Wall Street Journal รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Meta เจ้าของ Social Network อย่าง Facebook และ Instagram ได้มีการพูดคุยกับ Apple เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัทเข้าผนวกกับระบบ Apple Intelligence
Meta ที่กำลังพัฒนาโมเดล AI อย่าง Llama ซึ่งแข่งขันกับคู่แข่งจากบริษัทเทคโนโลยีหลายราย ได้พยายามที่จะใช้ความได้เปรียบของจำนวนผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Apple เพื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ จึงทำให้มีการพูดคุยในเรื่องดังกล่าวขึ้น
ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ Apple ได้เปิดตัว Apple Intelligence ขึ้น โดยมีการผนวก AI จาก OpenAI ซึ่งถือว่าเป็น AI ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเวลานี้ ซึ่งดีลดังกล่าวนั้น ผู้ผลิต iPhone ไม่ได้มีการจ่ายเงินให้กับเจ้าของ ChatGPT แต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้สำหรับ Meta และ Apple เองเคยมีกรณีกระทบกระทั่งระหว่างกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของความเป็นส่วนตัว และผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวทำให้เจ้าของ Facebook และ Instagram นั้นมีรายได้ลดลงจากเรื่องดังกล่าวมาแล้ว
กรณีการกระทบกระทั่งกันนั้นทำให้หัวเรือใหญ่อย่าง Mark Zuckerberg นั้นเคยออกมาวิจารณ์การกระทำของ Apple หลายครั้ง หรือแม้แต่ Tim Cook เองก็ได้กล่าวย้ำถึงความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทมาโดยตลอด และมีการวิจารณ์ในเรื่องของการเก็บข้อมูลของยักษ์ใหญ่เจ้าของเครือข่ายสังคมด้วย (แม้ไม่ได้พาดพิงตรงๆ ก็ตาม)
โมเดลธุรกิจระหว่าง Apple กับ OpenAI ที่นำเทคโนโลยี AI เข้ามาผนวกใน Apple Intelligence นั้นทำให้ Meta เองมองเห็นถึงโอกาส จึงทำให้เกิดการพูดคุยของทั้ง 2 ฝ่ายในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานล่าสุดว่า Apple ได้ยกเลิกการพูดคุยกับทาง Meta โดยยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต iPhone นั้นมีความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวของโมเดล AI ดังกล่าว และชี้ว่าการพูดคุยของทั้ง 2 ฝ่ายนั้นเป็นเพียงเริ่มต้น ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม
ที่มา – Bloomberg, Wall Street Journal
]]>รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ออกร่างกฎหมายที่เตรียมควบคุมให้บริษัทหรือนักลงทุนรายบุคคลต้องมีการแจ้งเตือนรัฐบาลถ้าหากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควอนตัมคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่เทคโนโลยีการผลิตชิป
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวตามหลังมาจากในเดือนสิงหาคมปี 2023 ที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้เตรียมออกกฎเกณฑ์กำหนดให้บุคคลและบริษัทในสหรัฐฯ ต้องส่งเรื่องให้กับหน่วยงานรัฐเพื่อพิจารณาว่าธุรกรรมการลงทุนในประเทศจีน ซึ่งบางธุรกรรมอาจถูกจำกัดหรือมีสิทธิ์ที่จะถูกแบนได้
ร่างดังกล่าวนั้นส่งผลต่อการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทั้งในหุ้นบริษัท หุ้นกู้ หรือแม้แต่การกู้เงิน และยังรวมถึงการร่วมทุนกับบริษัทหรือบุคคลในฝั่งจีนด้วย
Paul Rosen ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่ดูแลด้านความมั่นคงด้านการลงทุน ได้กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวที่เสนอนี้ทำให้ความมั่นคงของชาติของเราก้าวหน้าขึ้นโดยป้องกันผลประโยชน์การลงทุนของสหรัฐฯ ที่บางประเทศที่ใช้เพื่อคุกคามความมั่นคงต่อประเทศชาติ
แผนการดังกล่าวนี้ต้องการที่จะชะลอในการพัฒนาเทคโนโลยีที่คุกคามความมั่นคงขอสหรัฐฯ ซึ่งจีนต้องการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำหรือไล่ตามสหรัฐฯ ให้ใกล้เคียงมากที่สุด และจำกัดไม่ให้จีนเข้าถึงด้านเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งสามารถที่จะนำไปใช้ในทางทหารได้
นอกจากนี้ร่างกฎหมายยังห้ามไม่ให้บริษัทหรือนักลงทุนรายบุคคลลงทุนในเทคโนโลยี AI ที่มีความเสี่ยงว่าจะใช้ในการทหาร และยังจะต้องมีการแจ้งเตือนรัฐบาลถ้าหากมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI หรือแม้แต่ในด้านเซมิคอนดักเตอร์
ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐได้ออกมาตรการเพื่อไม่ให้จีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดไม่ให้เข้าถึงชิปเร่งการประมวลผล AI ของ Nvidia จนทำให้ภาคเอกชนจีนต้องรีบซื้อชิปดังกล่าวจำนวนมาก หรือแม้แต่การขอร้องให้ชาติพันธมิตรอย่าง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ไม่ให้จีนเข้าถึงอุปกรณ์การผลิตชิปรุ่นใหม่ล่าสุด
ไม่เพียงเท่านี้บริษัทในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เน้นลงทุนในเหล่าสตาร์ทอัพ (VC) ได้ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะชะลอตัวลงไปเนื่องจากความขัดแย้งของ 2 มหาอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา
และกรณีดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่เริ่มลุกลามบานปลายเพิ่มมากขึ้น ไม่มีท่าทีที่จะชะลอตัวลงแต่อย่างใด
ที่มา – Al Jazeera, Reuters
]]>PayPal ผู้ให้บริการจ่ายเงินรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ล่าสุดบริษัทได้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีรายใหม่ Srini Venkatesan ซึ่งอดีตนั้นเป็นผู้บริหารของ Walmart โดยทิศทางหลังจากนี้บริษัทจะเน้นในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาบริการให้กับลูกค้าของบริษัทเพิ่มมากขึ้น
ทิศทางของบริษัทที่เปลี่ยนไปนั้น ส่วนหนึ่งมาจากที่บริษัทได้ CEO คนใหม่คือ Alex Chriss ซึ่งเขาเองเป็นผู้บริหารจากบริษัทซอฟต์แวร์อย่าง Intuit
ซึ่ง CEO รายนี้เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า “ข้อมูลที่บริษัทมีและความสามารถของบริษัทในการดูสิ่งที่ผู้คนซื้อและรู้ว่าผู้ค้ารายใดพยายามหาเป้าหมาย” นั่นคือสิ่งที่เขาคิดว่า AI ถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับบริษัท
หลังจากการเข้ามาของ CEO รายใหม่ PayPal ได้ประกาศการนำเทคโนโลยี AI มาให้บริการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยให้ร้านค้าสามารถเข้าถึงลูกค้าใหม่ตามประวัติการซื้อครั้งก่อน ซึ่งบริษัทมีข้อมูลในการซื้อขายของลูกค้าเป็นจำนวนมาก
บริษัทยังออกผลิตภัณฑ์อย่างใบเสร็จอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งใบเสร็จรับเงินทางอีเมลของลูกค้าจะมีการแนะนำสินค้าที่เหมาะสม รวมถึงโปรโมชั่นคืนเงินให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ PayPal ยังได้ Mark Grether ซึ่งเคยเป็นหัวเรือที่คุมธุรกิจโฆษณาของ Uber โดยบริษัทได้แต่งตั้งในตำแหน่งรองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปของแผนกโฆษณาซึ่งเป็นแผนกที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ในบทบาทใหม่นั้น เขาจะรับผิดชอบในการพัฒนารูปแบบโฆษณาใหม่ รวมถึงดูแลการขายโฆษณา
ไม่เพียงเท่านี้ด้วยข้อมูลที่ PayPal มีมหาศาล บริษัทยังเตรียมขายข้อมูลให้กับผู้ที่ต้องการลงโฆษณาเพื่อที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ข้อมูลในไตรมาส 1 ของปี 2024 นั้น PayPal ประมวลผลการจ่ายเงินมากถึง 6,500 ล้านธุรกรรม คิดเป็นจำนวนลูกค้าที่ใช้งานมากถึงราวๆ 400 ล้านราย ทำให้มีข้อมูลต่างๆ จำนวนมาก
เป้าหมายของ PayPal หลังจากการได้ทีมผู้บริหารชุดใหม่ คือการหารายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจอื่นๆ นอกจากบริการรับจ่ายเงิน
]]>คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FTC) ได้ยื่นฟ้อง Adobe บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบชื่อดัง จากเรื่องการปกปิดในเรื่องการคิดค่าธรรมเนียม และมีการซ่อนรายละเอียดไว้ ถ้าหากลูกค้าต้องการยกเลิกบริการล่วงหน้าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยบริษัทนั้นเตรียมตัวที่จะต่อสู้ในคดีดังกล่าวถึงที่สุด
ในเอกสารของ FTC ที่เผยแพร่กับสื่อได้ชี้ว่า Adobe ล้มเหลวในการเปิดเผยข้อกำหนดแก่ลูกค้า มีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมถ้าหากมีการยกเลิกสมาชิกก่อนกำหนด ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวผู้ใช้งานไม่ได้สังเกตเห็นได้ง่าย รวมถึงกระบวนการในการยกเลิกสมาชิกที่ถือว่ายุ่งยากรวมถึงบริษัทยังปฏิเสธที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเนื่องจากจะส่งผลเสียต่องบการเงินของบริษัท
สำหรับค่าใช้จ่ายในการยกเลิกสมาชิกที่ FTC กล่าวถึงคือ Adobe จะมีการหักค่าใช้จ่าย 50% ของค่าสมาชิกในแต่ละเดือนที่เหลือ
Samuel Levine ผู้อำนวยการของ FTC ได้กล่าวว่า ชาวอเมริกันรู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่บริษัทต่างๆ ซ่อนเงื่อนไขต่างๆ ระหว่างการสมัครสมาชิก แล้วพยายามกีดขวางไม่ให้ผู้ใช้งานยกเลิกสมาชิก และ Adobe ได้พยายามให้ลูกค้าเป็นสมาชิกตลอดทั้งปีด้วยค่าธรรมเนียมยกเลิกก่อนกำหนด และยังไม่ให้ลูกค้าสามารถยกเลิกการเป็นสมาชิกอย่างง่ายดาย
แนวทางในการฟ้องร้อง Adobe นั้น FTC ได้ใช้แนวทางเดียวกับการฟ้องร้องเช่นเดียวกับกรณีของ Amazon ที่ให้สมาชิกสมัครใช้งาน Amazon Prime แต่สร้างเงื่อนไขทำให้การยกเลิกสมาชิกเป็นไปอย่างยากลำบาก
ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ หรือ FTC ได้พยายามเข้ามาควบคุมดูแลบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ซึ่งกรณีล่าสุดที่บริษัทเทคโนโลยีได้ถูกสอบสวนคือกรณีการผูกขาดเทคโนโลยี AI
ขณะเดียวกัน Adobe เองก็ถือว่าถูกหน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาสอดส่องอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการซื้อบริษัทซอฟต์แวร์อย่าง Figma มูลค่า 20,000 ล้านเหรียญ ก่อนที่จะมีการยกเลิกดีลดังกล่าว เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลมองว่าบริษัทมีโอกาสที่จะผูกขาดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี Dana Rao ที่ปรึกษาทั่วไปของ Adobe ได้โต้แย้งข้อเรียกร้องดังกล่าวและกล่าวว่าจะสู้คดีดังกล่าวจนถึงที่สุด โดยกล่าวว่า บริษัทมีความโปร่งใสกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงการสมัครสมาชิกของเรา และมีกระบวนการยกเลิกสมาชิกที่เรียบง่าย”
]]>สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าว โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Spotify ได้เตรียมออกแพ็กเกจเสริมเพื่อฟังเพลงคุณภาพสูงระดับ Hi-Fi ซึ่งคาดว่าแพ็กเกจเสริมดังกล่าวจะออกมาภายในปีนี้ และบริษัทหวังว่าบริการดังกล่าวจะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต
บริการดังกล่าวผู้ใช้บริการจะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มอย่างน้อย 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นราคาเพิ่มเติมจากแพ็กเกจพรีเมียมที่ใช้งานราวๆ 40% นอกจากจะฟังเพลงคุณภาพสูงระดับ Hi-Fi ยังมีเครื่องมือที่จัดการ Playlists รวมถึงระบบจัดการเพลงของสมาชิก
แพ็กเกจเสริมของ Spotify นั้นบริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวบริการดังกล่าวมาสักพัก แต่ได้เลื่อนการเปิดตัวมาตลอดหลังจากมีข่าวตั้งแต่ปี 2021 ขณะเดียวกันคู่แข่งหลายรายไม่ว่าจะเป็น Amazon Music หรือ Apple Music นั้นมีบริการฟังเพลงคุณภาพระดับ Hi-Fi ให้กับสมาชิกแล้ว
แรงกดดันอีกอย่างที่ทำให้ Spotify ต้องเร่งเข็นแพ็กเกจเสริมออกมาคือ บริษัทเร่งการเติบโตของกำไรมากขึ้น หลังจากบริษัทได้รับแรงกดดันจากนักลงทุน เนื่องจากบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา
ในผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมา Spotify มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 168 ล้านยูโร ขณะที่กำไรขั้นต้นของบริษัทได้แตะหลัก 1,000 ล้านยูโรเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผลกำไรดังกล่าวนั้นมาจากกลยุทธ์ของบริษัทที่ลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การปรับขึ้นราคาแพ็กเกจพรีเมียม
โดยบริการดังกล่าวนั้น Spotify มองว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มเติม และรายได้ดังกล่าวส่วนหนึ่งนั้นจะจ่ายไปยังค่ายเพลงต่างๆ แต่บริษัทยังมองว่าฐานลูกค้าหลักคือกลุ่มที่จ่ายเงินในแพ็กเกจพรีเมียม
]]>เมื่อคืนที่ผ่านมา Apple ได้จัดงาน Worldwide Developers Conference หรือ WWDC โดยในปีนี้ผู้ผลิตสินค้าชื่อดังอย่าง iPhone และ iPad นั้นได้ชูจุดเด่นในเรื่องการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาผนวกกับการใช้งานสินค้าของบริษัท
ภายในงาน WWDC นั้น Apple ได้เปิดตัว Apple Intelligence (AI) โดยได้นำเสนอเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทำงานหรือช่วยเหลือผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังรวมถึง Siri ที่มีความสามารถในการทำงานที่มากกว่าเดิม
ฟังก์ชันที่น่าสนใจของ Apple Intelligence เช่น
สำหรับการประมวลผลระบบปัญญาประดิษฐ์นั้น Apple ได้กล่าวว่าจะมีการประมวลผลข้อมูลจากบนอุปกรณ์ก่อน และถ้าหากอุปกรณ์ไม่สามารถประมวลผลข้อมูลดังกล่าวได้ ก็จะนำข้อมูลส่งขึ้นไปยังระบบคลาวด์ของบริษัทเพื่อที่จะให้ประมวลผลข้อมูล และส่งผลกลับมาที่อุปกรณ์ผู้ใช้งาน
ไม่เพียงเท่านี้ Apple ได้ประกาศความร่วมมือกับ OpenAI เจ้าของบริการแชตบอทอย่าง ChatGPT โดยเตรียมนำระบบดังกล่าวเข้ามาผนวกในระบบปฏิบัติการของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น iOS และ iPadOS รวมถึง MacOS เป็นต้น แต่บริษัทยังคงยืนยันถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
Apple ยังกล่าวว่า บริษัทได้เตรียมนำ Siri เข้ามาผนวกกับการทำงานของ ChatGPT เพิ่มด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าบริษัทได้เตรียมยกเครื่องระบบการทำงานใหม่ยกชุด เพื่อที่จะทำให้ความสามารถนั้นทัดเทียมกับบริษัทเทคโนโลยีรายอื่นๆ ที่เร่งพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
อย่างไรก็ดี Apple เองยังคงยืนยันถึงเรื่องของความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่บริษัทได้ยึดถือมาโดยตลอด
นอกจากนี้ผู้ผลิต iPhone ยังเตรียมที่จะนำเทคโนโลยี AI จากบริษัทเทคโนโลยีรายอื่นเข้ามาผนวกการทำงานให้กับผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับผู้ใช้งาน iPhone นั้น Apple Intelligence จะรองรับตั้งแต่ iPhone 15 Pro ขึ้นไปเท่านั้น
ที่มา – Apple
]]>ราคาหุ้นของ Nvidia ในช่วงการซื้อขายเมื่อคืน (5 มิถุนายน) ได้บวกเพิ่มมากถึง 5% มาอยู่ที่ 1,224.40 ดอลลาร์ต่อหุ้น ทำให้มูลค่าของบริษัทนั้นแตะระดับที่ 3 ล้านล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย
สิ่งที่เกิดขึ้นยังทำให้ผู้ผลิตชิปกราฟิกรวมถึงชิปเร่งประมวลผล AI กลายเป็นบริษัทใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลก แซงหน้า Apple ซึ่งมีมูลค่าบริษัทน้อยกว่า Nvidia เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ปัจจุบันมีบริษัทในโลกเพียง 3 บริษัทที่มีมูลค่าแตะ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ได้แก่ Microsoft Nvidia และ Apple เท่านั้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Nvidia เติบโตกลายเป็นบริษัทมูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญคือการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความนิยมของ ChatGPT ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อกลุ่มเทคโนโลยีที่ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว จากความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่ทำให้บริษัทกลายเป็นบริษัทเติบโตก็คือการใช้งานชิปเร่งประมวลผล AI เพิ่มมากขึ้น และราคาของชิปดังกล่าวนั้นมีราคาระดับหลักแสนดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยคือหลักล้านบาท ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ชิปของบริษัทนั้นใช้เร่งประมวลผลกราฟิกซึ่งมีการนำไปใช้งานในด้านเทคโนโลยีอย่างอื่น เช่น ขุดบิตคอยน์ หรือเร่งการประมวลผลในด้านอื่นๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ชิปเร่งประมวลผล AI ของ Nvidia ยังเป็นไม่กี่บริษัทที่มีความเร็วในการประมวลผลเป็นอันดับต้นๆ ของท้องตลาด ยิ่งทำให้ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีจากจีนเร่งสั่งซื้อชิปดังกล่าวจากบริษัทเพิ่มมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ CEO ของบริษัทอย่าง Jensen Huang เองยังได้ประกาศเปิดตัวชิปเร่งประมวลผล AI ตัวใหม่ของบริษัทนั้นจะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าเดิม ยิ่งทำให้นักลงทุนนั้นแห่ลงทุนในบริษัทเพิ่มมากขึ้น
การที่บริษัทเติบโตอย่างมากยังส่งผลตอบแทนของหุ้น Nvidia อย่างมหาศาล โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหุ้นของบริษัทมีผลตอบแทนมากถึง 3,300% และถ้านับผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้นของบริษัทนั้นบวกไปแล้วมากถึง 216% เลยทีเดียว
ที่มา – Yahoo Finance
]]>Pinduoduo ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่น E-commerce ในประเทศจีน ล่าสุดขนาดบริษัทสามารถที่จะแซงหน้ายักษ์ใหญ่ที่ครองแชมป์มานานอย่าง Alibaba ลงได้ ขณะเดียวกันการแข่งขันดังกล่าวของบริษัทเทคโนโลยีจีนนั้นอาจไม่ใช่แค่ศึกภายในประเทศ แต่ยังรวมถึงศึกนอกประเทศด้วย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Pinduoduo มีขนาดบริษัทใหญ่กว่า Alibaba ไปแล้วคือ กลยุทธ์ทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศจีนและนอกประเทศจีน ซึ่งในประเทศจีน Pinduoduo ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เช่น การใช้โมเดลให้ลูกค้าร่วมกันสั่งของเป็นปริมาณมาก และเน้นขายสินค้าราคาถูก เป็นต้น
ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ E-commerce คู่แข่งในประเทศจีนหลายรายที่เคยเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือแม้แต่ JD.com ถึงกับนั่งไม่ติด
ขณะที่กลยุทธ์นอกประเทศจีน Pinduoduo ได้ส่ง Temu ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันลูกของทางบริษัทไปตีตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก โดยการส่งธุรกิจไปตีตลาดต่างประเทศนั้นเมื่อเทียบกับ Alibaba แล้วถือว่าใช้เวลานานกว่ามาก แต่กลับประสบความสำเร็จเนื่องจากกลยุทธ์ของบริษัทคือเน้นขายสินค้าราคาถูก
ขณะเดียวกัน Pinduoduo เองก็มีแผนการขยายธุรกิจ Temu ไปยังหลายประเทศ และอาเซียนเองก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของบริษัทในการตีตลาดของบริษัทเช่นกัน
ตัวเลขล่าสุด (30 พฤษภาคม) จาก Bloomberg นั้น Pinduoduo มีขนาดบริษัท 210,079 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 7.72 ล้านล้านบาท สามารถที่จะโค่นแชมป์เก่าอย่าง Alibaba ที่มีขนาดบริษัทเพียงแค่ 191,182 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 7.03 ล้านล้านบาท ได้ในที่สุด
มาดูทางฝั่งของ Alibaba นั้น บริษัทกลับประสบปัญหานับตั้งแต่การเข้ามาปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีของรัฐบาลจีน สิ่งที่บริษัทโดนทั้งข้อหามีพฤติกรรมผูกขาด จนทำให้บางกรณีบริษัทต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาล จนทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน Alibaba เองก็ยังประสบกับความท้าทายไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะต้องดึงลูกค้ากลับมา เนื่องจากการแข่งขันในแพลตฟอร์ม E-commerce ในจีนที่ดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นกับ Pinduoduo เอง หรือแม้แต่คู่แข่งรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น JD.com หรือแม้แต่ Douyin
ไม่เพียงเท่านี้ธุรกิจต่างประเทศของ Alibaba เอง เช่น Lazada หรือ Aliexpress เองก็ต้องสู้กับคู่แข่งทั้งจากในจีนอย่าง Temu ของ Pinduoduo หรือแม้แต่ TikTok Shop รวมถึงผู้เล่นอย่าง Shopee หรือ E-commerce ที่เป็นผู้เล่นภายในประเทศ
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวทำให้บริษัทมีแผนต้องปรับกลยุทธ์ภายในไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน CEO คนใหม่ หรือแม้แต่การแยกธุรกิจออกมาเป็น 6 หน่วยธุรกิจ เพื่อที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแล ไปจนถึงการปลดล็อกมูลค่าบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นเนื่องจากราคาหุ้นที่ตกลงมาเป็นเวลาหลายปี แม้แต่ผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง แจ็ก หม่า เองก็สนับสนุนแผนการดังกล่าว
ในท้ายที่สุดแล้วศึกระหว่าง Pinduoduo กับ Alibaba ย่อมไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน เพราะมีทั้งศึกภายในประเทศจีน หรือแม้แต่นอกประเทศจีน ซึ่งต่างฝ่ายต้องการที่จะทำให้บริษัทเติบโตเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ
]]>Ted Sarandos ซึ่งเป็น CEO ร่วมของ Netflix ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ New York Times โดยเขาได้ให้มุมมองในเรื่องสงครามของบริการวิดีโอสตรีมมิ่งนั้นยังไม่ได้จบ และไม่ได้มองว่าบริษัทเป็นผู้ชนะในเกมนี้ ขณะเดียวกันการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เองก็ไม่ได้ทำให้คนวงการบันเทิงตกงานแต่อย่างใด
สำหรับ CEO ร่วมของ Netflix รายนี้เข้ารับตำแหน่งในปี 2020 โดยเป็น CEO ร่วมกับ Reed Hastings ก่อนที่ Reed จะลงจากตำแหน่งในปี 2023 และบริษัทได้ตั้ง CEO ร่วมคนใหม่มาคู่กับตำแหน่งของ Ted นั่นก็คือ Greg Peters
สื่อรายดังกล่าวได้ถามถึง Ted ในประเด็นที่ว่าในปัจจุบัน Netflix เป็นผู้ชนะในสงครามวิดีโอสตรีมมิ่ง ซึ่งเขาชี้ว่าเขาเองไม่อยากจะจริงจังในเรื่องนี้มากนัก และเขาได้เล่าว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ถูกตราหน้าว่าจะเป็นผู้แพ้ในสงครามครั้งนี้ด้วยซ้ำ
ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์หรือคนทั่วไปมองว่า บริษัทด้านความบันเทิงหลายแห่งที่เป็นผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งนั้นหลายคนมองว่าไม่น่าจะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้เช่นเดียวกับ Netflix และพวกบริษัทเหล่านี้ไม่มีวันที่จะเข้าใจธุรกิจ เขายังกล่าวเสริมว่าทุกวันนี้นั้นทุกอย่างแตกต่างกันไปมาก บริษัทเหล่านี้เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี
ขณะเดียวกันเขาเองได้เล่าถึงวันที่ Netflix ยังเป็นบริษัทให้เช่าวิดีโอ ก่อนที่บริษัทจะเปลี่ยนธุรกิจมาเป็นวิดีโอสตรีมมิ่งนั้นเพราะบริษัทมีเป้าหมายอย่างชัดเจน ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง CEO ร่วมของ Netflix นั้นเล่าถึงการประชุมของบริษัทจะไม่มีการเชิญพนักงานที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ DVD มาพูดคุยเลย เนื่องจากบริษัทรู้ถึงจุดหมายปลายทางขององค์กร
CEO ร่วมของ Netflix ยังเล่าถึงการที่บริษัทด้านความบันเทิงหลายแห่งในตอนนี้กำลังประสบกับความท้าทายเนื่องจากบริษัทต้องการที่จะปกป้องธุรกิจเดิมของตนเอง และเขากล่าวว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและไม่ควรที่จะลงทุนในธุรกิจแบบเดิมๆ
ในส่วนการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นจะสร้างผลกระทบต่อคนในวงการบันเทิงหรือไม่ CEO ร่วมของ Netflix คิดว่าการเข้ามาของ AI ถือเป็นความก้าวหน้าตามธรรมชาติของสิ่งต่างๆ และมองว่าคนเขียนบท ผู้กำกับสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นได้
เขายังกล่าวเสริมในเรื่องดังกล่าวว่า ให้ลองนึกภาพในกรณีที่เอาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มาทำให้เป็นไปได้ เช่น การวาดภาพแอนิเมชั่นที่ในอดีตทำได้ยาก แต่ปัจจุบันสามารถทำได้ เขายังมองว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านความบันเทิงทุกอย่างจึงมีการต่อสู้กัน และท้ายที่สุดกลับกลายเป็นว่าสิ่งดังกล่าวนั้นทำให้อุตสาหกรรมนั้นเติบโต
นอกจากนี้เขายังทิ้งท้ายว่าเขายังมีศรัทธาในตัวมนุษย์ AI ไม่สามารถที่จะสู้กับนักเขียนบทที่เก่งกาจและยอดเยี่ยมได้ แต่เขามองว่าคนที่ใช้เทคโนโลยี AI ได้ดีอาจแย่งงานของคุณได้
]]>Business Insider รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Meta เจ้าของบริการเครือข่ายทางสังคม เช่น Facebook หรือ Instagram ฯลฯ กำลังมีการพิจารณาในบริษัทเรื่องของการฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยการซื้อข้อมูลจากสำนักข่าว
แหล่งข่าวของสื่อรายดังกล่าวได้กล่าวว่าผู้บริหารแผนกที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง AI ได้เริ่มพูดคุยในการเพิ่มประสิทธิภาพของ AI ซึ่งถ้าหากฝึกฝนโดยข้อมูลที่มีคุณภาพแล้วจะช่วยทำให้ AI เก่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อมูลที่มีคุณภาพก็คือข่าวของสำนักข่าวต่างๆ นั่นเอง
บริษัทเจ้าของ Facebook และ Instagram ต้องการที่จะเข้าถึงเนื้อหาข่าวและภาพข่าว ไปจนถึงวิดีโอข่าว ของสำนักข่าว เพื่อที่จะนำมาฝึกฝน AI
Meta หวังว่าเมื่อ AI เก่งขึ้นนั้นจะทำให้มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการแชตบอทของบริษัท และแหล่งข่าวรายหนึ่งชี้ว่าบริษัทอาจต้องจ่ายเงินให้กับสำนักข่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวหลายแห่งได้ฟ้องบริษัทเทคโนโลยี เช่น กรณี Axel Springer ได้ฟ้อง OpenAI ที่นำข่าวไปใช้ฝึกฝน AI โดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนที่จะมีข้อตกลงกันได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสร้างความไม่พอใจเนื่องจากสำนักข่าวหลายแห่งนั้นไม่ได้รับผลตอบแทนที่ควรจะได้ หรือการนำข่าวไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
การเข้ามาของเทคโนโลยี AI ได้เปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจของ Meta ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาชิปเร่งประมวลผล AI เพื่อที่จะลดการพึ่งพาจากผู้ผลิตชิปอย่าง Nvidia หรือแม้แต่โมเดล AI ตัวใหม่ที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่บริษัทได้เน้นไปยังโลก Metaverse เป็นหลัก
นอกจากนี้แรงกดดันจากคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น Google หรือ OpenAI ที่เป็นเจ้าของ ChatGPT เริ่มปิดดีลกับสำนักข่าวเพิ่มมากขึ้นก็เป็นแรงกดดันให้ Meta ต้องรีบพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน
]]>