ช้อปปิ้ง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 28 Aug 2024 13:11:56 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 NIQ เจาะลึกพฤติกรรมนักช้อป “Gen Z” คนรุ่นใหม่จะซื้ออะไรทีต้อง “หาข้อมูล” ก่อนเสมอ https://positioningmag.com/1487750 Wed, 28 Aug 2024 09:57:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1487750 NIQ เจาะพฤติกรรมผู้บริโภค “Gen Z” เจนเนอเรชันที่กำลังจะเป็นผู้มีกำลังซื้อหลักของโลกในอีก 7 ปีข้างหน้า สิ่งที่โดดเด่นของคนรุ่นนี้ คือ ต้องการ “หาข้อมูล” สินค้าก่อนตัดสินใจซื้อเสมอ และเปลี่ยนใจจากแบรนด์ง่าย พร้อมเปิดรับลองแบรนด์ใหม่ๆ

บริษัทวิจัยผู้บริโภค “NielsenIQ” (NIQ) จัดทำรายงาน “NIQ Spend Z” ศึกษากลุ่มผู้บริโภค “Gen Z” จากทั่วโลก โดยนิยาม Gen Z ในที่นี้คือผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1997-2012 (ปัจจุบันอายุ 12-27 ปี)

การวิจัยจำนวนประชากรพบว่า Gen Z กำลังจะมีบทบาทสำคัญที่สุดในโลกภายในปี 2030 เพราะจะกลายเป็นเจนเนอเรชันที่มีกำลังซื้อสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 23.2% ของการใช้จ่ายรวมทุกเจนเนอเรชัน แซงหน้า Gen X และ Gen Y ซึ่งมีบทบาทสูงสุดอยู่ขณะนี้

หากตีกรอบลงมาเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Gen Z จะมีบทบาทสูงสุดภายในปี 2034 เพราะจะกลายเป็นผู้สนับสนุนการใช้จ่ายหลักของครัวเรือน และสร้างการใช้จ่ายมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนประเทศไทยนั้น NIQ คาดว่า Gen Z จะมีบทบาทสูงสุดในปี 2037 ขึ้นมามีบทบาทสำคัญช้ากว่าค่าเฉลี่ยโลกเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม แบรนด์ควรเตรียมตัวได้ตั้งแต่ตอนนี้เพราะ Gen Z มีลักษณะเฉพาะที่สร้างอิทธิพลต่อคนเจนเนอเรชันอื่นในการตัดสินใจซื้อ

Low section of woman with shopping bags walking in rush

 

5 เทรนด์ช้อปปิ้งแบบคน Gen Z

NIQ มีการสรุปเทรนด์พฤติกรรมช้อปปิ้งของผู้บริโภค Gen Z จากรายงานดังกล่าว โดยพบว่าเป็นพฤติกรรมร่วมทั้งระดับโลกและ Gen Z ในไทยด้วย ดังนี้

1.ก่อนซื้อต้อง “หาข้อมูล” และเลือกเชื่อเพื่อน+อินฟลูเอนเซอร์

Gen Z โดดเด่นมากเรื่อง “หาข้อมูล” ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะ Gen Z ชาวไทย 86% ตอบว่าตนจะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนซื้อสินค้า ข้อมูลที่ว่าคือดูทั้งรีวิวการใช้งาน ชื่อเสียงของแบรนด์ และเทียบราคาด้วย

ส่วนแหล่งที่ใช้หาข้อมูลพบว่า 71% เลือกฟังคำแนะนำจากอินฟลูเอนเซอร์และกลุ่มเพื่อน โดยอินฟลูเอนเซอร์ที่ Gen Z จะเชื่อมักจะมีลักษณะเป็นคนทั่วไป ให้ความรู้สึกเหมือนเพื่อน มากกว่าคนดัง/เซเลบระดับประเทศ

นอกจากจะหาข้อมูลจากคนอื่นแล้ว Gen Z ยังเป็นกลุ่มที่ชอบ “รีวิว” สินค้าด้วย ทำให้เป็นเจนเนอเรชันที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนอื่นในสังคม

Gen Z นักช้อป

2.ชอบลองของใหม่ แบรนด์ใหม่เข้าถึงง่ายขึ้น

อีกคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นของ Gen Z คือ ชอบลองของใหม่ สินค้าใหม่และแบรนด์ใหม่จึงมีโอกาสเข้าถึงง่ายกว่า โดยรายงานชิ้นนี้พบว่า 71% ของ Gen Z ชาวไทยยินดีเปลี่ยนแบรนด์ถ้าราคาดีกว่า

เทรนด์นี้ยังทำให้สินค้าประเภท ‘Private Label’ ของห้างสรรพสินค้าต่างๆ มียอดขายที่ดีขึ้น เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่ติดแบรนด์น้อยลง หากคุณสมบัติเป็นที่น่าพอใจ ค้นหาข้อมูลแล้วน่าสนใจ ก็จะลองใช้

Gen Z นักช้อป

3.Omnichannel ซื้อออนไลน์ผสมหน้าร้านอย่างละครึ่ง

Gen Z เป็นเจนเนอเรชันที่โตมากับดิจิทัลก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะช้อปออนไลน์ตลอดเวลา งานวิจัยนี้พบว่าการช้อปออนไลน์กับหน้าร้านของคนเจนเนอเรชันนี้แบ่งครึ่งๆ 50:50 เพราะสินค้าหลายอย่างก็ยังต้องการการจับ ลอง สัมผัสก่อนซื้อ เช่น เครื่องสำอาง

อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไปว่าคน Gen Z ต้องหาข้อมูลก่อน แม้ว่าจะไปยืนเลือกสินค้าหน้าร้าน พวกเขาก็จะยังหยิบสมาร์ทโฟนมาเสิร์ชหาข้อมูลหรือแชตไปถามเพื่อนก่อนจะตัดสินใจเสมอ ดังนั้น แบรนด์ต้องมีข้อมูลและรีวิวให้พวกเขาค้นหาได้ ไม่ว่าจะวางขายผ่านช่องทางไหน

4.ไม่แยกบ้าน เป็นแหล่งข้อมูลสินค้าให้คนในบ้าน

คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะแยกครัวเรือนช้ากว่าคนรุ่นก่อนหน้าด้วย ทำให้พวกเขามีแนวโน้มจะเป็นแหล่งข้อมูลให้คนในบ้านว่าสินค้าตัวไหนกำลังมาแรง น่าสนใจ น่าซื้อ แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ซื้อหลักก็ตาม แบรนด์จึงมองข้าม Gen Z ไม่ได้

5.ลอยัลตี้ต่ำ แต่ถ้าได้มาจะดีมาก

คนรุ่นนี้ชอบลองของใหม่ ความภักดีต่อแบรนด์ต่ำ แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ หากแบรนด์สามารถดึง Gen Z มาเป็นลูกค้าประจำได้แล้ว มีแนวโน้มที่พวกเขาจะเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์ด้วย เพราะเป็นเจนเนอเรชันที่ชอบการรีวิวและบอกต่อ

 

อยากเป็นแบรนด์ในใจ Gen Z ต้องทำอย่างไร

หากต้องการเป็นแบรนด์ในใจของ Gen Z มี 4 หัวข้อที่ต้องคำนึงถึงว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขามองหาในฐานะแบรนด์ ได้แก่

  • Authentic – แบรนด์ต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่สร้างภาพ หากคนรุ่นนี้มองว่าแบรนด์ไม่จริงใจก็จะเริ่มถอยห่างออกมา
  • Sense of Belongings – คนรุ่นนี้ต้องการเข้ากลุ่มของตัวเองซึ่งมีแยกย่อยหลากหลายมากๆ ซึ่งทำให้วัฒนธรรม ‘แฟนด้อม’ ได้ผลสูงกับคน Gen Z
  • Diversity – ขณะเดียวกันก็รักในความหลากหลายและเท่าเทียมกันด้วย Gen Z ถือเป็นเจนเนอเรชันที่นิยามตัวเองเป็น LGBTQ+ มากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ และแนวโน้มจะไม่นับถือศาสนาหรือเลือกศาสนาเอง ไม่ยึดถือตามครอบครัวมากขึ้น
  • Physical and Mental Health – เป็นคนรุ่นที่หันมาสนใจสุขภาพกายและสุขภาพจิตเร็วกว่ารุ่นอื่นๆ การวิจัยพบว่า 52% ของคน Gen Z มองหาวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพในสินค้าต่างๆ และ 40% มองหาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สรุปแล้วแบรนด์ที่ต้องการได้ใจ Gen Z ต้องคำนึงถึงหลายด้าน สร้างแบรนด์ที่จริงใจและพูดภาษาเดียวกับพวกเขา มีข้อมูลรีวิวให้ค้นหา และทำราคาให้เหมาะสม เพราะพวกเขาจะชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าเสมอในทุกการตัดสินใจซื้อ!

]]>
1487750
คนไทย “ช้อปปิ้ง” ช่องทางไหน? https://positioningmag.com/1481480 Fri, 05 Jul 2024 06:18:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481480 KPMG สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก 14 ประเทศ จำนวน 7,000 คน (ครึ่งหนึ่งของผู้ถูกสำรวจเป็น Gen Z วัย 18-24 ปี)

โดย “คนไทย” เป็นหนึ่งในนักช้อปที่ถูกสำรวจ มีข้อมูลที่น่าสนใจของนักช้อปไทย จากการสำรวจนี้พบว่า คนไทยเปลี่ยนมาช้อปแบบ Omnichannel เป็นหลัก และช่องทางออนไลน์ที่นิยมที่สุดยังเป็นกลุ่ม “มาร์เก็ตเพลส” อย่าง Shopee , Lazada

นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไทยชอบ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” มากขึ้น 24% ของคนไทยชอบดู “ไลฟ์ขายของ” ทำให้ช่องทางโซเชียลที่ขายของได้ เช่น Facebook, Instagram, TikTok มาแรงมากในยุคนี้

]]>
1481480
แคมเปญ 11.11 ใน ‘จีน’ เริ่มหมดมนต์ขลัง หลังนักช้อปมอง ‘ราคา’ ไม่ต่างจากปกติ https://positioningmag.com/1451477 Mon, 13 Nov 2023 02:43:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1451477 เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้อะไรติดไม้ติดมือบ้างในวันที่ 11.11 ที่ผ่านมา เพราะถือเป็นวันที่เหล่านักช้อปน่าจะรู้ดีว่าเป็นวันที่เหล่าอีคอมเมิร์ซจัดแคมเปญใหญ่แห่งปี อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิด วันคนโสด อย่าง จีน จะไม่ปังเหมือนที่ผ่านมา เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

แคมเปญ 11.11 หรือ วันคนโสด ที่จะโดย อาลีบาบา อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ที่ริเริ่มแคมเปญดังกล่าวในปี 2552 โดยในปีที่ผ่านมา แคมเปญ 11.11 ของอาลีบาบาทำเงินไปกว่า 1.1 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.53 แสนล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ Bain บริษัทที่ปรึกษา

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของ Bain ในปีนี้พบว่า มีผู้บริโภคถึง 77% ระบุว่า พวกเขาไม่ได้วางแผนที่จะใช้จ่ายมากกว่าปกติในช่วงงานลดราคา นอกจากนี้ หลายคนมองว่า ดีล 11.11 ในปีนี้ไม่ดีเหมือนในอดีต และบางเว็บไซต์ก็ ขึ้นราคาไว้ล่วงหน้าเพียงเพื่อลดราคา ในช่วงแคมเปญ

“ราคามันไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับวันอื่นๆ ฉันก็เลยไม่ได้ซื้ออะไร เราจะประหยัดได้นิดหน่อยเพราะว่าเราหาเงินได้น้อยลง” กวน หย่งห่าว ผู้บริโภควัย 21 ปี กล่าว

“ทุกวันนี้ ผู้คนบริโภคน้อยลง ผู้คนไม่มีความปรารถนาที่จะซื้อของมากมายมากนัก โดยคนรอบข้างหลายคนเลือกซื้อแต่ของจำเป็นในชีวิตประจำวันแทน” จาง ชูเหวิน นักศึกษาวัย 23 ปี กล่าว

Jacob Cooke ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ WPIC Marketing + Technologies บริษัทที่ปรึกษาอีคอมเมิร์ซในกรุงปักกิ่ง บอกกับ AFP ว่า วันคนโสดสูญเสียความน่าดึงดูดไปแล้ว เนื่องจากมีรูปแบบการช้อปปิ้งใหม่ ๆ เช่น Live Streaming รวมถึงการ แคมเปญย่อย ๆ ที่มีทุกเดือน นอกจากนี้ ในอดีตแคมเปญ 11.11 จะมีเพียง 1-2 วัน แต่ในปีนี้ บางแพลตฟอร์มใแคมเปญตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ อาลีบาบา และ JD.com ต่างไม่เปิดเผยยอดขายในช่วงแคมเปญ 11.11 โดยระบุเพียงว่า ยอดขายกลับทรงตัวจากปีก่อน โดยยอดขายที่ชะลอตัวเกิดขึ้นหลังจากที่ทางการจีนประกาศว่า จีนกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในเดือนตุลาคม

Source

]]>
1451477
บัตรเครดิตฟื้นตัวปลายปี ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ เร่งดันยอดใช้จ่าย ปล่อยสินเชื่อกลุ่มฟรีเเลนซ์ https://positioningmag.com/1361690 Thu, 11 Nov 2021 16:13:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1361690 สัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์-เปิดประเทศ หนุน ‘ตลาดบัตรเครดิต’ ฟื้นตัวรับโค้งสุดท้ายของปี คนเริ่มใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยว จองโรงเเรมมากขึ้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าทั้งปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเเตะ 2.85 แสนล้าน ลูกค้าใหม่ 3.5 แสนราย รุกปล่อยสินเชื่อออนไลน์จับกลุ่มฟรีเเลนซ์ เน้นใช้ดาต้าทำการตลาด พัฒนานวัตกรรม-เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ดึงลูกค้า 

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ที่ตามปกติเเล้วจะมีการใช้จ่ายมากกว่าช่วงอื่นๆ โดยนโยบายคลายล็อกดาวน์เเละการเปิดประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในทุกหมวด ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะดีขึ้นโดยเฉพาะหมวดช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ท่องเที่ยว และโรงแรม

ปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ผ่านดาต้า

สำหรับ ‘ตลาดสินเชื่อ’ ในไตรมาสสุดท้ายนี้ ก็มีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งมีเทรนด์ที่น่าสนใจคือ สถาบันการเงินทั้งหลายหันมาปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการใช้ ‘ข้อมูลทางเลือก’ ในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อกันมากขึ้น

สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 รวมทั้งต้องการความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ และช่วยตอบสนองความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ 

ช้อปออนไลน์เเรงต่อเนื่อง คนเริ่มกลับมาท่องเที่ยว 

โดยธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้ง บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิต โลตัส วีซ่า มีผลประกอบการตั้งแต่เดือนมกราคมกันยายน 2564 เติบโตต่อเนื่อง โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 199,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 54,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 128,000 ล้านบาท

หมวดใช้จ่ายที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+62%)
2.ประกันภัย (+15%)
3.
ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%)
4.
ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+7%)
5. ร้านสะดวกซื้อ (+6%) 

หากพิจารณาแนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรในเครือของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ พบว่า ยอดใช้จ่ายหมวดช้อปออนไลน์ เดลิเวอรี่ ประกันภัยออนไลน์ จะเติบโตสูง ขณะที่หมวดใช้จ่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ของใช้ในบ้าน ยาและสุขภาพ ยังคงมียอดใช้จ่ายต่อเนื่อง

“ส่วนหมวดท่องเที่ยว เดินทาง และร้านอาหารยังคงได้รับผลกระทบในเชิงลบ เเต่จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกหลังคลายล็อกดาวน์ในยอดใช้จ่ายโดยการจองตรงกับโรงแรมในบางจังหวัดท่องเที่ยว” 

ฟีเจอร์ใหม่ดึงดูดลูกค้า 

เมื่อผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัว กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีการปรับกลุยทธ์เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น พร้อมการนำเอานนวัตกรรมใหม่ ๆ มายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ

ทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาบริการใหม่ในแอปพลิเคชัน UCHOOSE อย่าง

  • U Cash บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอป โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหรือพร้อมเพย์
  • UCard บริการรับสมัครบัตรใหม่ผ่านทางแอป
  • UMall นำเสนอดีลพิเศษสำหรับสินค้าจากพันธมิตรของบริษัท
  • การเปิดช่องทางบริการใหม่ทาง Krungsri Consumer Line OA และ Facebook
  • การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บัตร Krungsri NOW บัตรเครดิตสำหรับชีวิตดิจิทัลที่มอบเครดิตเงินคืน 5% สำหรับการใช้จ่ายออนไลน์
  • บริการยืนยันตัวตนด้วยเสียง พัฒนา AI มะนาว ที่ให้บริการลูกค้าไปเเล้วกว่า 3.2 ล้านสาย เเละบริการสอบถามข้อมูลบัญชีบัตรผ่านทาง FB Messenger
  • บริการ ‘เเตะเพื่อจ่าย’ อำนวยความสะดวกในการใช้บัตร 

อ่านเพิ่มเติม : เทรนด์ Virtual Card มาเเรง กรุงศรี ส่ง ‘บัตร NOW’ จับใจคนรุ่นใหม่ กระตุ้นใช้จ่ายด้วย ‘เเคชเเบ็ก’

ขยายต่ออาเซียน 

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังจะผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี กรุ๊ปและพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด พร้อมกับหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ รวมทั้งขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และล่าสุดที่เวียดนาม “โดยจะมีการปรับเเผนผ่อนชำระเพิ่มเติม รุกธุรกิจคาร์ฟอร์เเคช สินเชื่อรถยนต์” 

การดำเนินงานจะควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม และการดูแลช่วยเหลือลูกค้าและพนักงานที่ได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือ 7,000 ล้านบาท กว่า 1 แสนราย

“จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างๆ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ คาดว่าทั้งปี 2564 จะหนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 2.85 แสนล้านบาท เติบโต 3%  ยอดสินเชื่อใหม่ 76,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อคงค้าง 142,000 ล้านบาท” 

 

]]>
1361690
‘เซี่ยงไฮ้’ หนุนเปิดร้าน ‘ดิวตี้ฟรี’ ดันเศรษฐกิจปลอดภาษี กระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภค https://positioningmag.com/1352482 Sat, 18 Sep 2021 08:52:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352482 เซี่ยงไฮ้ ประกาศสนับสนุนบริษัทต่างๆ ให้ยื่นขออนุมัติขายสินค้าดิวตี้ฟรี’  เเละเปิดร้านค้าปลอดภาษีที่สนามบิน โรงแรม ห้างสรรพสินค้าเเละพื้นที่พาณิชย์ต่างๆ

โดยเป็นส่วนหนึ่งของเเผนการบริโภค ในปี 2021-2025 ที่รัฐบาลท้องถิ่นของเซี่ยงไฮ้จะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจปลอดภาษี (duty-free economy) เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้านำเข้าเเละสินค้าหรูที่มีการเก็บภาษีหนัก

ปัจจุบัน การใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดภาษีในจีน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในมณฑลไห่หนานซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้จำกัดการใช้จ่ายที่ยกเว้นภาษีบุคคลไม่เกินปีละ 100,000 หยวน (ราว 5.1 เเสนบาท) เพิ่มขึ้นจากเดิม 30,000 หยวน (ราว 1.5 เเสนบาท)

จีนมีการเก็บภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าจากต่างประเทศ ในอัตราแตกต่างกัน เช่น บรรดาสินค้าหรู อย่างน้ำหอม นาฬิกา ก็มีการเก็บภาษีเกินกว่า 30%

การเก็บภาษีที่สูงมากนี้ ทำให้ชาวจีนหลายล้านคน เลือกจะเเห่กันมาช้อปปิ้งสินค้าดิวตี้ฟรีที่ห้างในมณฑลไห่หนานเเทน เเละยิ่งเจอวิกฤตโควิด-19 ที่เดินทางไปต่างประเทศลำบาก นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก ก็ยิ่งพากันมาซื้อของที่ไห่หนานมากขึ้น

China Daily รายงานมูลค่ายอดขายดิวตี้ฟรีบนเกาะไห่หนาน รอบวันที่ 1 มิถุนายน 2020 ถึง 31 พฤษภาคม 2021 แตะ 4.55 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 2.22 แสนล้านบาท) เติบโตขึ้นถึง 236% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในจีนมีร้านค้าปลอดภาษีกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ขายสินค้าหลากหลายตั้งแต่น้ำหอม เครื่องสำอาง ไปจนถึงเสื้อผ้าและรองเท้า โดยมีบริษัทใหญ่อย่าง China Tourism Group ครองเจ้าตลาดอยู่ ด้วยร้านค้าปลอดภาษีเกือบ 200 สาขา ทั้งนี้ ในตลาดรวมยอดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าดิวตี้ฟรีของจีน มีมูลค่าสูงหลายหมื่นล้านหยวนต่อปี

 

ที่มา : Reuters , texasnewstoday

]]>
1352482
‘ร้อยเดียวก็แบ่งจ่ายได้’ Atome เขย่าไทย บริการ “ผ่อน 0%” ตั้งแต่เสื้อผ้ายันเครื่องสำอาง https://positioningmag.com/1350829 Wed, 08 Sep 2021 09:20:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1350829 “ผ่อน 0%” จะไม่ได้มีเฉพาะการซื้อสินค้าราคาสูง เช่น ทีวี ตู้เย็น อีกต่อไป เมื่อแอปฯ Atome (อะโทมี่) จากสิงคโปร์บุกไทย แค่ผูกบัตรเดบิต/เครดิตสามารถแบ่งจ่ายไร้ดอกเบี้ยได้ 3 เดือน ยอดซื้อขั้นต่ำ 100 บาทก็ใช้ได้ โดยมุ่งเป้ากลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น บิวตี้ ไลฟ์สไตล์ และท่องเที่ยว มีแบรนด์เป็นพันธมิตรแล้ว 36 ราย เช่น GQ, ALDO, Charles & Keith, EVEANDBOY, Agoda

วิธีชำระเงินแบบ Buy Now Pay Later (BNPL) หรือซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ในไทยอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะส่วนใหญ่ผูกติดอยู่กับโปรโมชันบัตรเครดิต และมักจะเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ราคาสูงเท่านั้นที่มีโปรฯ ให้ใช้

แต่ตลาดอาจจะเปลี่ยนไปเมื่อ Atome (อะโทมี่) แพลตฟอร์มชำระเงินจากสิงคโปร์บุกไทย บริการของ Atome คือ ให้ลูกค้าผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตกับแอปพลิเคชัน จากนั้นนำแอปฯ ไปใช้ซื้อสินค้ากับร้านค้าพันธมิตรได้ทั้งหน้าร้านและออนไลน์ ลูกค้าสามารถแบ่งชำระเงินบิลนั้นเป็น 3 งวด 3 เดือน โดยคิดดอกเบี้ย 0% และไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ

โดยฝั่งที่จะเสียค่าบริการคือร้านค้า จะถูกคิดค่าธรรมเนียมจากการทำรายการชำระเงิน แต่ร้านค้าจะได้รับชำระเงินเต็มทันที

Atome เปรียบเทียบว่า บริการของตนนั้นเหนือกว่าบัตรเครดิตเพราะถ้าหากลูกค้า ‘เบี้ยวหนี้’ จะไม่มีการคิดดอกเบี้ย (เทียบกับบัตรเครดิตดอกเบี้ยผิดนัดชำระสูงถึง 16-18%) แต่ยังมีค่าปรับการผิดนัดชำระที่ 0.53% ของยอดหนี้ และลูกค้าแต่ละรายมีโอกาสผิดนัดชำระไม่เกิน 2 ครั้ง จากนั้นจะถูกระงับออกจากระบบ

 

เน้น ‘สายแฟ’ และ ‘บิวตี้’ ของราคา 2-3 พันบาท

“ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล” ผู้จัดการทั่วไป Atome ประเทศไทย อธิบายที่มาของแอปฯ มีการเปิดตัวแห่งแรกในสิงคโปร์ อยู่ภายใต้เครือสตาร์ทอัพ Advance Intelligence Group ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพระดับ Series C ที่มีเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและ e-KYC เป็นฐานประเมินความเสี่ยงเป็นหนี้เสียของลูกค้าให้กับ Atome

ปัจจุบันแอปฯ ขยายตัวไปแล้ว 9 ประเทศแถบเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ฯลฯ จุดมุ่งเน้นหลักจะเป็นสินค้าหมวดแฟชั่น บิวตี้ ไลฟ์สไตล์ และอีคอมเมิร์ซ โดยรวมทุกประเทศที่ไปปักหมุด มีพันธมิตรแบรนด์ค้าปลีกแล้ว 5,000 แบรนด์ มีฐานบัญชี 20 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายผ่านแอปฯ สะสม 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการเข้ามาบุกไทย ขณะนี้มีพันธมิตรแล้ว 36 รายใน 4 หมวดคือ แฟชั่น บิวตี้ ไลฟ์สไตล์ และท่องเที่ยว (ดูรายชื่อแบรนด์ได้ในภาพด้านล่าง) โดยอนาคตจะเร่งขยายพันธมิตรให้ครอบคลุมกว่านี้

ภูมิพงษ์กล่าวว่า Atome มีขั้นต่ำการใช้จ่ายที่แบ่งชำระได้แค่ 100 บาทเท่านั้น ทำให้ครอบคลุมสินค้าทุกชิ้นแน่นอน ส่วนวงเงินสูงสุด ถ้าลูกค้าผูกกับบัตรเดบิตจะได้วงเงิน 10,000 บาท ถ้าผูกบัตรเครดิตได้วงเงิน 20,000 บาท แต่หลังจากนี้ เมื่อบริษัทมีดาต้าลูกค้ามากพอ จะมีการให้ credit score ลูกค้าเพื่อเพิ่มวงเงินได้เป็นรายๆ ไป

เขายังเปิดเผยด้วยว่า เท่าที่เคยให้บริการมา ลูกค้ามักจะซื้อของเฉลี่ย 70 เหรียญสหรัฐต่อบิล หรือประมาณ 2,000-3,000 บาท เห็นได้ชัดว่าสินค้าที่ผ่อนชำระไม่จำเป็นต้องเป็นเงินก้อนใหญ่ ตรงกับเป้าหมายสินค้าแฟชั่นและบิวตี้

 

เจาะช่องว่างคนถือ “บัตรเดบิต”

ตลาดที่ Atome เล็งเห็นนั้นคือผู้ถือบัตรทั้งหลายซึ่งจะนำมาผูกกับแอปฯ นอกจากบัตรเครดิตแล้ว ตลาดที่สนใจอย่างมากคือผู้ถือ “บัตรเดบิต”

ภูมิพงษ์กล่าวว่า ในประเทศไทยมีการใช้บัตรเครดิต 24 ล้านใบ แต่โดยเฉลี่ยแล้ว 1 คนจะมีบัตรเครดิต 3 ใบ ทำให้จริงๆ แล้วมีคนที่เข้าถึงบัตรเครดิตแค่ 7-8 ล้านคนเท่านั้น

Photo : Shutterstock

เทียบกันแล้ว ผู้ถือบัตรเดบิตมีมากกว่า 3 เท่า หรือเท่ากับมากกว่า 20 ล้านคนที่มีบัตรเดบิต เป็นเป้าหมายของแอปฯ นี้ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้โปรโมชันดีๆ เหมือนบัตรเครดิต ทั้งที่หลายคนมีกำลังซื้อ โดยเฉพาะคนวัย 18-30 ปี ที่ยุคนี้หันมาเป็นฟรีแลนซ์ ยูทูปเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ มากขึ้น กลุ่มนี้จะเข้าไม่ถึงบัตรเครดิตและถือบัตรเดบิตกันมากกว่า

 

เพิ่มขนาดตะกร้าให้ร้านค้า 30%

ตัดภาพมาที่ฝั่งร้านค้า ในเมื่อแอปฯ จะเก็บค่าธรรมเนียมกับร้านแล้วทำไมร้านต้องเป็นพันธมิตร? ภูมิพงษ์อธิบายจากสถิติที่เก็บมา ร้านค้าจะได้ประโยชน์ 3 อย่างจาก Atome คือ

1.ลูกค้าเพิ่ม ‘basket size’ ในการช้อปประมาณ 30% เพราะผลจากการแบ่งจ่ายได้ทำให้ลูกค้าสบายใจขึ้นที่จะจับจ่าย เป็นผลดีกับร้านค้า

2.โอกาสเปลี่ยนยอดเข้าชมเป็นยอดขาย (conversion rate) สูงขึ้น เพราะการมีตัวเลือกแบ่งชำระ 3 เดือนทำให้ลูกค้าตัดสินใจง่าย

3.แอปฯ มีการเก็บบิ๊กดาต้าของพฤติกรรมลูกค้าไว้ให้แบรนด์ สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ใช้งานทำการตลาดเพิ่มได้

 

อุปสรรค : คนไทยไม่รู้จัก BNPL

ข้อมูลจาก Worldpay from FIS ระบุว่า การชำระเงินแบบ Buy Now Pay Later จะเติบโต 43% ต่อปีไปจนถึงปี 2024 เป็นหนึ่งในวิธีชำระเงินที่โตเร็วที่สุด แต่สำหรับในไทย วิธีชำระเงิน BNPL ยังไม่ค่อยคุ้นหู

“ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล” ผู้จัดการทั่วไป Atome ประเทศไทย

ภูมิพงษ์มองว่าสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ทำให้บริษัทต้องสร้างการรับรู้ทั้งวิธีชำระเงินและแบรนด์ของตนเองในไทย โดยจะลงทุนด้านการตลาดสูง ทั้งนี้ จะเริ่มทุ่มการตลาดเมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายมากกว่านี้ และค้าปลีกไทยเริ่มฟื้นตัว

ส่วนคู่แข่งในไทย ระบุว่ายังไม่มีคู่แข่งโดยตรง Atome น่าจะเป็นรายแรกๆ ที่เปิดตัวเป็นช่องทางชำระ BNPL ผ่านแอปฯ แต่ในต่างประเทศล้วนมีคู่แข่งในตลาด ทำให้ต้องจับตามองเสมอว่าคู่แข่งจะเริ่มเข้ามาบุกไทยเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม การเข้ามาก่อนและมีพันธมิตรก่อนย่อมได้เปรียบ

Atome ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย คือภายในสิ้นปีนี้หวังมีผู้ใช้ถึง 200,000 คน และภายในสิ้นปี 2022 ต้องการมีผู้ใช้ทะลุ 2 ล้านคน!

]]>
1350829
Shopee เตรียมบุกตลาดอีคอมเมิร์ซ ‘ยุโรป’ เล็งเปิดตัวใน ‘โปแลนด์’ https://positioningmag.com/1350787 Wed, 08 Sep 2021 07:05:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1350787 อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่เเห่งอาเซียนอย่าง ‘Shopee’ (ช้อปปี้) เตรียมการสยายปีกบุกตลาดยุโรป เล็งเปิดตัวในโปเเลนด์ 

เเหล่งข่าวบอกกับ Reuters ว่า Shopee มีเเผนจะเปิดให้บริการในประเทศโปแลนด์เร็วนี้ๆ โดยกำลังอยู่ระหว่างเปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายขาย

Shopee เป็นเเบรนด์อีคอมเมิร์ซในเครือของ Sea Limited บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสิงคโปร์ ซึ่งมีบริการหลากหลาย ทั้งเกมออนไลน์อย่าง Garena เเละธุรกิจให้บริการทางการเงิน อย่าง AirPay, ShopeePay, SPayLater

การเปิดตัวของ Shopee ที่โปเเลนด์ จึงเป็นก้าวเเรกของการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซในยุโรป หลังจากเคยส่ง Garena มาบุกเบิกตลาดเกมเเล้ว ได้รับกระเเสตอบรับที่ดีมาก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Reuters เพิ่งรายงานข่าวว่า Shopee กำลังเตรียมจะเปิดตัวในอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกเเละมีการเเข่งขันสูง หลังจากที่ได้ทุ่มขยายธุรกิจในโซนละตินอเมริกา มาตั้งเเต่ช่วงต้นปี

นอกจากนี้ Shopee มีเเผนจะขยายธุรกิจไปทั่วโลก เพื่อทดสอบตลาดใหม่ๆ ที่มีเเนวโน้มจะเติบโตได้ โดยมีกระเเสข่าวว่าบริษัทกำลังจะเข้าไปเปิดบริการที่อาร์เจนตินาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ Shopee เป็นผู้เล่นหลักในตลาดอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคอาเซียน โดยมีรายได้ราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสล่าสุดที่สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.. 64

ขณะที่ Euromonitor ประเมินว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในโปแลนด์มีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านยูโร ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศตะวันตกอื่นๆ ที่มีเจ้าใหญ่อย่าง Amazon ครองตลาดอยู่

Amazon เองก็กำลังจะเปิดตัวที่โปแลนด์ในปีนี้ ส่วน Allegro อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของประเทศก็กำลังพัฒนาบริการของตัวเอง เพื่อรับคู่เเข่งรายใหม่ งานนี้การที่ Shopee จะบุกเข้าตลาดโปแลนด์ได้นั้นจึงไม่ง่ายนัก

ต้องรอดูว่าการปูทางขยายธุรกิจไปยังยุโรปเเละในหลายทวีปทั่วโลกครั้งนี้ของ Shopee จะเป็นอย่างไรต่อไป…

 

 

ที่มา : Reuters , Straitstimes , Techinasia 

]]> 1350787 ขนส่งสินค้าออนไลน์สะดุด ‘โควิด’ ชั่วคราว ตลาดยังโตได้ ต้องสู้ตัดราคา-เเบกต้นทุนมากขึ้น  https://positioningmag.com/1345391 Thu, 05 Aug 2021 10:00:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1345391 โควิดระบาดรุนเเรงบวกมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง กระทบภาคขนส่งสะเทือนธุรกิจขายของออนไลน์ KBANK มองเป็นปัญหาชั่วคราวต่อการจัดส่งสินค้า เเต่ภาพรวมตลาดปีนี้ ยังเติบโตได้ 7.1 หมื่นล้านเเต่จะโตน้อยลง ต้องสู้เเข่งตัดราคา-เเบกต้นทุนมากขึ้น 

ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ หรือ Last-mile delivery เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายตัวตามการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคกังวลในเรื่องของความปลอดภัยและงดทำกิจกรรมนอกบ้าน มีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและหันมาซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จึงหนุนให้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตตามไปด้วย

สะดุด เจอพนักงานติดโควิด 

เเต่จากการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น จนทำให้ปัจจุบันมีพนักงานขนส่งสินค้าออนไลน์ของหลายบริษัทและในหลายพื้นที่ติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี อยุธยา ชลบุรี ประกอบกับการขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกอย่างน้อย 14 วันในเดือนสิงหาคม 2564 (อาจมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนมาตรการอีกครั้ง) จนส่งผลให้ศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญในบางพื้นที่ รวมถึงสาขาที่รับ-ส่งสินค้าบางแห่ง ทั้งที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้าต้องปิดทำการชั่วคราว

“บางสาขาที่ยังคงเปิดให้บริการได้นั้น ก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ปลายทางที่นานขึ้นกว่าช่วงปกติ” 

เหล่านี้ ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์อาจได้รับผลกระทบและทำให้การจัดส่งสินค้าออนไลน์ติดขัดเป็นการชั่วคราว ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคาค่าขนส่งสินค้า

“ธุรกิจขนส่งในภาพรวมปีนี้ แม้คาดว่ารายได้จะยังคงเติบโต แต่ก็เผชิญความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ” 

shopping online

สินค้าอาหาร-ของสด กระทบหนักสุด

การจัดส่งสินค้าออนไลน์ในกลุ่มอาหาร (Food) น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เน่าเสียง่าย ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นที่คาดว่าผู้บริโภคน่าจะยังคงมีการวางแผนใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นในช่วงที่โควิดระบาด

แต่เมื่อขนส่งไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ หรือใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ รวมถึงยานพาหนะที่ใช้ในการจัดส่งสินค้ากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เอื้อต่อการจัดเก็บหรือควบคุมคุณภาพได้นาน สินค้ามีความเน่าเสียได้ง่าย จึงทำให้ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างมาก จนผู้ประกอบการบางราย บางพื้นที่ต้องงดรับการจัดส่งสินค้าในกลุ่มนี้เป็นการชั่วคราว

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน เนื่องจากยอดขายได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัว และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้

ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าว ก็อาจจะกระทบต่อการจัดส่งสินค้ากลุ่มนี้ในระดับที่น้อยกว่า หรือหากมีคำสั่งซื้อมองว่าผู้บริโภคบางรายก็อาจจะรอสินค้าได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เหตุการณ์ดังกล่าว น่าจะเป็นปัญหาชั่วคราว และจากการเร่งแก้ปัญหาและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ส่งผลให้สาขาในบางพื้นที่ที่ปิดทำการชั่วคราวเริ่มกลับมาเปิดทำการได้บ้าง แต่ยังคงต้องรอสินค้าที่นานกว่าช่วงปกติ

ขนส่งต้องสู้เเข่งตัดราคา-เเบกต้นทุนมากขึ้น 

ส่วนรายได้ของธุรกิจจัดส่งสินค้าออนไลน์ ในภาพรวมปี 2564 ยังคงขยายตัวได้จากการระบาดของโควิดที่ยังคงหนุนให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น แต่การเติบโตคาดว่าจะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักๆ มาจากการแข่งขันด้านราคาค่าส่งสินค้า อีกทั้งยังต้องเผชิญกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น

แม้ว่าการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งสินค้าให้หยุดชะงักลงเป็นการชั่วคราวในบางพื้นที่ แต่เนื่องจากผู้บริโภคยังคงกังวลกับการออกไปใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน การประกาศล็อกดาวน์ของภาครัฐ อีกทั้งผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ มีการอัดโปรโมชันกันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ 

“ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ในปัจจุบันที่แข่งขันกันรุนแรงจากจำนวนผู้เล่นในตลาดมากราย โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาค่าขนส่งของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต้องปรับตัวตาม และท้ายที่สุดหากผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถแบกรับหรือบริหารจัดการต้นทุนได้ ก็อาจจะเผชิญการแข่งขันที่ยากลำบากขึ้น” 

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แม้ว่ารายได้ของธุรกิจจัดส่งสินค้าออนไลน์ (Last-mile delivery) ในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 71,800 ล้านบาท ขยายตัว 19.0% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 31.3%

แต่หากพิจารณาในส่วนของต้นทุนในการบริหารจัดการคาดว่าน่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิดเพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและพนักงาน ต้นทุนจากการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น (ทดแทนพนักงานที่ติดโควิด และรองรับกับคำสั่งซื้อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น) 

รวมถึงต้นทุนในการบริหารจัดการเส้นทางการส่งสินค้าใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิมที่มีปัญหา ในขณะที่ต้องลดราคาค่าขนส่งให้ถูกลง เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการบางรายยังคงประสบภาวะขาดทุน

เเนะลงทุนเพื่อความปลอดภัย ให้ลูกค้ามั่นใจสั่งของ 

การเติบโตของรายได้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ในภาพรวมที่อัตรา 2 หลัก อาจจะไม่ได้สะท้อนถึงผลประกอบการสุทธิที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการได้ทุกราย และเมื่อมองไปข้างหน้า ด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย ความเสี่ยงต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นได้ ก็น่าจะทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการโควิดของผู้ประกอบการยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยจากโรค การกระจายศูนย์กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงการให้บริการเรื่องของสินค้าที่ครบวงจร 

หากผู้บริโภคมีความกังวลและไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยจนทำให้มีการสำรองสินค้ามากขึ้นเพื่อลดจำนวนครั้งในการสั่งซื้อ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการจัดส่งที่น้อยลงและส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจตามมา

โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน เงินทุน และการปรับตัวที่ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์และพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ทัน ซึ่งน่าจะยังคงเผชิญความยากลำบากในการแข่งขัน

 

 

 

]]>
1345391
เพียง 3 เดือนเเรกของปีนี้ ยอดขาย ‘Hermes’ พุ่งเกือบ 44% คนรวยเอเชียทุ่มช้อปเเบรนด์หรู https://positioningmag.com/1329060 Fri, 23 Apr 2021 11:45:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1329060 ‘Hermes’ เเบรนด์เเฟชั่นหรูจากฝรั่งเศส เจ้าของกระเป๋า Birkin สุดโด่งดัง ทำยอดขายในไตรมาสแรกของปี 2021 เพิ่มขึ้นสูงถึงเกือบ 44% จากพลังช้อปของเหล่าคนรวยในเอเชีย โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน หลังมีการผ่อนคลายมาตรการสกัดโรคระบาดเเละกลับมาเปิดร้านค้าได้อีกครั้ง

ความนิยมซื้อของหรูของกลุ่มคนมั่งคั่ง ไม่เเผ่วลงในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยผลประกอบการของ Hermes ประจำไตรมาส 1/2021 เพิ่มขึ้น 43.7% ในอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จากปี 2020 โดยสามารถรายได้รวมถึง 2,083 ล้านยูโร (ราว 7.8 หมื่นล้านบาท) ในช่วงเเค่ 3 เดือนแรกของปีนี้เท่านั้น เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ว่าคาดจะเพิ่มขึ้น 24%

ปัจจัยที่ส่งเสริมรายได้ของ Hermes ในช่วงนี้ก็คือยอดขายในเอเชีย(ไม่รวมญี่ปุ่น) ที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึงถึง 93.6% เมื่อเทียบกับจากไตรมาสแรกของปี 2020 โดยเฉพาะยอดขายในจีน ที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว บวกกับยอดขายที่ทรงตัวในเกาหลีใต้ ไทย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย 

ญี่ปุ่นยังเป็นตลาดสำคัญที่เติบโตได้ดีของ Hermes โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 20% ส่วนยอดขายฝั่งอเมริกาก็เพิ่มขึ้นกว่า 24% ช่วยชดเชยยอดขายที่ลดลงในตลาดยุโรป ที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 4.4% เพราะยังต้องเผชิญกับการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาระลอกใหม่

โดยสินค้าขายดีที่สุดของเเบรนด์ Hermes เป็นกลุ่มเครื่องหนัง , เสื้อผ้า Ready-to-Wear และผ้าไหม 

Eric du Halgouët ผู้บริหารระดับสูงของ Hermes ยืนยันว่า การเติบโตของยอดขายในไตรมาสดังกล่าวไม่ใช่แรงหนุนจาก ‘ราคาที่เเพงขึ้นเพราะบริษัทมีการปรับราคาขึ้นเพียง 1.4%ในปีนี้

ยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น 100% หรือมากกว่านั้นในทุกภูมิภาค และมีแนวโน้มที่จะเกิน 1 พันล้านยูโรในไม่ช้า

ยอดขายที่เพิ่มขึ้นของแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์ต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณการกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งของกลุ่มสินค้าลักชัวรี โดยคู่แข่งอย่าง LVMH และ Kering ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในวิกฤตนี้ เช่นในญี่ปุ่นที่ COVID-19 กำลังกลับมาระบาดรุนเเรงอีกครั้ง

 

 

ที่มา : Reuters , wwd 

]]>
1329060
Levi’s เพิ่มคาดการณ์รายได้ครึ่งปีแรก โต 25% กระจายวัคซีนเร็ว กระตุ้นคนมาช้อปปิ้งที่ร้าน https://positioningmag.com/1327604 Fri, 09 Apr 2021 17:31:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327604 Levi Strauss & Co เเบรนด์ยีนส์รายใหญ่ของโลก ปรับคาดการณ์รายได้ในช่วงครึ่งปีเเรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 25% จากก่อนหน้านี้ตั้งเป้าไว้ที่ 20% หลังการกระจายวัคซีนเร็วกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เเละยุโรป

Chip Bergh ซีอีโอของ Levi เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการฉีดวัคซีนทั่วโลก เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทปรับคาดการณ์ยอดขายในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นเพราะผู้บริโภคเริ่มมั่นใจที่จะกลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง

โดยอัตราของลูกค้าที่เข้ามาซื้อของในร้านตามสาขาต่างๆ ในหลายประเทศ เริ่มกลับมาอยู่ในระดับปกติขณะเดียวกันยอดขายสินค้าทางออนไลน์ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประเมินว่าธุรกิจของ Levi จะเติบโตได้

เช่นเดียวกับเเบรนด์เครื่องเเต่งกายเจ้าอื่นอย่าง Nike และ Kohl’s Corp ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าจำนวนลูกค้าที่เข้าชมสินค้าภายในร้านกลับมาอยู่ในระดับปกติ เเม้ว่ายอดขายทางออนไลน์จะพุ่งสูงขึ้นท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดก็ตาม

ด้านผลประกอบการของ Levi ในไตรมาส 1/2021 มีรายได้อยู่ที่ 1.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ก็สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยสาเหตุที่รายได้ลดลงนั้น หลักๆ มาจากผลมาจากการปิดสาขาชั่วคราวในยุโรป ที่มีการเเพร่ระบาดของ COVID-19 หลายระลอก ส่วนรายได้ที่มาจากทางออนไลน์นั้นเพิ่มขึ้นถึง 41%

 

ที่มา : Reuters , CNBC

]]>
1327604