อุตสาหกรรมรถยนต์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 18 Dec 2024 11:44:34 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Nissan-Honda เล็งควบรวมกิจการ สู้ศึกรถอีวีจากจีนที่ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรง https://positioningmag.com/1504033 Wed, 18 Dec 2024 08:51:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1504033 นับเป็นข่าวใหญ่สำหรับแวดวงยานยนต์ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น เมื่อมีรายงานข่าวว่า สองยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง ‘นิสสัน’ (Nissan) และ ‘ฮอนด้า’ (Honda) มีแผนจะควบรวมกิจการกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และต้านทานกระแสรถยนต์อีวีจากจีนที่กำลังมาแรงมากในปัจจุบัน

 

สำนักข่าวบีบีซี ได้รายงานว่า นิสสัน และฮอนด้ากำลังเจรจาความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการ ที่จะดำเนินงานภายใต้รูปแบบ ‘บริษัทโฮลดิ้ง’ ซึ่งจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจในเร็วๆ นี้ และยังระบุว่า ทั้งสองบริษัทยังมีวางแผนจะนำ ‘มิตซูบิชิ มอเตอร์’ (Mitsubishi Motors) ที่นิสสันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 24% เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้งนี้ด้วย

 

อย่างไรก็ตามทั้งฮอนด้า และนิสสัน ไม่ได้ ‘ยืนยัน’ หรือ ‘ปฏิเสธ’ ต่อกระแสข่าวดังกล่าว โดยฮอนด้าเผยว่า “เมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ ทั้งสองบริษัทมีการสำรวจความเป็นไปได้ต่าง ๆ สำหรับความร่วมมือในอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของกันและกัน หากมีการอัปเดตใด ๆ จะแจ้งในเวลาที่เหมาะสม”

 

การควบรวมกิจการที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างผู้ผลิตรถยนต์อันดับสองและอันดับสามของญี่ปุ่น อาจมีความซับซ้อนด้วยเหตุผลหลายประการ เนื่องจากข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่จะออกมาต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มข้นของรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากการควบรวมกิจการอาจนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก

 

ด้านสำนักข่าวนิกเคอิ รายงานว่า หลังจากข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทำให้ราคาหุ้นของนิสสันพุ่งสูงขึ้นกว่า 20% และหุ้นของมิตซูบิชิ มอเตอร์พุ่งขึ้น 13% ขณะที่ที่หุ้นของฮอนด้าปรับตัวลดลงราว 2%

 

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า ในปี 2023 นิสสันและฮอนด้ามียอดขายทั่วโลกรวมกัน 7.4 ล้านคัน โดยทั้งค่ายกำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับรถยนต์อีวีที่มีราคาถูกกว่า โดยเฉพาะจากสัญชาติจีน อาทิ บีวายดี (BYD) ซึ่งมีรายได้ประจำไตรมาสพุ่งสูงแซงหน้า เทสลา (Tesla) เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

ก่อนจะมีข่าวการควบรวมกิจการแพร่สะพัดออกมา ทางนิสสันและฮอนด้า ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU เมื่อเดือนมีนาคม 2024 โดยทั้งสองบริษัทจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในด้านของยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และการเคลื่อนที่อัจฉริยะ ซึ่งขอบเขตของการศึกษาความเป็นไปได้ จะประกอบไปด้วย แพลตฟอร์มและ ซอฟต์แวร์ของยานยนต์ ส่วนประกอบหลักที่เกี่ยวข้องกับรถอีวี และผลิตภัณฑ์เสริม อื่นๆ

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/articles/cr56r74214eo

https://asia.nikkei.com/Business/Automobiles/Honda-and-Nissan-to-begin-merger-talks-amid-EV-competition

]]>
1504033
โอกาสตลาด ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ในไทย อีก 7 ปีแตะ 1 ล้านคัน มีเเววต่อยอดเป็นฐานผลิต ‘รถไฮบริด’ https://positioningmag.com/1337621 Thu, 17 Jun 2021 11:40:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1337621 เมกะเทรนด์การเปลี่ยนแปลง Krungthai COMPASS ประเมินอุตสาหกรรม ‘ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย คาดปี 2028 มียอดผู้ใช้เเตะ 1 ล้านคัน ในจำนวนนี้จะเป็น ‘รถไฮบริด’ ถึง 93% เเนะรัฐออกมาตรการช่วยดัน มีโอกาสต่อยอดเป็นฐานผลิต’ ของภูมิภาค 

ช่วงวิกฤตโรคระบาด เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจนเข้าสู่ภาวะถดถอยเเต่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยยอดขายสูงถึง 3.2 ล้านคันทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นกว่า 43%

ในไทยก็ได้รับความนิยมไม่น้อย โดยมียอดจดทะเบียนสูงถึง 3 หมื่นคัน ขยายตัวถึง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สวนทางยอดขายรถยนต์โดยรวมที่ลดลง 21%

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงปัจจัยที่สนับสนุน EV ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการตื่นตัวของภาครัฐในต่างประเทศเพื่อแก้ไขประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลงปารีส โดยเฉพาะนโยบายยกเลิกการขายยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ควบคู่ไปกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม

ประกอบกับความเคลื่อไหวของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ปรับตัวหันไปทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามความสนใจของผู้บริโภคที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทั่วโลกมีโอกาสแตะระดับ 25-45 ล้านคันได้ภายในปี 2030 จาก 10 ล้านคันในปัจจุบัน”  

ตลาดไทยยังเล็ก เเต่มีเเววต่อยอด ‘ฐานผลิตไฮบริด’ 

สำหรับประเทศไทยนั้น มียอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศ ณ สิ้นปี 2020 อยู่ที่เพียง 1.9 แสนคัน หรือคิดเป็นเพียง 1% ของยานยนต์ทั้งหมด ถือว่ายังมีขนาดเล็กและอยู่ในช่วงเริ่มต้นเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ

ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่าข้อได้เปรียบของไทย คือการเป็นฐานผลิตยานยนต์เครื่องยนต์ ICE แบบดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับกลยุทธ์การทำตลาดของผู้ผลิตยานยนต์ OEM ในประเทศที่ยังคงเน้นทำตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดตามบริษัทแม่ในญี่ปุ่น

ยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในไทยมีโอกาสแตะ 1 ล้านคันได้ในปี 2028 หรือขยายตัวเฉลี่ยราว 24% ต่อปี โดยยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 93% ของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด

โดยมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค จะเป็นส่วนสำคัญให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย มีโอกาสต่อยอดเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในอนาคตต่อไป

ผู้ประกอบการกลุ่มไหน ได้รับผลประโยชน์-ผลกระทบ ? 

การเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดของไทย นอกจากจะช่วยรักษาตลาดผู้ผลิตในกลุ่มเครื่องยนต์ ICE ในประเทศเเล้ว รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องในระยะปานกลางแล้ว ยังส่งผลดีต่อ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ผลิตวัสดุน้ำหนักเบาและแข็งแรงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ของ Krungthai COMPASS ระบุว่า ในระยะยาว การที่สัดส่วนยานยนต์ปราศจากการปล่อยมลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle : ZEV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยตามกระแสเมกะเทรนด์ที่กำลังเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด (Green Economy) นั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Powertrain และ Engine ในไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 20% ของรายได้ของผู้ผลิตชิ้นส่วนในตลาดทั้งหมด

โดยสรุปเเล้ว ในระยะสั้นปานกลาง อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยแบบดั้งเดิม จะถูกปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างเพื่อรองรับฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดมากขึ้น ทำให้ดีมานด์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มยานยนต์เครื่องยนต์ ทั้ง ICE แบบเดิม ควบคู่ไปกับระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ ยังเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี กระแสเมกะเทรนด์ที่ตื่นตัวต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การปรับตัวของผู้ผลิตที่เน้นไปหายานยนต์แบบปราศจากมลพิษ (ZEV) มากขึ้น รวมทั้งการเปิดรับจากผู้บริโภคที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าแบบ ZEV จะทยอยเข้ามามีบทบาทในไทยมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งก็จะทำให้ในระยะยาวที่สัดส่วนยานยนต์ ZEV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่ม Powertrain และ Engine มากที่สุด

 

 

 

]]>
1337621
รอลุ้น! Xiaomi เตรียมเปิดตัว ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ โดยใช้โรงงานผลิตของ Great Wall Motor https://positioningmag.com/1325243 Fri, 26 Mar 2021 18:02:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325243 กระเเสข่าวที่ว่า ‘Xiaomi’ บริษัทเทครายใหญ่ของจีน กำลังจะกระโจนลงมาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีมูลขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุด Reuters รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าว 3 รายว่า Xiaomi มีเเผนจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในปี 2023 โดยใช้โรงงานของ Great Wall Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน

Xiaomi ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อข่าวนี้ ส่วน Great Wall Motor กล่าวเพียงว่าในที่ประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางบริษัทไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับ Xiaomi

เเหล่งข่าวให้ข้อมูลกับ Reuters ว่า  Xiaomi จะเน้นไปที่การเจาะตลาดเเมสเพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับเเนวทางของบริษัทที่มักจะทำสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่มีราคาถูกกว่าตลาด โดยชูจุดเด่นในด้านการดีไซน์เเละฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย

(Photo by Alex Tai/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

ด้าน Great Wall Motor ที่ไม่เคยให้รับการผลิตให้กับบริษัทอื่นมาก่อน ก็จะให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมเพื่อเร่งโครงการนี้ให้เร็วขึ้น โดยคาดว่าทั้งสองจะแถลงความร่วมมือดังกล่าวได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้

แผนดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ Xiaomi พยายามกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ในธุรกิจสมาร์ทโฟนที่เเม้จะทำเงินได้มหาศาล เเต่กลับทำกำไรได้น้อย เมื่อต้องเเบกต้นทุนที่สูงขึ้นหลังเกิดปัญหาขาดแคลนชิปทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์กับบริษัทเทคโนโลยีที่จะได้ทำงานใกล้ชิดกันนั้น ก็จะนำไปสู่การพัฒนายานยนต์อัจฉริยะที่ล้ำสมัยมากขึ้น

ภาพบรรยากาศภายในโรงงานของ Great Wall Motor ในเมืองไท่โจว มณฑลเจียงซู ประเทศจีน (Photo credit should read Costfoto/Barcroft Media via Getty Images)

ก่อนหน้านี้ ค่ายผู้พัฒนาสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของโลกทั้ง Apple และ Huawei ก็เพิ่งประกาศลงสนามเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยคาดว่า Huawei จะเปิดตัว EV บางรุ่นหรือบางโมเดลออกสู่ตลาดภายในปีนี้

ส่วนความคืบหน้า Apple Car ยังถูกจับตามองอยู่เรื่อยๆ หลังเคยมีกระเเสข่าวว่า Apple ใกล้จะบรรลุข้อตกลงกับ Hyundai-KIA เเละอาจเริ่มผลิตได้ในอีก 3 ปีนี้ เเต่ในที่สุดทาง Hyundai ก็ออกมาปฏิเสธ

แหล่งข่าวบอกกับ Reuters อีกว่า Lei Jun ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของ Xiaomi เชื่อว่าความเชี่ยวชาญของบริษัทในการผลิตฮาร์ดแวร์ จะช่วยเร่งให้การออกแบบและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาได้โดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในปี 2023 โดยรถยนต์ไฟฟ้าของ Xiaomi จะสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆ ของเเบรนด์ได้

ทั้งนี้ Great Wall Motor มียอดขายทั่วโลกในปี 2564 อยู่ที่ 1.11 ล้านคัน โดยเพิ่งเปิดตัวแบรนด์ใหม่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เเละกำลังก่อสร้างโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนร่วมกับ BMW ของเยอรมนี รวมถึงกำลังจะมีโรงงานแห่งแรกในไทยด้วย โดยได้เตรียมงบลงทุนในไทยถึง 22,600 ล้านบาท เเละมีแผนจ้างงานกว่า 5,000 คนภายใน 3 ปี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มี.ค. Xiaomi ประกาศว่าจะจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart electric vehicle) โดยเฉพาะ ซึ่งมีการวางงบประมาณลงทุนในระยะ 10 ปีไว้ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 แสนล้านบาท)

 

อ่านรายละเอียด : กางแผนเกรท วอลล์ มอเตอร์กับภารกิจเป็น ‘Top of Mind’ ในตลาดรถอีวี

 

 

ที่มา : Reuters

]]>
1325243
GM ปรับสู่ “รถไฟฟ้า-รถยนต์ไร้คนขับ” จริงจัง ทุ่ม 8.2 แสนล้าน มุ่งผลิต EV ให้ได้ 40% ในปี 2025 https://positioningmag.com/1306981 Fri, 20 Nov 2020 07:30:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306981 ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ General Motors (GM) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นถึงการปรับกลยุทธ์มุ่งหารถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มสูบ

โดย GM ประกาศเเผนใหม่ว่า จะทุ่มเงินลงทุนกว่า 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.2 แสนล้านบาท) เพื่อพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ วางเป้าหมายจะบรรลุผลสำเร็จให้ได้ภายในปี 2025

หนึ่งในนั้นคือ GM ตั้งเป้าจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนมากกว่า 40% เเละจะเร่งเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ ให้ได้มากกว่า 30 โมเดลในตลาดทั่วโลกภายในปี 2025 นี้เช่นกัน

Mary Barra ซีอีโอของ GM กล่าวว่าปัญหาโลกร้อนเเละการเปลี่ยนเเปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง บริษัทต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเเก้ปัญหานี้ โดยการมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่มั่นคง ไปสู่การเปลี่ยนพอร์ตฯ รถยนต์ของ GM ให้เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว

ซีอีโอ GM ยังระบุถึงความได้เปรียบในการพัฒนารถยนต์ EV ว่า บริษัทมีความสามารถในการเเข่งขันด้านเเบตเตอรี่ ซอฟต์เเวร์ การประยุกต์ใช้ฟังก์ชันต่างๆ ของรถยนต์ มีโรงงานการผลิต เเละความเข้าใจในประสบการณ์ของผู้ใช้ที่สั่งสมมายาวนาน

ก่อนหน้านี้ GM ประกาศว่าจะใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเงินทุนกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัท จะทุ่มให้กับโครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเเละรถยนต์ไร้คนขับ โดยได้จับมือกับพันธมิตรวงการยานยนต์อย่าง Honda ร่วมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นเพื่อทำตลาดในปี 2024 

ขณะเดียวกัน GM เริ่มมีการปรับโรงงานผลิตรถยนต์ใหม่ ให้เป็น  Factory Zero เพื่อมุ่งสร้างรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งจะเริ่มต้นที่รถกระบะรุ่น Hummer ที่คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาราว 1 ปี

โรงงาน Factory Zero ของ GM

GM ขยับมาร่วมมือกับธุรกิจค้าปลีกอย่าง Walmart ด้วยการนำรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับของ Cruise (บริษัทลูกของ GM) มาเป็นเครื่องมือเดลิเวอรี่ส่งสินค้าอุปโภคบริโภค จะเริ่มต้นทดลองในช่วงต้นปี 2021

สำหรับเรื่องเเบตเตอรี่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เพราะทำให้ EV  มีราคาสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ดังนั้นการเร่งพัฒนาเเบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพเเละราคาถูกลง จะช่วยพลิกรูปแบบการใช้รถใช้ถนนของคนทั่วโลก ให้ขยับไปใช้พลังงานสะอาดเร็วขึ้น

โดย GM เป็นอีกหนึ่งบริษัทใหญ่ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ของตัวเอง ที่มีชื่อว่า The New Ultium Battery System ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดสอบ ซึ่งหากประสบความสำเร็จด้วยดี จะทำให้ต่อไป ราคารถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์ใช้น้ำมันจากค่าย GM ใกล้เคียงกันมากขึ้น

ด้านดาวรุ่งเเห่งรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ก็กำลังตามหาเเหล่งขุมทรัพย์ “เเบตเตอรี่” เช่นกัน โดยได้เจรจาลงทุนกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ประเทศผู้ผลิต “แร่นิกเกิล” มากที่สุดในโลก เเละมีกระเเสข่าวว่าได้เจราจากับทางการไทยด้วย จากกลยุทธ์การขยายโรงงานในเอเชียเพิ่มเติมนอกจากที่ประเทศจีน

 

ที่มา : CNN , Autonews

]]> 1306981 “อังกฤษ” ลุยพลังงานสะอาด เเบน “รถยนต์น้ำมัน” ทุกประเภท ภายในปี 2030 ขยับเร็วขึ้น 10 ปี https://positioningmag.com/1306683 Wed, 18 Nov 2020 09:38:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1306683 พลังงานสะอาดคืออนาคตของโลกยุคใหม่ ล่าสุดอังกฤษประกาศเลิกใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันทุกประเภท ให้ได้ภายในปี 2030 ขยับเร็วขึ้นกว่าเเผนเดิมถึง 10 ปี

การสั่งเเบนรถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันในสหราชอาณาจักรดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในเเผนปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ “Green Industrial Revolution” เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยจะมีการผลักดันให้ใช้พลังงานสะอาด อย่างพลังงานลม เเละลงทุนในพลังงานไฮโดรเจน

เดิมที Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะแบนขายรถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันภายในประเทศให้ได้ภายในปี 2040 เเต่จากปัญหาสิ่งเเวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนเเรงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องปรับเเผนให้เร็วตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางการยังอนุญาตให้รถยนต์ไฮบริดจำหน่ายในประเทศต่อไปได้ แต่ต้องหยุดขายภายในปี 2035

นักวิจารณ์ มองว่างบประมาณที่จะใช้ในเเผน Green Industrial Revolution จำนวน 4 พันล้านปอนด์ (ราว 1.6 เเสนล้านบาท) นั้นน้อยเกินไปกับความท้าทายที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนเเปลงที่เเท้จริงได้

โดยรัฐบาลหวังว่า โครงการนี้จะส่งเสริมให้มีการจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 250,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะทางตอนเหนือของอังกฤษและเวลส์ ที่จะมีการพัฒนาพลังงานลมอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2023 ชาวอังกฤษทุกครัวเรือนจะต้องได้ใช้ปั๊มความร้อน (Heat Pump) เเบบไฟฟ้า เพื่อให้ความอบอุ่นเเทนการใช้เครื่องทำความร้อนด้วยแก๊สเเบบดั้งเดิม โดยจะมีการทยอยติดตั้งปั๊มความร้อนเเเบบใหม่กว่า 600,000 เครื่องต่อปี ต่อเนื่องเรื่อยไปจนถึงปี 2028

(Photo by Zhang Peng/LightRocket via Getty Images)

อีกประเด็นสำคัญของแผนนี้ คือการลงทุน 1.3 พันล้านปอนด์ เพื่อสร้างจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เเละทุ่มเงินอุดหนุน ดึงดูดใจให้ประชาชนหันมาซื้อรถ EV เพื่อสร้างการเปลี่ยนเเปลง

เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่ประกาศเเผนทุ่มเงินกว่า 8,000 ล้านยูโร (ราว 2.8 เเสนล้านบาท) ฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ หวังขึ้นเป็นเบอร์ 1 ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของยุโรป

รัฐบาลฝรั่งเศสจะเเบ่งงบ 1,000 ล้านยูโร (ในวงเงิน 8,000 ล้านยูโร) มากระตุ้นให้เกิดความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค โดยจะมอบเงินสนับสนุนจำนวน 7,000 ยูโร (ราว 2.4 เเสนบาท) ให้กับบุคคลทั่วไปที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนบริษัทที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ในองค์กรจะได้รับเงินสนับสนุน 5,000 ยูโร (ราว 1.7 เเสนบาท) ต่อคัน

เเละหากใครซื้อรถยนต์ไฮบริดในฝรั่งเศส จะได้รับเงินสนับสนุน 2,000 ยูโร (ราว 7 หมื่นบาท) ต่อคัน ส่วนผู้ที่จะนำรถยนต์ไปเปลี่ยนจากระบบพลังงานน้ำมันเป็นพลังงานอื่นที่ก่อมลพิษน้อยกว่า จะได้รับเงิน 3,000 ยูโร เเละถ้าใครอัพเกรดให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็จะได้รับเงิน 5,000 ยูโรเช่นกัน

อ่านต่อ : เปิดเเผนฝรั่งเศสอัดงบฟื้นอุตฯยานยนต์ หวังพลิกวิกฤตสู่เบอร์ 1 รถยนต์ไฟฟ้าเเห่งยุโรป

สหราชอาณาจักร ตั้งใจจะบรรลุเป้าหมายในการลดปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 เช่นเดียวกับนโยบายของโจ ไบเดนว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ

โดยไบเดนบอกว่าจะผลักดันให้อเมริกาบรรลุเป้าหมายลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 เเละทุ่มงบลงทุน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการพลังงานสีเขียวให้ผลิตพลังงานสะอาดมากขึ้น เเละมองว่าการส่งเสริมสายการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นการช่วยคนชนชั้นแรงงานไปในตัวด้วย

อ่านต่อ : คำสัญญาเเละนโยบายของโจ ไบเดนประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ทิศทางใหม่อเมริกา

ด้านผลวิจัยของ UBS ชี้รถยนต์ไฟฟ้า อาจมี “ราคา” เท่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ภายในปี 2024 หรืออีก 4 ปีข้างหน้านี้ เเละอาจมียอดขายครองสัดส่วน “ตลาดรถยนต์โลก” มากขึ้นถึง 40% ได้ในปี 2030 

UBS ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ “แบตเตอรี่” สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด 7 แห่งทั่วโลก พบว่า รถยนต์ไฟฟ้า มีเเนวโน้มจะมีราคาเทียบเท่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ได้ภายในปี 2024 เนื่องจากต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่มีราคาถูกลง รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าลดลงไปอีก 

โดยคาดว่าในปี 2022 ส่วนต่างที่เเพงกว่าในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ใช้น้ำมัน จะลดลงเหลือเพียง 1,900 เหรียญสหรัฐ (ราว 60,000 บาทต่อคันและต้นทุนในการผลิตรถยนต์ทั้งสองเครื่องยนต์จะใกล้เคียงกันได้ภายในปี 2024

ถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่กำลังจะเข้าสู่ยุคเเห่งการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

 

ที่มา : BBC , The Guardian

]]>
1306683
เมื่อเเบตเตอรี่ “ถูกลง” รถยนต์ไฟฟ้าอาจมี “ราคาเท่า” รถใช้น้ำมัน ภายในปี 2024 https://positioningmag.com/1303491 Wed, 28 Oct 2020 11:53:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303491 ผลวิจัยของ UBS ชี้รถยนต์ไฟฟ้า อาจมีราคาเท่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ภายในปี 2024 หรืออีก 4 ปีข้างหน้านี้ เเละอาจมียอดขายครองสัดส่วนตลาดรถยนต์โลกมากขึ้นถึง 40% ได้ในปี 2030 

งานวิจัยล่าสุดของ UBS ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด 7 แห่งทั่วโลก

พบว่า รถยนต์ไฟฟ้า มีเเนวโน้มจะมีราคาเทียบเท่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ได้ภายในปี 2024 เนื่องจากต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่มีราคาถูกลง รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าลดลงไปอีก 

โดยคาดว่าในปี 2022 ส่วนต่างที่เเพงกว่าในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ใช้น้ำมัน จะลดลงเหลือเพียง 1,900 เหรียญสหรัฐ (ราว 60,000 บาทต่อคัน) และต้นทุนในการผลิตรถยนต์ทั้งสองเครื่องยนต์จะใกล้เคียงกันได้ ภายในปี 2024

ถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่กำลังจะเข้าสู่ยุคเเห่งการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ใช้น้ำมัน) มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ทั้งในจีนเเละเกาหลีใต้เลี่ยงที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะแบตเตอรี่มีราคาแพง โดยราคาแบตเตอรี่ คิดเป็น 1 ใน 4 ถึง 2 ใน 5 ของราคารถทั้งคันเลยทีเดียว

UBS มองว่า ราคาแบตเตอรี่จะลดลงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ (ราว 3,000 บาท) ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)

หลังปี 2025 จะไม่มีเหตุผลที่ผู้คนจะเลือกซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอีกต่อไปTim Bush นักวิจัยของ UBS analyst กล่าว

เเม้ตอนนี้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้ายังมีส่วนต่างที่เเพงกว่า เช่น การซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Volkswagen Golf รุ่นใหม่ ที่มีราคาประมาณ 20,280 ปอนด์ (ราว 8.2 เเสนบาท ตามราคาในอังกฤษ) ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเเรกของ Volkswagen อย่าง ID-3 จะมีราคาเริ่มต้นที่ 29,990 ปอนด์ (ราว 1.2 ล้านบาท ตามราคาในอังกฤษ)

Jaguar Land Rover ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ออกรถยนต์ไฟฟ้า Jaguar I-Pace ในราคาที่ 64,495 ปอนด์ (ราว 2.6 ล้านบาท ตามราคาในอังกฤษ) เเม้จะมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษเเเล้ว เเต่ก็ยังสูงว่ารุ่น Jaguar F-Pace ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งราคาอนู่ที่ 44,845 ปอนด์ (ราว 1.8 ล้านบาท ตามราคาในอังกฤษ)

เเต่ต่อไป เมื่อราคาแบตเตอรี่ลดอย่างรวดเร็ว ทำให้คาดว่าผู้คนจะสามารถเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วกว่าที่คาด ซึ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปและจีนก็กำลังเฟื่องฟู

Matthias Schmidt นักวิเคราะห์ด้านตลาดรถยนต์ มองว่า สหภาพยุโรปจะสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดได้ถึง 1 ล้านคันในปีนี้ จากตลาดรถยนต์ทั้งหมด 11 ล้านคัน

UBS ประเมินส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2025 ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะครองส่วนแบ่งการตลาดได้ 17% และในปี 2030 อาจมีส่วนแบ่งถึง 40% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก

ความต้องการเเบตเตอรี่ของเหล่าบริษัทชั้นนำเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ โดยดาวรุ่งเเห่งรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla เริ่มเจรจาลงทุนกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ประเทศผู้ผลิต “แร่นิกเกิล” มากที่สุดในโลก เเละมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 46% เป็น 550,000 ตันต่อปี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้บรรลุข้อตกลงกับ LG Chem ของกาหลีใต้ และ CATL ของจีนเพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมนี้ของอินโดนีเซียเริ่ม “เนื้อหอม” ขึ้นมาทันที ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศของการผลิตแบตเตอรี่ ที่จะดึงดูดบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อีกหลายเจ้าเข้ามาลงทุนต่อไป

 

ที่มา : The Guardian , CleanTechnica

]]>
1303491
ตลาดรถยนต์ยิ่งอ่วม! ยอดขายรถ 5 เดือน ลดลง 38.2% เฉพาะ พ.ค. ตกฮวบ 54.1% https://positioningmag.com/1285355 Sun, 28 Jun 2020 13:50:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285355 เปิดยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ในช่วงที่ต้องเจอกับสภาวะ COVID-19 ในเดือนพฤษภาคมยอดขายลดลง 54.1% ภาพรวมทั้งตลาด 5 เดือนแรก ลดลง 38.2%

เดือนพ.ค. หล่นฮวบ 54%

สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม 2563 มียอดการขายรวมทั้งสิ้น 40,418 คัน ลดลง 54.1% ประกอบด้วย

  • รถยนต์นั่ง 11,733 คัน ลดลง 65.1%
  • รถเพื่อการพาณิชย์ 28,685 คัน ลดลง 47.4%
  • รถกระบะขนาด 1 ตัน มีจำนวน 23,137 คัน ลดลง 47.5%

“จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การขายของเดือนพฤษภาคม มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้ทยอยประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้บางธุรกิจที่ได้รับการผ่อนปรนเริ่มทยอยกลับมาดำเนินงาน ซึ่งส่งผลในเชิงบวกให้กับตลาดรถยนต์ อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงอยู่ในช่วงของการค่อยๆ ฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่ รวมถึงภาครัฐฯยังได้ออกมาตรการดูแลและเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ด้วย”

(Photo by Piti A Sahakorn/LightRocket via Getty Images)

ยอดสะสม 5 เดือน ลดลง 38%

ส่วนตลาดรถยนต์สะสม 5 เดือน มีปริมาณการขาย 270,591 คัน ลดลง 38.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

  • รถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 42.2%
  • รถเพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 35.6%

เป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่เพียงแต่ตลาดรถยนต์ไทย แต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและทั่วโลกต่อเนื่องกัน 5 เดือน

สำหรับเดือนมิถุนายนนี้ จากการที่ภาครัฐฯ ได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ในระยะที่ 3 และการควบคุมสถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ และได้มีการคลายล็อกระยะที่ 4 มีผลบังคับใช้วันที่ 15 มิถุนายน โดยให้กิจการและกิจกรรมอีกหลายประเภทกลับมาดำเนินธุรกิจได้ภายใต้มาตรการที่ภาครัฐกำหนดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังต้องเฝ้าระวัง และป้องกันการใช้ชีวิตตามมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ดังนั้นแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายนจะมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

Source

]]>
1285355
ยอดขายรถใหม่ใน UK ลดฮวบ 97% เหลือเเค่ 4 พันคัน ต่ำสุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 https://positioningmag.com/1277006 Wed, 06 May 2020 10:03:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1277006 ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่ตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ต้องทรุดหนักลงไปอีกเมื่อเจอพิษ COVID-19 โรงงานเเละตัวเเทนจำหน่ายรถยนต์หลายเเห่งทั่วสหราชอาณาจักร (UK) ต้องหยุดกิจการ ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายช่วงมาตรการล็อกดาวน์ ฉุดยอดขายรถคันใหม่ในเดือนเม.ย. ลดฮวบกว่า 97% เหลือเเค่ 4 พันกว่าคัน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สมาคมผู้ค้าและผู้ผลิตยานยนต์ของสหราชอาณาจักร (SMMT) เปิดเผยว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์คันใหม่ทุกประเภทในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4,321 คัน ลดลงกว่า 97% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ราว 1.61 แสนคัน เช่นเดียวกับยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลงทั่วยุโรป อย่างอิตาลีลดลง 97.5% เเละฝรั่งเศสลดลง 88.8%

ถือว่าเป็นยอดขายที่ต่ำที่สุดในยุคปัจจุบัน นับตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 1946 ไม่กี่เดือนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมียอดขายรถคันใหม่ในสหราชอาณาจักร อยู่ที่ 4,044 คัน เนื่องจากตอนนั้นรัฐบาลต้องออกนโยบายจำกัดการซื้อ เพราะอยู่ในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังผ่านสงคราม

ตั้งเเต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ของสหราชอาณาจักรลดลงกว่า 43% บรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง BMW, Honda , Nissan และ Toyota ได้สั่งระงับการผลิตรถยนต์ในอังกฤษชั่วคราว ส่งผลกระทบคิดเป็นมูลค่ากว่า 8 พันล้านปอนด์ (ราว 3.2 แสนล้านบาท)

ส่วนรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในเดือน เม.ย. เป็นของ Tesla รุ่น Model 3 ที่ทำยอดขายได้ 658 คัน เเซงเเบรนด์เดิมที่ครองตลาดในอังกฤษอย่าง Ford, Volkswagen เเละ Vauxhal

จากปัจจัยลบต่างๆ ทำให้ SMMT ต้องปรับลดคาดการณ์ยอดขายรถทั้งปีนี้ให้เหลือเเค่ 1.68 ล้านคัน ซึ่งจะเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี จากตัวเลขเดิมที่เคยคาดไว้ช่วงเดือน ม.ค.ที่ 2.25 ล้านคัน โดยเรียกร้องให้มีการปลดล็อกภาคการผลิตและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ขณะที่สถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ในอังกฤษยังน่าเป็นห่วง โดยล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ราว 2.9 หมื่นคน มียอดติดเชื้อสะสมอยู่ที่ราว 1.94 เเสนคน

เจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เเห่งหนึ่งในอังกฤษ บอกกับ BBC ว่า บางโรงงานจะเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้งในช่วงสัปดาห์นี้ เเต่การจะกลับมาเดินเครื่องผลิตเเบบเต็มรูปเเบบนั้นคงต้องรอกันอีกนาน

วิกฤต COVID-19 เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ที่ต้องดิ้นรนกับยอดขายที่ลดลงต่อเนื่อง ความต้องการรถยนต์ดีเซลที่ลดลง ขณะเดียวกันก็ต้องดิ้นรนปรับตัวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปล่อยมลพิษด้วย

ที่มา : Reuters , BBC, marketwatch

 

]]>
1277006
Tesla โดนศาลเยอรมนีสั่ง “หยุดสร้างโรงงาน” ชั่วคราว หลังเจอประท้วงหนักปมสิ่งเเวดล้อม https://positioningmag.com/1264769 Mon, 17 Feb 2020 12:56:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264769 Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากอเมริกา ได้รับคำสั่งจากศาลเยอรมนีให้ “หยุดสร้างโรงงาน” ใกล้กรุงเบอร์ลินชั่วคราว หลังเจอกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งเเวดล้อม ประท้วงหนัก

ก่อนหน้านี้ Elon Musk ซีอีโอของ Tesla ประกาศแผนเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมาว่าจะเริ่มสร้างโรงงานเพื่อผลิตรถยนต์เเละเเบตเตอรี่เเห่งเเรกในยุโรป เเละเเห่งที่ 4 ของบริษัท ที่เรียกว่า “gigafactory 4” ตั้งอยู่ใกล้กรุงเบอร์ลิน ทั้งนี้ Tesla มีโรงงาน 2 แห่งในสหรัฐอเมริกาและเเห่งที่ 3 ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

ต่อมาประเด็นการก่อสร้างโรงงานเเห่งนี้ โดนต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเยอรมนี เพราะมีการถางป่ากว่า 91 เฮกตาร์ (225 เอเคอร์) และการตัดต้นไม้หลายพันต้น อีกทั้งผู้ประท้วงกล่าวหาว่าโรงงานนี้เป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าและแหล่งน้ำในท้องถิ่น

กลุ่มผู้ประท้วงจึงยื่นเรื่องให้ศาลเยอรมนีสั่งคุ้มครองชั่วคราว เเละล่าสุดมีผลให้ Tesla ต้องหยุดกระบวนการเตรียมพื้นที่เพื่อก่อสร้างโรงงาน ซึ่งทางศาลเน้นว่า คำสั่งนี้ เป็นการ “ชั่วคราว” เท่านั้น เพื่อเปิดรับฟังข้อมูลของทั้งสองฝ่าย
ซึ่งคาดว่าอาจมีการพิจารณากันอีกครั้งในสัปดาห์นี้

สำหรับ Tesla ได้ซื้อที่ดินเกือบ 300 เฮกตาร์ (ขนาดของสนามฟุตบอลมากกว่า 400 สนาม) ใน Grünheide เพื่อสร้างโรงงานเเห่งนี้ เเละมีกำหนดเปิดทำการอย่างเป็นทางการในปี 2021 โดยทางบริษัทตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ให้ได้ปีละ 500,000 คัน มีพนักงานประมาณ 12,000 คน

อย่างไรก็ตาม การลงสนามในยุโรปของ Tesla ก็ต้องเเข่งขันกับเหล่าบริษัทผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของเยอรมนีที่กำลังหันมาทุ่มลงทุนในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

 

ที่มา : Reuters , BBC 

]]>
1264769
ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่! Audi จ่อลดพนักงาน 9,500 คน หลังอุตฯ ยานยนต์ตกต่ำ https://positioningmag.com/1255125 Wed, 27 Nov 2019 15:57:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1255125 หลังบริษัทรถยนต์ค่ายใหญ่ทั้งหลายทยอยปลดพนักงานกันถ้วนหน้า ล่าสุด “Audi” ค่ายรถยนต์หรูสัญชาติเยอรมัน ภายใต้ชายคาของ Volkswagen ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ลดตำเเหน่งพนักงานถึง 9,500 คน ภายในปี 2025 ซึ่งคิดเป็นกว่า 10% พนักงานทั่วโลก โดยจะทำให้ประหยัดงบไปถึง 6 พันล้านยูโร ( เกือบ2เเสนล้านบาท) เพื่อนำไปพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเเละโครงการแห่งอนาคตเป็นหลัก

Audi ระบุว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปจึงต้องมีการปรับลดพนักงานในส่วนที่ไม่จำเป็น โดยจะเพิ่มการจ้างงานในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2,000 อัตรา เพื่อทำให้องค์กรคล่องตัวขึ้น ตามเป้าหมาย “become lean and fit for the future” อย่างไรก็ตาม บริษัทยืนยันว่าการลดจำนวนพนักงานครั้งนี้จะไม่มีการปลดออกกะทันหัน แต่จะเกิดขึ้นตามการหมุนเวียนของพนักงาน โดยจะมีทั้งการลาออกและการเกษียณก่อนกำหนด

เมื่อประหยัดงบได้กว่า 6 พันล้านยูโรเเล้ว การลงทุนในโครงการแห่งอนาคตที่จะให้ความสำคัญในอีก 10 ปีต่อจากนี้ก็คือ เทคโนโลยีดิจิทัลและรถยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบัน Audi มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่น e-Tron ซึ่งใช้พนักงานในการประกอบน้อยกว่ารถยนต์พลังงานปกติที่มีหลายชิ้นส่วนมากกว่า

นอกจากนี้ยังจะไปลงทุนกับการปรับปรุงโรงงานที่เมือง Neckarsulm และ Ingolstadt ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เพื่อผลิตรถยนต์รวมกัน 675,000 คันต่อปี

Volkswagen ยังเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์หรูชื่อดัง เช่น Porsche, Bugatti, Skoda และ Lamborghini โดยได้ลงทุนหลายสิบล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนารถแบบไฮบริดที่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ เเละมีแผนจะเปิดตัวโมเดลใหม่ 70 แบบภายในปี 2028

ค่ายรถยนต์ทั่วโลกต่างพยายามปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังชะลอตัว รวมไปถึงในจีนเเละยุโรป ซึ่งมีการกดดันจากนโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะถูกนำมาใช้เเทนรถยนต์เเบบเดิมที่ใช้น้ำมันเบนซินเเละดีเซล

เเต่การเปลี่ยนเเปลงนี้ ต้องใช้ทุนจำนวนมหาศาล ค่ายรถยนต์จำเป็นต้องหาพันธมิตร โดยเมื่อเดือนที่แล้ว Fiat Chrysler ได้ประกาศควบรวมกิจการกับ Groupe PSA ซึ่งมีรถเเบรนด์ดังอย่าง Peugeot อีกทั้ง BMW และ Daimler ก็ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับ รวมไปถึง Honda และ General Motors (GM) ก็ร่วมมือพัฒนารถยนต์ไร้คนขับเช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางยอดขายรถยนต์ตกต่ำ เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังชะลอตัวลงเเละมีเเนวโน้มจะเลวร้ายลงอีก โดย Fitch Ratings ประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะลดลงราว 3.1 ล้านคันในปีนี้ ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำกว่าปี 2008 ที่ตอนนั้นโลกเผชิญกับวิกฤตทางการเงิน

 

ที่มา : CNN , theguardian

]]>
1255125