ขาดทุน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 14 Mar 2024 11:13:44 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Adidas “ขาดทุน” ครั้งแรกในรอบ 30 ปี! ผลจากตลาดสหรัฐฯ หดตัวแรง และปัญหารองเท้า “Yeezy” https://positioningmag.com/1466124 Wed, 13 Mar 2024 11:02:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1466124 ยักษ์เสื้อผ้ากีฬา Adidas รายงานผลประกอบการปี 2023 “ขาดทุน” ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1992 หลังตลาดสหรัฐฯ หดตัวแรง ความนิยมสปอร์ตแวร์ลดลง และผลต่อเนื่องจากการยกเลิกการขายรองเท้า “Yeezy”

“Adidas” บริษัทเสื้อผ้ากีฬาเยอรมัน รายงานผลประกอบการปี 2023 ขาดทุนสุทธิ 58 ล้านยูโร (ประมาณ 2,260 ล้านบาท) ถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 30 ปีของบริษัท

ปัญหาของ Adidas เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 เมื่อบริษัทประกาศตัดขาดสัญญาคอลแลปแบรนด์กับ “คานเย่ เวสต์” นักร้องที่มีปัญหาเรื่องเหยียดเชื้อชาติ ทำให้รองเท้า “Yeezy” ที่คอลแลปร่วมกันต้องหยุดขายทันทีและกลายเป็นสินค้าค้างสต็อก ซึ่งรองเท้ารุ่นนี้ถือเป็นตัวทำกำไรอย่างงามให้กับ Adidas มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ “บีจอร์น กัลเดน” รับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของ Adidas เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 เขาสั่งการให้แบรนด์นำ Yeezy ที่ค้างสต็อกออกมาเคลียร์ขายออกให้หมด โดยตั้งราคาขายอย่างน้อยต้องไม่ขาดทุน และมีการลดราคาเป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นผู้บริโภค

นอกจากนโยบายนี้ กัลเดนยังเร่งผลักดันให้แบรนด์ส่งเสริมการขายรองเท้ารุ่นฮิตรุ่นอื่นของแบรนด์ คือ Samba กับ Gazelle ซึ่งเป็นรองเท้าข้อต่ำที่กำลังกลับมาอยู่ในเทรนด์แฟชั่นอีกครั้ง จนทำให้ยอดขายรองเท้า Adidas กลับมาโต 8% ในช่วงไตรมาส 4 ปีก่อน

“แม้ว่าผลประกอบการปี 2023 จะไม่ดีพอ แต่ก็ดีกว่าที่ผมคาดไว้เมื่อตอนต้นปี” กัลเดนกล่าว

Adidas
“บีจอร์น กัลเดน” ซีอีโอ Adidas (Photo: Adidas)

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Adidas ยอดขายตกต่ำลงมาจากยอดขายฝั่งสหรัฐอเมริกาที่ตกลง 16% ตลอดปี 2023 โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปีก่อนถือว่าหนักที่สุดเพราะยอดขายลดลง 21% บริษัทยังคาดการณ์ด้วยว่าปี 2024 ตลาดสหรัฐฯ น่าจะยังไม่ดีขึ้นและยอดขายน่าจะตกลงอีก 5% เพราะดีมานด์สินค้าสปอร์ตแวร์ในตลาดค่อนข้างต่ำ และร้านค้าปลีกยังสต็อกสินค้าไว้สูงจนต้องมีการลดราคาสินค้าหลายแบรนด์เพื่อล้างสต็อก

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของ Adidas บริษัทเชื่อว่าจะกลับมาเติบโตได้ โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง 2024 น่าจะโตแบบดับเบิลดิจิต แม้ว่าความนิยมในเสื้อผ้าสปอร์ตแวร์โดยรวมจะลดลง แต่ Adidas เชื่อว่าแบรนด์จะชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมาจากแบรนด์อื่นๆ ได้สำเร็จ

สภาวะตลาดเครื่องกีฬานั้นไม่ได้มีแค่ Adidas ที่ประสบปัญหา เมื่อเดือนก่อน Nike ก็เพิ่งจะประกาศเลย์ออฟพนักงานออก 2% ของบริษัท หรือเท่ากับตำแหน่งงาน 1,600 ตำแหน่ง เพื่อลดต้นทุนในช่วงที่อุปสงค์ในตลาดต่ำลง

“ทิศทางบริษัทกำลังไปในทางที่ถูกต้องตั้งแต่ บีจอร์น กัลเดน เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ” โธมัส โจเคล ผู้จัดการพอร์ตที่ Union Investment วิเคราะห์ “ความร้อนแรงของแบรนด์เริ่มดีขึ้น วัดได้จากการลดราคาสินค้าที่เริ่มมีให้เห็นน้อยลงแล้ว”

ปี 2024 นี้ ตลาดที่ Adidas คาดหวังมากว่าจะฟื้นตัวดีคือ “จีน” เพราะเมื่อปี 2023 ตลาดจีนโต 8% และเชื่อว่าปี 2024 จะโตแบบดับเบิลดิจิตได้

รองเท้ารุ่น Yeezy ที่ Adidas คอลแลปกับคานเย่ เวสต์

สำหรับปัญหารองเท้า Yeezy นั้น คริสติน่า เฟอร์นันเดซ นักวิเคราะห์จาก Telsey Advisory Group มองว่า “ยังคาดการณ์ได้ยาก” ว่าจะทำได้เร็วแค่ไหนและกำไรมากน้อยเท่าใด แม้ว่าที่ผ่านมาแบรนด์จะทำยอดขายล้างสต็อกสินค้าตัวนี้ได้ดีก็ตาม

ปีที่แล้ว Adidas ทำรายได้จากการขาย Yeezy ไป 750 ล้านยูโร (ประมาณ 29,200 ล้านบาท) ได้กำไรสุทธิ 300 ล้านยูโร (ประมาณ 11,700 ล้านบาท) ซึ่งในจำนวนนี้บริษัททำการแบ่งกำไร 140 ล้านยูโร (ประมาณ 5,500 ล้านบาท) บริจาคให้กับองค์กรการกุศลที่ต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติและเหยียดชาวยิว

Source

]]>
1466124
6 ยักษ์ “กาสิโน” มาเก๊าขาดทุนถ้วนหน้า หวังนักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลหลังเปิดเกาะอีกครั้ง https://positioningmag.com/1300150 Tue, 06 Oct 2020 08:15:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300150 ไม่น่าแปลกใจนักที่ผลประกอบการของ 6 ยักษ์บริษัท “กาสิโน” บนเกาะมาเก๊าจะขาดทุนยับเยิน เพราะ COVID-19 ทำให้เกาะต้องปิดรับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นลูกค้าหลักมานานเกือบ 7 เดือน แต่หลังจากที่ประเทศจีนอนุญาตให้ประชาชนเดินทางไปเยี่ยมเยือนมาเก๊าได้ จึงเป็นความหวังให้กาสิโนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

บริษัทเอกชนรายใหญ่ 6 แห่งที่ได้รับสิทธิให้บริหารจัดการกาสิโนบนเกาะมาเก๊า ต่างรายงานผลประกอบการขาดทุนในช่วงครึ่งปีแรก 2020 สร้างความกังวลต่ออนาคตของธุรกิจนี้ ซึ่งเป็นแกนกลางของเศรษฐกิจเกาะ

โดยผลขาดทุนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะกาสิโนทั้งหมดถูกสั่งปิดเป็นเวลา 15 วันในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อควบคุมโรคระบาด COVID-19 จากนั้นแม้จะกลับมาเปิดได้ แต่มาเก๊ามีการปิดเกาะไม่รับชาวต่างชาติข้ามพรมแดนเข้ามา ขณะที่ตัวกาสิโนยังมีค่าบริหารจัดการที่เลี่ยงไม่ได้อยู่ รายได้ที่ลดลงถึง 90% ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้บริษัทขาดทุนรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก 2020 ดังนี้

1) Melco Resorts and Entertainment ขาดทุนสุทธิ 520.7 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
2) SJM Holdings ขาดทุนสุทธิ 1,410 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
3) Galaxy Entertainment Group ขาดทุนสุทธิ 2,800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
4) MGM China Holdings ขาดทุนสุทธิ 2,800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
5) Wynn Macau ขาดทุนสุทธิ 3,900 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
6) Sands China ขาดทุนสุทธิ 5,500 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

รอคอย “นักท่องเที่ยวจีน” กลับมา

แสงแห่งความหวังสำหรับธุรกิจกาสิโนในมาเก๊าคือการที่ “จีน” เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนมาเก๊าได้ โดยเริ่มเปิดบางส่วนในเดือนสิงหาคมให้ชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้งเดินทางไปมาเก๊าได้ ก่อนจะปลดล็อกให้ทั้งประเทศเดินทางไปได้เมื่อวันที่ 30 กันยายน ทำให้นักวิเคราะห์หุ้นมองว่าธุรกิจกาสิโนมาเก๊าจะฟื้นตัวกลับมาในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นเทศกาลวันชาติและไหว้พระจันทร์

รัฐบาลจีนอนุญาตให้คนจีนแผ่นดินใหญ่ข้ามไปเที่ยวบนเกาะมาเก๊าได้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนเป็นต้นไป (Photo : Pixabay)

อย่างไรก็ตาม กระแสการท่องเที่ยวอาจจะยังไม่กลับมาแรงเท่าปกติช่วงก่อน COVID-19 เพราะนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการเข้ามาเก๊าต้องโชว์ผลตรวจว่าไม่มีเชื้อไวรัสโคโรนา และนักพนันยังต้องปฏิบัติตามกฎเว้นระยะห่างทางสังคมภายในกาสิโน ซึ่งอาจจะผลักให้ลูกค้ายังไม่ต้องการกลับมาเที่ยวได้

นอกจากนี้ พฤติกรรมเดิมของนักท่องเที่ยวจีน มักจะมาทริปท่องเที่ยวฮ่องกงพ่วงกับมาเก๊าในคราวเดียว แต่เนื่องจากฮ่องกงยังอยู่ระหว่างควบคุมไวรัสโคโรนา ทำให้ยังไม่เปิดเกาะให้เข้า และจะกลายเป็นปัจจัยลบต่อการท่องเที่ยวของมาเก๊า

 

กาสิโนดิ้นหาแหล่งทุน ยกเลิกแผนก่อสร้าง

จากสถานการณ์เหล่านี้ ทำให้กาสิโนต่างต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด Wynn Macau กำลังพิจารณาออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนการบริหารประจำวัน ซึ่งจะทำให้บริษัทมีหนี้สินหนักในอนาคต

ส่วนบริษัท Galaxy Entertainment กล่าวว่าบริษัทจะยังคงทำตามแผนลงทุนรีสอร์ตและความบันเทิงเพิ่มเติมอีก 16,000 เอเคอร์ รวมถึงการเข้าไปลงทุนในตลาดกาสิโนประเทศญี่ปุ่น แต่ยอมรับว่าอาจมีการเลื่อนเวลาลงทุนออกไปก่อน

ผลจากโรคระบาด COVID-19 ไม่ได้มีผลกระทบแค่กับมาเก๊า แต่ยังมีผลกับแผนผลักดันธุรกิจกาสิโนในประเทศญี่ปุ่นด้วย เพราะบริษัทการพนันจากสหรัฐฯ อย่าง Ceasars Entertainment และ Las Vegas Sands ประกาศยกเลิกแผนการลงทุนรีสอร์ตกาสิโนในญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว

Source

]]>
1300150
SoftBank เตรียมเทขายหุ้น T-Mobile บางส่วน ตามเเผน “ลดหนี้-เพิ่มเงินสด” หลังขาดทุนหนัก https://positioningmag.com/1283935 Wed, 17 Jun 2020 09:58:11 +0000 https://positioningmag.com/?p=1283935 SoftBank ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของญี่ปุ่น เดินหน้าเเผนลดหนี้-เพิ่มเงินสดเตรียมขายหุ้นบางส่วนใน T-Mobile มูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หลังเผชิญภาวะขาดทุนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของบริษัท

SoftBank Group เผยผลการดำเนินการของปี 2019/20 สิ้นสุดเมื่อเดือนมี..ที่ผ่านมา ว่าขาดทุนถึง 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.1 เเสนล้านบาท) สาเหตุหลักๆ มาจากการลงทุนอย่างหนักในธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก ซึ่งตอนนี้กำลังเดือดร้อนจากการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หนึ่งในนั้นคือ WeWork อดีตสตาร์ทดาวรุ่งผู้ให้บริการ Co-Working Space

เมื่อประสบภาวะขาดทุนหนัก ทำให้บริษัทจำเป็นต้องหาหนทางเพิ่มทุนและลดหนี้ หนึ่งในนั้นคือเทการขายหุ้น T-Mobile ที่ปัจจุบัน SoftBank ถือหุ้นอยู่ราว 25% โดย CNBC รายงานว่า อาจจะมีการขายหุ้นออกมากว่า 2 ใน 3 ของทั้งหมด

ด้าน Bloomberg รายงานว่า แผนการขายหุ้น T-Mobile ดังกล่าว จะมีมูลค่ารวมราว 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งการขายแบบจัดสรรในวงจำกัด (Private Placement) เปิดขายให้สาธารณะหรืออาจจะขายคืนให้บริษัทแม่ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอย่าง Deutsch Telekom ที่ปัจจุบันถือหุ้น T-Mobile อยู่ราว 40%

สำหรับการเตรียมขายหุ้น T-Mobile ครั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางการปรับองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการขายสินทรัพย์กว่า 4.1 หมื่นล้านเหรียญของ SoftBank เพื่อลดหนี้และเพิ่มเงินทุนสำรอง นอกจากนี้ ยังมีแผนซื้อหุ้นคืนอีก 5 แสนล้านเยน (4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในเดือนมี..ปีหน้าด้วย

 

ที่มา : Bloomberg  , CNBC , techcrunch

]]>
1283935
“แจ็ค หม่า” ลาออกจากบอร์ด SoftBank หลังร่วมบริหาร 13 ปี ขณะที่บริษัทกำลังขาดทุนหนัก https://positioningmag.com/1279248 Mon, 18 May 2020 14:28:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279248 “เเจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีนอย่าง “Alibaba” ประกาศลาออกจากบอร์ดบริหารของ “SoftBank Group” ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของญี่ปุ่น หลังร่วมบริหารมายาวนานกว่า 13 ปี ขณะที่ SoftBank กำลังเผชิญภาวะขาดทุนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของบริษัท

ความสัมพันธ์ของ “มาซาโยชิ ซัน” ประธานเเละผู้ก่อตั้ง SoftBank กับ “เเจ็ค หม่า” นั้นถือว่าเเน่นเเฟ้นมาหลายสิบปี ด้วยการเป็นนายทุนใหญ่ที่ตัดสินใจลงทุนใน Alibaba เมื่อปี 2000 กลายเป็นหนึ่งในดีลที่ประสบความสำเร็จที่สุด
ในโลกธุรกิจ

โดยปัจจุบัน Alibaba เป็นหนึ่งในบริษัทรายใหญ่ ด้วยมูลค่าตลาด 5.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 17.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งมี SoftBank ร่วมถือหุ้นอยู่ 25%

ก่อนหน้านี้ แจ็ค หม่า ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหารของ SoftBank Group เป็นระยะเวลา 13 ปีเต็ม
เเละกำลังจะพ้นตำเเหน่งอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่ได้เปิดเผยสาเหตุการลาออกของเขา โดยปีที่ผ่านมาหม่าได้เกษียณตัวเองจากตำแหน่งประธานบริหารของ Alibaba เพื่อหันมาทำงานการกุศล

ด้าน SoftBank ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหารของบริษัทเพิ่มอีก 3 คน
ได้เเก่ โยชิมิสึ โกโตะ รองประธานอาวุโสของบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน SoftBank,
ลิปปู-ตัน ซีอีโอของ Cadence Design Systems และผู้ก่อตั้งบริษัท Walden International และ
ยูโกะ คาวาโมโตะ อาจารย์จาก Waseda Business School

นอกจากนี้ SoftBank ยังได้ประกาศแผนซื้อหุ้นคืนอีก 5 แสนล้านเยน (4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในเดือนมี.ค.ปีหน้า เพิ่มเติมจากแผนซื้อหุ้นคืนในวงเงิน 4.1 หมื่นล้านเหรียญที่เคยประกาศไว้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน SoftBank กำลังเผชิญภาวะขาดทุนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของบริษัท สาเหตุหลักๆ มาจากการลงทุนอย่างหนักในธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก ซึ่งตอนนี้กำลังเดือดร้อนจากการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หนึ่งในนั้นคือ WeWork สตาร์ทดาวรุ่งผู้ให้บริการ Co-Working Space

ทั้งนี้ SoftBank Group เปิดเผยว่าบริษัทมียอดขาดทุนสุทธิในปีงบการเงิน 2019 อยู่ที่ 9.6158 แสนล้านเยน
(ราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 15 ปี สวนทางกับงบการเงินปี 2018 ที่บริษัทเคยมีกำไรสุทธิถึง 1.41 ล้านล้านเยน

ขณะที่บริษัทมียอดขาดทุนจากการดำเนินงานในปีงบการเงิน 2019 อยู่ที่ระดับ 1.36 ล้านล้านเยน ลดลงจากงบการเงินปี 2018 ที่บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน 2.07 ล้านล้านเยนจากยอดขาย 6.19 ล้านล้านเยน โดยทาง SoftBank Group ไม่ได้เปิดเผยการคาดการณ์ผลประกอบการในปี 2020 เนื่องจากความไม่แน่นอนของสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ

 

ที่มา : softbank , asia.nikkei , kyodonews

]]>
1279248
COVID-19 ทำพิษสายการบิน Singapore Airlines ขาดทุนรายปีครั้งแรกในรอบ 48 ปี https://positioningmag.com/1278716 Fri, 15 May 2020 03:52:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1278716 ถึงคิวของสายการบินที่ผลประกอบการดีมาโดยตลอดอย่าง Singapore Airlines เมื่อเจอพิษไวรัส COVID-19 ที่ทำให้ต้องหยุดบินทั่วโลก ทำให้สายการบินต้อง “ขาดทุน” เป็นครั้งเเรกในรอบ 48 ปี

Singapore Airlines สายการบินแห่งชาติของประเทศสิงคโปร์ แจ้งผลประกอบการปี 2019 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2020 ที่ผ่านมา ต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทขาดทุนสุทธิ 212 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 4,772 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิถึง 683 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 15,376 ล้านบาท) สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลต่อธุรกิจการบินทั่วโลก

ในรายงานของ Singapore Airlines ระบุว่าในช่วง 9 เดือนเเรกของผลประกอบการปี 2019/20 บริษัทมีผลการดำเนินงานที่เเข็งเเกร่ง ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ต้นปี 2020 เที่ยวบินจากประเทศจีนถูกยกเลิกในเดือน ก.พ. ตามมาด้วยเดือน มี.ค.ที่ได้รับผลกระทบหนักเนื่องเที่ยวบินในเส้นทางระหว่างประเทศที่ถูกยกเลิกจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ

นอกจากนี้ อีกสาเหตุยังมาจากผลกระทบจากการทำประกันราคาน้ำมัน ซึ่งราคาน้ำมันได้ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

โดยรัฐบาลทั่วโลก ได้ออกคำสั่งห้ามเดินทางเพื่อป้องกันการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ในช่วงเดือน ม.ค. ถึง มี.ค.นี้ Singapore Airlines ขาดทุนถึง 732 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 16,480 ล้านบาท) ทั้งที่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้นสามารถทำกำไรได้ 203 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 4,570 ล้านบาท)

ขณะที่กำไรจากการดำเนินงาน (Operating profit) ของสายการบินอยู่ที่ 59 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ลดลง 94.5% จากปีก่อนที่ทำได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

สายการบินระบุว่าในเดือนเมษายน-มิถุนายน จำนวนผู้โดยสารจะลดลงมากถึง 96% จากการระงับให้บริการของทั้ง Singapore Airlines เเละบริษัทลูกอย่าง Silk Air ส่วน Scoot ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำในเครือ ได้ลดการให้บริการลงถึง 98% ของเที่ยวบินทั้งหมด

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ Singapore Airlines คาดการณ์ว่าในงบไตรมาส 1 ของปี 2020/21 ที่จะสิ้นสุดปลายเดือน มิ.ย.นี้ ยังคงจะขาดทุนจากการดำเนินงานต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงอยู่ ซึ่งจะมีเจรจากับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินเพื่อเลื่อนการส่งมอบเครื่องบิน และเจรจากับซัพพลายเออร์เรื่องการปรับเวลาจ่ายค่าจัดซื้อด้วย

ด้านกลุ่มทุน Temasek กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบิน Singapore Airlines กำลังจะเพิ่มทุนช่วยเหลือให้สายการบินเพื่อประคองธุรกิจผ่านช่วง COVID-19 ไปได้

ทั้งนี้ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ประเมินว่า ธุรกิจสายการบินที่ให้บริการในภูมิภาคเอเชียเเปซิฟิกจะขาดทุนรวมกันในปีนี้ ราว 27,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.2 เเสนล้านบาท) ขณะที่คาดว่าธุรกิจการบินทั่วโลกอาจจะสูญเสียรายได้สูงสุดถึง 1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.56 ล้านล้านบาท)

 

ที่มา : singaporeair , channelnewsasia

]]>
1278716
ZEN ขาดทุน 44 ล้านบาท เหตุวิกฤต COVID-19 ปิดร้านอาหาร เดลิเวอรี่ช่วยไม่ได้ทั้งหมด https://positioningmag.com/1277925 Mon, 11 May 2020 12:16:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1277925 ZEN รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์ พบรายได้ไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 644 ล้านบาท ลดลง -11.9% ขาดทุน -44 ล้านบาท พลิกกลับด้านจากปีก่อนที่ยังทำกำไร เหตุจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำพิษต้องปิดร้านอาหาร แม้พยายามตัดค่าใช้จ่ายและหันมาส่งเดลิเวอรี่ก็ยังอยู่ยาก

บมจ.เซ็น คอร์ปอเร์ชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร ZEN, ตำมั่ว, เขียง ฯลฯ รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายได้ไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 644 ล้านบาท ลดลง -11.9% ขาดทุน -44 ล้านบาท พลิกกลับด้านจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ยังทำกำไร 32.1 ล้านบาท

คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการเป็นไปตามคาด นั่นคือ ZEN ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ร้านอาหารทุกแห่งต้องปิดการบริการภายในร้านตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 จนรายได้จากธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักลดลง -13.2% แม้ว่าการให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารจะเติบโตขึ้น 24% ก็ตาม

บรรยากาศเว้นระยะห่าง รอรับอาหารซื้อกลับบ้าน

ก่อนหน้านี้ “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อกลางเดือนมีนาคมว่า ผลกระทบจากไวรัส COVID-19 เริ่มมีผลมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงและความหวั่นกลัวต่อโรคของคนไทย ทำให้ยอด walk-in เข้าร้านอาหารในเครือลดลงเฉลี่ย 20%

สะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบของไวรัส COVID-19 ต่อร้านอาหารไม่ใช่เพียงช่วงปลายเดือนมีนาคมเท่านั้น แต่กินระยะเวลารวมกว่า 2 เดือนในช่วงไตรมาสแรกของปี

สู้สุดใจ ตัดทุกค่าใช้จ่าย

บริษัทยังรายงานถึงการบริหารภาระต้นทุนต่างๆ ด้วย โดยมีการเปิดสาขาใหม่ในไตรมาสแรกเพียง 1 สาขา (ไม่รวมสาขาแฟรนไชส์) ลดน้อยกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการเปิดใหม่ 7 สาขา แต่ผลของการเปิดสาขาเพิ่มส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงขึ้นด้านค่าเช่า ค่าน้ำไฟ พนักงานประจำสาขา และค่าเสื่อมราคา

ช่วงที่ผ่านมา ZEN พยายามตัดค่าใช้จ่ายลงผ่านการเจรจาลดค่าเช่ากับศูนย์การค้า งดการทำโอทีพนักงาน ให้ผู้บริหารและพนักงานบางส่วน leave without pay เปลี่ยนมาทำการตลาดออนไลน์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังไม่ทันต่อรายได้ที่ลดลงไป

เดลิเวอรี่ยังได้ไม่เท่าขายหน้าร้าน

แน่นอนว่า ZEN มีการปรับตัวไปจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ทดแทน โดยมีทั้งช่องทางสั่งอาหารโดยตรงกับแบรนด์ และร่วมมือกับพันธมิตรทุกเจ้าคือ Grab, Get, Lineman และ Foodpanda แต่ผลประกอบการสะท้อนให้เห็นว่ารายได้จากการเดลิเวอรี่ยังไม่สามารถครอบคลุมการรับประทานหน้าร้านได้ เป็นช่องทางที่ช่วยพยุงตัวไว้เท่านั้น

โปรโมชันร้านอาหาร ZEN ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องหันมาทำการตลาดเดลิเวอรี่มากยิ่งขึ้น

บุญยงกล่าวว่า พฤติกรรมการทานอาหารเดลิเวอรี่จะแตกต่างจากหน้าร้านคือ กลุ่มสินค้าที่ขายดีจะเป็นอาหารราคาประหยัดไม่เกิน 200 บาทต่อจาน แต่ร้านในเครือบริษัทบางแบรนด์ เช่น ZEN ปกติราคาอาหารจะสูงกว่านั้น ทำให้ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายเดลิเวอรี่ ในทางกลับกัน ร้านอาหารราคาประหยัด เช่น เขียง นั้นพบว่าขายดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ZEN ยังระบุด้วยว่า การจัดจำหน่ายผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่พันธมิตรทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย คือ ค่าคอมมิชชั่น โดยไตรมาส 1 ปีนี้บริษัทมีค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้น 7 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน

ซีอีโอแห่งเครือ ZEN เคยประเมิน best case scenario ว่า หากสถานการณ์การระบาดดีขึ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ เชื่อว่าบริษัทจะยังทำอัตรากำไรสุทธิได้ที่ 4-5% แต่ถ้าหากการระบาดไม่จบในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทจะมีการปรับแผนอีกครั้ง (อ่านการปรับตัวรับมือ COVID-19 ของเครือ ZEN เพิ่มเติมได้ที่นี่)

]]>
1277925
เปิดปฏิบัติการกู้ชีพ “การบินไทย” ต่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย ทุ่มหมื่นล้านลดพนักงาน 6,000 คน https://positioningmag.com/1277647 Sat, 09 May 2020 08:23:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1277647 ปฏิบัติการกู้ชีพ “การบินไทย” เริ่มเห็นรูปเห็นร่างกันบ้างแล้ว เมื่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติหลังการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบ “แผน” แก้ไขปัญหาการบินไทยทั้งระยะสั้น และระยะยาว

คลังค้ำเงินกู้

สาระสำคัญของเรื่องอยู่ตรงที่การอนุญาตให้สายการบินแห่งชาติแห่งนี้สามารถ “กู้เงิน” เพื่อเสริมสภาพคล่องขององค์กร โดยให้ “กระทรวงการคลัง” เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้

จากนั้นขั้นตอนต่อไปก็คือ นำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบและผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ที่รัฐวิสาหกิจซึ่งมีผลขาดทุนติดต่อกันเกิน 3 ปีกู้เงินได้ เพื่อให้การบินไทยสามารถดำเนินการกู้เงินได้ ซึ่งแม้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา จะยังไม่ได้มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แต่ก็พอเห็น แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ บ้าง

นี่คือการ “คลายล็อก” ที่สำคัญยิ่ง เพราะ ณ เวลานี้กล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า การบินไทย “ถังแตก” และถ้าไม่มีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องย่อมหนีไม่พ้นเดินหน้าไปสู่ภาวะ “ล้มละลาย”

และแน่นอนว่า ผู้ที่จะรับความเสี่ยงจากเงินกู้ก้อนนี้ก็คือ กระทรวงการคลัง ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลกำลังใช้ภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศเพื่อกอบกู้การบินไทย

ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ฐานะการดำเนินงานของ THAI ย่ำแย่หนัก ขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน

  • ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,107.35 ล้านบาท
  • ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,625.17 ล้านบาท
  • ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท

มียอดขาดทุนสะสม 19,383.39 ล้านบาท และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินว่า ปี 2563 นี้ THAI ยังคงขาดทุนหนักต่อไปในระดับกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานว่าการบินไทย ณ เดือน ก.พ.2563 มีหนี้สะสม 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 101,511 ล้านบาท และหนี้ต่างประเทศ 47,209 ล้านบาท

“ถึงอย่างไรก็ต้องรักษาบริษัทการบินไทยฯ ไว้ แต่ต้องมีเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลง ต้องดีขึ้น ต้องจริงจังด้วย และจะเป็นจุดเริ่มต้น เราไม่อยากให้องค์กรนี้ล้มหายตายจาก” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานติดตามแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวก่อนหน้าที่จะนำแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทยเข้าสู่การพิจารณาของ คนร.

เงินกู้ 50,000 ล้าน

จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า คนร.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้บริษัทการบินไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับบริษัทจนถึงสิ้นปีนี้ จากที่บริษัทการบินไทยเสนอขอให้กระทรวงการคลังค้ำ 70,000 ล้านบาท เพราะจะให้บริษัทการบินไทยไปเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในประเทศ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และเจ้าหนี้ต่างประเทศ รวมถึงให้การบินไทยทำแผนปรับลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งจะช่วยให้เงิน 50,000 ล้านบาทใช้ได้เพียงพอ โดยจะเริ่มกู้ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังครม.มีมติเห็นชอบ ซึ่งก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม การค้ำประกันเงินกู้จะทยอยกู้ออกมาใช้ได้เป็นระยะตามที่แผนฟื้นฟูกำหนด ไม่ได้กู้ออกมาใช้เป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียวเพื่อกระตุ้นให้การบินไทยเร่งปรับตัวให้ได้ตามแผน รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างการกำกับดูแลการบินไทย และคณะกรรมการการบินไทย ให้อยู่ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจประเภท 3 แทนจากเดิมอยู่ประเภท 2 ซึ่งจะยกเว้นกฎระเบียบบางเรื่องให้เกิดความคล่องตัว โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคลากรให้มีคุณภาพมาช่วยบริหารการบินไทยให้อยู่รอดได้

“เพื่อให้ บริษัท การบินไทย สามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนของประเทศได้อย่างยั่งยืน” นั่นคือเหตุผลที่นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ชี้แจงหลังการประชุม คนร.

แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการบินไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะต้องไม่ลืมว่า ปัญหาของการบินไทย ไม่ได้มีแต่การขาดสภาพคล่อง ที่คลังเตรียมใส่เงินลงไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังมีปัญหาด้านผลประกอบการที่ยังโงหัวไม่ขึ้นทั้งก่อนและหลังจากเกิดสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาด

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ยิ่งทำให้ธุรกิจการบินทั่วโลกตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงโดยไม่มีทีท่าว่าจะสามารถกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อไหร่ ด้วยประชาชนยังคงหวาดระแรงจากไวรัสมรณะ ซึ่งหมายความว่าการเดินทางของผู้คนจะลดน้อยถอยลงตามไปด้วย

สายการบินต่างชาติล้มละลาย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สายการบินใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลียอย่าง Virgin Australia ซึ่งกลายเป็นสายการบินแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย-เเปซิฟิก ที่เข้าสู่กระบวนการ “ล้มละลาย” พนักงานกว่าหมื่นคนเสี่ยงตกงานกะทันหัน

ในขณะที่สายการบินอีกหลายเเห่งในเอเชียต้อง “ชะลอเเผนธุรกิจ” จากเดิมที่มีเเผนจะควบรวมกิจการ ซื้อกิจการหรือซื้อเครื่องบินใหม่ เปลี่ยนมาเปลี่ยนเเค่พยุงธุรกิจให้รอดวิกฤต COVID-19 นี้ไปก็พอ รวมถึงขอให้ผู้โดยสารรับเงินคืนเป็น “เครดิต” เเทนเงินสดในยามธุรกิจย่ำเเย่ไร้เงินหมุน

Photo : Shutterstock

Paul Scurrah ซีอีโอของ Virgin Australia กล่าวว่า การตัดสินใจยื่นขอล้มละลายครั้งนี้เป็นไปเพื่อที่จะต่อชีวิตของสายการบิน และแสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 ซึ่งหลังจากนี้จะมีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจและการเงินของบริษัทต่อไป

ขณะที่มหาเศรษฐีอย่าง “วอเรนต์ บัฟเฟตต์” ประธานกลุ่มบริษัทโฮลดิ้งข้ามชาติ “เบิร์กเชียร์แฮทาเวย์” ก็เปิดเผยกับนักลงทุนในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้ขายหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการบินทั้งหมด เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสายการบินทั่วโลก หลังจากที่เบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ขาดทุนเกือบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 1/2020

ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ได้ทยอยขายหุ้นของหลายสายบินสหรัฐฯ โดยเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ได้ขายหุ้นของสายการบิน “เดลตาแอร์ไลน์” 13 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 314.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวที่หุ้นของสายการบิน “เซาธ์เวสต์แอร์ไลน์” ก็ถูกขาย 2.3 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่นายบัฟเฟตต์จะเปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทเบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ได้ตัดสินใจขายหุ้นสายการบินทั้งหมด

ทั้งนี้ เบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ได้ถือครองหุ้นในสายการบินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา 4 สายบินในสัดส่วนราว 10% ของแต่ละสายการบิน โดยนอกจากเดลตาแอร์ไลน์และเซาธ์เวสต์แอร์ไลน์ เบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ยังถือครองหุ้นใน “อเมริกันแอร์ไลน์” และ “ยูไนเต็ดแอร์ไลน์” ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้ามากถึง 80% ของผู้โดยสารการบินในสหรัฐฯ

(Photo by Mario Tama/Getty Images)

อย่างไรก็ตาม นายบัฟเฟตต์ระบุว่า นี่ไม่ใช่ความผิดของผู้บริหารสายการบินแต่เป็นผลจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่ผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส “ผมอาจจะคิดผิดและผมหวังให้ความคิดของผมผิดพลาดที่ว่า ธุรกิจสายการบินกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” โดยเขากล่าวกับนักลงทุนว่า “เราชื่นชอบสายการบินเหล่านี้ แต่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และผมไม่รู้ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”

ก่อนหน้านี้ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะต้องการมาตรการช่วยเหลือและเงินสนับสนุนจากรัฐมูลค่าประมาณ 1.5-2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ มิฉะนั้นแล้วการระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งผลให้หลายสายการบินต้องล้มละลาย หรือเกิดการควบรวมกิจการ

ล่าสุด IATA ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ความสูญเสียรายได้ของธุรกิจการบินโลกว่า ขณะนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อนเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเคยประเมินไว้ที่ 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดมาตรการ “ล็อกดาวน์” ในหลายประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงมาก การที่จะฟื้นฟูเส้นทางบินระหว่างประเทศ “ล่าช้า” กว่าที่เคยคาดไว้ เเละจำนวนผู้โดยสารในปีนี้ลดลงถึง 55% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

เงินกู้แค่ต่อลมหายใจ

เพราะฉะนั้นการที่ คนร.ตัดสินใจอุ้มการบินไทยและจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติจึงมิได้หมายความว่า การทำธุรกิจของการบินไทยจะประสบความสำเร็จและเดินหน้าต่อไปได้ เพราะเงินกู้ที่เติมเข้าไปเป็นเพียงแค่ “เครื่องช่วยหายใจ” ในยามที่สถานการณ์ร่อแร่

หากแต่จะต้องมีการผ่าตัดใหญ่การบินไทยเพื่อกำจัด “จุดอ่อน” ที่มีอยู่ให้หมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะตราบใดที่การบินไทยไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง โอกาสที่เงิน 5 หมื่นล้านที่จะเติมเข้าไปจะหายวับไปกับตาก็มีเปอร์เซ็นต์ที่สูงยิ่ง

ขณะเดียวกันยังต้องเร่งสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่และคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความสามารถเพื่อให้ขับเคลื่อนแผนฟื้นฟู THAI ให้เดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งการสรรหาคณะกรรมการ และดีดี จะเป็นเรื่องของผู้บริหารในกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

กางแผนฟื้นฟู

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลใน “แผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทยปี 63-67” ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 63 นั้น การบินไทยได้เสนอแผนฟื้นฟู ได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลักคือ

1. ปรับโครงสร้างองค์กร ให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงานใหม่กระชับขึ้นและมีสายการบังคับบัญชาสั้นลง กำหนดเวลาทำให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยกำหนดแนวทางดังนี้

  • ปรับกระบวนการทำงาน โดยลดกิจกรรมที่ซ้ำซ้อน ล่าช้าไม่จำเป็น หรือไม่ก่อให้เกิดคุณค่า (Value) และเป็นการสูญเสีย (Waste), ควบรวมหน่วยงานที่มีงานซ้ำซ้อน และเพิ่มกระบวนการทำงานที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งกำหนดงานที่ทำแทนได้และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า ด้วยการ Outjob
  • ศึกษาและกำหนดช่วงการควบคุม (Span of Control) ที่เหมาะสม
  • พิจารณาความเป็นไปได้ในการแบกหน่วยธุรกิจ เพื่อหารายได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยจะแยกธุรกิจต่างๆ ของการบินไทย ออกมาเป็นบริษัทลูก ภายใต้การถือหุ้นใหญ่ของการบินไทย ที่จะปรับสถานะป็นบริษัทโฮลดิ้ง

สำหรับ 4 ธุรกิจที่จะแยกออกมาเป็นบริษัทลูกที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ครัวการบิน บริการภาคพื้น คลังสินค้า (คาร์โก) การซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือฝ่ายช่าง

2. ด้านบุคลากร ตามแผนฟื้นฟูจะทบทวนกำลังคนให้สอดคล้องกับการบริหารประสิทธิภาพต้นทุนและกำลังผลิต โดย ณ 29 ก.พ. 63 การบินไทยมีบุคลากร 21,332 คน มีวิธีการดังนี้

  • ลดจำนวนพนักงานด้วยความสมัครใจ
  • ลดจำนวนพนักงานด้วยเกณฑ์ที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงาน
  • วิเคราะห์อัตรากำลังที่เหมาะสม หลังลดฝูงบินและปรับโครงสร้างองค์กร โดยลดพนักงานและรับพนักงานใหม่ทดแทนในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้มีบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จไตรมาส 4 ปี 63

ทั้งนี้ การบินไทยต้องใช้งบฯ 8,850 ล้านบาท เพื่อลดพนักงานในประเทศ 5,867 คน ภายใน 3 ปี เป็นค่าใช้จ่ายปี 63 จำนวน 2,549 ล้านบาท โดยลดพนักงานในไทย 1,369 คน และต่างประเทศ 154 คน

3. แผนปรับประสิทธิภาพและค่าตอบแทน โดยให้ปรับสิทธิประโยชน์ผลตอบแทนให้พนักงานที่มีรายได้ทั้งหมดรับภาระภาษีเงินได้เอง, ทบทวนเกณฑ์และวิธีการคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลา, ทบทวนสิทธิบัตรผู้โดยสารพนักงาน, ทบทวนประเภทและอัตราเงินเพิ่มพิเศษต่างๆ อาทิ License และอื่นๆ, ทบทวนสิทธิประโยชน์สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำต่างประเทศ, ทบทวนสิทธิประโยชน์พนักงานเกษียณอายุ เป็นต้น โดยได้กำหนดเวลาให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอฝ่ายบริหารและบอร์ดการบินไทยเดือน พ.ย.นี้ กำหนดงบฯที่ใช้เพื่อจูงใจให้พนักงานยอมเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง มารับภาระภาษีเงินได้เอง 2,480 ล้านบาท และมีค่าที่ปรึกษาดำเนินการอีก 50-130 ล้านบาท

ส่วนแผนฟื้นฟูการบินไทยระยะที่ 2 คือ การเพิ่มทุน 80,000 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ เพื่อให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง รวมทั้งจะมีการพิจารณาลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยลง จาก 51.03% เหลือ 49% เพื่อปลดการบินไทยออกจากสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ยังมีแผนยกเลิกเส้นทางบินรวมกว่า 20 จุดบิน และลดจำนวนเครื่องบินลงเหลือ 64 ลำ จากปัจจุบันมีเครื่องบิน 82 ลำ โดยจะมีการขายเครื่องบินออกจากฝูงบินออกไป 18 ลำ พร้อมทั้งยกเลิกแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตามแผนฟื้นฟูที่จัดทำขึ้น จากประมาณการงบกำไรขาดทุนตามแผนฟื้นฟูปี 2563-2567 พบว่า ปีนี้การบินไทยจะต้องประสบปัญหาการขาดทุนหลักหักภาษี 59,062 ล้านบาท แต่การบินไทยจะเริ่มทำกำไรได้ในปี 2564 ถ้าได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่จัดทำขึ้นอย่างจริงจัง โดยปี 2564 การบินไทยจะมีกำไรหลังหักภาษี 4,519 ล้านบาทและจะเพิ่มขึ้นทุกปีตามแผนฟื้นฟูจนปี 2567 การบินไทยจะมีกำไรถึง 13,702 ล้านบาท

ขณะที่ นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย ให้ความเห็นว่า สหภาพฯและพนักงานพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งในมุมมองพนักงานนั้นเห็นว่า การฟื้นฟูการบินไทย ไม่ใช่เพียงกู้เงินหรือเพิ่มทุนเท่านั้น แต่จะต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัทก่อน เพื่อตอบโจทย์ให้ได้ว่า การดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร โครงสร้างเป็นอย่างไร ขนาดองค์กรแค่ไหน และมีพนักงานเท่าไร เพราะหากโครงสร้างและวิธีการทำงานยังเหมือนเดิม ใส่เงินเข้าไปเท่าไรก็สูญเปล่า และทุกอย่างก็จะแย่เหมือนเดิม

ที่ผ่านมา การบินไทย มีแผนฟื้นฟู เมื่อปี 2552-2554 แต่ล้มเหลวเพราะมีหนี้สินและมีผลขาดทุนเพิ่ม ต่อมาปี 2558 มีแผนฟื้นฟูอีกครั้ง แต่ก็ยังเหมือนเดิม สาเหตุคือ แผนเขียนไว้อย่าง แต่ทำอีกอย่าง แผนให้หารายได้เพิ่ม ขายตั๋วผ่านออนไลน์เพิ่ม แต่ทำไม่ได้ โครงสร้างองค์กรที่มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาซ้ำซ้อน เพิ่มตำแหน่งระดับบริหาร ที่มีผลตอบแทนสูงมากๆ รวมถึงการปรับระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) จากพนักงานเป็นสรรหาและใช้สัญญาจ้าง ที่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม

ส่วนการปรับลดคนลง นั้น ในอดีต การบินไทย เคยใช้งบกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อจัดโครงการเกษียณอายุก่อน เป้าหมายลดบุคลากร 2,000 คน แบบสมัครใจ ปรากฏว่า คนที่ลาออกคือ คนที่มีช่องทาง มีงานใหม่รองรับจะลาออกเพื่อรับเงินก้อน ส่วนคนอยู่ต่อ เพราะไม่มีที่ไป เป็นภาวะสมองไหล คนเก่งออกหมด เพราะรับกับระบบของการบินไทยไม่ได้ แผนลดพนักงานล้มเหลว ดังนั้น ครั้งนี้หากต้องลดพนักงาน ควรมีการประเมินความสามารถเพื่อคัดคนก่อน ไม่เช่นนั้นคนเก่งจะออกหมด

ดังนั้น นับจากนี้เป็นต้นไป คนการบินไทยจะรับผิดชอบเงินภาษีของประชาชนที่เข้าไปช่วยต่อลมหายใจและร่วมกันพลิกฟื้นองค์กรของตัวเองให้กลับมาให้จงได้ตามแผนฟื้นฟูที่วางเอาไว้

แต่คำถามสำคัญที่ “รัฐบาลไทยและประชาชนคนไทย” จะต้องช่วยกันขบคิดก็คือ ถ้าอัดฉีดงบประมาณเข้าไปแล้ว และสถานการยังไม่ดีขึ้น ประเทศไทยจะยังคง “อุ้มการบินไทย” อีกต่อไปหรือไม่ และจำเป็นแค่ไหนที่จะคงสภาพความเป็น “รัฐวิสาหกิจ” เอาไว้เหมือนเดิม

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทย 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.กระทรวงการคลัง 51.03%, 2.กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 7.56%, 3.กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 7.56%, 4.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 3.28% และ 5.ธนาคารออมสิน 2.13%

ขณะที่การตัดสินใจปลดแอกการบินไทยจากความเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ก็หมายความว่า จะมีการนำทรัพยากรของชาติให้ตกเป็นของเอกชน ซึ่งก็ต้องมาชั่งน้ำหนักความได้เสียว่าอะไรจะดีกว่าประเทศชาติมากกว่ากัน เพราะการบินไทยมีศักยภาพในการทำธุรกิจเพียงแต่ที่ผ่านมามี “รูโหว่” ซึ่งทำให้เกิดการขาดทุนสะสมมาอย่างยาวนาน รวมถึงประเด็นสำคัญคือจะเป็นการ “เตะหมูเข้าปากหมา” หรือไม่ เพราะอาจหมายถึงการเอื้อต่อภาคเอกชนในการเข้ามาครอบครองสมบัติของชาติ

ไม่ใช่เรื่องง่ายในยามที่ธุรกิจการบินอยู่ในช่วงขาลงทั่วโลกสำหรับการบินไทยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

“นี่เป็นโอกาสสุดท้าย ที่จะดูแลได้ ไม่ให้แย่ไปกว่านี้ ปรับปรุงทั้งหมด ทั้งกรรมการ โครงสร้าง ผู้บริหาร สหภาพต้องร่วมมือกันด้วย ถ้าไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูจะเกิดปัญหาลำบากกว่านี้ การฟื้นฟูมีประมาณ 10 ประการ ที่ต้องทำให้ได้ การให้เงินกู้ไม่ใช่ให้ไปแล้ว นำไปใช้หมดแล้วทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม ไม่อยากก้าวล่วงอำนาจของใครทั้งสิ้น แต่ต้องมีมาตรการเหมาะสม ขอให้ติดตามความก้าวหน้าต่อไป ขอให้ทุกคนความร่วมมือไม่เช่นนั้นไปไม่ได้แน่นอน ทั้งเรื่องการขายตั๋ว การลดรายจ่าย ที่เกินความจำเป็น ผมให้เวลาแก้ไขมา 5 ปี แต่ไม่สำเร็จ จึงขอความร่วมมือครั้งสุดท้ายนะครับ”พล.อ.ประยุทธ์กล่าวซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ว่าหนักหนาสาหัสเพียงใด

Source

]]>
1277647
การบินไทยยังคงขาดทุนกว่า 4,600 ล้าน แข่งหั่นราคาดุเดือด ทำรายได้ทรุด https://positioningmag.com/1253856 Sat, 16 Nov 2019 13:09:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1253856 นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 3 ของปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,016 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,937 ล้านบาท หรือ 6.1% มีค่าใช้จ่ายรวม 47,858 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4,029 ล้านบาท หรือลดลง 7.8% ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 4,680 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 994 ล้านบาท (27.0%)

ซึ่งในไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 3.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.6% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.5% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.06 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 0.8%

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น ส่งผลให้การควบคุมค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้ลดลงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 7.8% แต่ สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันมีปัจจัยลบหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ จนทำให้หลายสายการบินต้องปิดตัวลง และอีกหลายสายการบินต่างประสบปัญหาการขาดทุน สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจโลก การแข่งขันในตลาดที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก และค่าใช้จ่ายเรื่องอัตราชดเชยเพิ่มเติม กรณีเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย จำนวน 400 วัน กอปรกับปัจจัยภายในที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง คือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ปี 2562 บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายภายในบริษัทฯ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างจริงจัง อาทิ ชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Reprocess) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับลดสวัสดิการและค่าตอบแทนของฝ่ายบริหารและพนักงาน รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ และรณรงค์ให้พนักงานทุกคนให้ความร่วมมือเพื่อกอบกู้สถานการณ์

ด้านการเพิ่มรายได้ บริษัทฯ ดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalize มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) ซึ่งช่วง 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้เสริมรวม 4,604.17 ล้านบาท เร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online ให้มากขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ มีแผนเพิ่มรายได้จาก e-Commerce ซึ่งจะเปิดตัวภายในปีนี้ อีกทั้งมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยเปิดเส้นทางบินสู่เซนได ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์กลางภูมิภาคโทโฮคุ ทำการบินเที่ยวบินแรกไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 โดยทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้มียอดสำรองที่นั่งล่วงหน้าถึงเดือนมีนาคม 2563 สูงถึง 80%

นายสุเมธ คาดว่า ในไตรมาส 4/62 การบินไทยจะขาดทุนลดลงจากไตรมาส 3/62 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 4.68 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จะมากขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว(ไฮซีซั่น) โดยขณะนี้มียอดจองตั๋วล่วงหน้ากว่า 80%

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการตามแผนงานที่สำคัญ ในปี 2563 โดยยังคงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการหารายได้เสริม และยังคงมีแนวทางการดำเนินงานตามกรอบ 5 กลยุทธ์ ได้แก่

  1. การเร่งทำกำไรเพิ่มจากการตลาดเชิงรุกและมีต้นทุนที่แข่งขันได้
  2. การพัฒนาศักยภาพและแสวงหาโอกาสของกลุ่มธุรกิจ
  3. การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับลูกค้า
  4. การดำเนินงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี
  5. การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล

นอกจากนี้ จะวิเคราะห์และวางแผนเส้นทางการบินใหม่ที่มีศักยภาพ โดยใช้รูปแบบเซนไดโมเดล สำหรับ สายการบินไทยสมายล์เข้าสู่ระบบ Connecting Partner ของกลุ่ม Star Alliance อย่างเต็มรูปแบบ เสริมความแข็งแกร่งเครือข่ายการบิน รวมถึงมีความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในวาระครบ 60 ปีของ 2 หน่วยงาน โดยจัดทำแคมเปญทางการตลาดร่วมกัน กระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ.

Source

]]>
1253856
การบินไทยขาดทุนเท่าฟ้า 1.1 หมื่นล้าน https://positioningmag.com/1217165 Fri, 01 Mar 2019 05:35:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1217165 นับเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายสำหรับการบินไทยมากขึ้นทุกที เมื่อการบินไทยยังคงขาดทุนยับต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศผลประกอบการของปี 2561 ปรากฏว่าตัวเลขขาดทุนพุ่งไปถึง 11,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 451% จากปี 2560 ขาดทุน 2,860 ล้านบาท

โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวม 24.3 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 1% และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร เฉลี่ย 77.6% ลดลงจากปีก่อน ที่มี 79.2%

การบินไทยระบุว่า เป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรง ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 4 ปี

แม้จะมีรายได้รวม 199,500 ล้นบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากรายได้ค่าโดยสาร และค่าน้ำหนักส่วนเกิน ค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ และรายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้น

แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 208,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% เป็นผลมาจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 9,881 ล้านบาท เพิ่ม 19.7% จากราคาเฉลี่ยน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 30.1% แม้มีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันดีขึ้นกว่าปีก่อน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานไม่รวมน้ำมัน อยู่ที่ 9,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น

เปิดแผนปี 62

การบินไทยวางแผนการดำเนินงานปี 2562 ไว้ดังนี้ จะเป็นปีแรกของโครงการจัดหาเครื่องบิน 5 ปี ปี 2562 -2567 เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่า

เร่งทำกำไรเพิ่มการตลาดเชิงรุก ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ เช่น เพิ่มรายได้เสริมนอเหนือจากรายได้ผ่านช่องทาง Digital Marketing

บริหารจัดการการขายและใชประโยชน์เครื่องบิน ร่วมมือกับไทยสมายล์แอร์เวย์ปรับปรุงและพัฒนาบริการครบวงจรเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า บริหารจัดการด้านน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน

คาดปี 62 จะดีขึ้น จากราคาน้ำมันลด

แผนงานปี 2562 การบินไทยคาดว่าอุตสาหกรรมการบินในปี 2562 ยังคงเติบโต โดยคาดว่าอัตราขนส่งผู้โดยสารและปริมาณการผลิตผู้โดยสารยังเติบโต แม้จะลดลงจากปี 2561 แต่ยังสูงกวาอัตราเฉลี่ย 20 ปี ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะปรับตัวลดลง ลดลงเฉลี่ย 7.2%

นอกจากนี้ ปัจจัยบวกยังมาจากนโยบายเร่งความเชื่อมั่นของตลาดนักท่องเที่ยวจีน และการลดหย่อนค่าธรรมเนียม Visa On Arrivals ชั่วคราว ครอบคลุม 21 ประเทศ การก่อสร้างซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา.

]]>
1217165
เรียกข่าวดีได้ไหม ? “อสมท” รายได้ลด 6% แต่ก็ขาดทุน “น้อยลง” กว่า 85% https://positioningmag.com/1216638 Wed, 27 Feb 2019 04:57:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1216638 เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีสำหรับ “สมท” เลยก็ว่าได้ แม้ “รายได้” จะน้อยลงกว่าเดิมแต่ตัวเลข “ขาดทุน” ก็น้อยลงตามไปด้วย

จากรายงานของนีลเส็นระบุการใช้งบโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อในปี 2561 กลับมาเติบโตอีกครั้งในรอบ 2 ปี หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 105,455 ล้านบาท โดยสื่อที่เป็นรายได้หลักของอสมทต่างเติบโตทั้งคู่ ทั้งโทรทัศน์ เติบโต 8% มูลค่า 67,935 ล้านบาท และวิทยุ เติบโต 7% มูลค่า 4,802 ล้านบาท

แต่กระนั้นก็ตามผลการดำเนินงานของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)” สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีรายได้ทั้งสิ้น 2,562 ล้านบาท ลดลง 6% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,736 ล้านบาท เรียกได้ว่าสวนทางกับตลาด แต่สิ่งที่น่าจะทำให้ยิ้มได้อยู่บ้างคือตัวเลขขาดทุนที่ลดลง กว่า 85% เหลือเพียง 378 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุนถึง 2,543 ล้านบาท

เมื่อมองลึกเข้าไปถึงโครงสร้างรายได้ของอสมท ถูกแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่

1. โทรทัศน์คิดเป็นสัดส่วน 30% มีรายได้ทั้งสิ้น 771 ล้านบาท ลดลง 23% จากปีก่อนที่ทำได้ 1,002 ล้านบาท โดยหลักๆ มาจากการขายโฆษณาให้เอเยนซี่ 48%, โครงการภาครัฐ / รัฐวิสาหกิจ 39%, ค่าเช่าเวลา 9% และ การดำเนินการอื่น 4%

ถึงในภาพรวมรายได้จะน้อยลงอสมท กลับมองว่าแนวโน้มกลับมีทิศทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสแรกถึงไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากมีการปรับปรุงผังรายการโดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง 2561 เติมรายการเชิงสาระ และรายการบันเทิงเชิงสาระมากขึ้น รวมถึงรายได้จากการเช่เวลา และส่นแบ่งจากการขายสินค้าทางช่อง MCOT Family ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุง MCOT Family หมายเลข 14 หาพันธมิตรมาเติม เพิ่มเวลารายการประเภท Home Shopping ที่มีแล้ว 3-4 ราย เตรียมการปรับ Positioning ของผังรายการมุ่งไปหากลุ่มครอบครัวและสูงวัยมากขึ้น คาดจะเห็นผลชัดเจนในต้นปี 2562

2. วิทยุ รายได้ลดลงเล็กน้อย 0.8% จาก 747 ล้านบาทเป็น 741 ล้านบาท รายได้หลัก 73.7% มาจากการขายโฆษณาในวิทยุส่วนกลาง 6 คลื่น รองลงมาวิทยุในส่วนภูมิภาค 25.8 ลดลงเล็กน้อย สุดท้ายโครงการภาครัฐและการจัดกิจกรรม 0.4% ตรงส่วนนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากคลื่น Mellow FM 97.5 MHz

อสมทระบุว่า ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาดได้ดี คลื่นที่โดดเด่นและทำรายได้สูงสุดคือ MET 107 MHz คลื่นเพลงสากลเติบโต 43% แต่หากถามถึงคลื่นที่ทำรายได้สูงสุดกลับเป็นคลื่นลูกทุ่งมหานคร FM 95 MHz

ที่ผ่านมาได้มีการทดลองเพื่อเพิ่มฐานคนฟัง ด้วยการผลิตเนื้อหารายการ (content) สู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น รายการ “Talk Together” รายการ Talk show ของกูรูตัวจริง สไตล์ Hard Talk ที่ได้ 5 กูรูตัวจริง และมีการทดลองระบบ Podcast ด้วย

3. โครงข่าวดิจิทัลทำรายได้ 427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากตัวเลข 363 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในกระบบ Must Carry จาก กสทช. โดยมีโครงข่าวที่ครอบคลุม 95% ของครัวเรือนทั่วประเทศ

4. สัมปทานรายได้ 401 ล้านบาท ลดลง 13% จากปีก่อนที่ทำได้ 459 ล้านบาท หลังจากนี้รายได้ในส่วนนี้จะเริ่มลดลงจากอายุสัมปทาน ที่จะหมดลงในปี 2563 ทั้ง ช่อง 3 และทรูวิชั่นส์

5. สื่อใหม่ทั้งสื่อออนไลน์ต่างๆ และโทรทัศน์ดาวเทียม MCOT Satellite Network รายได้เติบโตถึง 65% จาก 59 ล้านบาท หลังจากนี้รายได้จากการเช่าช่องรายการบนดาวเทียมจะลงลงในปี 2562 เนื่องจากได้ยุติช่องสัญญาณดาวเทียม C-band บางส่วนไป

6. อื่นๆ” มีรายได้ 78 ล้านบาท เติบโตถึง 30% จากรายได้ 60 ล้านบาท

สำหรับในปี 2562 นี้อสมทปรับทัพใหม่เพื่อลดการพึ่งรายได้จากโทรทัศน์และวิทยุโดยเริ่มจากการดันไนน์เอ็นเตอร์เทนที่ประเมินแล้วว่ารายการเป็นที่รู้จักอย่างดี สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่เป็นรายการข่าวบันเทิง ออกไปรับจ้างการผลิตให้ช่องอื่น เช่น ช่องวัน ออกกากาศในชื่อวันเอ็นเตอร์เทน” 

นอกจากนี้ยังได้มีการวางแผนรับมือโดยเตรียมนำที่ดิน 50 ไร่ ย่านรัชดาภิเษก ติดศูนย์วัฒนธรรม และที่ดินที่ทำการ อสมท 20 ไร่ ย่านพระราม 9 ซึ่งมีการประเมินมูลค่ารวม 2 แปลงกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่ง อสมท ได้เดินหน้าศึกษาโครงการนำสินทรัพย์ที่ดินมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้องค์กร (https://positioningmag.com/1214613)

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงธุรกิจสื่อที่อยู่ในภาวะชะลอตัว”.


ข่าวเกี่ยวเนื่อง

]]>
1216638