เพื่อติดสปีดในการเติบโตในอนาคต รองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดด

    โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี จาก 6,767.54 ล้านบาท ในปี 2563 เป็น 8,300.69 ล้านบาท ในปี 2565 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 10.75% ต่อปี และมีรายได้จากการขายงวด 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ 7,028.86 ล้านบาท เติบโต 17.58% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 5,977.93 ล้านบาท นอกจากนี้ กำไรสุทธิงวด 9 เดือนปี 2566 เพิ่มขึ้น 124.84% จาก 306.56 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 689.28 ล้านบาทในงวดนี้

    ตลอดระยะเวลา 34 ปีที่ผ่านมา NEO ได้ส่งมอบนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับความสุขของผู้บริโภคให้ทุกวันดียิ่งขึ้น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายแบรนด์ และไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของเอเชีย

    ]]>
    1460022
    สุดยอดแบรนด์ FMCG แห่งปี 2023 จัดโดย Kantar “เลย์” ขึ้นมายืนหนึ่ง “สิงห์” ม้ามืดกลุ่มน้ำอัดลม https://positioningmag.com/1436691 Wed, 05 Jul 2023 12:13:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1436691
  • Kantar ประกาศ “สุดยอดแบรนด์ FMCG แห่งปี 2023” โดยปีนี้มีทั้งหมด 20 แบรนด์ที่เข้ามาอยู่ในโผ หลายแบรนด์ยืนหนึ่งหน้าเก่ายังคงยึดฐานที่มั่นเหนียวแน่น เช่น มาม่า เนสกาแฟ คอลเกต ดัชมิลล์ ไฮยีน การ์นิเย่
  • หน้าใหม่ที่น่าสนใจ เช่น “เลย์” ปรับจากแบรนด์ดาวรุ่งขึ้นมาเป็นสุดยอดแบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุดในหมวดขนมขบเคี้ยว “สิงห์” เป็นแบรนด์ม้ามืดกลุ่มน้ำอัดลม หรือ “คุมะ” แบรนด์หน้าใหม่ที่ได้รางวัลปรับตัวได้ดีที่สุด
  • บริษัทข้อมูลการตลาด “Kantar” ประกาศผล “Brand Footprint Thailand 2023 Awards” หรือ “สุดยอดแบรนด์ FMCG ประจำปี 2023” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีนี้มีแบรนด์ที่นำมาวิเคราะห์รวม 570 แบรนด์ จากทั้งหมด 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ FMCG ได้แก่ อาหาร, เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์นม, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน, ของใช้ส่วนบุคคล และ เครื่องสำอาง รวมถึงมีรางวัลสำหรับกลุ่มค้าปลีกโดยเฉพาะ

    วิธีการตัดสินจะเป็นสูตรการคำนวณ “อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค” (Consumer Reach Points: CPRs) เพื่อหาว่าผู้บริโภคเลือกซื้อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งบ่อยเพียงใด

    ปี 2023 Kantar มอบรางวัลแบ่งเป็น 5 รางวัล และแยกย่อยไปแต่ละหมวดผลิตภัณฑ์ (บางหมวดอาจไม่มีแบรนด์ที่ได้รับรางวัล)

    สุดยอดแบรนด์

    Most Chosen Brands แบรนด์ยืนหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด

    • Mama (มาม่า) – 168 ล้านครั้ง (อาหาร)
    • Nescafé (เนสกาแฟ) – 119 ล้านครั้ง (เครื่องดื่ม)
    • Lay’s (เลย์) – 129 ล้านครั้ง (ขนมขบเคี้ยว)
    • Dutch Mill (ดัชมิลล์) – 152 ล้านครั้ง (ผลิตภัณฑ์นม)
    • Hygiene (ไฮยีน) – 115 ล้านครั้ง (ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน)
    • Colgate (คอลเกต) – 97 ล้านครั้ง (ของใช้ส่วนบุคคล)
    • Garnier (การ์นิเย่) – 38 ล้านครั้ง (เครื่องสำอาง)

    สำหรับรางวัลแบรนด์ยืนหนึ่ง เรียกได้ว่าหน้าเก่าครองแชมป์หลายสมัยยังอยู่กันครบทุกแบรนด์ โดยมี “เลย์” ขึ้นมาเป็นแบรนด์ยืนหนึ่งหน้าใหม่ในหมวดขนมขบเคี้ยว จากปี 2022 ที่เลย์ยังได้รางวัลในกลุ่มแบรนด์ดาวรุ่ง

    Top Growing Brands รางวัลแบรนด์ดาวรุ่งที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเติบโตสูงสุด

    • Mitr Phol (มิตรผล) – 63 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 9.6 ล้านครั้ง (อาหาร)
    • Betagan (บีทาเก้น) – 40 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 7.3 ล้านครั้ง (เครื่องดื่ม)
    • Tasto (เทสโต) – 26 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 2 ล้านครั้ง (ขนมขบเคี้ยว
    • Dutchie (ดัชชี่) – 34 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 3.4 ล้านครั้ง (ผลิตภัณฑ์นม)
    • Hygiene (ไฮยีน) – 115 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 8.5 ล้านครั้ง (ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน)
    • Jula’s Herb (จุฬา เฮิร์บ) – 15 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 4.4 ล้านครั้ง (ของใช้ส่วนบุคคล)
    • Jula’s Herb (จุฬา เฮิร์บ) – 19 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 5.1 ล้านครั้ง (สกินแคร์)
    • Srichand (ศรีจันทร์) – 2 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 7 แสนครั้ง (เครื่องสำอาง)

    Kantar มองว่าแบรนด์ดาวรุ่งที่น่าสนใจในปีนี้คือ “มิตรผล” เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาค่าครองชีพของคนไทยสูงขึ้นจากเงินเฟ้อ ทำให้แบรนด์ต้องแข่งขันให้ได้ในสภาวะที่กำลังซื้อน้อยลง ต้องหาทางเจาะฐานผู้บริโภคในชนบทให้ได้มากขึ้น และเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่วางแผนการแข่งขันด้านราคาได้ดี

    Top Outstanding Brands รางวัลแบรนด์ม้ามืดที่มีความโดดเด่น

    • Singha (สิงห์) – 27 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 11 ล้านครั้ง (น้ำอัดลม – หมวดหมู่ที่มี Penetration มากที่สุดและเติบโตมากที่สุดในกลุ่มเครื่องดื่ม)
    • Redbull (กระทิงแดง) – 9 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 2.7 ล้านครั้ง (เครื่องดื่มเกลือแร่และให้พลังงาน – หมวดหมู่ที่เริ่มกลับมาเป็นเทรนด์หลังการล็อคดาวน์)
    • Nivea (นีเวีย) – 5 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านครั้ง (ครีมกันแดด – หมวดหมู่ที่มีการเติบโตของอัตราการเข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุดในกลุ่มของใช้ส่วนบุคคล)

    น่าสนใจที่ “สิงห์” เป็นแบรนด์ม้ามืดในกลุ่มน้ำอัดลม สิงห์โซดาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมหน้าใหม่ที่เพิ่งสร้างแบรนด์ในตลาดไม่นาน แต่ทำได้ดีอย่างเห็นได้ชัดเมื่อคนไทยกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านและต้องการดื่มน้ำอัดลม

    Top Outstanding Retailer รางวัลค้าปลีกที่มีความโดดเด่น

    ผู้เล่นในกลุ่มค้าปลีกออนไลน์ล้วน (Online Pure Player) เป็นช่องทางที่มีอัตราการเข้าถึงผู้บริโภคสูงที่สุดในการจับจ่ายทางออนไลน์ (Online Shopping) ทั้งหมด ในปี 2022

    Most Resilient Brand รางวัลแบรนด์ที่ปรับตัวต่อตลาดได้ดีที่สุด

    แบรนด์ที่มีการเพิ่ม Penetration หรือการเจาะตลาดได้มากที่สุดในบรรดาสินค้า FMCG ทั้งหมด ในปี 2022

    • Kuma (คุมะ) – ครอง 10.3% Penetration เพิ่มขึ้น 6.5 points หรือเจาะตลาดเพิ่มราว 1.7 ล้านครัวเรือน

    “คุมะ” เป็นแบรนด์กระดาษทิชชู่ที่อยู่ในหมวดบิวตี้ เพราะผลิตภัณฑ์โดดเด่นคือกระดาษเช็ดหน้า Kantar ระบุว่า คุมะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มกระดาษเช็ดหน้าได้ถึง 18% แม้เพิ่งเปิดตัวมาเพียง 2 ปี เพราะใช้กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ราคาย่อมเยาแต่คุณภาพดี ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม

    กระดาษทิชชู่ Kuma

    ปี 2023 นี้แบรนด์ที่ได้รับรางวัลถือว่าได้ผ่านความท้าทายมาสูงมาก “Howard Chang” กรรมการผู้จัดการ ประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar, Worldpanel Division กล่าวว่า รอบปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่กำลังซื้อลดลง เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น มีครัวเรือนคนไทยถึง 48% ที่มองว่าสถานการณ์ทางการเงินของตนแย่ลงในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าแบรนด์ที่ยังครองใจผู้บริโภคได้ต้องดำเนินกลยุทธ์มาได้อย่างถูกต้อง

    ]]>
    1436691
    EGG Digital เปิดตัว 6 บริการทรานส์ฟอร์มธุรกิจลูกค้า เตรียมขยายธุรกิจเพิ่มเติมในอาเซียนหลังจากนี้ https://positioningmag.com/1431642 Thu, 25 May 2023 02:50:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1431642 เอ้ก ดิจิทัล (EGG Digital) ประกาศรุกธุรกิจให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลแบบครบวงจร ที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เปิดตัว 6 บริการหลัก รองรับลูกค้าธุรกิจค้าปลีกและ E-commerce ขณะเดียวกันก็เตรียมที่จะขยายธุรกิจเพิ่มเติมในอาเซียนนอกจากประเทศไทยและมาเลเซียหลังจากนี้

    ธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ้ก ดิจิทัล จำกัด ได้กล่าวถึงข้อมูลจาก IDC ถึงการนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐาน เป้าหมาย การดำเนินธุรกิจ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า Digital Transformation ทั่วโลกภายในปี 2026 จะใช้เม็ดเงินมากถึง 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่เขาก็ได้ชี้ว่าในเม็ดเงินดังกล่าวนี้อาจมีความล้มเหลว เนื่องจากไม่มีคนที่ช่วยทำให้สิ่งดังกล่าวสำเร็จ

    สำหรับอุตสาหกรรมทางค้าปลีกได้ใช้เงิน 388 ล้านเหรียญทำ Digital Transformation มีทั้งการลงทุนใน Big Data รวมถึงการใช้ AI เข้าไปในธุรกิจ เพื่อทำให้ธุรกิจฉลาดมากขึ้น มีประสิทธิภาพในองค์กรมากขึ้น เขายังกล่าวว่าเรื่องดังกล่าวสำคัญมากสำหรับประเทศไทย เนื่องจากตอนนี้ไม่ใช่แค่เข้าใจลูกค้า แต่ทำอย่างไรที่ทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้น

    เขายังชี้ถึงว่าทำไมข้อมูล (Data) จึงมีความสำคัญมาก ปัจจัยสำคัญคือ ต้นทุนในการเก็บข้อมูลลดลงมาก สามารถเก็บข้อมูลปริมาณได้มากขึ้น เทคโนโลยีต่างๆ ยังทำให้เก็บข้อมูลได้อย่างชาญฉลาด นอกจากนี้ยังรวมถึงการนำเครื่องมือถือสถิติและคณิตศาสตร์เข้ามา เขาได้เผยว่า EGG Digital มีโมเดลด้านสถิติเพื่อวิจัยลูกค้ามากถึง 20,000 โมเดล นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีอื่นๆ มาวิเคราะห์ลูกค้ามากกว่าเดิม เพื่อเข้าใจลูกค้าได้อย่างถ่องแท้

    ขณะเดียวกันในแผนธุรกิจปี 2023 นี้ EGG Digital ได้เปิดตัวบริการ 6 บริการ ได้แก่

    1. บริการให้คำปรึกษากับธุรกิจค้าปลีก (Retail Consulting) โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และเสนอเป็นแผนธุรกิจ หรือแคมเปญต่างๆ ให้แก่ลูกค้า

    2. บริการให้คำปรึกษาด้านการใช้ข้อมูลเชิงลึกผ่านโซลูชันแพลตฟอร์ม (Insight Solutions) ซึ่งบริษัทจะทำงานร่วมกับแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ต้องการสร้างการเติบโตในธุรกิจค้าปลีก โดยนำข้อมูลของลูกค้า มาวิเคราะห์และเสนอแผนงานที่ตอบโจทย์แบรนด์ต่างๆ

    3. บริการสื่อโฆษณาครบวงจร (Media Commercialization) โดย EGG Digital จะเป็นผู้ให้บริการสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยใช้แพลตฟอร์มอัจฉริยะมาวางแผนการใช้สื่อให้ตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับยอดขายของกลุ่มสินค้า แบรนด์ และผลิตภัณฑ์เพื่อให้แต่ละแบรนด์สามารถสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและสร้างแคมเปญได้อย่างเหมาะสม

    4. บริการมีเดีย เอเจนซี ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแพลตฟอร์มโซลูชัน (Platform Solutions) – เพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจของคู่ค้าด้วยบริการด้านแพลตฟอร์มโซลูชัน รวมถึงวางแผนกลยุทธ์การสื่อสารที่เหมาะสมและตรงกับกับกลุ่มเป้าหมายลูกค้า รวมถึงพัฒนาเว็บไซต์และบริหารจัดการโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง

    5. บริการด้าน SMS & Marketing Automation โดยบริษัทจะนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมแก่แบรนด์เพื่อบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ LINE, Facebook, TikTok และโซเชียลมีเดียอื่นๆ รวมถึง SMS, Google SEO SEM

    6. บริการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ (Data Analytics) นำข้อมูลมาบริหารจัดการและพัฒนาเป็นแผนงานที่ชัดเจน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ธุรกิจและผู้บริโภคปลายทาง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม และการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างยอดขายที่เพิ่มขึ้น 

    ปัจจุบัน EGG Digital โฟกัสไปยังกลุ่มลูกค้า FMCG โดยมีลูกค้าที่เป็นแบรนด์ดังอย่าง Unilever Nestle Oishi เป็นต้น รวมถึงสถาบันการเงินบางรายที่ใช้ได้บริการของบริษัท

    ขณะเดียวกันบริษัทยังได้เตรียมขยายธุรกิจมาทำ Shopper Digital Screen โดยเอาจอใหญ่คุณภาพสูงมาเป็นป้ายโฆษณา เช่น บริเวณป้ายของ Lotus’s โดยเริ่มต้นที่ 24 จุดที่มีปริมาณผู้คนหนาแน่น ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ EGG Digital คาดหวังว่าจะทำรายได้ให้กับบริษัทในสัดส่วน 10-20% ของรายได้รวมหลังจากนี้

    นอกจากนี้แผนของ EGG Digital ยังตั้งเป้าขยายธุรกิจไปยังอาเซียนให้ได้มากขึ้น นอกจากประเทศไทยและมาเลเซีย ธีรเดชยังมองว่าธุรกิจของบริษัทแตกต่างจากรายอื่น และไม่มีคู่แข่งประเภทนี้ที่ทำธุรกิจในไทย และจะสามารถขยายธุรกิจไปในละแวกอาเซียนหลังจากนี้ได้ ล่าสุดมีพาร์ตเนอร์จากอาเซียนเริ่มพูดคุยบ้างแล้ว

    ]]>
    1431642
    เมื่อ “แม็คโคร” ปั้น “บัดดี้มาร์ท” เชนโชห่วยชุมชน ท้าชน “ถูกดี มีมาตรฐาน-ร้านติดดาว” https://positioningmag.com/1399426 Thu, 08 Sep 2022 06:26:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1399426 เมื่อยักษ์ใหญ่ในวงค้าปลีก และสินค้า FMCG ต่างลงมาจับตลาด “ร้านโชห่วย” เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ในไทย “แม็คโคร” จึงไม่รอช้า ปั้นร้าน “บัดดี้มาร์ท (Buddy Mart)” เชนโชห่วยเข้าสู่ชุมชน ช่วยออกแบบร้าน และเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย งานนี้ท้าชน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ของทีดี ตะวันแดง และ “ร้านติดดาว” ของกลุ่มยูนิลีเวอร์เต็มๆ

    โชห่วยครองตลาดค้าปลีกไทย

    ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มได้เห็นหลายธุรกิจลงมาจับตลาดเชนโชห่วยชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยจากมีเม็ดเงินมหาศาล อีกทั้งตลาดโชห่วย หรือเป็นตลาด Traditional Trade ยังเป็นตลาดใหญ่ในไทย พฤติกรรมคนไทยยังคุ้นเคยกับร้านค้าในชุมชน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด หรือตามชุมชน

    ปัจจุบันตลาดค้าปลีกไทยมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจโชห่วยมีสัดส่วนถึง 55% ของตลาดค้าปลีกไทย และโชห่วยยังถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SME ภาคบริการที่มีความสำคัญต่อ GDP ของประเทศเช่นกัน

    แต่เดิมเราได้เห็น “ร้านติดดาว” ของยูนิลีเวอร์ นำร่องทำระบบร้านโชห่วยชุมชนมาหลายปีมากๆ ตั้งแต่ปี 2555 และไม่กี่มานี้ก็ได้เห็น “เสี่ยเสถียร เศรษฐสิทธิ์” ลงมาจับตลาดนี้บ้าง ลุยธุรกิจส่วนตัวเปิด “ทีดี ตะวันแดง” เปิดร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ล่าสุดยังได้พาร์ตเนอร์กับธนาคารกสิกรไทย ในการขยายบริการทางการเงินเข้าสู่ชุมชนผ่านเครือข่ายร้านของถูกดี มีมาตรฐานด้วย

    คอนเซ็ปต์ของเครือข่ายโชห่วยที่ทางยักษ์ใหญ่ได้ลงมาทำนั้น หลักๆ อยู่ที่การนำระบบการจัดการแบบโมเดิร์นเทรด เข้าไปช่วยยกระดับร้านโชห่วยในชุมชนให้อยู่รอด และมีรายได้ที่เติบโต ปรับปรุงร้านให้น่าเข้า ปั้นเป็นเครือข่ายโชห่วยของตัวเอง

    ในตลาดร้านโชห่วยในไทย ที่คาดว่ามีเฉลี่ยกว่า 400,000 ร้านค้า มีร้านที่อยู่รอด และมีร้านที่ล้มหายตายจากอยู่ตลอด จากผลสำรวจพบว่าปัญหาของร้านโชห่วยในไทยมีอยู่ 5-6 ข้อ ได้แก่ ไม่มีเงินทุน, สินค้าน้อย, การจัดเรียงของไม่ดี, ไม่มีเทคโนโลยี, การทำบัญชีรายรัย รายจ่าย รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ถ้าเป็นร้านโชห่วยในชุมชนที่อยู่แบบโดดเดี่ยวจะอยู่ได้ยาก ต้องมีโปรโมชัน และเทคโนโลยีมาช่วย รวมถึงแบรนด์ของการเป็นเครือข่ายเช่นกัน

    เครือข่ายโชห่วยจะมีทีมที่ช่วยเข้าไปดูแลตั้งแต่ทำเลที่ตั้ง การดีไซน์ร้าน การจัดร้าน พอเปิดร้านก็ช่วยดูเรื่องการบริหารสต็อก ร้านค้าอาจจะไม่ต้องปิดร้านเพื่อไปซื้อของที่ห้างค้าส่งแห่งใหญ่ แต่มีการจัดส่งสินค้าให้ตามสต็อกที่สั่ง ช่วยในเรื่องทำการตลาดอีกด้วย

    รู้จัก “บัดดี้มาร์ท”

    “แม็คโคร” เป็นผู้เล่นค้าส่งรายใหญ่ในไทย เมื่อลูกค้าหลักของแม็คโคร 30% เป็นร้านค้าโชห่วย มีหรือจะพลาดในการทำตลาดนี้ ล่าสุดจึงปั้น “บัดดี้มาร์ท” เครือข่ายร้านโชห่วยในชุมชน

    บัดดี้มาร์ท เน้นความสำเร็จรูปในการทำธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบร้าน วางผังการจัดวางสินค้า การเลือกสินค้า โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และตรงใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในชุมชนนั้นๆ มีทีมงานบัดดี้มาร์ท สนับสนุนการวางแผนส่งเสริมการขาย และช่วยบริหารจัดการร้าน รวมถึงมีระบบการจัดการสต็อก และการสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านที่รวดเร็ว ทำให้เจ้าของร้านสะดวก มีรายได้เพิ่มขึ้น

    buddy mart

    เจ้าของร้านจะใช้งบลงทุน 400,000 บาท แบ่งเป็นค่าเงินค้ำประกัน 200,000 บาท และค่าปรับปรุงร้าน 200,000 บาท (ขึ้นกับขนาด และสภาพของร้านปัจจุบัน) มี 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก พื้นที่ 48 ตารางเมตรขึ้นไป ขนาดกลาง พื้นที่ 50-100 ตารางเมตร ขนาดใหญ่ พื้นที่ 100 ตารางเมตรขึ้นไป

    ส่วนทางบัดดี้มาร์ทจะลงทุนให้กับคู่ค้า มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท โดยติดตั้งระบบ POS ระบบบริหารจัดการร้าน อุปกรณ์ชั้นวาง ตู้แช่ และสินค้าทั้งหมดภายในร้าน และยังร่วมกับธนาคารกรุงเทพ สร้างการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ที่ติดปัญหาด้านเงินลงทุน

    buddy mart

    ภายใต้การนำทัพของ “ธนิศร์ เจียรวนนท์”

    หลังจากการผนึกกันของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และค้าส่งรายใหญ่ของไทย แม็คโคร และโลตัส ที่อยู่ภายใต้ชายคา “เจริญโภคภัณฑ์” เดียวกัน ก็มีการจัดทัพองค์กรใหม่ ดันผู้บริหารรุ่นใหม่เสริมทัพ หนึ่งในแม่ทัพของแม็คโครที่น่าจับตาไม่น้อยก็คือ “ธนิศร์ เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ประเทศไทย ที่มากุมบังเหียนธุรกิจค้าส่ง และดูแลโปรเจกต์

    ธนิศร์ เป็นบุตรชายคนโตของ “สุภกิต-มาริษา เจียรวนนท์” จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากนั้นไปทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ให้กับ ธนาคาร UBS AG ในฮ่องกง 2 ปีครึ่ง และกลับมาทำงานในแผนกต่างประเทศ ดูแลด้านการขยายสาขาให้แม็คโคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และได้รับโจทย์ที่ท้าทายอย่างการขยายสาขาสู่ประเทศที่การทำธุรกิจค้าปลีกค้าส่งไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างอินเดีย

    ธนิศร์ เจียรวนนท์

    ภารกิจของเขาในขณะนั้น คือการศึกษาความเป็นไปได้ของการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งเขาทุ่มเทสุดกำลังในการสร้างความเข้าใจ “ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก” เซ็กเมนต์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายในทุกย่างก้าว โดยเรียนรู้จาก “ทีมผู้เชี่ยวชาญ” ของแม็คโครที่เป็น “มือเก๋าในวงการ” คอยให้คำแนะนำ โดย “ธนิศร์” ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ LOTS Wholesale Solution และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนประสบความสำเร็จ ขยายได้ถึง 3 สาขาในอินเดีย

    “ตอนไปทำที่อินเดีย ผมอายุประมาณ 27 ปี ต้องบอกว่า ตลาดนี้มีความท้าทายมาก เพราะฝั่งที่เป็นการค้าปลีกแบบดั้งเดิมมีถึง 91% และฝั่งที่เป็นการค้าสมัยใหม่มีสัดส่วนเพียง 9% เป็นตลาดที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาศึกษา ทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องทำให้พนักงานของเราไม่คิดว่าตลาดอินเดียยาก หรือจะทำแต่สิ่งเดิมๆ ที่เคยทำ เราต้องผลักดันให้พนักงานกล้าที่จะก้าวออกมาจากกรอบเดิมๆ ดังนั้น การทำธุรกิจที่อินเดียจึงไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่อง คน ที่จะทำอย่างไรให้เขาเชื่อว่า เขาชนะคู่แข่งได้”

    ธนิศร์เล่าถึง ภารกิจแห่งความท้าทายในตลาดค้าส่งในประเทศที่ถือว่า “หิน” ที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งตลอด 4 ปีในแดนภารตะ เขาทำงานอย่างหนัก สร้างบทพิสูจน์ในฐานะผู้นำองค์กร และสร้างผลงานทางธุรกิจได้ดี จนได้รับการเลื่อนขั้น กลับมารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หน่วยธุรกิจแม็คโครประเทศไทย ในปีนี้

    โจทย์หิน ของ “ธนิศร์” ไม่หยุดแค่อินเดีย หลังกลับมาประจำที่แม็คโคร สำนักงานใหญ่ ประเทศไทย เขาได้รับหน้าที่ในแผนกพัฒนาธุรกิจค้าปลีก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “บัดดี้มาร์ท” รูปแบบธุรกิจทางเลือกของโชห่วย ที่เขาร่วมเป็นหนึ่งในทีมปลุกปั้น ในช่วงแรกๆ เขาถึงขนาดลงพื้นที่ไปช่วยจัดร้านค้า ขนของ ลงแรงด้วยตัวเองเคียงข้างทีมงานทุกคน เพื่อต้องการเข้าถึงใจของผู้ประกอบการที่เป็นพันธมิตรสำคัญ

    และเมื่อภาระหน้าที่ขยับก้าวไปสู่ความรับผิดชอบที่ใหญ่ขึ้น ในฐานะ ซีอีโอของ หน่วยธุรกิจแม็คโคร ประเทศไทย “ธนิศร์” ก็ต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อลงสนามแข่งขันในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ที่ตลาดในเมืองไทยกำลังเป็นสมรภูมิที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด

    สำหรับร้านบัดดี้มาร์ท ธนิศร์ได้เล่าว่า ตลอดระยะเวลาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย แม็คโครเป็นธุรกิจค้าส่งที่มีโชห่วยเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าสำคัญ สร้างยอดขายในอัตราส่วนถึง 30% แม็คโครกับลูกค้าโชห่วยทั่วประเทศ จึงมีความผูกพันกันมานาน ในทุกปีเรามีการจัดงานตลาดนัดโชห่วย เพื่ออัปเดตเทรนด์ธุรกิจค้า ที่ร้านค้าเล็กๆ ควรรู้หรือนำไปปรับใช้ รวมถึงมีโครงการประกวดทายาทโชห่วย ซึ่งเป็นเวทีแข่งขันไอเดียพัฒนาร้านของคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานเจ้าของธุรกิจโชห่วย เมื่อนำมาเสริมกับข้อมูลเชิงลึกที่แม็คโครมี ก็ทำให้ได้ข้อมูลที่เข้าถึงปัญหาอย่างลึกซึ้ง และสามารถสร้างรูปแบบการพัฒนาร้านค้าปลีก ที่ตอบโจทย์ให้โชห่วยได้อย่างแท้จริง

    ]]>
    1399426
    มาม่า เนสกาแฟ ดัชมิลล์ คอลเกต ติดโผ “แบรนด์แห่งทศวรรษ” จัดโดย Kantar https://positioningmag.com/1388496 Mon, 13 Jun 2022 03:19:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1388496 รางวัล Brand Footprint Awards 2022 ประเทศไทย ทำการคำนวณจากมาตรวัด Consumer Reach Points (อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค) ซึ่งเป็นวิธีคำนวณเฉพาะของ Kantar ครอบคลุม 570 แบรนด์ FMCG สำหรับประเทศไทย สะท้อนเสียงจากผู้บริโภค 26.2 ล้านครัวเรือน โดยปีนี้มีการมอบรางวัล 4 แบรนด์ในดวงใจผู้บริโภค “มาม่า เนสกาแฟ ดัชมิลล์ คอลเกต” เป็นแบรนด์แห่งทศวรรษ

    Brand Footprint Awards 2022 ประเทศไทย โดย Kantar ปีนี้รางวัลจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

    • Brands of The Decade รางวัลแบรนด์แห่งทศวรรษ ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด ต่อเนื่อง 10 ปีซ้อน
    • Most Chosen Brands รางวัลแบรนด์ยืนหนึ่ง ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด
    • Top Growing Brands รางวัลแบรนด์ดาวรุ่ง ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเติบโตสูงสุด
    • Top Outstanding Brands รางวัลแบรนด์ม้ามืด ที่มีความโดดเด่น
    • Top Outstanding Retailer รางวัลค้าปลีก ที่มีความโดดเด่น

    การวัดจะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ FMCG ได้แก่ กลุ่มอาหาร, กลุ่มเครื่องดื่ม, กลุ่มผลิตภัณฑ์นม, กลุ่มทำความสะอาดบ้าน, กลุ่มของใช้ส่วนบุคคล และ กลุ่มบิวตี้ รวมไปถึง กลุ่มร้านค้าปลีก ด้วย

    Brands of The Decade รางวัลแบรนด์แห่งทศวรรษ

    มอบให้กับแบรนด์ที่มีผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุดในปี 2021 และต่อเนื่อง 10 ปีซ้อน ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ FMCG

    • กลุ่มอาหาร – มาม่า อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 172 ล้านครั้ง
    • กลุ่มผลิตภัณฑ์นม – ดัชมิลล์ อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 168 ล้านครั้ง
    • กลุ่มเครื่องดื่ม – เนสกาแฟ อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 126 ล้านครั้ง
    • กลุ่มของใช้ส่วนบุคคล – คอลเกต อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 106 ล้านครั้ง

     

    Most Chosen Brands รางวัลแบรนด์ยืนหนึ่ง ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด

    แบรนด์ที่มีผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุดในปี 2021 ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ FMCG

    • กลุ่มทำความสะอาดบ้าน – ไฮยีน อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 106 ล้านครั้ง
    • กลุ่มบิวตี้ – การ์นิเย่ อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 29 ล้านครั้ง

    (ทั้งสองแบรนด์เป็นแชมป์เก่าตั้งแต่ปีก่อนในหมวดสินค้าของตนเอง)

     

    Top Growing Brands รางวัลแบรนด์ดาวรุ่ง ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเติบโตสูงสุด

    แบรนด์ที่มีผู้บริโภคเลือกซื้อเติบโตมากที่สุดในปี 2021 ในแต่ละกลุ่มและหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ FMCG

    • กลุ่มเครื่องดื่ม – วิตอะเดย์ อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 35 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 12.6 ล้านครั้ง
    • กลุ่มอาหาร – เลย์ อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 159 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 10.4 ล้านครั้ง
    • กลุ่มผลิตภัณฑ์นม – นมตราหมี อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 25 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 6.2 ล้านครั้ง
    • กลุ่มของใช้ส่วนบุคคล – เทพไทย อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 17 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 4.4 ล้านครั้ง
    • กลุ่มทำความสะอาดบ้าน – ไฟน์ไลน์ อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 53 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านครั้ง
    • กลุ่มบิวตี้ หมวดหมู่สกินแคร์สำหรับใบหน้า – จุฬาเฮิร์บ อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 10 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านครั้ง
    • กลุ่มบิวตี้ หมวดหมู่เครื่องสำอางเมกอัพ – Merrezca อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 4.5 แสนครั้ง เพิ่มขึ้น 2.3 แสนครั้ง

    (เทพไทย เคยได้รางวัลทั้งกลุ่มแบรนด์ดาวรุ่งและแบรนด์ม้ามืดเมื่อปี 2020 มาแล้ว)

     

    Top Outstanding Brands รางวัลแบรนด์ม้ามืด ที่มีความโดดเด่น

    รางวัลนี้จะอิงโดยพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากผู้บริโภคในปี 2021 ซึ่ง Kantar มองเห็น 5 เทรนด์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน, การทำอาหารทานเองที่บ้าน, สุขอนามัย, การปรับเปลี่ยนให้เกิดความเรียบง่ายและเลอค่า และการช้อปปิ้งออนไลน์ โดยแบรนด์ที่โดดเด่นที่สุดในแต่ละหมวด มีดังนี้

    • หมวดหมู่บิสกิตและเค้กรสชาติหวาน – ยูโร่ อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 29 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 5 ล้านครั้ง
    • หมวดหมู่อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง – อีซี่โก อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 12 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 8 ล้านครั้ง
    • หมวดหมู่ทำความสะอาดพื้น – มาจิคลีน อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 14 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 1 ล้านครั้ง
    • หมวดหมู่บิวตี้ระดับพรีเมียม – Estee Lauder อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 2.1 แสนครั้ง
    • หมวดหมู่บิวตี้ประเภทเวชสำอาง – Eucerin อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 1 ล้านครั้ง
    • ประเภท E-retailer ค้าปลีกออนไลน์ – 7-eleven Online อัตราการเข้าถึงผู้บริโภค 3 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านครั้ง

    แบรนด์แห่งทศวรรษ

    สำหรับเทรนด์ FMCG ในประเทศไทยนั้น “โฮวาร์ด ชาง” กรรมการผู้จัดการประเทศไทยและมาเลเซีย Kantar, Worldpanel Division กล่าวว่า กำลังใช้จ่ายต่อครัวเรือนนั้นเริ่มเล็กลงเพราะขนาดครัวเรือนที่เล็กลง อีกทั้งนักช้อปยังลดจำนวนแบรนด์ FMCG ที่เลือกซื้อจาก 25 แบรนด์ เหลือ 22 แบรนด์ต่อครัวเรือน ซึ่งทำให้โอกาสเติบโตของแต่ละแบรนด์ยากขึ้น ยกตัวอย่างในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 2 ใน 50 แบรนด์ระดับโลกที่ยังสามารถเติบโตได้

    กลยุทธ์การตลาดที่สำคัญของ FMCG จึงเป็นการหา “นักช้อปหน้าใหม่” ให้เข้ามาเลือกซื้อแบรนด์ตนเองมากขึ้น ซึ่งเกิดจากความเข้าใจอินไซต์ของผู้บริโภคและนำมาดึงดูดให้เกิดการซื้อจริง

    งานประกาศรางวัล Brand Footprint Awards 2022 ประเทศไทย มีเวทีเสวนา โดยมีตัวแทนจากแบรนด์ต่างๆ ที่น่าสนใจเข้าร่วมให้ความรู้ เช่น คอลเกต ที่ระบุถึงการเติบโตได้แม้เป็นช่วง COVID-19 เนื่องจากการมุ่งเน้นการขายออนไลน์ และเข้าใจการใช้กลยุทธ์ Personalized ในช่องทางนี้

    ขณะที่ทาง Kao เจ้าของแบรนด์ “มาจิคลีน” ระบุถึงการรับมือกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อว่า แบรนด์จะเน้นเรื่องความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ เน้นทำโปรโมชันที่ดึงดูดลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์เพื่อรักษาฐานตลาดเดิมไว้ มากกว่าจะลงไปเล่นสงครามราคา เป็นจุดสำคัญที่บริษัทจะยังรักษาไว้

     

    อ่านข่าวเกี่ยวกับสินค้า FMCG ที่น่าสนใจ

    ]]>
    1388496
    เด็กเกิดน้อย ครัวเรือนเล็กลง กระทบสินค้า FMCG งัดกลยุทธ์ “ขนาดแพ็กเกจ-ราคา” ให้เหมาะสม https://positioningmag.com/1379633 Tue, 29 Mar 2022 11:49:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379633
  • เปิดรายงานวิเคราะห์ตลาดสินค้า FMCG ในไทยปี 2564 โดย Kantar พบปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบคือ “ขนาดครัวเรือนเล็กลง” เด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุมีมากกว่า
  • ทำให้การเลือกกลยุทธ์ขนาดแพ็กเกจและราคาต้องคิดละเอียด เหมาะสมกับลักษณะครอบครัวเป้าหมาย
  • เชื่อว่าปี 2565 ตลาดจะยังได้ 2.1% มีแรงขับสำคัญจากกลุ่มผู้อาศัยในพื้นที่ชนบท เนื่องจากอานิสงส์โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • ข้อมูลจาก Kantar สรุปภาพรวมปี 2564 เป็นปีที่ตลาดสินค้า FMCG (Fast-moving Consumers Goods) เติบโตถึง 3.5% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเกิดจากหลายเหตุผล ทั้งการอุดหนุนของรัฐผ่านโครงการคนละครึ่ง การปลดล็อกดาวน์และปรับตัวดีขึ้นของการท่องเที่ยว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 1.2%

    ปีก่อนนี้เป็นปีที่พฤติกรรมผู้บริโภคปรับตัวไปพอสมควร เนื่องจากการอยู่บ้านมากขึ้น เลี่ยงการไปที่สาธารณะ มีการทำอาหารทานเอง เน้นทานอาหาร เครื่องดื่ม ขนมภายในบ้าน ทำให้ความถี่ในการไปช้อปปิ้งสินค้าของกินของใช้ลดลง -6.8% แต่การซื้อต่อตะกร้าเพิ่มมูลค่าถึง 10%

    FMCG
    ปี 2564 ผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยครั้งลง แต่ซื้อครั้งละมากขึ้น

    พฤติกรรมนี้ส่งให้กลุ่มสินค้าที่เติบโตดีมากคือ “อาหาร” โตถึง 9.2% รองมาคือ “เครื่องดื่ม” ที่โต 3.8% ในขณะที่กลุ่ม “ของใช้ส่วนตัว” ติดลบ -1.1% เพราะผู้บริโภคไม่ได้ออกนอกบ้านมากนัก

     

    ครัวเรือนไซส์เล็ก 1-2 คนยิ่งเพิ่มมากขึ้น

    ในแง่ลักษณะของผู้บริโภค Kantar เก็บข้อมูลพบว่าประชากรไทยอยู่ “ในเมือง” (รวมทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด) มากกว่าอยู่ใน “ชนบท” แล้วตั้งแต่ปี 2561 และปี 2564 จำนวนที่ต่างกันของครอบครัวในเมืองกับในชนบทยิ่งถ่างออกมากขึ้น

    อีกผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลักษณะผู้บริโภค คือ อัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ มีเด็กเกิดใหม่เพียง 550,000 คนในปี 2564 เทียบกับปี 2555 มีเด็กเกิดใหม่มากกว่า 800,000 คน ประเทศไทยจึงเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าจำนวนเด็กวัยไม่เกิน 14 ปี

    ครัวเรือนอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท และครัวเรือนขนาดเล็กที่มี 1-2 คนพุ่งสูง เพราะครอบครัวไทยไม่มีลูกมากขึ้น และผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวหรือสองคนก็เพิ่มขึ้นหลังลูกหลานแยกบ้านออกไป

    มาถึงปี 2564 จึงเห็นภาพชัดว่าครัวเรือนขนาดเล็ก มีสมาชิกอาศัย 1-2 คน ยิ่งพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับครัวเรือนขนาดใหญ่มีสมาชิก 5 คนขึ้นไปลดลงอย่างมาก ส่วนครัวเรือนขนาดกลางมีสมาชิก 3-4 คน ยังคงทรงตัวอยู่เท่าเดิม

    ที่เป็นเช่นนี้เพราะครัวเรือนที่คนวัยหนุ่มสาวอยู่คนเดียวหรืออยู่เป็นคู่แต่ไม่มีลูกมีเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่กัน 2 คนเพราะลูกหลานแยกบ้านออกไปแล้วก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

     

    แต่ละกลุ่มระมัดระวังการใช้จ่ายต่างกัน

    แต่ละกลุ่มผู้บริโภคทั้งวัย ขนาดครัวเรือน และที่อยู่ (ในเมือง/ชนบท) มีพฤติกรรมการใช้จ่ายกับสินค้า FMCG ต่างกัน โดย Kantar แยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

    • กลุ่มกังวลกับการใช้จ่าย – ใช้จ่ายน้อยลงตั้งแต่เกิด COVID-19 ปีแรก และยิ่งน้อยลงอีกในปีที่สอง ได้แก่ กลุ่มคนเมืองต่างจังหวัด, กลุ่มครัวเรือนขนาดใหญ่, กลุ่มวัยหนุ่มสาว (ต่ำกว่า 35 ปี) และกลุ่มคนรายได้ต่ำกับรายได้สูงที่อยู่ในเมือง
    • กลุ่มระมัดระวังใช้จ่าย – ช่วง COVID-19 ปีแรกยังใช้จ่ายปกติแต่ปีที่สองใช้จ่ายน้อยลงเพราะระวังสถานการณ์ ได้แก่ กลุ่มครัวเรือนขนาดเล็ก, ครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก, ครัวเรือนที่มีเด็กวัยรุ่น และคู่รักสูงวัย
    • กลุ่มที่ยังใช้จ่ายปกติ – กลุ่มนี้ยังใช้จ่ายปกติจนถึงใช้มากขึ้นตั้งแต่เกิด COVID-19 ได้แก่ กลุ่มที่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล, กลุ่มอาศัยในชนบท, กลุ่มรายได้ปานกลางในเมือง, กลุ่มครัวเรือนขนาดกลาง และกลุ่มที่อายุมากกว่า 35 ปี

     

    จัดกลยุทธ์แพ็กเกจและราคาให้เหมาะสม

    ความระมัดระวังที่ต่างกัน ทำให้การจัดแพ็กเกจและราคาของแต่ละสินค้าที่มีเป้าหมายลูกค้าต่างกันก็ต้องแยกละเอียด ยกตัวอย่างปีก่อน สินค้าที่ประสบความสำเร็จในการ Trade Up คือทั้งเพิ่มราคาต่อยูนิตและเพิ่มราคาต่อปริมาณ เช่น กลุ่มวัตถุดิบทาขนมปัง (เช่น แยม) ซึ่งเป็นสินค้าที่กลุ่มครัวเรือนขนาดกลาง มีเด็กวัยรุ่นในบ้าน ซื้อกันมากขึ้น และกลุ่มครัวเรือนขนาดกลางยังเป็นกลุ่มที่พร้อมจ่าย

    ขณะที่กลุ่มขนมขบเคี้ยว ใช้กลยุทธ์การ Up Size คือเพิ่มราคาต่อยูนิตแต่ลดราคาต่อปริมาณ ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าขึ้น เป้าหมายหลักของสินค้านี้คือวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่กังวลกับการใช้จ่าย จึงต้องใช้ราคาจูงใจว่าซื้อไซส์ใหญ่คุ้มค่ามากขึ้น

    หรืออย่างสินค้าประเภทเนย มีการใช้กลยุทธ์ Down Size คือลดขนาดลงทำให้ราคาต่อยูนิตลดลง แม้ราคาต่อปริมาณจะแพงขึ้น ซึ่งสินค้าเนยนิยมในกลุ่มคนเมืองต่างจังหวัด และกลุ่มนี้กังวลเรื่องการใช้จ่ายสูง ทำให้การจ่ายต่อครั้งที่น้อยลงก็จูงใจได้เช่นกัน

     

    ปี 2565 คาดว่า FMCG จะโต 2.1%

    สำหรับตลาดสินค้า FMCG ปี 2565 ทาง Kantar มองว่าตลาดจะยังโตอยู่ที่ 2.1% แม้จะไม่โตเท่าปีที่แล้วแต่ยังมองบวกได้ เพราะจีดีพีไทยที่น่าจะเป็นขาขึ้น ยังมีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ดันยอดใช้จ่ายในกลุ่มผู้อาศัยในชนบท รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะขึ้น 1.9% ซึ่งทำให้ราคาสินค้าขึ้นตามไปด้วย

    สินค้ากลุ่มของใช้ส่วนตัวน่าจะกลับมาดีดตัวในปีนี้ หลังคลายล็อกดาวน์

    ด้านกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะยังเติบโตคือ อาหารแช่แข็ง/แช่เย็น คาดโต 3.1% รองมาคือเครื่องดื่ม โต 2.8% ส่วนที่น่าสนใจคือ ของใช้ส่วนตัว ที่น่าจะดีดกลับมาโต 2.5% หลังตลาดติดลบมา 2 ปีต่อเนื่อง เพราะปีนี้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น

    คำแนะนำที่น่าสนใจต่อตลาดในปีนี้จาก Kantar เช่น

    • สร้างสรรค์ประโยชน์จากตลาด “ชนบท” ที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ
    • ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คิดถึงลักษณะของลูกค้าของแบรนด์เป็นสำคัญ เพื่อจะจัดขนาดแพ็กเกจและราคาให้ถูกต้อง เพราะไม่ใช่สินค้าทุกอย่างจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มไซส์หรือเพิ่มราคา บางสินค้าจะดีกว่าถ้าลดราคาหรือลดไซส์ลง
    • การอยู่บ้านจะยังเป็นเทรนด์ต่อไป ทำให้สินค้าสำหรับคนอยู่บ้าน เช่น เครื่องปรุงอาหาร จะยังได้อานิสงส์ที่ดี
    • มีกลุ่มประชากรที่เข้าถึงทั้งช่องทางดั้งเดิม โมเดิร์นเทรด และอีคอมเมิร์ซ มากขึ้นเป็น 31.6% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่แบรนด์จะเจาะให้ครบทุกช่องทาง โดยช่องทางออนไลน์จะช่วยเสริมให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้นจากออฟไลน์

    (ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มของ Kantar เกี่ยวกับตลาด FMCG ในไทยปี 2565 ได้ที่นี่)

    ]]>
    1379633
    2022 เป็นปีที่ “ไม่แย่” สำหรับสินค้า FMCG คาดโต 2.1% บทวิเคราะห์จาก Kantar https://positioningmag.com/1371214 Fri, 21 Jan 2022 12:24:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1371214 Kantar Worldpanel คาดการณ์ตลาดสินค้าของกินของใช้ FMCG ในไทยปี 2022 น่าจะเป็นอีกปีที่ “ไม่แย่” เติบโตได้ 2.1% หากการระบาดของโอมิครอนไม่รุนแรงจนต้องล็อกดาวน์ และภาวะเงินเฟ้อราคาอาหารเป็นผลระยะสั้น แต่หากปัจจัยลบสูง อาจติดลบเล็กน้อย -0.2%

    “สุริยา อ้นมงคล” Head of Expert Solutions, Kantar, Worldpanel Division ประเทศไทย เปิดเผยการคาดการณ์ของบริษัท จากการใช้ชุดข้อมูลเชิงลึกผนวกกับการใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง คาดว่าตลาด FMCG ในไทยปี 2022 จะเติบโต 2.1% โดยให้ปัจจัยอัตราเงินเฟ้อราคาอาหารเป็นภาวะระยะสั้น และการระบาดของโอมิครอนไม่มีผลสำคัญต่อการควบคุมการเดินทางหรือใช้ชีวิต

    อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัจจัยลบคืออัตราเงินเฟ้อราคาอาหารและต้นทุนเชื้อเพลิงเกิดขึ้นยาวนาน โดยที่รัฐไม่มีหรือลดโครงการเงินอุดหนุน จะทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลต่อภาระที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขาย FMCG อาจติดลบได้ถึง -0.2% หรือบวกได้ไม่เกิน 0.1%

    FMCG

    ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา FMCG เคยทำยอดขายเติบโตสูงสุด 3.4% ทำให้ถ้าหากการเติบโตปีนี้อยู่ที่ 2.1% ถือว่าเป็นปีที่ “ไม่แย่” นักสำหรับตลาดของกินของใช้

    ด้านปัจจัยบวกต่อ FMCG รูปแบบพฤติกรรมที่ผ่านมาพบว่า การเปิดโครงการเงินอุดหนุนของรัฐจะเป็นผลบวกต่อ FMCG ทำให้ประชาชนจับจ่ายสินค้ามากขึ้น และถ้ามีแนวโน้มจะล็อกดาวน์ ประชาชนมักจะซื้อสินค้าเพื่อกักตุน

     

    ช่องทาง “อี-คอมเมิร์ซ” เติบโตสูง

    อีกประเด็นที่น่าสนใจในตลาด FMCG เมื่อปี 2021 พบว่า ช่องทางการขายสินค้าของกินของใช้ผ่าน “อี-คอมเมิร์ซ” ในไทยโตสูงถึง 38% YoY มากกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียที่โต 27.7% YoY ซึ่งเกิดจากการปรับตัวของผู้ขายมาตั้งแต่ปี 2020 เริ่มปรับกลยุทธ์การตลาดให้แม่นยำผ่านสื่อดิจิทัล ประกอบกับการระบาดเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมตนเอง

    ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องจับตาว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อ FMCG ได้แก่

    • Mobility Trends ข้อมูลจาก Google เมื่อเดือนมกราคม 2022 พบว่า การเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ทำงานลดลง -14% แต่การเคลื่อนที่ในแหล่งที่อยู่อาศัยกลับเพิ่มขึ้น 4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนจำนวนหนึ่งยังมีพฤติกรรมทำงานจากบ้านอยู่
    • จับตาจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องการอัดแคมเปญดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศปีนี้ 5-15 ล้านคน จะทำรายได้ด้านการท่องเที่ยว 1.3-1.8 ล้านล้านบาท (ทั้งนี้ ศบค. ปรับมาตรการล่าสุด กลับมาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศในระบบ Test & Go ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้)
    ]]>
    1371214
    FMCG เตรียมตัว! อีเวนต์-งานสังสรรค์ช่วง “เทศกาลเฉลิมฉลอง” ในเอเชีย โอกาสบูสต์ยอดขาย https://positioningmag.com/1365809 Wed, 08 Dec 2021 08:18:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1365809 ข้อมูลจาก Kantar สำรวจข้อมูลย้อนหลังในเอเชียช่วง “เทศกาลเฉลิมฉลอง” ของประเทศต่างๆ ได้แก่ คริสต์มาส ตรุษจีน รอมฎอน และสงกรานต์ พบว่า ยอดขายสินค้า FMCG จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% โดยปลายปีนี้จนถึงปีหน้า เชื่อว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้นในหลายประเทศ จะทำให้การจัดงานสังสรรค์ทำได้เต็มที่ขึ้น ส่งผลให้ยอดขายสินค้าดีขึ้นตามไปด้วย

    Kantar เปิดข้อมูลย้อนหลังปี 2564 เทียบการใช้จ่ายสินค้า FMCG ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน และของใช้ส่วนตัว ระหว่างช่วง “เทศกาลเฉลิมฉลอง” กับช่วงที่ “ไม่ใช่เทศกาล” โดยสำรวจใน 8 เขตการปกครอง คือ เวียดนาม (เฉพาะในเขตเมือง) จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

    จากข้อมูลพบว่า การใช้จ่ายกับสินค้า FMCG ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองรอบปี 2564 จะเติบโตสูงกว่าปกติเฉลี่ย 13%

    อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ใช้จ่ายหนักจะเป็นประเทศที่ฉลอง “ตรุษจีน” คือ เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย ส่วนเทศกาลอื่นๆ ในรอบปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการใช้จ่ายสูงขึ้นมากซึ่งอาจเกิดจากเป็นช่วงที่มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นในภูมิภาคพอดี

    รวมถึงประเทศไทยเราด้วย เมื่อวัดในช่วงสงกรานต์ 2564 แล้ว การใช้จ่ายจะเท่าๆ กับช่วงปกติที่ไม่มีเทศกาล แต่อาจเกิดจากสงกรานต์รอบที่ผ่านมา ไทยยังมีการล็อกดาวน์ต่อเนื่องเป็นปีที่สองทำให้จัดงานสังสรรค์ไม่ได้ แต่ก็มีสินค้าบางกลุ่มย่อยที่ขายดีขึ้นกว่าปกติ คือ “เครื่องดื่ม” และ “อาหารสำเร็จรูป” ซึ่งน่าจะเกิดจากการซื้อสินค้ากักตุนไว้ในช่วงล็อกดาวน์พอดี

     

    อัตราฉีดวัคซีนดี กลับมาฉลองเต็มที่

    Kantar มองว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่เกินกว่า 50% แล้วในหลายๆ ประเทศแถบเอเชีย จะทำให้ผู้บริโภคกล้าเข้าร่วมงานอีเวนต์ จัดงานฉลอง งานสังสรรค์กันมากขึ้นในช่วงเทศกาล รวมถึงประเทศไทยที่ ณ วันที่ 4 ธ.ค. 2564 มีผู้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 60.8% ของประชากร (ยกเว้นประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่ประชากรยังได้รับวัคซีนครบไม่ถึง 50%)

    เมื่อวัดจากการฉลองตรุษจีน 2564 เป็นช่วงที่ยังไม่มีการระบาดรอบใหม่ในภูมิภาค เห็นได้ว่าในประเทศที่ฉลองตรุษจีนมียอดขายสินค้า FMCG ดีขึ้น และ Kantar คาดการณ์ว่าในปี 2565 น่าจะยิ่งดีขึ้นไปอีก เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนดังกล่าว

     

    จับตากลุ่ม “เครื่องดื่ม” มาแรงช่วงสงกรานต์

    เจาะตลาดประเทศไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ “มาร์ติน ชอย” Strategic Insights Director, Kantar ประเทศไทย กล่าวว่า ปกติแล้วสงกรานต์คือช่วงที่ร้อนที่สุดของปี ทำให้กลุ่ม “เครื่องดื่ม” มักจะเป็นสินค้าขายดีอยู่แล้ว และน่าจะยิ่งเติบโตในปี 2565 เมื่อลูกค้าซื้อแบบแพ็กใหญ่สำหรับการสังสรรค์

    จะเห็นได้ว่าช่วงสงกรานต์ครั้งที่ผ่านมา เครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูปขายดีกว่าปกติ

    สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องสำหรับตลาดไทยคือ ปีนี้ร้านของชำได้เปรียบมากในแง่ช่องทางการขาย FMCG เพราะได้แรงสนับสนุนจากโครงการคนละครึ่งของภาครัฐ ทำให้มีลูกค้าหน้าใหม่เดินเข้าร้านของชำในเขตเมืองมากขึ้น และลูกค้าเก่าในเขตต่างจังหวัดซื้อสินค้าในร้านของชำเยอะขึ้น

    ชอยคาดว่า ปีหน้าจะเกิดการแย่งลูกค้ากันมากขึ้น ระหว่างโมเดิร์นเทรดที่ต้องการจะดึงลูกค้ากลับคืนมาหลังหมดโครงการรัฐกับร้านของชำที่จะดึงลูกค้าให้อยู่กับตัวเองต่อไป อาจจะได้เห็นการลดราคาอย่างหนักในกลุ่มเครื่องดื่มในช่วงเทศกาลฉลองนี้เอง

    ]]>
    1365809