ศูนย์วิจัยกสิกรไทย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 27 Oct 2021 13:19:20 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คลายล็อกดาวน์เร็ว KBANK ปรับจีดีพี ปี64 เป็น 0.2% ปีหน้าโต 3.7% ระวังราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ https://positioningmag.com/1358836 Wed, 27 Oct 2021 12:19:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1358836
Photo : Shutterstock
KBANK ปรับเป้าตัวเลขจีดีพีไทยปีนี้ ‘ดีขึ้น’ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -0.5% มาเป็นบวก 0.2% หลังรัฐคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศเร็วขึ้น ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.5 แสนคน เป็น 1.8 แสนคน จับตาความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ กระทบค่าครองชีพ 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ให้ขยายตัวอยู่ที่ 0.2% จากเดิมที่ -0.5% หลักๆ มาจากอัตราการฉีดวัคซีนและการคลายล็อกดาวน์โควิด-19 ได้เร็วขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ ก็เห็นว่ายังมีการเบิกจ่ายเท่ากับปีงบประมาณปกติ

“การเปิดประเทศที่เร็วขึ้นนี้ ทำให้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.5 แสนคน มาเป็น 1.8 แสนคน”

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากน้ำท่วมและค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก รวมไปถึงความเสี่ยงที่การแพร่เชื้ออาจจะกลับมาหลังเปิดประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้คาดการณ์จีดีพีของปี 2564 เป็นไปอย่างจำกัด ในกรณีเลวร้ายหากมีการระบาดระลอกใหม่อีก ก็อาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของปี 2565 ด้วย

ราคาน้ำมันพุ่ง เพิ่มต้นทุนธุรกิจ กระทบค่าครองชีพ

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2564 กระทบต่อภาคเกษตรประมาณ 6-7 ล้านไร่ รวมถึงนอกภาคเกษตร อย่างภาคบริการและแรงงานรับจ้างรายวัน ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจหยุดชะงักลงบางพื้นที่ในกว่า 30 จังหวัด

เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า น้ำท่วมรอบดังกล่าวสร้างเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 0.16% ของ GDP น้อยกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2551, 2553 และ 2560 ที่ผ่านมา (รวมผลกระทบข้างต้นในประมาณการจีดีพีปี 2564 แล้ว)

ด้านผลกระทบต่อราคาน้ำมันสูงต่อธุรกิจในปี 2564 คาดว่า ในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลในระยะที่เหลือของปีนี้ อยู่ในช่วง 25.0-29.2 บาทต่อลิตร จะมีผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นประมาณ 0.55-0.73% และต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 0.33-0.44% หรือรวมกันธุรกิจจะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1% โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทยโดยตรง ได้เเก่ เหมืองเเร่ ประมง โลจิสติกส์ ค้าปลีกเเละค่าส่ง เป็นต้น

ราคาพลังงาน ประเด็นคอขวดภาคการผลิต และการคาดการณ์เงินเฟ้อ เป็นปัจจัยสําคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหลักเผชิญ แรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันชนิดอื่นๆ ปรับขึ้นแรงกว่าน้ำมันดีเซลที่ยังมีกลไกการดูแลราคาจากภาครัฐ รวมถึงการที่ต้นทุนอื่นๆ โน้มเพิ่มขึ้นในภาวะที่ยอดขายยังไม่กลับมา ก็ย่อมจะเพิ่มโจทย์การฟื้นตัวให้กับภาคธุรกิจ เเละยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อในปีหน้าด้วย

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับสูงขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำลังซื้อในประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคมีภาระค่าครองชีพสูงตามไปด้วย

จากผลสำรวจครัวเรือนไตรมาส 3/64 พบว่า ครัวเรือนไทยประมาณ 73% รายได้ปรับลดลง และส่วนใหญ่มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางรายได้ที่ลดลง ต้องเเบกภาระหนี้บ้าน รถยนต์ และบัตรเครดิต ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นได้กระทบต่อภาระค่าครองชีพของครัวเรือนหรือสถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนให้เปราะบางมากขึ้น

จับตาเงินเฟ้อ 

โดยรวมจีดีพีไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 จะขยายตัวเป็นบวก 3.6% เทียบจากไตรมาส 3 แต่หดตัว -0.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนไตรมาสที่ 3 นับเป็นจุดต่ำสุด โดยเทียบไตรมาสก่อนหน้าจะหดตัว -3% และหดตัว -4.4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ากลับมาฟื้นตัวได้ที่ 3.7% จากการที่ประชาชนได้รับวัคซีนเกินกว่า 70% ช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ลงและการดำเนินธุรกิจไม่หยุดชะงัก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การใช้จ่ายครัวเรือนที่ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และการกลับมาบริโภคหลังจากอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์ เเละคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2 ล้านคนในปีหน้า ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจะอยู่ที่ราคาพลังงานที่พุ่งสูงและเงินเฟ้อ

“มองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะ Stagflation โดยมองเงินเฟ้อในปี 2565 จะอยู่ที่ 1.6% บนเงื่อนไขที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้ยืนอยู่ในระดับสูงมากกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลายาวต่อเนื่อง”

โดยประเมินราคาน้ำมันน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปีนี้ และในไตรมาส 1/2565 จะในกรณีเลวร้ายที่ OPEC และสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตต่ำกว่าคาด ฤดูหนาวที่ยาวกว่าคาด และวิกฤตพลังงานในจีนยังไม่คลี่คลาย อาจปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อัตราเงินเฟ้อของไทย น่าจะยังอยู่ในกรอบ 1-3% ส่วนภาวะ Stagflation นั้นที่ผ่านมาเงินเฟ้อจะต้องเพิ่มขึ้นไปเป็นดับเบิลดิจิต ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นก็คงมีไม่มากนัก

ด้านค่าเงินบาท ส่วนที่เหลือของปีนี้ จะเริ่มเเข็งค่าขึ้นอยู่ในกรอบ 32.5-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเฉลี่ยที่ 32.75) ซึ่งปีหน้าคาดว่าค่าเงินบาทจะเเข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ เเต่ยังคงมีความไม่เเน่นอนสูง ซึ่งหากสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลายลงก็จะมีเเนวโน้มออ่อนค่าได้อีกในปีหน้า

]]>
1358836
จับตา ‘ค้าปลีก’ โค้งสุดท้ายปี 64 กลับมาฟื้นตัวเป็นบวก เเต่ผู้บริโภคยังระวังใช้จ่าย https://positioningmag.com/1356736 Fri, 15 Oct 2021 05:51:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1356736 ‘ค้าปลีก’ ส่งสัญญาณฟื้นตัวช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี รับคลายล็อกดาวน์ KBANK ประเมินเศรษฐกิจไทยผ่านจุดเเย่สุดของวิกฤตโควิดมาเเล้ว กลุ่มสินค้าจำเป็น ‘อาหาร-เครื่องดื่ม’ ฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนกลุ่ม ‘เสื้อผ้า-รองเท้า’ ยังหดตัวต่อเนื่อง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย แนะเร่งทำโปรโมชันด้านราคาจับโอกาสตลาดหลังเปิดประเทศ ธุรกิจต้องปรับตัวรับกำลังซื้อที่ไม่เเน่นอน 

เเนวโน้มค้าปลีก Q4 ฟื้นตัวเป็นบวก 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ถึง ‘ธุรกิจค้าปลีก’ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 ว่าจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ จากสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

โดยสถานการณ์การระบาดของโควิด และการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนที่เริ่มมีสัญญาณบวก จนทำให้ภาครัฐทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 ไม่ว่าจะเป็นแผนการเปิดประเทศเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว รวมทั้งสัญญาณความเป็นไปได้ในการกลับมาเปิดดำเนินกิจการของบางธุรกิจ เช่น สถานบันเทิง สะท้อนให้เห็น ถึงโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่น่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 มาแล้ว

เมื่อประกอบกับจังหวะการเร่งออกแคมเปญส่งเสริมการตลาดของภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งผลให้ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า

“ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 64 น่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวที่ประมาณ 1.4% โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น ช้อปดีมีคืน ในช่วงปลายปีไว้แล้วระดับหนึ่ง แต่หากภาครัฐมีการปรับหรือเพิ่มขนาดของมาตรการ ก็อาจจะทำให้ตัวเลขค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายขยับสูงขึ้นกว่าที่คาดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่หดตัว -1.2%”

การคลายมาตรการล็อกดาวน์ น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงเดือนธ.ค. ที่มีเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญอย่างเทศกาลปีใหม่ ซึ่งคาดว่าบรรยากาศของเทศกาลปีใหม่ในปีนี้ น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้วที่เกิดการระบาดคลัสเตอร์สมุทรสาคร

ในส่วนของผู้ประกอบการค้าปลีก ที่เน้นจำหน่ายสินค้าจำเป็น อย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว เช่น ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ห้างสรรพสินค้า (โดยเฉพาะในโซนร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ น่าจะทำยอดขายได้ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 64

อาหาร-เครื่องดื่มยังขายดี เสื้อผ้า-รองเท้า หดตัวต่อเนื่อง 

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผู้บริโภคยังคงกังวลกับความปลอดภัย และเผชิญกับกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้ยังคงเลือกใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าที่ยังมีความจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นอย่างเสื้อผ้า รองเท้า น่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่ายอดขายอาจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยในไตรมาส 4 ปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยอดขายทั้งปี 64 น่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อน

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เน้นจำหน่ายสินค้าจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า (โดยเฉพาะโซนร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ น่าจะทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น หรือกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มห้างสรรพสินค้า (โซนจำหน่ายสินค้าไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า) ร้านค้าเฉพาะอย่าง เช่น ร้านจำหน่ายสินค้าความงาม ร้านวัสดุก่อสร้าง และซ่อมแซมตกแต่งบ้าน (แม้ในบางพื้นที่อาจได้แรงหนุนบ้างจากการซ่อมแซมหลังผ่านอุทกภัย)

เร่งทำโปรโมชัน สู้ตลาดด้านราคา 

ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้บริโภคยังคงกังวลกับรายได้ และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการเร่งทำโปรโมชันการตลาดด้านราคาในช่วงเวลาดังกล่าว ที่เริ่มมีการเปิดประเทศภายหลังสถานการณ์โควิดส่งสัญญาณดีขึ้น

ควบคู่ไปกับการให้บริการลูกค้าที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และสร้างความประทับใจ รวมถึงผู้ประกอบการจะต้องมีการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อให้ธุรกิจยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้

Photo : Shutterstock

ความไม่เเน่นอน กระทบค่าครองชีพ 

ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องถึงปี 65 ธุรกิจค้าปลีกยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอีกหลายประการ ทำให้การดำเนินธุรกิจยังคงยากลำบากต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำท่วมที่ครอบคลุมพื้นที่ในหลายจังหวัด ซึ่งสร้างความเสียหาย ต่อสินค้าเกษตรและส่งผลต่อราคาตามมา เช่น ผักสด เนื้อสัตว์ และการขนส่งที่อาจจะล่าช้า ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบกับค่าครองชีพของผู้บริโภค

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ หรือมีศักยภาพในการใช้จ่ายยังคงมีจำนวนจำกัด หรือแม้แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือเทคโนโลยีในการทำธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนภาพการทำธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน และเกิดผู้เล่นรายใหม่ หรือการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิม

ผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัว หรือรับมือกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เร็ว ก็น่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้นการเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจค้าปลีกก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกในระยะข้างหน้า

“ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิดในประเทศในระยะข้างหน้า อาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจกลับมาของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และการใช้จ่ายของคนในประเทศ รวมถึงภาวะการแข่งขันของธุรกิจที่จำนวนผู้เล่นยังคงทยอยเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นที่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์” 

]]>
1356736
เปิดเหตุผล คนไทยสนใจลงทุน ‘คริปโต’ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เน้นเก็งกำไร ทำใจรับความเสี่ยงได้ https://positioningmag.com/1350690 Tue, 07 Sep 2021 10:00:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1350690 ส่องตลาดคริปโตเคอร์เรนซี’ ในไทย คนสนใจลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เเตะ 1.37 ล้านบัญชี ขยายตัวที่ 27.6% ต่อเดือน โตเร็วกว่าตลาดหุ้น เเต่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเมืองที่มีรายได้และเงินออมสูง ส่วนใหญ่มุ่งเน้นเก็งกำไร ยอมรับความเสี่ยงได้ เเนะหาข้อมูล-เพิ่มทักษะต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้เพื่อพัฒนาตลาด 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดบทวิเคราะห์การลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลในไทย รวมถึงความเห็นของเหล่านักลงทุน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจับตามองไม่น้อย

ด้วยความที่คริปโตเคอร์เรนซีหรือเรียกสั้นๆ ว่าคริปโตยังคงมีความผันผวนสูง เเละเป็นสินทรัพย์ใหม่ที่อาจยังมีมูลค่าไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดคริปโตกลับมีการเติบโตเป็นอย่างมาก

ปัจจัยอะไรที่ทำให้ตลาดคริปโตพุ่ง ? 

จากกระเเสข่าวเชิงบวกเเละความต้องการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ ทำให้คริปโตให้ผลตอบแทนสูง เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ เเต่ก็ต้องเเลกมาด้วยความเสี่ยงสูงเช่นกัน

คริปโตเคอร์เรนซี ได้กลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ในหมู่นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่พยายามแสวงหาสินทรัพย์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือ Search for Yield จากภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

รวมถึงในกลุ่มนักลงทุนที่ชื่นชอบความเสี่ยง และต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์ใหม่ๆ ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ความน่าสนใจของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง ทำให้เป็นที่ดึงดูดกลุ่มนักลงทุนรายใหม่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

เเนวโน้มคนไทยลงทุนคริปโต เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

สำหรับประเทศไทยนั้นก็มีนักลงทุนรายย่อยรายใหม่ๆเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในวงจำกัด ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยทั้งหมด 1,379,373 บัญชี ซึ่งน้อยกว่าบัญชีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ราว 2.1 เท่า

แต่มีอัตราการขยายตัวสูงอยู่ที่ 27.6% ต่อเดือน ขณะที่บัญชีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอัตราการเติบโตเพียง 2.9% ต่อเดือน สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในไทย

ในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ดำเนินการสำรวจการลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีกับกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนที่มีรายได้สูง อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจด้านนี้ ขณะเดียวกัน เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดทำให้มีจำนวนตัวอย่างที่จำกัด

ทั้งนี้ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการตีความเชิงสถิติเนื่องจากผลทางสถิติ อาจจะเปลี่ยนแปลงตามขนาดของกลุ่มตัวอย่างได้

เเม้ผลทางสถิติอาจไม่ได้สะท้อนถึงประชากรทั้งประเทศ และจากผลสำรวจดังกล่าวได้มีผลทางสถิติที่น่าสนใจหลายประการที่น่าจะสามารถบ่งชี้ลักษณะ มุมมอง และความคาดหวังของนักลงทุนไทยในเบื้องต้นได้ ดังนี้

ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปรู้จักคริปโตเคอร์เรนซีสูงถึง 69.4% มีคนสนใจลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีมากถึง 52.0% และลงทุนจริงในปัจจุบันอยู่ที่ 24.3%

กลุ่มนักลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซียังอยู่ในวงจำกัด โดยมักเป็นกลุ่มคนเมืองที่มีรายได้ และเงินออมอยู่ในระดับสูง

โดยกลุ่มตัวอย่างที่ยังไม่ได้ลงทุนจริงในปัจจุบัน เเต่มีความสนใจที่จะลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีในอีก 1 ปีข้างหน้า มีถึง 42.0% สะท้อนว่าจะมีนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดคริปในไทยจำนวนมากในระยะข้างหน้า

Photo : Shutterstock

ส่วนใหญ่เน้น ‘เก็งกำไร’ ทำใจรับความเสี่ยงได้

ปัจจุบันคนไทยที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี มักเน้นมิติการเก็งกำไรเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปส่วนใหญ่ ค่อนข้างเข้าใจในภาวะเสี่ยงจากการลงทุนในตลาด แต่ขณะเดียวกัน ก็มีนักลงทุนบางส่วนที่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงสภาวะเสี่ยงนั้น เพราะมีความคาดหวังและมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับผลตอบแทนในระดับสูงต่อเนื่อง

ภาพรวมกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่รู้จักคริปโตเคอร์เรนซี ส่วนใหญ่ราว 26.6% คาดหวังว่าคริปโตเคอร์เรนซีจะสามารถนำมาเก็งกำไรระยะสั้นได้

โดยนักลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีในกลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปกว่า 76.3% สามารถรับได้ หากเงินลงทุนจะหายไปมากกว่า 50% ภายใน 1 วัน สะท้อนถึงความมั่นใจอีกมุมหนึ่งว่าราคาคริปโตจะสามารถผันตัวกลับมาได้โดยเร็ว

ขณะเดียวกัน มีนักลงทุนบางส่วนที่คาดว่าคริปโตจะสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ราว 18.6% เเละสามารถทดแทนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินแบบดั้งเดิม อย่าง หุ้น ตราสารหนี้ได้ 16% 

พร้อมกันนั้น กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่ลงทุนในคคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ราว 56.7% เปรียบการลงทุนในคริปโตเหมือนเช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้น

เหตุผลที่เลือกลงทุนในคริปโต ?

นักลงทุนไทยในกลุ่มสำรวจ กว่า 21% บอกว่าพวกเขาเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี เพราะมีความเชื่อมั่นว่าราคาจะขึ้นไปอีกเรื่อยๆ และคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนสูง

ส่วนอีก 11.5% เห็นเพื่อนหรือคนรอบข้างลงทุนและได้ผลตอบแทนสูง 11.5% หรือเพื่อนหรือคนรอบข้างชักชวนลงทุน 9.0%

จากเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวสะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความเสียหายจากการลงทุนในตลาดสูง เนื่องจากความไม่เข้าใจในทิศทางตลาดที่อยู่ในภาวะความผันผวนสูง และอาจเป็นเป้าหมายต่อการถูกชักชวนให้เข้าร่วมลงทุนแบบผิดกฎหมาย

Photo : Shutterstock

เงินลงทุนมาจากไหน ?

การลงทุนส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนจริงในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีไม่มาก จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างโฟกัสกรุ๊ปที่ลงทุนในคริปโต ส่วนใหญ่ราว 48.5% ใช้เงินลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 10% ของเงินออม นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดจากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีได้ในระดับหนึ่ง หากตลาดเกิดความผันผวนรุนแรงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

ให้ความรู้ ทำความเข้าใจ เพื่อพัฒนาตลาด 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจะลดความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนในตลาด หรือสร้างโอกาสจากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี จำเป็นต้องอาศัยทักษะความรู้ทางการเงินและความรู้เท่าทันต่อเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย นับว่าเป็นโจทย์สำคัญต่อทั้งกลุ่มนักลงทุนและทางการ

โดยนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ก็ควรต้องเร่งเสริมสร้างทักษะความรู้และความเข้าใจในเรื่องสกุลเงินดิจิทัลอย่างคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเทรนด์เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อาจต้องเพิ่มแหล่งการเรียนรู้ที่จะเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เพื่อลดความสูญเสียอันจะเกิดกับนักลงทุนในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือนักลงทุนมือใหม่ที่มุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับสูง ท่ามกลางอัตราผลดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ที่จะยังอยู่ในระดับต่ำอย่างน้อยในอีก 1-2 ปีข้างหน้าตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

“ความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัล ควบคู่กับความรู้ทางการเงินที่ดีขึ้น ยังน่าจะช่วยปูทางไปสู่การใช้เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง และนวัตกรรมทางการเงินที่จะตามมาอีกมากในอนาคตด้วย”

 

 

]]>
1350690
ครัวเรือนไทย กังวลรายได้ลด-ไร้งานทำ เเบกหนี้หนัก ค่าครองชีพพุ่ง เข้าไม่ถึงโครงการรัฐ https://positioningmag.com/1346077 Tue, 10 Aug 2021 10:20:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1346077 ล็อกดาวน์โควิดระลอก 3 ซัดหนัก ประชาชนกังวลรายได้ลด-ไม่มีงานทำ เเบกหนี้หนักเเถมค่าครองชีพพุ่ง ดัชนี KR-ECI ลดฮวบ ‘ต่ำกว่าล็อกดาวน์ทั่วประเทศ’ เมื่อปีที่เเล้ว ท่องเที่ยวเจ็บยาว ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์น้อยกว่าเป้า คนไทยบางส่วน ‘เข้าไม่ถึง’ โครงการช่วยเหลือของรัฐ 

ครัวเรือนไทย ‘วิตกกังวล’ ต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพต่อเนื่อง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังรุนเเรง จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูง และยังคงทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับสูงเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ประจำเดือนก.ค. 64 ปรับลงต่อเนื่องอยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็น ระดับต่ำกว่าช่วงเดือนเม.ย. 63 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ที่ 35.1 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 36.6 จาก 38.9 ในเดือนมิ.ย.

เเบกหนี้หนัก ราคาอาหารสดเเพงขึ้น 

ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ ระดับราคาสินค้า โดยในเดือนก.ค.ดัชนีปรับลดลงอยู่ที่ 31.5 จาก 37.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับระดับอัตราเงินเฟ้อของไทย ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 0.45% ซึ่งหากไม่รวมผลจากมาตรการภาครัฐในเรื่องของการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำค่าไฟ ระดับอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.8%

“ปัจจัยหนุนเงินเฟ้อ นอกจากราคาน้ำมันแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์” 

ขณะที่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังคงถูกกดดันจากความเปราะบางของฐานะการเงินที่สะสมมาจากการแพร่ระบาดในปีก่อนและปัจจุบัน ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้สะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่ 90.5% ของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2564 นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้และจ้างงานเพิ่มขึ้น 

รายได้ลด ไร้งานทำ ท่องเที่ยวไม่ฟื้น 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงพบว่า 64.2 % ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ (64.2%) มีรายได้จากการจ้างงานลดลง

ขณะที่บางส่วน (14.3%) ธุรกิจปิดกิจการและถูกเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมตลาดแรงงานที่มีภาวะเปราะบาง

ล่าสุด ในไตรมาส 2/2564 จำนวนผู้ว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.3 แสนคน โดยทิศทางการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังมีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน

โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคท่องเที่ยว ที่แม้ในเดือนก.ค. 64 จะมีการนำร่องเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่ได้ต้องกักตัวตามเงื่อนไข

แต่สถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ในเดือนก.ค. 64 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาภูเก็ต 14,055 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันอยู่ที่ 5,400 บาท (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน) ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวยังมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ภาครัฐเคยประเมินไว้ (ไตรมาส 3 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 แสนคน)

ขณะนี้ในภูเก็ตก็ได้มีมาตรการคุมเข้มการระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรม รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ไม่สามารถเปิดได้เต็มที่

Photo : Shutterstock

คนไทยบางส่วน ‘เข้าไม่ถึง’ โครงการรัฐ 

ด้านมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐ มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยประคับประคองการดำรงชีพของครัวเรือน ซึ่งช่วงที่สำรวจภาครัฐได้มี 2 โครงการคือ โครงการคนละครึ่งระยะที่สาม และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าร่วมมาตรการพบว่า มีครัวเรือนถึง 30.6% ที่ไม่ได้เข้าร่วมทั้งสองโครงการ เนื่องจากมองว่าขั้นตอนการสมัครมีความยุ่งยาก อีกทั้งโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีเงินออมมีผู้เข้าร่วมเพียง 2.9%

ทั้งนี้ โครงการทั้งสองโครงการได้ออกมาในช่วงก่อนที่สถานการณ์การระบาดจะเผชิญความรุนแรงและมีมาตรการคุมเข้มการระบาดอย่างในปัจจุบัน ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดไม่ได้รุนแรงมาก อาจทำให้โครงการต่าง ๆ จูงใจประชาชนให้เข้าร่วมได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพใน 13 พื้นที่เสี่ยงที่ถูกล็อกดาวน์ ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บางส่วน

“ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดแรงงานต่อเนื่อง ไปจนถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน” 

ดังนั้น ภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดหา จัดสรร และแจกจ่ายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งควบคุมสถานการณ์ เช่น การตรวจเชิงรุกเพราะทุกเวลาที่ผ่านไปคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ภาคประชาชนและประเทศ

สรุป :

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ก.ค. 64) และ 3 เดือนข้างหน้าบ่งชี้ถึงความกังวลของครัวเรือนต่อรายได้และการจ้างงาน ขณะที่ในเดือนส.ค.มีมาตรการล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยิ่งเพิ่มขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายพร้อมกับเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์ รวมถึงในเรื่องของวัคซีนเพื่อให้สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง

 

]]>
1346077
ขนส่งสินค้าออนไลน์สะดุด ‘โควิด’ ชั่วคราว ตลาดยังโตได้ ต้องสู้ตัดราคา-เเบกต้นทุนมากขึ้น  https://positioningmag.com/1345391 Thu, 05 Aug 2021 10:00:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1345391 โควิดระบาดรุนเเรงบวกมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง กระทบภาคขนส่งสะเทือนธุรกิจขายของออนไลน์ KBANK มองเป็นปัญหาชั่วคราวต่อการจัดส่งสินค้า เเต่ภาพรวมตลาดปีนี้ ยังเติบโตได้ 7.1 หมื่นล้านเเต่จะโตน้อยลง ต้องสู้เเข่งตัดราคา-เเบกต้นทุนมากขึ้น 

ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ หรือ Last-mile delivery เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายตัวตามการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคกังวลในเรื่องของความปลอดภัยและงดทำกิจกรรมนอกบ้าน มีการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและหันมาซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จึงหนุนให้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตตามไปด้วย

สะดุด เจอพนักงานติดโควิด 

เเต่จากการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น จนทำให้ปัจจุบันมีพนักงานขนส่งสินค้าออนไลน์ของหลายบริษัทและในหลายพื้นที่ติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี อยุธยา ชลบุรี ประกอบกับการขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกอย่างน้อย 14 วันในเดือนสิงหาคม 2564 (อาจมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนมาตรการอีกครั้ง) จนส่งผลให้ศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญในบางพื้นที่ รวมถึงสาขาที่รับ-ส่งสินค้าบางแห่ง ทั้งที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้าต้องปิดทำการชั่วคราว

“บางสาขาที่ยังคงเปิดให้บริการได้นั้น ก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ปลายทางที่นานขึ้นกว่าช่วงปกติ” 

เหล่านี้ ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์อาจได้รับผลกระทบและทำให้การจัดส่งสินค้าออนไลน์ติดขัดเป็นการชั่วคราว ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคาค่าขนส่งสินค้า

“ธุรกิจขนส่งในภาพรวมปีนี้ แม้คาดว่ารายได้จะยังคงเติบโต แต่ก็เผชิญความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ” 

shopping online

สินค้าอาหาร-ของสด กระทบหนักสุด

การจัดส่งสินค้าออนไลน์ในกลุ่มอาหาร (Food) น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เน่าเสียง่าย ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นที่คาดว่าผู้บริโภคน่าจะยังคงมีการวางแผนใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นในช่วงที่โควิดระบาด

แต่เมื่อขนส่งไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ หรือใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ รวมถึงยานพาหนะที่ใช้ในการจัดส่งสินค้ากลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เอื้อต่อการจัดเก็บหรือควบคุมคุณภาพได้นาน สินค้ามีความเน่าเสียได้ง่าย จึงทำให้ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างมาก จนผู้ประกอบการบางราย บางพื้นที่ต้องงดรับการจัดส่งสินค้าในกลุ่มนี้เป็นการชั่วคราว

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน เนื่องจากยอดขายได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัว และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้

ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าว ก็อาจจะกระทบต่อการจัดส่งสินค้ากลุ่มนี้ในระดับที่น้อยกว่า หรือหากมีคำสั่งซื้อมองว่าผู้บริโภคบางรายก็อาจจะรอสินค้าได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เหตุการณ์ดังกล่าว น่าจะเป็นปัญหาชั่วคราว และจากการเร่งแก้ปัญหาและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ส่งผลให้สาขาในบางพื้นที่ที่ปิดทำการชั่วคราวเริ่มกลับมาเปิดทำการได้บ้าง แต่ยังคงต้องรอสินค้าที่นานกว่าช่วงปกติ

ขนส่งต้องสู้เเข่งตัดราคา-เเบกต้นทุนมากขึ้น 

ส่วนรายได้ของธุรกิจจัดส่งสินค้าออนไลน์ ในภาพรวมปี 2564 ยังคงขยายตัวได้จากการระบาดของโควิดที่ยังคงหนุนให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น แต่การเติบโตคาดว่าจะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักๆ มาจากการแข่งขันด้านราคาค่าส่งสินค้า อีกทั้งยังต้องเผชิญกับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น

แม้ว่าการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งสินค้าให้หยุดชะงักลงเป็นการชั่วคราวในบางพื้นที่ แต่เนื่องจากผู้บริโภคยังคงกังวลกับการออกไปใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน การประกาศล็อกดาวน์ของภาครัฐ อีกทั้งผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ มีการอัดโปรโมชันกันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ 

“ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ในปัจจุบันที่แข่งขันกันรุนแรงจากจำนวนผู้เล่นในตลาดมากราย โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาค่าขนส่งของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต้องปรับตัวตาม และท้ายที่สุดหากผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถแบกรับหรือบริหารจัดการต้นทุนได้ ก็อาจจะเผชิญการแข่งขันที่ยากลำบากขึ้น” 

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แม้ว่ารายได้ของธุรกิจจัดส่งสินค้าออนไลน์ (Last-mile delivery) ในปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 71,800 ล้านบาท ขยายตัว 19.0% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 31.3%

แต่หากพิจารณาในส่วนของต้นทุนในการบริหารจัดการคาดว่าน่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิดเพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและพนักงาน ต้นทุนจากการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น (ทดแทนพนักงานที่ติดโควิด และรองรับกับคำสั่งซื้อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น) 

รวมถึงต้นทุนในการบริหารจัดการเส้นทางการส่งสินค้าใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิมที่มีปัญหา ในขณะที่ต้องลดราคาค่าขนส่งให้ถูกลง เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการบางรายยังคงประสบภาวะขาดทุน

เเนะลงทุนเพื่อความปลอดภัย ให้ลูกค้ามั่นใจสั่งของ 

การเติบโตของรายได้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ในภาพรวมที่อัตรา 2 หลัก อาจจะไม่ได้สะท้อนถึงผลประกอบการสุทธิที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการได้ทุกราย และเมื่อมองไปข้างหน้า ด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่คลี่คลาย ความเสี่ยงต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นได้ ก็น่าจะทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการโควิดของผู้ประกอบการยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยจากโรค การกระจายศูนย์กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงการให้บริการเรื่องของสินค้าที่ครบวงจร 

หากผู้บริโภคมีความกังวลและไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยจนทำให้มีการสำรองสินค้ามากขึ้นเพื่อลดจำนวนครั้งในการสั่งซื้อ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการจัดส่งที่น้อยลงและส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจตามมา

โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน เงินทุน และการปรับตัวที่ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์และพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ทัน ซึ่งน่าจะยังคงเผชิญความยากลำบากในการแข่งขัน

 

 

 

]]>
1345391
KBANK หั่นเป้าจีดีพีปีนี้ เหลือเเค่ 1% ‘ล็อกดาวน์’ สะเทือนธุรกิจ-จ้างงาน ฉุดกำลังซื้อ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค https://positioningmag.com/1342512 Thu, 15 Jul 2021 08:27:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1342512 KBANK หั่นเป้าจีดีพีปี 2564 เหลือ 1.0% จากเดิมที่ 1.8% หลังการระบาดรุนเเรงกว่าที่คาดล็อกดาวน์กระทบธุรกิจจ้างงานต่อเนื่อง ฉุดกำลังซื้อความเชื่อมั่นผู้บริโภคประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมีเเค่ 2.5-6.5 แสนคน เงินบาทอ่อนค่ายาว

“แม้มีมาตรการเยียวยา แต่ชดเชยผลกระทบเศรษฐกิจไม่ได้ ฉีดวัคซีนอาจต่ำกว่าเป้าหมาย” 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 อยู่ที่ 1.0% จากประมาณการเดิมที่ 1.8% เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าที่เคยประเมินส่งผลกระทบให้ระบบสาธารณสุขของไทยเผชิญข้อจำกัด

ความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมีมากขึ้น และผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวไปกว่าเดิม

ขณะที่มาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐ คาดว่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็นของประชาชนแต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม

ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสและจำนวนผู้ติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดกรอบประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 2.5-6.5 แสนคน จากกรอบประมาณการเดิมที่ 2.5 แสน-1.2 ล้านคน

แม้ว่าจะมีการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์และโครงการสมุย พลัส โมเดล” ก็ตาม

ส่วนแผนการเปิดประเทศในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการเร่งฉีดวัคซีนเป็นหลัก ขณะที่ในต่างประเทศก็ยังเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ด้าน ‘เศรษฐกิจโลก’ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการส่งออกไทยปี 2564 จะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 11.5%

ทั้งนี้ ประมาณการส่งออกนี้ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดในประเทศที่อาจจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ทิศทาง ‘เศรษฐกิจไทย’ ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย

หากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังไม่คลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มีแรงส่งมากขึ้น โดยใช้งบประมาณภายใต้ พ...กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ในการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยแล้ว และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้ 1.0%”

บาทอ่อน รับความเสี่ยงการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย 

เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสัญญาณความเสี่ยงที่ชัดเจนมากขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกสามที่มีแนวโน้มยากควบคุม เพราะต้องรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์

โดยเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 15 เดือน ที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายในวันที่ 9 ก.ค. 64 ความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อยังเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยให้ขาดดุลมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินบาทกำลังอ่อนแอลง พร้อมกับความเสี่ยงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี

โดยเงินบาท มีความเป็นไปได้ที่จะอ่อนค่าต่อเนื่องไปทดสอบระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนสิ้นปี 2564 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศยังไม่ลดระดับความเสี่ยงลงมา และเฟดสามารถเริ่มทยอยส่งสัญญาณเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงินได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ตามที่ตลาดประเมินไว้

อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ไม่แรง หรือเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ก็อาจส่งผลทำให้ตลาดต้องกลับมาประเมินการคาดการณ์ในเรื่องจังหวะการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และอาจช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ โดยเฉพาะหากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลง

 

]]>
1342512
‘หนี้ครัวเรือน’ พุ่งไม่หยุด 14.13 ล้านล้าน แตะ 90.5% โควิดลากยาว รายได้หาย ซ้ำคนไทยจมกองหนี้ https://positioningmag.com/1340409 Fri, 02 Jul 2021 08:06:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1340409 หนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 1/2564 แตะ 90.5% ต่อจีดีพี ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 18 ปี โควิดลากยาวซ้ำเติมคนไทยติดบ่วง ‘วังวนหนี้สิน’ รายได้ไม่พอรายจ่าย ดิ้นรนหางานเสริม 

โดยสถานการณ์หนี้สินของประชาชน ยังคงมีอัตราการเติบโต ‘เร็วกว่า’ เศรษฐกิจไทยในภาพรวม…

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2564 ระบุว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี นับว่าสูงสุดในรอบ 18 ปี ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563

วิกฤตโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี จะเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมๆ ตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลงจนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับทบทวน ตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพี (กรอบเดิมคาดที่ 89-91% ต่อจีดีพี)

Photo : Shutterstock

เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2564 มียอดคงค้างเพิ่มขึ้นประมาณ 88,138 ล้านบาท 

สาเหตุหลักๆ เป็นผลมาจากการเร่งขึ้นของหนี้รายย่อย’ 3 กลุ่ม ได้แก่ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน

1) หนี้บ้าน (ยอดคงค้างหนี้บ้านเพิ่ม 55,300 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน) สอดคล้องกับแคมเปญกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบราคาประมาณ1-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ รายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (ไม่ถูกกระทบมากนักจากสถานการณ์โควิด) ซึ่งทำให้ยังคงมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้

2) หนี้เพื่อประกอบอาชีพ (ยอดคงค้างหนี้ประกอบอาชีพเพิ่ม 40,100 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน) ก่อหนี้เพิ่มเพื่อหนุนสภาพคล่อง และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประคับประคองกิจการในช่วงที่โควิด-19 ยืดเยื้อซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องต่อรายได้และยอดขาย

3) หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไป (ยอดคงค้างหนี้อุปโภคบริโภคทั่วไป เพิ่ม 33,500 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน) ซึ่งเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ฝืดเคือง รายได้ไม่สมดุลกับภาระค่าใช้จ่าย จนทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในชีวิตประวัน

โควิดระลอกสาม : กลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น กังวลเรื่องใช้หนี้

จากการเปรียบเทียบผลสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า สถานการณ์รายได้และหนี้สินของประชาชนรายย่อย ‘ถดถอย’ ลงมากจากผลของโควิด-19 ระลอกที่สาม

ในผลสำรวจเดือนมิ.. 2564 ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีรายได้ไม่ปกติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 59.6% สูงกว่าสัดส่วน 56.2% ในผลสำรวจเดือนมี.. 2564 (ก่อนโควิดรอบสาม)

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามในรอบเดือนมิ.. 2564 มีจำนวนบัญชีสินเชื่อและสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR” เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 46.9% เทียบกับ DSR ที่ 42.8% ตอกย้ำปัญหาหนี้สินของประชาชนที่มีสัญญาณน่ากังวลมากขึ้นในระดับครัวเรือน

สำหรับมุมมองต่อสถานการณ์หนี้สินของตัวเองนั้นลูกหนี้เป็นห่วงปัญหาหนี้สินของตัวเองมากขึ้น

ผู้ตอบแบบสอบถาม 79.5% ประเมินว่า ปัญหาหนี้ของตัวเองยังไม่น่าจะดีขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี2564 โดยสัดส่วนของผู้ที่มองว่าปัญหาหนี้จะแย่ลงเพิ่มขึ้นมาที่ 26.6% เทียบกับสัดส่วนเพียง 7.8% ในรอบมี..

โควิดระลอกที่สาม มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของครัวเรือนหลายส่วนให้อ่อนแอและเปราะบางมากขึ้น และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีภาระหนี้สมัครเข้ามาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินมากขึ้น

ขณะที่ภาพสะท้อนจากมุมของประชาชนครัวเรือน บ่งชี้ว่า สินเชื่อที่ต้องการรับความช่วยเหลือส่วนใหญ่ เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต+สินเชื่อส่วนบุคคล (45.3%) สินเชื่อเช่าซื้อ (25.3%) และสินเชื่อบ้าน (14.3%) ตามลำดับ

รายได้ไม่พอ ต้องดิ้นหางานเสริม

ด้านแนวโน้มในปี 2564 จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มีผลกระทบทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน

ประชาชนครัวเรือน มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานะรายได้จากการทำงานของตัวเอง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการค้นหาช่องทางเพื่อหารายได้เสริม ใน Google Trends ที่กลับมาปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่โควิดระบาดรอบสาม ซึ่งเป็นภาพที่คล้ายกับการระบาดของโควิดในรอบแรก

สำหรับข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่เข้ารับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์นั้น ขยับขึ้นมาที่ 1.69 ล้านบัญชีในเดือนเม.. 2564 (จาก 1.68 ล้านบัญชีในเดือนมี..) คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 12.4% ของลูกหนี้รายย่อย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบที่หนักและชัดเจนมากขึ้นของโควิดรอบสาม อาจทำให้จำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยเข้ามาตรการช่วยเหลือฯ มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนมิ.. ถึงต้นไตรมาส 3/2564 นี้

คาดว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในปี 2564 น่าจะเติบโตในระดับที่สูงกว่า หรือใกล้เคียงกับอัตรา 4.1%  ในปี 2563 ตอกย้ำภาพหนี้สินครัวเรือนที่โตกว่าทิศทางเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับทบทวนสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2564 ขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 90-92% ต่อจีดีพี (กรอบคาดการณ์เดิมที่ 89-91% ต่อจีดีพี)

ปัญหาหนี้ครัวเรือนโตสวนทิศทางเศรษฐกิจ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย

เเต่แม้ว่าจะไม่มีปัญหาโควิด-19 หนี้ครัวเรือน ก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างลำดับต้น ๆ ของไทย ที่รอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแนวทางแก้ไข

สำหรับในปีนี้ น่าจะเห็นการเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และ/หรือทบทวนเพดานดอกเบี้ยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย (เพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ในช่วงที่โควิด 19 ยังไม่สิ้นสุด) ตลอดจนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

รวมไปถึง การวางแนวทางในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินของภาคครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ และดูแลให้การก่อหนี้ของภาคประชาชน สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองมากขึ้น

 

 

]]>
1340409
4 โจทย์เศรษฐกิจไทยหลังระบาดรอบสาม “กลุ่มเปราะบางทางการเงิน” พุ่งเป็น 22% https://positioningmag.com/1336392 Thu, 10 Jun 2021 12:24:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1336392
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงตัวเลขจีดีพีไทย +1.8% สำหรับปี 2564 จับตาการฉีดวัคซีนอีก 1-2 เดือน หากทำได้ตามเป้าหมาย มีลุ้นจีดีพีไทยผงกหัวขึ้นช่วงไตรมาสสุดท้าย
  • ชี้โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย 4 ด้าน คือ สถานะทางการคลัง, เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น, หนี้สินภาคครัวเรือน และ ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น
  • กังวล “กลุ่มเปราะบางทางการเงิน” พุ่งขึ้นจาก 10.8% เป็น 22.1% หนี้ครัวเรือนอาจแตะ 90% ในปีนี้ ต้องเร่ง “แก้หนี้” ในอนาคต
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยประจำเดือนมิถุนายน 2564 ยังคงยืนยันคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนเมษายน ว่า ปีนี้จีดีพีไทยน่าจะเติบโต +1.8% (เป็นการปรับลดจากเมื่อต้นปีที่เคยคาดการณ์ไว้ +2.6% เนื่องจากมีการระบาดรอบ 3)

    สำหรับแนวโน้มหลังจากประเทศไทยเริ่มระดมฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 “ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าต้องจับตาอัตราความเร็วการฉีดวัคซีนไปอีก 1-2 เดือนข้างหน้า หากอัตราการฉีดวัคซีนยังทำได้เท่ากับวันที่ 7-8 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสตามเป้า

    และหากประเทศไทยไม่มีการระบาดซ้ำ จำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลงดังที่ผ่านมา คาดว่าการระบาดรอบนี้น่าจะคลี่คลายภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากคนไทยจะกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศสูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์กรณีฐาน ปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5.5 แสนคน

     

    4 โจทย์เศรษฐกิจที่ต้องจับตาต่อจากวัคซีน

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ต่อเนื่องถึงโจทย์เศรษฐกิจที่ต้องจับตา หลังจากไทยสามารถคลี่คลายเรื่องการกระจายวัคซีนแล้ว โดยมี 4 ข้อใหญ่ ดังนี้

    1.สถานะทางการคลัง จากการผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท น่าจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยเร่งตัวขึ้นเกิน 60% ของจีดีพีภายในปี 2565 ภาวะขาดดุลการคลังที่เกิดขึ้นในระยะสั้นอาจยังไม่เป็นประเด็น แต่ในระยะกลางและระยะยาวจะมีผลต่อการพิจารณาลงทุนของต่างชาติ

    2.เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นทุกรายการ ทำให้เกิดเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นเกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่เร่งตัวขึ้นไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน ต้องจับตาดูเฟดว่าจะส่งสัญญาณถอยจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือไม่ ซึ่งอาจมีผลในปีหน้า

    3.หนี้สินภาคครัวเรือน สถานการณ์หนี้รายย่อยถดถอยลงตามคาด โดยคนไทยมีอัตราภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) สูงขึ้นเฉลี่ย 46.9% มีกลุ่มเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 22.1% และคาดว่าหนี้ครัวเรือนจะไปแตะ 90% ในปีนี้

    4.ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งจะกระทบ SMEs เป็นเม็ดเงินประมาณ 23,600-23,800 ล้านบาท ในสถานการณ์ปกติผู้ค้ามักส่งผ่านต้นทุนนี้ไปสู่ราคาปลายทางทั้งหมด แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ปกติ ผู้ค้าจึงต้องยอมรับต้นทุนไว้เองบางส่วนและลดกำไรลง

    อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีมาตรการภาครัฐช่วยเหลือ จึงช่วยแบ่งเบาภาระของทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ โดยคาดว่าจาก 100 ส่วน ผู้ค้าจะต้องแบกรับต้นทุน 10 ส่วน และอีก 90 ส่วนจะอยู่ที่ภาครัฐ 96% อยู่ที่ผู้บริโภคปลายทาง 4%

     

    “กลุ่มเปราะบางทางการเงิน” พุ่งพรวด

    ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงประเด็นสถานะทางการเงินรายย่อยที่ถดถอยลง โดยเปรียบเทียบเดือนมีนาคมกับเดือนมิถุนายน รายย่อยมีภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เพิ่มขึ้นจาก 42.8% เป็น 46.9% และสัดส่วนผู้ตอบที่มีรายได้ลดลง จากเดิมมี 56.2% เพิ่มเป็น 59.6% แล้ว

    เมื่อรายได้ลดลงแต่ค่าครองชีพไม่ลดลง จากเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้สัดส่วนคนไทยที่ไถลตัวไปสู่กลุ่มเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสัดส่วน 10.8% เป็น 22.1% (กลุ่มเปราะบางทางการเงิน หมายถึง ผู้ที่มี DSR มากกว่า 50%)

    ในแง่ความช่วยเหลือที่ต้องการ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามต้องการความช่วยเหลือจากรัฐหลักๆ คือ 1.ให้เงินช่วยเหลือ (46.6%) และ 2.ต้องการรายได้เพิ่ม (31.7%)

    ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งทำให้การควบคุมสถานการณ์ระบาด และกลับมาใช้ชีวิตปกติ ท่องเที่ยว และมีแหล่งงาน เป็นเรื่องสำคัญมากในระยะสั้น

    ส่วนในระยะยาวเมื่อ COVID-19 คลี่คลาย ธัญญลักษณ์มองว่าจะมีโจทย์เศรษฐกิจรออยู่ในระยะถัดไปคือการ “แก้หนี้” โดยพบว่ามีคนไทยจำนวนมากที่เป็นหนี้นอกระบบอยู่ขณะนี้

    ]]>
    1336392
    COVID-19 ระลอกสามป่วนเศรษฐกิจปี’64 นักวิเคราะห์ “ปรับลด” จีดีพีไทยถ้วนหน้า https://positioningmag.com/1328555 Wed, 21 Apr 2021 09:12:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328555 รวมข้อมูลจาก 4 สถาบันวิเคราะห์การเงินการลงทุน คาดการณ์ใหม่ “ปรับลด” จีดีพีไทยปี 2564 ถ้วนหน้า “กรุงไทย” ปรับลดฮวบเหลือโต 1.5% ขณะที่ “เอเซีย พลัส” ยังมองบวก คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.46% มาตรการรัฐรอบใหม่ไม่รุนแรงเท่าปีก่อน

    Positioning รวบรวมข้อมูลจาก 4 สถาบันวิเคราะห์การเงินการลงทุน ตบเท้ากันออกคาดการณ์ใหม่เศรษฐกิจไทยปี 2564 ปรับลดจีดีพีลงทั้งหมด ดังนี้

    – ศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS : ปรับลดเหลือ 1.5% จากเดิม 2.5%
    – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : ปรับลดเหลือ 1.8% จากเดิม 2.6%
    – ศูนย์วิจัยกรุงศรี : ปรับลดเหลือ 2.2% จากเดิม 2.5%
    – เอเซีย พลัส : ปรับลดเหลือ 2.46% จากเดิม 2.6%

    การปรับลดจีดีพีไทย 2564 เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่สาม ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนไทยลดลง โดยขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการแพร่ระบาดรอบนี้จะผ่อนแรงลงเมื่อใด

     

    “กรุงไทย” : รอบสามกระทบหนักการบริโภค

    ศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS ปรับลดหนักที่สุด โดยมองว่าผลกระทบ COVID-19 รอบสามจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ เหลือ 1.5% จากเดิม 2.5% เพราะกระทบโดยตรงกับการบริโภคภายในประเทศ กระทบการท่องเที่ยว และภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัด ทำให้เม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบได้น้อย

    คาดว่าการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลา 3 เดือน เข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 กว่าที่จะเห็นการฟื้นตัวได้ มีเพียงปัจจัยภาคส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี ช่วยชดเชยจีดีพีได้ แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะพยุงจีดีพีให้เติบโตได้เท่าที่เคยคาดการณ์ไว้

     

    “กสิกรไทย” : กังวลการคุมการระบาด-วัคซีน

    ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่มองค่อนข้างเป็นลบกับสถานการณ์ระบาดรอบสาม โดยปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยเหลือ 1.8% จากเดิม 2.6%

    กสิกรไทยมองว่า ผลของมาตรการของรัฐ แม้จะไม่ได้เข้มงวดมาก แต่จะมีผลต่อความกังวลและทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงอาจมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดิมคาดว่าจะเข้ามา 2 ล้านคน อาจจะต่ำกว่าที่คาดไว้

    ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

    อีกประเด็นหนึ่งที่กสิกรไทยชี้ให้เห็นคือ “วัคซีน” เป็นตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะหากการฉีดวัคซีนล่าช้า อาจทำให้การระบาดรอบสามยืดเยื้อ หรือเกิดการระบาดรอบใหม่ได้อีกในไตรมาส 3/64 ซึ่งจะมีผลซ้ำอีกกับการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยว

    รวมถึงหากจำนวนผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง อาจมีผลทำให้ระบบสาธารณสุขล่ม ซึ่งส่งผลกับเศรษฐกิจอย่างประเมินค่ามิได้

     

    “กรุงศรี” : จีดีพีลดลงเล็กน้อย 0.3%

    ฟากสถาบันที่ยังมองไม่รุนแรงมากคือ ศูนย์วิจัยกรุงศรี มองว่าจีดีพีไทยปีนี้จะลดลงเหลือ 2.2% จากเดิม 2.5% ถือว่าลดลงไม่แรงเทียบกับสถาบันอื่นๆ ที่ปรับคาดการณ์

    จุดที่กรุงศรีมองว่าจะปรับลดลงคือ “การลงทุนภาครัฐ” และ “นักท่องเที่ยว” คาดว่าจะลดจากเดิม 4 ล้านคน เหลือ 3 ล้านคน แต่เนื่องจากการนำเข้า-ส่งออกเติบโตดี และการบริโภคภาคเอกชนน่าจะดีขึ้น ทำให้การปรับลดไม่สูงมาก

    อย่างไรก็ตาม การประเมินข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานว่ารัฐจะใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบอ่อนๆ ไม่เกิน 2 เดือน คือสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในเดือนกรกฎาคม ไทยกลับมามีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 100 รายต่อวัน และทำให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ หากการล็อกดาวน์บางส่วนยิงยาวไปถึง 3 เดือน จะทำให้จีดีพีประเทศลดลง 0.75%

     

    “เอเซีย พลัส” : มองบวก กระทบจีดีพีเพียงเล็กน้อย

    สำหรับ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่าจีดีพีไทยน่าจะลดลงจากเดิมที่คาดว่าโต 2.6% เหลือกรณีที่ดีที่สุดเติบโตได้ 2.46%

    ที่มา: เอเซีย พลัส

    เหตุที่มองว่าจะลดลงไม่มาก เพราะมาตรการรัฐคุมระบาดรอบสามไม่รุนแรงเท่ากับเมื่อปีก่อน โดยไม่ได้มีการเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถาน และร้านอาหารกับศูนย์การค้าไม่ถูกปิดชั่วคราวแต่ใช้วิธีควบคุมเวลาเปิดปิดแทน จึงมองว่าจะไม่กระทบการใช้จ่ายมากนัก

    นอกจากนี้ การส่งออกนำเข้าก็ยังเติบโตได้ดี และไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาด อย่างไรก็ตาม หากการระบาดยืดเยื้อยาวนาน กรณีที่แย่ที่สุด เชื่อว่าจีดีพีไทยจะโตเพียง 2.04%

    ]]>
    1328555
    ‘ท่องเที่ยวไทย’ เจ็บซ้ำ โควิดระลอก 3 เงินหาย 1.3 แสนล้าน เเนะรัฐเร่งฉีด-เปิดทางเลือกวัคซีน https://positioningmag.com/1327761 Mon, 12 Apr 2021 12:39:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327761 โควิดระลอก 3 ซัดเศรษฐกิจไทย KBANK ประเมินเที่ยวสงกรานต์เงินหายหมื่นล้านกระทบต่อรายได้อุตฯ ท่องเที่ยวครึ่งปีแรก อาจสูญ 1.3  แสนล้าน เเนะรัฐเร่งเปิดทางเลือก ‘จัดหาวัคซีน’ 

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลวิจัยล่าสุด เกี่ยวกับผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ‘ระลอก 3’ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

    โดยภาคการท่องเที่ยวไทยนั้น คาดว่าในช่วงสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 10-18 เมษายน 2564 จะสูญเสียรายได้ไปราว 1 หมื่นล้านบาท จากการยกเลิกหรือเปลี่ยนแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยว

    พร้อมประเมินว่า การควบคุมการระบาดระลอก 3น่าจะใช้ระยะเวลานานกว่ารอบก่อนหน้าเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อสูงและการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว ซึ่งกระทบต่อแผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยต่อไปในช่วงไตรมาส 2

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การระบาดของโควิด-19 ทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้น (นับตั้งเเต่ต้นปี) จะส่งผลกระทบทำให้ในครึ่งแรกของปี 2564’ รายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยมีมูลค่าประมาณ 1.37 แสนล้านบาท คิดเป็นรายได้ท่องเที่ยวที่หายไปเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท

    ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้ท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 สูญเสียไปคิดเป็นมูลค่า 34,000 ล้านบาท

    เเละเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้คนไทยเที่ยวในประเทศช่วงครึ่งแรกปี 2564 สูญเสียไปคิดเป็นมูลค่าถึง 385,400 ล้านบาท

    นักท่องเที่ยวไทย ‘ยกเลิกเเผนเที่ยว’ ได้ทุกเมื่อ 

    นับเป็นข่าวร้ายต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มกลับมาสู่เส้นทางการฟื้นตัว หลังจากที่ต้องหยุดชะลอลงจากเหตุการณ์การระบาดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

    จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาล่าสุด พบว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในเดือน ก.. 64 เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากเดือนม.. 64 ซึ่งในเดือนม..ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ตลาดไทยเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิดระลอกที่ 2 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเหลือเพียง 4.51 ล้านคน-ครั้ง

    การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 นี้ พบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และกระจายไปในอีกหลายจังหวัดตั้งแต่ต้นเดือนเม.. นั้น ทำให้ทางการต้องยกระดับมาตรการการเฝ้าระวังการระบาดอีกครั้ง การขอความร่วมมือทำงานที่บ้านและงดการเดินทางข้ามจังหวัด

    นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 ต่างต้องปรับเลื่อนแผนการการท่องเที่ยวออกไป

    โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีความอ่อนไหวต่อข่าวการระบาดของโรคโควิด-19 และพร้อมที่จะยกเลิกหรือเลื่อนแผนการท่องเที่ยวได้ทุกเมื่อ

    เเนะรัฐเร่งฉีด-เปิดทางเลือกจัดหา ‘วัคซีน’ 

    การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่ยุติลงในระยะเวลาอันใกล้ทั้งในและต่างประเทศแม้จะมีการเริ่มฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังมีจำนวนจำกัดขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีนยังไม่สรุปได้ว่าคนที่ฉีดแล้วจะไม่แพร่เชื้อรวมถึงระยะเวลาป้องกันการติดโรคโควิดก็ยังไม่แน่นอน

    ทำให้นับต่อจากนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะต้องดำเนินการอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

    KBANK มองว่าสิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้คือการสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐ ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนที่มีอยู่การเเละเปิดทางเลือกที่หลากหลายต่อประเด็นการจัดหาวัคซีน เพื่อให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนที่เร็วและครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

    “ตลอดจนการคำนึงถึงประเด็นที่ว่าประชากรหนึ่งคนอาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนต่อเนื่องหลายเซตในช่วงปีข้างหน้า” 

    ขณะที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพื่อลดความเสี่ยงเชิงนโยบายและปัจจัยแวดล้อมของตลาด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระยะยาว ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการควบคุมการระบาดของโรคให้จบในเร็ววัน

    ]]>
    1327761