ส่งอาหาร – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 05 Jul 2024 13:12:04 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มองอนาคตธุรกิจ Food Delivery ทั้งไทยและต่างประเทศ บนการแข่งขันที่ยังดุเดือด แม้จะเหลือผู้เล่นน้อยราย https://positioningmag.com/1480493 Thu, 04 Jul 2024 05:42:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480493 ธุรกิจ Food Delivery ทั้งในไทยและต่างประเทศกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง แม้ว่าจะเหลือผู้เล่นน้อยรายแล้วก็ตาม ซึ่งต่างกับอดีต แต่ผู้เล่นที่เหลืออยู่ต่างต้องแข่งขันเพื่อกินส่วนแบ่งตลาด หรือหารายได้ใหม่ๆ เนื่องจากแรงกดดันทั้งจากนักลงทุนหรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งก็ตาม

อุตสาหกรรมส่งอาหาร (Food Delivery) ทั่วโลกหรือแม้แต่ในประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดสำคัญอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปิดกิจการของผู้เล่นบางราย การควบรวมกิจการ การเพิ่มรายได้ด้วยธุรกิจส่วนอื่นๆ หรือแม้แต่การขยายไปยังประเทศอื่นๆ

Positioning พาไปวิเคราะห์ถึงทิศทางของอุตสาหกรรม Food Delivery ในประเทศไทยหรือเทรนด์อุตสาหกรรมทั่วโลกว่าจะเป็นยังไงต่อไป

ดูภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อน

ก่อนอื่นต้องยกข้อมูลของ Statista ที่มองว่าตลาด Food Delivery ทั่วโลกในปี 2024 นั้นมีขนาดของรายได้ใหญ่ถึง 1.22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ารายได้จากปี 2024 ถึง 2029 จะเติบโตราวๆ 9.49% ต่อปี โดยตลาดที่ใหญ่สุดในโลกยังเป็นประเทศจีน

ทางด้าน Momentum Works ที่ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ผู้เล่นในตลาดบริการส่งอาหารมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และ LINE MAN ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 36%

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายรองลงมาอย่าง foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และ Shopee Food ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6% ที่เหลืออีก 3% เป็นของ Robinhood เท่านั้น ก่อนที่จะปิดตัวลง

นอกจากนี้ขนาดตลาดของธุรกิจ Food Delivery ในไทยของ Momentum Works เมื่อใช้ตัวเลขยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) ของไทยนั้นปี 2022 มีขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2023 เติบโตเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถ้าหากมองออกมาในหลายๆ ประเทศในอาเซียนแล้วนั้น ตลาดของธุรกิจ Food Delivery กลับกลายเป็นว่าเวียดนามนั้นมีอัตราการเติบโตมากที่สุด แต่สำหรับ ไทย สิงคโปร์ นั้นธุรกิจดังกล่าวเติบโตช้าลงเรื่อยๆ

Robinhood เป็นอีกผู้เล่นที่ต้องปิดตัวลงไปในอุตสาหกรรม Food Delivery ที่แข่งขันรุนแรง – ภาพจากบริษัท

ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม สร้างความได้เปรียบ

ผู้ให้บริการ Food Delivery หลายรายเริ่มมองลู่ทางหารายได้ใหม่ๆ นอกจากธุรกิจส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือต่างประเทศ

ถ้าหากมองกรณีของผู้ให้บริการ Food Delivery ในทวีปยุโรปหลายรายเองก็ขยายธุรกิจออกไปไม่ว่าจะเป็นการรับส่งอาหารสด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความใกล้เคียงกัน ใช้พนักงานส่งสินค้าเหมือนกัน และต้นทุนในการบริหารงานแทบจะไม่แตกต่างกันนัก

การโฆษณาภายในตัวแอปฯ หรือแม้แต่บนพาหนะที่ไว้ขนส่งอาหาร ซึ่งผู้เล่นทั้งในไทย อาเซียน หรือแม้แต่ผู้เล่นในธุรกิจนี้ทั่วโลกต่างงัดการหารายได้ในส่วนนี้แทบทั้งสิ้น

หรือแม้แต่การเข้าสู่โลก FinTech ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการเงินแบบง่ายๆ อย่าง Wallet ไว้จ่ายเงิน การขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกัน การให้บริการด้านสินเชื่อ จนถึงด้านการลงทุน หรือแม้แต่การเข้าสู่ธุรกิจ Buy Now Pay Later อย่างเช่นในกรณีของ GoTo (หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อเดิมอย่าง Gojek) ก็ลงมาเล่นในตลาดนี้เหมือนกัน

ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่น Food Delivery บางรายอย่าง Deliveroo ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในทวีปยุโรป ที่เริ่มรุกเข้ามาในตลาด E-commerce มากขึ้น โดยบริษัทมองถึงขนาดตลาดดังกลล่าวใหญ่มากถึง 700,000 ล้านปอนด์ และเริ่มนำสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ ดอกไม้ เครื่องสำอาง ไปจนถึงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

การหารายได้ทางใหม่ๆ ยังถือเป็นการสร้างป้อมปราการให้กับธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำธุรกิจ Food Delivery ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคฯ อย่าง TikTok หรือแม้แต่ Shopee รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่อาจรุกเข้ามาในธุรกิจดังกล่าว ส่งผลต่อบริษัทได้ในระยะยาว

บริการส่งอาหารทั่วโลก ในแต่ละประเทศนั้นแต่ละบริษัทต่างมีคู่แข่งรายสำคัญอยู่ – ข้อมูลจาก Presentation ของ Delivery Hero

เมื่อแอปฯ ล้มหายตายจาก หรือขายกิจการนั้นถือเป็นเรื่องปกติ

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการเกิดใหม่ของแพลตฟอร์มส่ง Food Delivery ลดลงบ้างแล้ว เนื่องจากผู้เล่นหน้าเก่าสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดได้ และตัวเลขสัดส่วนในการครองตลาดนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีในบางประเทศในอาเซียนที่มีผู้เล่นหลายราย เช่น เวียดนาม ที่ตลาดดังกล่าวยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

ที่ไทยเองนั้นตลาด Food Delivery เริ่มทรงตัวมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นทั้ง Grab และ LINE MAN เองครองตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ ขณะเดียวกันในส่วนของ Foodpanda และ Grab นั้นบริษัทตั้งเป้าที่จะทำกำไรให้ได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดีในบางตลาดนั้นกลับมีการซื้อและขายกิจการ อย่างเช่นกรณีของ ไต้หวัน ที่ Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda ประกาศขายธุรกิจให้กับ Uber ทำให้ผู้เล่นจากสหรัฐอเมริกาแทบจะครองตลาด Food Delivery แทบทั้งหมดในไต้หวัน

เทรนด์ในการซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการธุรกิจ Food Delivery นั้นยังคงไม่หมดไป แต่เทรนด์ดังกล่าวนั้นจะไปอยู่ในประเทศที่ตลาดดังกล่าวยังคงเติบโต และมีผู้เล่นจำนวนมาก เช่น อินเดีย หลายประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น หรือแม้แต่ Foodpanda พิจารณาการขายกิจการธุรกิจในอาเซียน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศสิงคโปร์ด้วย

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือผู้เล่นในประเทศจีนอย่าง Meituan ที่มีข่าวลือว่าอาจมีการขยายกิจการออกมานอกประเทศจีนนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีข่าวลือว่าเป็นผู้เล่นอีกรายที่สนใจซื้อกิจการของ Foodpanda

นอกจากธุรกิจ Food Delivery นั้นจะมีการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการคู่แข่งแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ยังสนใจที่จะซื้อการควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) เช่น กรณีในไทย LINE MAN ลงทุนในกิจการของ FoodStory และ Rabbit Line Pay เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในอนาคต

ต้องมาลุ้นกันว่าธุรกิจส่งอาหารจากประเทศจีนอย่าง Meituan เองนั้นจะมีการรุกตลาดนอกประเทศจีนหรือไม่ – ภาพจาก Shutterstock

เส้นทางสู่กำไรที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง (หรือตั้งคำถาม)

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้เล่น Food Delivery หลายรายเองทั่วโลกยังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของเหล่า Rider ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบไอทีต่างๆ ซึ่งจุดคุ้มทุนของแต่ละบริษัทนั้นมีความแตกต่างกันไป

บทความของ Financial Times ได้คำนวณตัวเลขของผู้เล่น Food Delivery ในยุโรปและสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เข้า IPO บริษัทเหล่านี้ขาดทุนรวมกันแล้วมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจนี้

ขณะเดียวกันหลายบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อย่างเช่น Sea​ บริษัทแม่ของ Shopee Food รวมถึงผู้เล่นในตลาด Food Delivery อย่าง Uber Grab Deliveroo Doordash รวมถึง Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda เป็นต้น ต่างโดนเหล่านักลงทุนบีบให้บริษัทต่างทำกำไรให้ได้ไวที่สุด ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่เน้นการขยายธุรกิจกินส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่นักลงทุนต้องการไม่ใช่แค่กำไรเท่านั้น แต่ยังต้องเลิกเผาเงินสด หรือเลิกยึดครองตลาดที่นักลงทุนมองว่าไม่สามารถทำกำไรต่อไป

การบีบของนักลงทุนนั้นยังทำให้แผนธุรกิจของผู้เล่น Food Delivery หลายรายเริ่มเปลี่ยนจากการหารายได้ที่เน้นการส่งอาหาร การรับส่งลูกค้า ซึ่งรายได้ 2 ส่วนนี้นั้นมากกว่า 50% ของรายได้รวม เริ่มทำให้หลายผู้เล่นต้องปรับตัวให้คล้ายกับซุปเปอร์แอปฯ (Super App) มากขึ้น

คำถามคือในระยะยาวแล้ว การที่แอปเหล่านี้ปรับตัวคล้ายกับ Super App จะสามารถแข่งกับผู้เล่นดั้งเดิม เช่น  การเข้าไปยังธุรกิจ E-commerce หรือแม้แต่ FinTech นั้นแต่ละบริษัทสามารถสร้างจุดแข็งหรือแม้แต่ความได้เปรียบจากผู้เล่นเดิมในธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร

ไม่เพียงเท่านี้บริษัทเหล่านี้ยังโดนจับตามองจากหน่วยงานกำกับดูแลถึงเรื่องของการแข่งขันด้านธุรกิจ เนื่องจากหลายประเทศ ผู้เล่นในธุรกิจเหล่านี้กำลังเหลือน้อยราย และยังรวมถึงเรื่องของการดูแลสวัสดิภาพของเหล่า Rider รับส่งอาหาร (หรือแม้แต่ Rider คนขับ) โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่

ในอนาคตอันใกล้นี้เรากำลังเห็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม Food Delivery ต่างเหลือผู้เล่นน้อยรายลงเรื่อยๆ ซึ่งในบางประเทศการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นในธุรกิจนี้เหลือไม่เกิน 3-4 รายแล้ว ภายใต้การแข่งขันที่ยังคงดุเดือดทั้งคู่แข่งทางตรง หรือแม้แต่คู่แข่งทางอ้อม

]]>
1480493
สิงคโปร์เตรียมสอบสวนดีล Grab และ Delivery Hero แม้จะล่มไปแล้วก็ตาม กังวลผูกขาดการแข่งขันธุรกิจส่งอาหาร https://positioningmag.com/1468607 Mon, 01 Apr 2024 14:13:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468607 หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของสิงคโปร์ เตรียมสอบสวนดีล Grab และ Delivery Hero แม้ดีลดังกล่าวนั้นจะล่มไปแล้วก็ตาม โดยให้เหตุผลถึงความกังวลผูกขาดการแข่งขันธุรกิจส่งอาหาร เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันมากถึง 91%

หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของสิงคโปร์ (CCCS) ได้เตรียมที่จะสอบสวนกรณีที่ Grab นั้นสนใจที่จะซื้อกิจการของ Delivery Hero ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าอาจทำให้การแข่งขันในธุรกิจส่งอาหารของประเทศนั้นเกิดการผูกขาดได้ แม้ว่าดีลดังกล่าวจะล่มลงไปก็ตาม

CCCS ยังได้กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น CCCS มีเหตุผลให้สงสัยว่าธุรกรรมที่เป็นไปได้ดังกล่าวนั้นอาจส่งผลให้การแข่งขันในตลาดลดลงอย่างมากสำหรับการจัดหาบริการสั่งอาหารออนไลน์และจัดส่งอาหารในสิงคโปร์ ซึ่งมีผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ผู้เล่นรายใหม่มีอุปสรรคในการเข้าตลาดดังกล่าวสูง”

การสอบสวนดีลดังกล่าวนั้นเนื่องจากมีความเป็นไปได้จะละเมิดมาตรา 54 ของพระราชบัญญัติการแข่งขันปี 2024 ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งห้ามควบรวมกิจการที่ส่งผลหรืออาจคาดว่าจะส่งผลให้การแข่งขันในประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ดีลดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 2023 ที่ผ่านมาซึ่งมีสื่อในประเทศเยอรมันรายงานข่าวว่า Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ foodpanda ได้กำลังเจรจาในการขายกิจการให้กับ Grab ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านยูโรในช่วงเวลานั้น

ในช่วงเวลาของการเจรจาซื้อกิจการ CCCS ได้ออกมาตรการคุ้มครองในช่วงที่มีข่าวของทั้ง 2 ฝ่ายอาจซื้อกิจการกันช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการห้ามไม่ให้ควบรวมบริการสั่งอาหารหรือส่งอาหารในสิงคโปร์ หรือแม้แต่การห้ามไม่ให้สร้างผลกระทบที่สำคัญต่อความอยู่รอดของกิจการ foodpanda ในสิงคโปร์ ซึ่งอาจกระทบกับการแข่งขัน

แต่ในท้ายที่สุดดีลดังกล่าวได้ล่มลง โดย Niklas Östberg ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Delivery Hero ได้แถลงการณ์ยุติเจรจาซื้อขายธุรกิจในทวีปเอเชีย และมองว่าตลาดภูมิภาคนี้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2023 และบริษัทยังเชื่อว่าภูมิภาคนี้จะยังเป็นตลาดที่สร้างการเติบโตและกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง

และหลังจากดีลดังกล่าวล่มลง ทาง CCCS ก็ได้ยุติมาตรการคุ้มครองดังกล่าว ก่อนที่จะมีข่าวในการเตรียมสอบสวนดีล Grab และ Delivery Hero ในครั้งนี้ตามมา

ข้อมูลจาก Momentum Works ได้ชี้ว่า Grab และ foodpanda ได้ครองตลาดบริการส่งอาหารมูลค่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐรวมกันถึง 91% ซึ่งถ้าหากมีการควบรวมกิจการกันจริงหลายฝ่ายคาดว่าหน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์รายนี้อาจต้องออกมาขวางดีลดังกล่าวไว้ 

ที่มา – Reuters, The Strait Times

]]>
1468607
มองตลาด ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ปี 65 เเตะ 7.9 หมื่นล้าน เเรงหนุน Hybrid Work รุกขยายต่างจังหวัด  https://positioningmag.com/1366380 Sat, 11 Dec 2021 08:53:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1366380 ประเมินตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทย ปี 65 จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงแตะ 7.9 หมื่นล้าน หรือ 4.5% จากฐานที่สูงมากในปี 64 ยังมีเเรงหนุนจากผู้ใช้ที่ทำงานแบบ Hybrid Work เเพลตฟอร์มเร่งอัดโปรฯ ขยายตลาดชุมชน-ต่างจังหวัด ราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้งในปี 2565 คาดจะเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในอัตราที่จำกัด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่เปราะบาง

การระบาดของโควิด-19 มาตรการจำกัดการให้บริการร้านอาหาร การทำงานเเบบ Work from Home พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พัก และมาตรการคนละครึ่งของภาครัฐ ทำให้ทั้งปี 2564 มูลค่าตลาดของฟู้ดเดลิเวอรี่ (ฐานคำนวณใหม่ ได้รวมสินค้าในหมวดเบเกอรี่ และเครื่องดื่ม อาทิ ชา กาแฟ น้ำผลไม้ เป็นต้น) เติบโตกว่า 46.4% จากปี 2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ ในปี 2565 โดยประมวลข้อมูลจากความร่วมมือของ LINE MAN Wongnai และข้อมูลในตลาด คาดว่า ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่อาจยังเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนด้านความต้องการของผู้ใช้บริการท่ามกลางการทำงานแบบ Hybrid Work

“กลยุทธ์การปรับตัวของผู้ประกอบการในการขยายฐานรายได้ในพื้นที่ใหม่ และฐานลูกค้าสะสมของผู้ใช้บริการทั้งฝั่งผู้บริโภคและร้านอาหารเร่งตัวขึ้นจากผลของโควิดที่ระบาดรุนแรง แต่การเพิ่มขึ้นน่าจะชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564”

อานิสงส์ Hybrid Work รุกขยายต่างจังหวัด 

ทิศทางตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ปี 2565 คาดว่า จะปรับขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักจัดโปรโมชันกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง พร้อมขยายฐานร้านค้าและกลุ่มลูกค้าใหม่ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น และความคุ้นชินของผู้บริโภค

แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายและภาครัฐเปิดให้มีการทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 อย่างไรก็ตาม การพบผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนในหลายประเทศทั่วโลก สร้างความกังวลรอบใหม่ต่อความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่เกิดการระบาดที่รุนแรงของโควิดในประเทศอีกในปี 2565 การดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชนน่าจะเดินหน้าได้ต่อเนื่อง และเป็นแรงหนุนต่อธุรกิจร้านอาหารที่น่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจได้เมื่อเทียบกับในปี 2564

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ หรือ Full-Service Restaurants เช่น สวนอาหาร บุฟเฟ่ต์ เป็นต้น จากการที่ผู้บริโภคมีออกไปใช้บริการนั่งทานในร้านอาหารที่น่าจะเพิ่มขึ้น

แต่หากมองในอีกมุมของธุรกิจนั้น สถานการณ์ดังกล่าวก็อาจจะสร้างความท้าทายต่อตลาดการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อทิศทางตลาดการสั่งอาหารไปส่งยังที่พักในปี 2565 ดังนี้

Hybrid Work และความคุ้นชิน ประกอบกับการกระตุ้นตลาดโดยใช้โปรโมชั่นของผู้ประกอบการ น่าจะทำให้ลูกค้าผู้ใช้บริการที่เคยใช้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน Gen Y และกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ยังคงใช้บริการต่อเนื่อง

ร้านอาหารในกลุ่ม Fast Food ให้ความสำคัญกับการทำตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ การปรับรูปแบบธุรกิจร้านอาหารมายัง Cloud kitchen และ Ghost kitchen ของผู้ประกอบการรายใหญ่

เน้นเจาะไปยังชุมชน ชานเมืองและในต่างจังหวัด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น ก็น่าจะช่วยเพิ่มฐานผู้ใช้ทั้งฝั่งผู้บริโภคและร้านอาหารที่มีคุณภาพให้เข้ามาในระบบมากขึ้น

เจ้าเเพลตฟอร์ม เร่งอัดโปรโมชัน 

จากข้อมูล LINE MAN Wongnai ที่สะท้อนถึงเครื่องชี้กิจกรรมตลาดการสั่งอาหารยังที่พักที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิดกลับมาระบาดรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจสมัครใช้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักเร่งตัวขึ้นกว่า 60.9% จากไตรมาสก่อนหน้า

ขณะเดียวกันทางฝั่งของผู้บริโภค ดัชนีจำนวนผู้ลงทะเบียนสะสมในเดือนก.ย. 2564 เพิ่มขึ้นกว่า 110% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2563 (ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิดในประเทศ)

ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายพื้นที่การทำตลาดของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารและการทำโปรโมชันด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง น่าจะผลักดันให้ดัชนีจำนวนครั้งในการสั่งอาหารของผู้บริโภคในปี 2565 จะอยู่ที่ 477 (ฐาน 100 ที่ปี 2561) เพิ่มขึ้น 2.9% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564

ยอดสั่งซื้อต่อครั้งเพิ่มขึ้นเป็น 193 บาท 

สำหรับราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้งในปี 2565 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราที่จำกัด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และกำลังซื้อของครัวเรือนที่เปราะบาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2565 ยอดสั่งซื้อต่อครั้งน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 193 บาท เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 190 บาท โดยการเพิ่มขึ้นเป็นผลหลักจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนของร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ต้นทุนแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิดที่ยังมีต่อเนื่อง

ขณะที่ประเภทอาหารที่ผู้บริโภคนิยมสั่ง อาจจะยังคงเป็นกลุ่มที่ตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่า ความสะดวก และรสชาติที่แตกต่าง โดยจากข้อมูล LINE MAN Wongnai พบว่า ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา อาหารยอดนิยมได้แก่ ร้านเบเกอรี่และเครื่องดื่ม (เช่น กาแฟ ชานมและน้ำผลไม้) อาหารตามสั่ง อาหารอีสาน เป็นต้น

ด้านความหลากหลายและจำนวนร้านอาหารสะสมที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการรุกขยายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จากเดิมที่ก็สูงอยู่แล้ว จะทำให้การแข่งขันในตลาดยังมีความรุนแรง และการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหรือโปรโมชันจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้ราคาอาหารน่าจะปรับขึ้นได้จำกัด

ปี 65 มูลค่าตลาด “ฟู้ดเดลิเวอรี่” โตแตะ 7.9 หมื่นล้าน

จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการสั่งและราคาดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี 2565 (ฐานคำนวณใหม่ รวมร้านอาหาร เบเกอรี่และเครื่องดื่ม) จะมีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 2564 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในกรณีที่โอไมครอนมีการระบาดรุนแรง ตลาดการจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าคาด

โดยกลุ่มร้านอาหารที่มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าภาพรวม ได้แก่ ร้านอาหาร Limited Service (เช่น เบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด เป็นต้น) และ Street food ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักให้ความสำคัญในการทำการตลาดและขยายพอร์ตร้านอาหารบนแพลตฟอร์มของตน

กลุ่มร้านอาหารเต็มรูปแบบ และกลุ่มร้านเครื่องดื่ม เบเกอรี่ อาจเป็นกลุ่มที่ชะลอลง ภายใต้เงื่อนไขที่โควิดยังอยู่แต่ไม่รุนแรง ทำให้ประชาชนบางส่วนออกไปทานนอกบ้านมากขึ้น และบางกิจการทยอยให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม รายได้สุทธิของแต่ละร้านอาหาร คงขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะของแต่ละราย

“ผู้ประกอบการร้านอาหารยังจำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยเน้นไปที่เมนูอาหารที่ชูความคุ้มค่าด้านราคาและคุณภาพ มีเอกลักษณ์ที่หาทานที่อื่นได้ยาก เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เเละยังจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนทั้งวัตถุดิบ แรงงาน ครัวกลาง ช่องทางการขาย อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของกระแสเงินสดและมีส่วนต่างกำไรหล่อเลี้ยงกิจการอย่างสม่ำเสมอ” 

 

 

]]>
1366380
จาก #เเบนfoodpanda สู่ผลกระทบต่อ ‘ไรเดอร์’ เสียงสะท้อนในวิกฤต งานยิ่งน้อย รายได้ยิ่งลด https://positioningmag.com/1343796 Thu, 22 Jul 2021 13:07:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1343796 กระเเส #เเบนfoodpanda สั่นสะเทือนฟู้ดเดลิเวอรี่ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ที่เข้ามาทำตลาดในไทย ทั้งในเเง่เเบรนด์ดิ้ง กลุ่มลูกค้าเเละพาร์ตเนอร์ร้านอาหารที่ลดลง จากการลบบัญชีถอนตัวจากเเพลตฟอร์ม ที่สำคัญผลกระทบครั้งนี้ ได้ส่งผลโดยตรงไปยังไรเดอร์ที่ทำหน้าที่รับส่งอาหาร ซ้ำเติมรายได้ที่หดหายไปในช่วงวิกฤตโรคระบาด

ย้อนกลับไป foodpanda (ฟู้ดเเพนด้า) เป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่ทำตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยมาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งตอนนั้นกระเเสเดลิเวอรี่ไม่ได้บูมเช่นปัจจุบัน โดยเริ่มรุกตลาดต่างจังหวัดไปที่เชียงใหม่’ พร้อมกระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ จนครบ 77 จังหวัด ครองตลาดภูธรได้อย่างเหนียวเเน่น ด้วยกลยุทธ์ ‘Hyperlocalization’  

ปัจจุบัน มีร้านอาหารที่แอคทีฟบนแพลตฟอร์ม (มีออเดอร์ทุกวัน) มากกว่า 140,000 กว่าแห่ง เเละมีจำนวนไรเดอร์มากกว่าเเสนราย

หากเเบ่งเป็นสัดส่วนจะเห็นว่า กว่า 90% เป็นร้านอาหารรายย่อยแบบสแตนด์อะโลน ส่วนอีก 10% เป็นร้านอาหารของเชนแบรนด์ใหญ่ เเละมีคำสั่งซื้อจากต่างจังหวัดสูงถึง 50% ของออเดอร์ทั้งหมด

นั่นเเสดงว่า ผลกระทบครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เเค่ไรเดอร์ในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น เเต่ยังกระจายไปยังไรเดอร์ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศด้วย

ในต่างจังหวัด ปกติออเดอร์ต่อวันก็น้อยอยู่แล้ว หลังมีกระแสแบนก็ยิ่งน้อยลงไปอีกไรเดอร์รายหนึ่ง บอกกับ Positioningmag

โดยไรเดอร์ foodpanda อีกคนกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับออเดอร์วันละ 20 ครั้งขึ้นไป เเต่เมื่อวานนี้ได้รับงานเเค่ออเดอร์เท่านั้น จากรายได้ 700-1,000 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้เหลือไม่เกิน 300-400 บาท ซึ่งถือว่าน้อยลงเท่าตัว เเละไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในชีวิตประจำวัน

เมื่อยอดสั่งซื้อจากลูกค้าลดลงตามกระเเสบอยคอต ประกอบกับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุด ต้องปิดให้บริการ (พร้อมงดเดลิเวอรี่) ตามคำสั่งมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ก็มีส่วนทำให้ยอดรับงานของไรเดอร์ลดลงตามไปด้วย ซ้ำเติมไรเดอร์รายใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ยังไม่ได้เริ่มทำงาน เเละยังไม่มีรายได้ 

จากยอดว่างงานที่พุ่งสูง หลายคนหันมาประกอบอาชีพไรเดอร์ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เเต่การ ลงทุนเริ่มต้น ก็ไม่ได้ราคาถูกเท่าไหร่นัก นอกจากจะต้องมียานพาหนะเเล้ว ก็ต้องลงทุนซื้อเสื้อ กระเป๋าอุปกรณ์เริ่มต้นที่ 850 -กว่าพันบาทเลยทีเดียว

ย้าย หรือ ไม่ย้าย ? 

บางส่วนมองว่า หากกระเเส #เเบนfoodpanda ส่งผลกระทบวงกว้างเเละยาวนานกว่าที่คิด ก็จำเป็นต้องย้ายค่าย ไปทำกับเเบรนด์อื่น ขณะที่หลายคนก็รับงานหลายเจ้าอยู่เเล้ว เพื่อกระจายความเสี่ยง

เเหล่งข่าวไรเดอร์รายหนึ่ง อธิบายถึงจุดเด่นจุดด้อย’ จากมุมมองของคนขับในการร่วมงานกับ foodpanda เมื่อเทียบกับฟู้ดเดลิเวอรี่รายอื่นๆ ให้ Positioningmag ฟัง โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น

[จุดเด่น]

ระบบจ่ายงานของ foodpanda จะวิ่งเข้ามาที่แอปฯ ของคนขับโดยตรง ไม่ต้องเเย่งชิงเเละจ้องจอมือถือตลอดเวลา ทำให้สามารถทำอย่างอื่นระหว่างรองานได้ ต่างจากบางบริษัทที่จะเป็นระบบกดแย่งงานที่มีการเเจ้งเตือนไปหาคนขับหลายคนใครกดไวกว่าถึงจะได้งานซึ่งเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดมากเเละต้องกดรับงานให้ทันในเสี้ยววินาที

ดังนั้นไรเดอร์ที่มีข้อได้เปรียบอย่าง ใช้โทรศัพท์สเปกสูง อินเทอร์เน็ตเเรง เเละอยู่หน้าจอตลอด ก็มีโอกาสได้งานมากกว่า

โดย foodpanda ยังมีระบบการทำงานที่คล้ายๆ งานประจำคือ ต้องมีการจอง ‘shift’ จอง ‘zone’ บริเวณที่จะวิ่งงานล่วงหน้า และต้องทำงานให้เต็มเวลาของ shift ที่ตัวเองเลือกไว้ ต่างจากบางเเบรนด์ที่พอมีเวลาว่างค่อยมาเปิดแอปฯ ก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของเเต่ละคน

ข้อดีคือได้รับงานค่อนข้างสม่ำเสมอกว่าแอปฯ อื่นๆ เพราะการจอง shift จอง zone ทำให้จำนวนคนที่ได้เข้ามาวิ่งงานอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับจำนวนงานเเหล่งข่าวระบุ

Photo : Shutterstock

[จุดด้อย]

ค่าตอบเเทนต่อเที่ยวของ foodpanda นั้นน้อยกว่าเจ้าอื่น โดยเฉลี่ยที่ประมาณ ‘ 30 บาทนิดๆและไม่ได้รับเงินทันทีหลังจบงาน แต่ต้องรอรับตามรอบที่บริษัทจ่ายให้

อีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการย้ายไม่ย้ายค่ายนั่นก็คือ การเปิดรับของบริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่ ว่าช่วงนี้รับคนอยู่หรือไม่ซึ่งโดยปกติอาชีพไรเดอร์ก็มักจะไม่ได้ยึดติดกับการทำงานที่ใดที่หนึ่งอยู่แล้ว

ผมว่าไรเดอร์ส่วนมากก็มีไอดีหลายค่าย ค่ายไหนผลตอบแทนดี หรือช่วงไหนมีโบนัสก็ไปวิ่งค่ายนั้น เเต่เมื่อตลาดบูม จำนวนคนขับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่สัมพันธ์กับจำนวนงาน ทำให้ได้งานน้อยลง รายได้ก็ลดลง เพราะมีคนมาหารมากขึ้น

ตอนนี้ใครยังวิ่งงานให้เเค่เเอปฯ เดียว อาจจะต้องรีบหาแผนสำรองเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หากเกิดกรณีเช่นนี้อีก

จากที่ผ่านมาบริษัทจะเปิดรับไรเดอร์เเบบไม่จำกัด’ เเต่ตอนนี้เริ่มจำกัดจำนวนไรเดอร์บ้างแล้ว บางเเห่งยังเปิดรับต่อเนื่องเเต่ก็ใช้เวลารับเข้าระบบนานกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องนโนบายการคัดกรองไรเดอร์ก่อนรับงานที่เเต่ละบริษัทจะมีกฎระเบียบ ‘เข้มงวดหละหลวม’ ไม่เหมือนกันด้วย เช่น เรื่องการตรวจประวัติอาชญากรรม ระยะเวลาสิ้นสุดคดีความ กรณีต้องเอาใบบริสุทธิ์มายื่น เป็นต้น

กลุ่มไรเดอร์ ร้องเเบรนด์รับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำขอโทษ 

ด้านความเคลื่อนไหวของ foodpanda หลังกระเเสบอยคอต ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ โดยเน้นย้ำว่าบริษัทเคารพสิทธิและเสรีภาพทางความคิด จะไม่ปลดไรเดอร์ให้พ้นสภาพ พร้อมเดินหน้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เเละจะไม่ตอบความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมบนทุกสื่ออีก

ในขณะที่ทางกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าสหภาพไรเดอร์ ตอบโต้ว่า เเม้ foodpanda จะออกแถลงการณ์มาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ผลกระทบที่ทางไรเดอร์ได้รับนั้นยังคงดำรงอยู่และต้องมีไรเดอร์จำนวนมากเข้ามาร่วมรับชะตากรรมจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของบริษัทในครั้งนี้ รวมถึงร้านค้าต่างๆ ที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทด้วย

บริษัทจำเป็นต้องมีการประกาศการเคารพเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง และมีการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานในการทำงานของไรเดอร์

สหภาพไรเดอร์ ได้เรียกร้องให้ foodpanda ปรับเปลี่ยนสัญญา สภาพการจ้าง การทำงาน ให้เกิดความเป็นธรรมกับไรเดอร์ และร้านค้า เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคำขอโทษ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

  • ขอให้บริษัทจ่ายค่าตอบแทนให้กับไรเดอร์ไม่ต่ำกว่า ออเดอร์ละ 25 บาท ทั่วประเทศ
  • ขอให้บริษัทยกเลิกการเก็บเงินค่าอุปกรณ์การทำงาน ได้แก่ ชุดทำงานและกล่องใส่อาหาร โดยไรเดอร์สามารถนำชุดทำงานเก่าและกล่องใส่อาหารที่ชำรุด มาแลกของใหม่จากบริษัทได้ ปีละ 1 ชุด
  • ขอให้บริษัท ลดราคา ค่า GP จากเดิม 30% ให้เหลือ 15% และงดเก็บค่า GP กับร้านค้าเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม 2564

งานน้อยลง = รายได้น้อยลง

เมื่อถามถึงโอกาสเเละความท้าทายของการทำงานของไรเดอร์ในช่วงวิกฤตโรคระบาด

ไรเดอร์รายหนึ่ง ตอบว่า งานนี้มันไม่ได้ซับซ้อนมาก เเต่หัวใจหลักคือจัดส่งของให้ถึงผู้รับในสภาพสมบูรณ์ ให้รวดเร็วที่สุด ส่วนรายได้ก็เป็นไปตามปริมาณงานที่ทำ คนไหนทำมากก็ได้มาก ซึ่งความท้าทายที่สุดก็คงจะเป็นความกดดันจากงานที่น้อยลง ซึ่งก็คือรายได้ที่น้อยลงไปด้วย

โดยสิ่งที่อยากจะฝากให้เเบรนด์ฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างๆ คำนึงถึงไรเดอร์มากขึ้น เป็นมีเเนวทางกว้างๆ อย่างเช่น เพิ่มสวัสดิการเเละการดูเเลจากต้นสังกัดมากขึ้น บางคนต้องการมีชั่วโมงการทำงานที่ชัดเจน เเละมีประกันรายได้ ฯลฯ

ขณะที่อีกด้านก็มีไรเดอร์บางส่วน มองว่า การนำอาชีพนี้เข้าสู่ระบบอาจจะทำให้อิสระในการทำงานหายไป เช่น อาจจะเลือกวันและเวลาทำงานตามความสะดวกไม่ได้เท่าที่ควร หรืออาจจะไม่สามารถวิ่งหลายเจ้าพร้อมกันได้เหมือนเดิม

เหล่านี้ เป็นนานาทัศนะจากไรเดอร์หนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นเหมือนฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำหน้าที่สำคัญๆ ในยามล็อกดาวน์

การกระทำขององค์กร ควรไตร่ตรองให้ดีก่อน เพราะนั่นคือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อมาถึงพวกเราทุกคน…

 

 

 

]]>
1343796
ฟู้ดเดลิเวอรี่ ‘โรบินฮู้ด’ ให้เช่า ‘มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า’ วันละ 120 บาท รวมประกัน-เปลี่ยนเเบตให้ (ไม่ต้องชาร์จเอง) https://positioningmag.com/1337594 Thu, 17 Jun 2021 08:53:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1337594
ฟู้ดเดลิเวอรี่ ‘โรบินฮู้ด’ ให้เช่า ‘มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า’ เพียงวันละ 120 บาท รวมทั้งค่าประกัน-เปลี่ยนเเบตฯ ให้ (ไม่ต้องชาร์จเอง) ประเดิม 200 คัน ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ให้บริการ 1,500 คัน มีจุดเปลี่ยนเเบตฯ 100 เเห่ง ตามสาขาใกล้ชุมชนของธนาคารไทยพาณิชย์

พร้อมประกาศเพิ่มรายได้ให้ ‘ไรเดอร์’ ปรับอัตราค่ารอบใหม่ 2 กิโลเมตรแรกเพิ่มขึ้น 7.5% เริ่มต้นที่ 43 บาท (จากเดิม 40 บาท) ไม่หักเปอร์เซ็นต์

Robinhood EV Bike จะมีรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทย 2 เเบรนด์ให้เลือกตามความชอบ ได้เเก่ ETRAN และ H SEM ในราคาวันละ 120 บาท เบื้องต้นให้บริการ 200 คัน จุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ 18 จุดทั่วกรุงเทพฯ กรณีรถมีปัญหาหรือเเบตฯ หมดกลางทาง ต้องการความช่วยเหลือ จะมีทีมลงพื้นที่ไปซ่อมให้

สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ETRAN รุ่น MYRA ออกเเบบมาเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะ เป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม เน้นขนาดเล็กเเต่วิ่งได้เร็ว โดยทำความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทางสูงสุด 180 กิโลเมตร/การชาร์จ

รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ETRAN รุ่น MYRA

ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า H SEM รุ่น MOBILA G มีการเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ให้เหมาะกับไรเดอร์มากขึ้น ด้วยความเร็วสูงสุด 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทางสูงสุด 140 กิโลเมตร/การชาร์จ

โดยจุดเปลี่ยนเเบตเตอรี่นั้น จะกระจายตามสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ นำร่องเเล้วที่ SCB สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่จอดรถ มีระบบรักษาความปลอดภัย ไรเดอร์ไม่ต้องรอชาร์จไฟเอง เพียงมาเปลี่ยนเเบตฯ ซึ่งใช้เวลาเพียง 3-5 นาที (ค่าเช่า 120 บาท เปลี่ยนเเบตฯ กี่ครั้งก็ได้ในหนึ่งวัน)

รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า H SEM รุ่น MOBILA G

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิพิเศษสำหรับผู้เช่า ’Robinhood EV Bike’ เกิน 1,000 วัน จะสามารถซื้อรถมาเป็น ‘ของตัวเอง’ ได้ในราคาหลักพันเท่านั้น (เงื่อนไขการเปลี่ยนเเบตฯ ขึ้นอยู่กับเเบรนด์ผู้ผลิต)

ปัจจุบัน ‘โรบินฮู้ด’ มีร้านค้าในเเพลตฟอร์ม 97,000 ร้าน ยอดผู้ใช้ 1 ล้านคน มีไรเดอร์ทั้งหมดประมาณ 15,000 คน เเอคทีฟวันละ 5,000-6,000 คน จากผลสำรวจพบว่า ไรเดอร์ที่มีรถเป็นของตัวเอง มีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเเละค่าบำรุงรักษาต่างๆ เฉลี่ยประมาณเดือนละ 8,000 บาท ซึ่งบริษัทประเมินไว้ว่าหากเช่ารถ EV Bike ในราคาดังกล่าว จะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงราว 4,000 บาทต่อเดือน

โดยในปีนี้ ตั้งเป้าว่าไรเดอร์จะมาใช้บริการ Robinhood EV Bike ราว 1,500-2,000 คน ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด เเละอัตราการผลิต โดยมุ่งเจาะกลุ่มผู้ที่สนใจทำอาชีพส่งอาหาร ทั้งที่มีหรือไม่มีรถจักรยานยนต์เป็นของตนเอง ช่วยสร้างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

พร้อมกันนั้น ได้เปิดตัว “โรบินฮู้ด ไรเดอร์ แอปพลิเคชัน” แพลตฟอร์มใหม่สำหรับคนส่งอาหารโดยเฉพาะ (Google Play เปิดให้ดาวน์โหลดเเล้ว – App Store รออีก 1-2 เดือน ) เพื่อเเก้ปัญหาการกระจายงานให้ทั่วถึง เพิ่มฟีเจอร์ ‘ให้ทิป’ เเละอื่นๆ เตรียมขยายบริการสู่ธุรกิจรับ-ส่งของ (Express Services) และบริการด้านสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต (Mart Service) เพิ่มรายได้ให้ไรเดอร์ในช่วงนอกเวลาขายดีของการรับส่งอาหาร

]]>
1337594
บทเรียนก้าวเเรกของ ‘Robinhood’ ได้ใจร้านเล็ก กับเส้นทางอนาคต เมื่อจะไม่เก็บค่า GP ‘ตลอดไป’ https://positioningmag.com/1319725 Fri, 19 Feb 2021 08:20:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319725 เป็นเวลาร่วม 3 เดือนกว่าเเล้วที่ ‘Robinhood’ น้องใหม่ฟู้ดเดลิเวอรี่ฝีมือคนไทยจากค่ายเเบงก์ SCB เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ท่ามกลางความลุ้นระทึกว่าจะ ‘รอด’ หรือจะ ‘ร่วง’ 

จากเป้าหมายเล็กๆ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส หวังจะช่วยร้านอาหารไทยที่กำลังประสบปัญหาอ่วมค่า GP’ ให้เหลือรายได้เพิ่มขึ้น จนมาถึงวันนี้ที่ Robinhood ‘สอบผ่าน’ มีกระเเสตอบรับอย่างดี เเละพร้อมประกาศจะไม่เก็บค่า GP ตลอดไป

อะไรคือสิ่งที่ ‘Robinhood’ ได้เรียนรู้ เป้าหมายที่เเท้จริงเเละเส้นทางธุรกิจต่อไปจะเป็นเช่นไร จะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ เเบบไหนที่กำลังจะปล่อยออกมาลองของในตลาดอีกบ้าง Positioning จะพามาหาคำตอบกัน

อินไซต์น่าสนใจของ Robinhood

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการอัปเดตตัวเลขสถิติผู้ใช้เเอปพลิเคชัน Robinhood ออกมาให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยรวมถือว่าเกินคาดจากเป้าหมายที่ทีมงานวางไว้

  • มีลูกค้าทะเบียนในระบบกว่า 580,000 ราย
  • ร้านอาหารในระบบกว่า 55,000 ร้านค้า
  • ไรเดอร์ที่พร้อมให้บริการกว่า 11,500 ราย
  • ยอดสั่งอาหารออเดอร์เดียวสูงสุด 3,528 บาท
  • ลูกค้าสั่งอาหารไกลที่สุด 45 กิโลเมตร
  • มีลูกค้าคนเดิมสั่งอาหารสูงสุดถึง 18 ออเดอร์ใน 1 สัปดาห์
  • รายการอาหารทั้งหมดในระบบ 1.6 ล้านรายการ
  • มีร้านอาหารกว่า 8,200 ร้าน เข้าร่วม LS ที่ให้ส่วนลดกับลูกค้า
  • มีปลาแซลมอนรวมกว่า 5 ตันถูกสั่งจากเเอป Robinhood
  • ไรเดอร์คนหนึ่งเคยรับงานสูงสุดถึง 44 งานต่อวัน
  • 74% ของไรเดอร์ เลือกทำ Robinhood เป็นงานเสริม
10 ร้านอาหารยอดนิยมบน Robinhood 
  • มนต์นมสด (สาขา เสาชิงช้า)
  • รุ่งเรืองตั๋ง ก๋วยเตี๋ยวหมูสุขุมวิท 26 (เจ้าเก่า) ห้องหัวมุม
  • Oba San 168
  • หน่องริมคลอง
  • ไก่ทอดเจ๊กี (โปโล)
  • โจ๊กสามย่าน บรรทัดทอง
  • ข้าวหมูแดงสีมรกต
  • ประจักษ์เป็ดย่าง
  • ซ้งเป็ดพะโล้
  • ไข่หวานบ้านซูชิ จามจุรีแสควร์

คำค้นหายอดนิยมสูงสุด ได้เเก่ แซลมอน, โจ๊ก, ก๋วยเตี๋ยว, ข้าวมันไก่เเละส้มตำ

พื้นที่ที่มีการสั่งออเดอร์เยอะที่สุด ได้เเก่ จตุจักร, ห้วยขวาง คลองเตย

โดยไรเดอร์มีช่วงเวลาในการรับงานเฉลี่ย 12 วินาทีต่อการสั่ง เเละมีรายได้จากการให้บริการรับส่งอาหารเฉลี่ยรอบละ 40-50 บาท 

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

‘ไม่มีคนชมว่าเราถูก เเต่ก็ไม่มีใครด่าว่าเราแพง’ 

คำกล่าวของ โจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกของ SCB ที่พัฒนา Robinhood ขึ้นมาเป็นหนึ่ง CSR Project ของธนาคาร ที่ได้รับเงินทุนเพื่อช่วยสังคมราว 150 ล้านบาทต่อปี

การฉีกเเนวธุรกิจเเบงก์ มาลงทุนในศึกฟู้ดเดลิเวอรี่’ เมืองไทยของ SCB ครั้งนี้ สั่นสะเทือนวงการไม่น้อย จี้จุด Pain Point อย่างการไม่คิด GP ไม่คิดค่าสมัคร โอนเงินไวใน 1 ชั่วโมง

ท่ามกลางศึกฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เเข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่าน ‘เผาเงิน’ เเจกโปรโมชันกันเป็นว่าเล่น เเม้ตอนเเรก Robinhood บอกว่าจะไม่ทุ่มงบการตลาดเเบบเจ้าอื่น เพราะในงบร้อยกว่าล้านต่อปีนั้น เป็นงบที่รวมทุกอย่าง’ ทั้งการจัดการ พนักงาน ระบบหลังบ้านและเครือข่าย ซึ่งจะมีงบด้านการตลาดเหลืออยู่ไม่ถึง 20 ล้านบาท จึงเลือกจะไม่นำไปใช้เพื่ออัดโปรโมชัน

เเต่ตอนนี้หลังได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆ ก็จำเป็นต้อง ‘ขอทุนเพิ่ม’ จากบอร์ดบริหารเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโต

ปัจจุบัน Robinhood รั้งอันดับ 4 ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เมืองไทย (ไม่ได้เป็นตัวเลขทางการ) เเต่ทางทีมประมาณการจากสถิติการสั่งออเดอร์ โดยอันดับ 1 เป็นของเจ้าใหญ่อย่าง GrabFood รองลงมาคือ FoodPanda ส่วนอันดับ 3 เป็นของ LINE MAN เเละตามมาด้วย Robinhood

LS is Key : เพราะไม่มีค่า GP จึงมีส่วนลดจาก ‘ร้านค้า’ 

กลยุทธ์การตลาดหลักๆ ที่ Robinhood จะนำมาทำโปรโมชันคือ LS ส่วนลดจากร้านค้าเอง ซึ่งเกิดจากการที่ทีมงานได้เข้าไปพูดคุยกับร้านค้าว่า เมื่อไม่เสียค่า GP ราว 30-35% (คอมมิชชันที่ต้องจ่ายให้เเพลตฟอร์ม) เเล้ว พอจะให้ ‘ส่วนลดเพิ่มเติม’ กับลูกค้าได้หรือไม่ ซึ่งร้านค้าจำนวนมากก็มีความสนใจเเละให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ปัจจุบันมีร้านค้าเลือกให้ส่วนลดกับผู้ใช้ราว 15% จากจำนวนร้านค้าทั้งหมด มีโปรโมชันส่วนลดเฉลี่ยราว 8-20% ต่อรายการ นอกจากนี้ยังถือเป็นการโปรโมตร้านขึ้นบนหน้าเเอปฯ ให้เห็นได้ง่ายไปในตัวด้วย

ก้าวเเรกเเละสิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ธนา เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้หลังเปิดให้บริการ Robinhood มาได้ 3 เดือนกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเเก้ไขเเละนำไปพัฒนาต่อไป หลักๆ ได้เเก่

  • ‘ออเดอร์หลอก’ ของร้านค้าและไรเดอร์ 

ในช่วงการเปิดตัวของ Robinhood บริษัทได้เเจก ‘โค้ดส่วนลดโดยไม่จำกัดการซื้อ’ ทำให้ร้านค้าและไรเดอร์ จำนวน 4 ร้านร่วมมือกับไรเดอร์ไม่กี่คน สั่งออเดอร์โดยใช้โค้ดส่วนลดผ่านระบบ และให้ไรเดอร์ที่ร่วมมือซึ่งอยู่ใกล้ร้านที่สุดเป็นคนกดรับออเดอร์ ร้านค้าจึงได้รับเงินจากโค้ดส่วนลด และไรเดอร์ได้รับค่าส่ง เเม้ไม่มีการซื้อขายจริงเกิดขึ้น ซึ่งทางทีมงานเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้น เพราะมีการมอนิเตอร์ข้อมูลตลอด

กรณีนี้ทำให้ Robinhood เสียหายราว 1 เเสนบาท จากนั้นทีมงานจึงเเก้ไขด้วยการมียอดซื้อขั้นต่ำก่อนใช้ส่วนลด

  • ต้องมัดใจร้านค้าเล็กๆ ให้ได้ก่อนเชนใหญ่

จากการประสานงานต่างๆ พบว่า ร้านค้าเชนใหญ่ เเม้จะเป็นเป้าหมายที่สร้างรายได้กว่าครึ่งหนึ่งบนฟู้ดเดลิเวอรี่ทั่วไป เเต่การติดต่อเพื่อให้เข้ามาในระบะมีความยากลำบากมาก เเละมี ‘ต้นทุน’ ที่ต้องเสียเยอะ จึงหันไปหา ‘ร้านเล็ก’ ให้ได้มากที่สุด เรียกได้ว่ามากกว่า 90% ของเเพลตฟอร์ม

เมื่อมีเสียงตอบรับดี กลายเป็นว่าร้านอาหารเชนใหญ่ มองเห็นโอกาสลูกค้าเเละเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรเองมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็มีร้านดังในเครือไมเนอร์ , CRC , The Mall และสยามพิวรรธน์

  • เเอปพลิเคชั่น SCB ระบบล่ม

โดยเฉพาะในช่วงวันเงินเดือนออก ส่งผลให้การสั่งซื้ออาหารผ่าน Robinhood ก็ล่มตามไปด้วย เพราะมีช่องทางการชำระเงินผ่านระบบ SCB Easy และบัตรเครดิต ซึ่งจะมีการประสานงานระบบหลังบ้านกันต่อไป พร้อมขยายช่องทางชำระเงินอื่นๆ

  • มารยาทดี คือจุดขาย 

หลังจากเปิดตัวมาได้สักพัก ฟีดเเบ็กที่ได้รับมากที่สุดคือการบอกว่าไรเดอร์ ‘มารยาทดี’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรียนรู้ว่าลูกค้าให้ความสำคัญกับการบริการมาก อย่างการ ‘พูดเพราะ-ยกมือไหว้’ ก็เป็นสิ่งเล็กๆ ที่ลูกค้าประทับใจ โดยทางธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้จัด ‘อบรมไรเดอร์’ เอง หลังจับมือกับ Skootar สตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการส่งเอกสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีคนขับในสังกัดประมาณ 10,000 ราย

Robinhood จะทำอะไรต่อไป ?

สำหรับเเผนในปี 2564 ของ Robinhood ตั้งเป้ามีจำนวนผู้ใช้งาน 1 ล้านราย เพิ่มจำนวนร้านค้าให้ได้ 150,000 ร้าน มีไรเดอร์ 20,000 ราย จำนวนออเดอร์มากกว่า 25,000 รายการต่อวัน และมียอดธุรกรรมที่เกิดขึ้นราว 1.6 พันล้านบาท

พร้อมขยายบริการไป ‘ต่างจังหวัด’ เบื้องต้นที่วางไว้มี 5 จังหวัดคือ เชียงใหม่, ภูเก็ต, พัทยา, นครราชสีมา และขอนแก่น เเต่เนื่องจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้ต้องเลื่อนเมืองท่องเที่ยวออกไป เเละเริ่มที่นครราชสีมา และ ขอนแก่น ก่อน

สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส บอกว่า กลยุทธืการเพิ่มจำนวนร้านอาหารในเเพลตฟอร์ม ทำควบคู่กันไปทั้ง ‘ออนไลน์-ออฟไลน์’ มีการโปรโมททางโซเชียลมีเดีย เเละให้พนักงานตามสาขาของธนาคารออกไปหาร้านค้าที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง เข้าไปช่วยทั้งการดาวน์โหลด ถ่ายรูปภาพอาหาร เเละให้คำเเนะนำต่างๆ รวมถึงนำเสนอเเอปฯ กับผู้ที่มาใช้บริการในสาขาด้วย

โดยปีนี้จะเริ่มเปิดรับร้านอาหาร ‘แบรนด์ดัง’ ต่างๆ เข้ามาเพื่อขยายฐานผู้ใช้ให้กว้างขึ้น มีเเคมเปญการตลาดกระตุ้นการใช้จ่าย ไปพร้อมๆ กับการออก ‘ฟีเจอร์’ ใหม่ พัฒนาเเอปพลิเคชั่นให้เท่าทันตลาด เช่น

  • มีระบบแผนที่ ติดตามตำแหน่งของไรเดอร์
  • ระบบการจ่ายเงินผ่านบริการเงินดิจิทัลอื่น ๆ นอกเหนือจาก SCB
  • สามารถสั่งอาหารหลายออเดอร์พร้อมกันได้
  • บันทึกร้านที่ลูกค้าชื่นชอบ
  • ระบบรีวิวร้านค้า-ไรเดอร์
  • นำแต้มบัตรเครดิตมาจ่ายโดยตรงได้
  • จัด ‘เพลย์ลิสต์’ ร้านอาหารตามสไตล์ของผู้ใช้ อารมณ์เหมือนเพลย์ลิสต์ในเเอปฯ ฟังเพลง
  • ส่วนร้านค้าจะมีระบบจัดการร้านเเละสาขาง่ายขึ้น ล็อกอินพร้อมกันได้หลายเครื่องเเละใช้งานร่วมกับ POS ได้

นอกจากนี้ Robinhood จะเปิดให้บริการ ‘ซื้อสินค้าในตลาดสด’ โดยจะนำร่องที่ตลาดเสนีย์ ฟู้ดมาร์เก็ต, ตลาดมีนบุรี , ตลาดถนอมมิตรเเละตลาดบางใหญ่ ก่อนจะขยายให้ครบ 9 ตลาด ตามข้อตกลงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

-สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส

เปิดให้เช่ารถมอเตอร์ไซค์ EV ร้อยกว่าบาทต่อวัน

ในส่วนของ ‘ไรเดอร์’ Robinhood โปรเจ็กต์ใหม่ที่น่าสนใจมาก นั่นก็คือการ ให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารายวัน เริ่มเเรกจะทดลองราว 200-400 คัน ส่วนราคานั้นประมาณไว้อยู่หลัก ‘ร้อยกว่าบาท’ เพื่อให้คนขับมีรายได้เหลือในการทำงาน หรือชาร์จไฟเองที่บ้านได้

โดยวางเเผนจะมีจุดชาร์จแบตเตอรี่ประมาณ 500 จุดทั่วกรุงเทพฯ เน้นใช้พื้นที่ใน ‘ตึกสาขา’ ของไทยพาณิชย์ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดี หรือจะชาร์จไฟเองที่บ้านก็ได้ คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวได้ในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ หลังจากทำข้อตกลงกับพาร์ทเนอร์เรียบร้อย

เป้าหมายรายได้ที่เเท้จริงคือ B2B

ธนา ย้ำว่าจุดมุ่งหมายของ Robinhood ยังคงเป็นการช่วยเหลือ ‘คนตัวเล็ก’ ฉะนั้นการไม่เรียกเก็บ ‘ค่า GP’ จะคงอยู่ตลอดไป

เเต่เมื่อลงมือทำธุรกิจก็ต้องมีรายได้เป็นธรรมดา ซึ่งในปี 2565 เเอปฯ จะเริ่มสร้างรายได้ด้วยการเป็น B2B Platform ที่มีข้อได้เปรียบจากการมีฐาน ‘ร้านอาหาร SMEs’ หลายเเสนร้านในระบบ 

“ฟู้ดเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่อยากโตไปเป็นเเบงก์ อยากโตเเล้วปล่อยกู้ เเต่เรามีเเต้มต่อคือเป็นเราเเบงก์อยู่เเล้ว”

เเละการเข้ามาเเบบ Late Comer ยิ่งต้องกลับหัวตีลังกา กลยุทธ์ไม่เรียกเก็บค่า GP สวนทางกับเจ้าอื่น เป็นหัวใจหลักที่ทำให้ Robinhood ได้ใจร้านค้า พอ ‘ได้ใจ’ กันเเล้วก็ไปต่อยอดทำธุรกิจอื่นได้ง่าย

โดยสเต็ปต่อไปจะเป็นการเข้าไปช่วยจัดการ Financial Service ช่วยการจัดการต่าง ๆ ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ เป็นตัวกลางระหว่างร้านค้ากับซัพพลายเออร์ เเละจะเข้าไปช่วยในด้าน Business Service พร้อมๆ กับการช่วยทำมาร์เก็ตติ้ง จากข้อมูลดาต้าผู้ใช้ที่มีอยู่

นี่คือทิศทางการหารายได้ต่อไปของ Robinhood ที่นอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่อ ให้ครอบคลุมทุกการทำธุรกิจ เเละจะทำให้ร้านค้าได้ประโยชน์มากขึ้น

เป็น ‘ก้าวเเรก’ ของฟู้ดเดลิเวอรี่ของคนไทย ที่ต้องติดตามกันต่อไป…

 

 

 

]]>
1319725
ก้าวต่อไปของ Foodpanda ขอเป็น “ฟู้ดเดลิเวอรี่ ภูธร” มุ่งเข้าหา “ร้านอาหารเล็ก” ในชุมชน https://positioningmag.com/1305563 Thu, 12 Nov 2020 10:49:36 +0000 https://positioningmag.com/?p=1305563 หลังเข้ามาตีตลาดในไทยได้ 8 ปี วันนี้ฟู้ดเเพนด้า” (Foodpanda) เดลิเวอรี่ชื่อดังจากเยอรมนี ขยายให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ได้เป็นเจ้าเเรกเเล้ว

อย่างที่ทราบกันว่า ฟู้ดเเพนด้า มีกลยุทธ์หลักคือ Hyperlocalization ขยายไปยังต่างจังหวัดให้ได้มากที่สุด เเตกต่างจากฟู้ดเดลิเวอรี่ยักษ์ใหญ่รายอื่นที่เข้ามาทำตลาดไทย โดยเน้นพื้นที่กรุงเทพฯ เเละปริมณฑลเป็นหลัก

ฟู้ดเเพนด้า เป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่ทำตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทย มาตั้งแต่ปี 2012 ตอนนั้นกระเเสเดลิเวอรี่ไม่ได้บูมเช่นปัจจุบัน บริษัทเริ่มรุกตลาดต่างจังหวัดไปที่เชียงใหม่ในปี 2014 เเละตอนนี้ก็ยังครองตลาดเมืองเหนือได้อย่าง
เหนียวเเน่น

การลงเล่นในสนามฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างจังหวัดนั้นมีโอกาสและความท้าทายอยู่ไม่น้อย

อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่าประชากรไทยมีอยู่ราว 70 ล้านคน อยู่ในกรุงเทพฯ 10 ล้านคน ดังนั้นที่เหลืออีกกว่า 60 ล้านคนคือโอกาสที่จะมาเป็นลูกค้าเรา” 

เเม้ฟู้ดแพนด้าจะให้บริการ 77 จังหวัดเเล้ว เเต่ในต่างจังหวัดก็ยังจะครอบคลุมเเค่พื้นที่ในเมืองเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งก้าวต่อไปที่บริษัทจะต้องทำให้ได้ ก็คือการเข้าถึงพื้นที่ชุมชนที่เล็กกว่านั้นเจาะทั้งอำเภอเเละตำบลต่างๆ

อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย

ปัจจุบัน ฟู้ดเเพนด้ามีจำนวนร้านอาหารอยู่ในระบบราว 120,000 ร้าน เพิ่มขึ้นกว่า 70,000 ร้าน ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา จากอานิสงส์ช่วงล็อกดาวน์จากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีไรเดอร์หรือคนขับ เพิ่มขึ้นเป็นหลักเเสนคน” (จากช่วงกลางปีอยู่ที่ 90,000 คน)

บริษัทเคลมว่า ตอนนี้มีระยะเวลาการจัดส่งอาหารถึงมือผู้สั่งเร็วที่สุดในบรรดาฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยที่ 19.9 นาที จากเดิมในปี 2016 ท่ีมีระยะเวลาส่งเฉลี่ย 45 นาที

ฟู้ดเดลิเวอรี่ “ต่างจังหวัด” …ไม่ง่าย 

หลังการดำเนินกลยุทธ์ Hyperlocalization มาหลายปี มองอะไรเป็นความท้าทายเเละอุปสรรคของการทำตลาดเจาะฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างจังหวัดในไทย

ผู้บริหารฟู้ดเเพนด้า ตอบว่า เเม้วงการนี้จะมีการเเข่งขันที่ดุเดือด เเต่ในต่างจังหวัดยังไม่มีคู่เเข่งมากนัก เป็นโอกาสที่จะไปเปิดฐานลูกค้าใหม่ โดยปัจจุบันบริษัทมีคำสั่งซื้อจากต่างจังหวัดสูงถึง 50% ของออเดอร์ทั้งหมด

เเต่ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องฝ่าฟันต่อไป เช่น ระยะทางของร้านอาหารกับผู้ซื้อที่ห่างกันเเละจำนวนไรเดอร์ก็มีน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่เเละกรุงเทพฯ จึงทำให้มีระยะเวลาการจัดส่งอาหารนานขึ้นตามไปด้วย

อีกทั้งผู้บริโภคต่างจังหวัดในเมืองรอง ยังไม่คุ้นชินกับการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่มากนัก ส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารเเล้วทานที่ร้านเลย

ซึ่งต่อไปฟู้ดเเพนด้าจะพยายามอุดช่องว่างปัญหาเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ผ่านการโปรโมตต่างๆ จัดโรดโชว์เพิ่มการรับรู้เรื่องการใช้เเอปพลิเคชัน เเละอัดโปรโมชันส่วนลด เพื่อดึงดูดให้คนต่างจังหวัดหันมาใช้มากขึ้น

ทั้งนี้ คู่เเข่งรายใหญ่อย่าง Grab ให้บริการใน 32 จังหวัด ส่วน LINE Man WongNai เปิดให้บริการใน 14 จังหวัด , Gojek ให้บริการใน 6 จังหวัด ขณะที่น้องใหม่ Robinhood จากค่ายไทยพาณิชย์ ยังให้บริการเเค่ในกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลือจะเป็นเเอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่เล็กๆ ท้องถิ่นของคนไทย

เจาะ “ร้านเล็ก” ขยาย Grocery 

จำนวนร้านอาหารในระบบของฟู้ดเเพนด้า ล่าสุดที่มีอยู่ราว 120,000 ร้านนั้น หากเเบ่งเป็นสัดส่วนจะเห็นว่า กว่า 90% เป็นร้านอาหารรายย่อยแบบสแตนด์อะโลน ส่วนอีก 10% เป็นร้านอาหารของเชนแบรนด์ใหญ่

เฟลเดอร์ บอกว่า ถือเป็นจำนวนร้านเล็กที่สูงกว่าฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าอื่นๆ เเต่ตลาดเมืองไทยยังมีโอกาสที่บริษัทจะขยายไปได้มากกว่านั้น เพราะยังมีร้านอาหารมากกว่าอีก 3-4 แสนแห่งที่อยู่นอกระบบรอเราอยู่

อย่างที่ทราบกันว่า ความท้าทายของร้านอาหารเล็กๆคือเมื่อเจอการหักค่าธรรมเนียมสูง เเต่ออเดอร์ต่อรายการยังน้อยกว่าเชนใหญ่ ทำให้บางร้านไม่สามารถขายผ่านเเพลตฟอร์มด้วยราคาปกติได้

สำหรับประเด็นการหักค่า GP และการจ่ายเงินร้านอาหารล่าช้านั้น ผู้บริหารฟู้ดเเพนด้า ตอบว่า การหัก GP ในเรตดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้วในแง่ของการดำเนินธุรกิจ

บริษัทต้องพัฒนาเเพลตฟอร์ม ลงทุนด้านดิจิทัลให้ตอบโจทย์กับทุกฝ่าย ทั้งร้านอาหารที่ต้องขายได้ คนขับที่ต้องมีรายได้ เเละลูกค้าที่จะจ่ายในราคาที่สมเหตุสมผล เเละยังต้องช่วยผลักดันยอดขายร้านอาหารนั้นๆ ให้สูงขึ้นตามไปด้วย อย่างการทำตลาดออนไลน์ให้ โดยที่ร้านอาหารไม่ต้องไปลงทุนทำเดลิเวอรี่ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

เป้าหมายต่อไปของฟู้ดเเพนด้า คือการการขยับมาส่งทุกอย่างไม่จำกัดเเค่อาหาร เเต่ครอบคลุมการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างหลากหลาย เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ , ยา , เครื่องสำอาง หรือเเม้กระทั่งดอกไม้

ในช่วงเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ฟู้ดแพนด้าปล่อยฟีเจอร์ “แพนด้ามาร์ท” รับส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ตามโมเดล Quick Commerce การันตีการส่งภายใน 20 นาที นำร่องเปิด 7 โลเคชั่นในกรุงเทพฯ ต่อยอดความสำเร็จจากสิงคโปร์ที่ได้เปิดให้บริการมาเกือบ 1 ปี มีการเติบโต 20-25 เท่า ได้มาปรับใช้ในไทย เป็นอีกโมเดลเพื่อ “เสริมรายได้ทางใหม่”

โดยตั้งเป้าขยาย “แพนด้ามาร์ท” ให้ในครอบคลุม 30 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดผลตอบรับค่อนข้างดี จึงได้เริ่มเปิดที่ “เชียงใหม่” ก่อนจะกระจายไปยังภาคใต้ เริ่มจาก “ภูเก็ต” เเม้ตอนนี้จะยังไม่ได้ทำรายได้ในสัดส่วนที่มากนัก เเต่เป็นอีกช่องทางธุรกิจที่จะเติบโตไปข้างหน้าอย่างเเน่นอน

pandamart

ยิ่งเเข่งดุ…ยิ่งโต 

การเเข่งขันฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทยนั้น ยิ่งจะดุเดือดเเละชิงเค้กกันมากขึ้นตามกระเเสความนิยมเเละทางเลือกที่หลากหลายของผู้บริโภค

ผู้เล่นรายใหญ่ๆ ที่มีสายป่านยาว ยังเผาเงินขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จากการแข่งขันในธุรกิจนี้ เนื่องจากต้องวางรากฐานให้ลูกค้าติดก่อนเเละค่อยหวังผลระยะยาวในอนาคต โดยในปี 2019 ฟู้ดเเพนด้าขาดทุนที่ 1,264.50 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ให้บริการหน้าใหม่เข้ามาไม่ขาดสาย อย่าง Robinhood ของ SCB ที่กระโดดเข้ามาร่วมสงครามนี้ ดูการชูไม่เก็บค่า GP ส่วน LINE MAN ก็ประกาศควบรวมกิจการกับสตาร์ทอัพไทยอย่าง Wongnai ด้าน Gojek ก็รีแบรนด์จาก Get ประเทศไทย

โดยภาพรวมการเติบโตของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยปี 2020  มีปริมาณคำสั่งอาหารต่อวันที่ 1.5 ล้านออเดอร์ นับว่าเติบโตจากปีที่เเล้วราว  6-7 เท่า ชะลอลงจากการเติบโตระหว่างปี 2018-2019 ซึ่งทำได้ที่ 8-9 เท่า

ผู้บริหารฟู้ดเเพนด้า เชื่อว่า ยิ่งตลาดมีการแข่งขันดุเดือดมากเท่าไหร่ตลาดยิ่งโตเเละผู้บริโภคก็ยิ่งได้ประโยชน์มากเท่านั้น ซึ่งตลาดไทยยังมีโอกาสขยายไปได้อีกมาก เเละทิศทางของธุรกิจแพลตฟอร์มสั่งอาหารก็จะเติบโตแบบต่อเนื่อง

 

 

]]>
1305563
มอง “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ของคนไทยในสมรภูมิเดือด “ไม่เก็บ GP – ขอเจาะท้องถิ่น” หนีซูเปอร์เเอปฯ https://positioningmag.com/1288063 Fri, 24 Jul 2020 13:00:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288063 ฟู้ดเดลิเวอรี่ได้รับความความนิยมเพิ่มขึ้นเเบบพุ่งพรวด ในช่วงการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ร้านอาหารทั้งเล็กใหญ่ ต้องปรับตัวเเบบ 360 องศาเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้

จากเดิมช่วงก่อน COVID-19 ร้านอาหารหลายเเห่ง อาจจะมีสัดส่วนการขายหน้าร้านต่อออนไลน์ ประมาณ 90:10 เเต่หลังจากมีโรคระบาด ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทาง ร้านอาหารหลายแห่งต้องหันไปพึ่งพาการขายทางออนไลน์เพื่อประคองธุรกิจ บางเเห่งอาจมีสัดส่วนมากถึง 70:30 หรือ 50:50 เลยก็ว่าได้

เเม้หลังคลายล็อกดาวน์ เราจะสามารถออกมาทานข้าวนอกบ้านได้ตามปกติเเล้ว เเต่เทรนด์การสั่งอาหารออนไลน์จะยังคงอยู่ เพราะผู้คนเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกสบายเเละชอบมีตัวเลือกที่หลากหลาย ดังนั้นร้านอาหารก็ยังคงต้องมุ่งพัฒนาด้านเดลิเวอรี่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดราม่าเรื่อง ค่าส่วนแบ่งยอดขาย (GP Food Delivery) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าค่า GP” ยังคงสร้างความหนักอกหนักใจกับเหล่าร้านอาหารมาตั้งเเต่ก่อนช่วง COVID-19 แม้แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เจ้าใหญ่ๆ ที่มีฐานลูกค้าติดใจใช้งานจำนวนมาก จะช่วยสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมก็จริง แต่ค่าใช้จ่ายที่ทางร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะที่เรียกเก็บกว่า 30-35% อาจทำให้ร้านเล็กๆ ไม่สามารถสร้างยอดขายให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

เป็นที่ฮือฮาอย่างมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา เมื่อ 2 ธนาคารใหญ่ของไทยอย่าง KBank (กสิกรไทย) เเละ SCB (ไทยพาณิชย์) ฉีกเเนวธนาคาร ลงสนามเเข่งในธุรกิจอาหาร ตามคอนเซ็ปต์แบงก์จะไปอยู่ทุกที่ เเละเป็นมากกว่าธนาคาร

การเปิดตัว Robinhood ของ SCB ก็สั่นสะเทือนวงการฟู้ดเดลิเวอรี่ไม่น้อยด้วยประเด็นจี้จุด Pain Point อย่างการไม่คิด GP ไม่คิดค่าสมัคร โอนเงินไวใน 1 ชั่วโมง ท้าทายคู่เเข่งระดับโลกอย่าง Grab, LINE Man, GET เเละ Food Panda โดยพร้อมจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้

ส่วน KBank ตามมาติดๆ เเละได้ใจผู้ประกอบการไปเต็มๆ เปิดตัว “Eatable” (อีทเทเบิลแพลตฟอร์มตัวช่วยจัดการ “ร้านอาหาร” ไม่ต้องโหลดแอป ไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกอาหาร สั่ง และจ่ายแบบไร้การสัมผัส พร้อมฟังก์ชันฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่กำลังจะเปิดตัวเเบบเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทยได้ปลายปีนี้

อ่านรายละเอียด : เปิดเกม KBank vs SCB เเข่งธุรกิจอาหาร เมื่อแบงก์จะไปอยู่ทุกที่ เเละเป็นมากกว่าธนาคาร

ในศึกสมรภูมิฟู้ดเดลิเวอรี่เมืองไทย ที่มีมูลค่าตลาดราว 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะครองตลาดด้วยเเพลตฟอร์มต่างชาติที่มีทุนหนาสามารถอัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าคนขับเเละมีอัตราค่าส่งที่ถูกมาก

อีกมุมเล็กๆ เราก็ได้เห็นคนไทยเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ออกมาใช้งานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บค่า GP ในอัตราสูง แต่หลายแพลตฟอร์มยังเป็นที่นิยมในบางพื้นที่เท่านั้น เเละยังมีอีกหลายแพลตฟอร์ม ที่ยังต้องได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเสียก่อน

จากการสำรวจดูเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของคนไทย พบว่า ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเเก้ปัญหาค่า GP โดยจะไม่มีการเรียกเก็บหรือเก็บบ้างเเต่น้อยกว่าเจ้าใหญ่ ซึ่งทำให้ค่าส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจนั้นเเพงกว่า

ดังนั้น จุดเด่นของฟู้ดเดลิเวอรี่ท้องถิ่น จึงต้องชูความช่วยเหลือกันและกันหรือคนไทยช่วยคนไทย” พร้อมเลือกเจาะทำเล “ท้องถิ่น” เมืองรองที่เจ้าใหญ่ยังไม่เข้ามาทำตลาดมากนัก เละหาทางออกให้ผู้บริโภค อย่างการเเนะนำว่าร้านอาหาร ควรจะมี Basket Size หรือมูลค่าในการจ่ายเพื่อซื้อสินค้าใน 1 ครั้งที่เหมาะสม จึงจะคุ้มกับค่าส่งหากยอดสั่งซื้อที่ 200-500 บาทขึ้นไป เเต่ถ้าร้านมีบริการจัดส่งลูกค้าของตัวเองในโซนใกล้เคียงก็จะประหยัดได้มาก หรือการคิดค่าอาหารเท่ากับราคาหน้าร้าน (ซึ่งจะถูกกว่าราคาที่บางร้านที่ต้องบวกเพิ่มเพราะโดนคิดค่า GP จากเจ้าใหญ่) ทำให้เมื่อซื้อหลายชิ้นรวมๆ กันเเล้วเฉลี่ยกับค่าส่งที่เเพงกว่าเเต่ราคารวมจะถูกกว่านั่นเอง

วันนี้เราจะมารู้จักกับเหล่าเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่พัฒนาโดยคนไทย เเละเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง COVID-19 ว่ามีความน่าสนใจเเละมีจุดเด่นอะไรกันบ้าง

Hungry Hub 

เริ่มจากสตาร์ทอัพไทยอย่างHungry Hub ที่ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ทำเป็นเดลิเวอรี่ เพื่อช่วยร้านอาหารในช่วงวิกฤต COVID-19 จากปกติธุรกิจหลักจะเป็นเเพลตฟอร์มรวมเเหล่งบุฟเฟ่ต์ มี Exclusive Deal แบบ Fixed Price เปลี่ยนร้าน A La Carte ให้เป็นบุฟเฟ่ต์ โดยถ้าจะใช้บริการต้องจองผ่าน Hungry Hub เท่านั้น เช่นร้าน Audrey, Arno’s, Another Hound, Paul Bakery, Vertigo Too เป็นต้น

โดย Hungry@Home ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • ก็บค่าคอมมิชชั่น 10.7%
  • ค่าส่งร้านออกเอง 50 บาทในทุกออเดอร์
  • ลูกค้าจ่ายด้วยบัตรเครดิต ทาง Hungry Hub Support ค่า Fee บัตรเครดิต 3% ให้ฟรี
  • มีทีม Support ช่วยเหลือหลังบ้าน (เรียกรถขนส่งให้ /ดูแลระบบและจัดการขนส่ง / Customer Support
  • ทำการตลาดให้ฟรี ผ่าน Social Media / SMS / Email / Line และ Blogger มากกว่า 40 เพจ

“ความแตกต่างคือเราขายเน้นขายเป็น “Set Menu” สำหรับ 2-4 คนขึ้นอยู่กับแต่ละชุด เริ่มต้นที่ 399 บาท Net ลูกค้าจะได้รับส่วนลด 10-30% พร้อมตัวเลือก หลากหลายจากร้าน อาหารชั้นนำ ค่าธรรมเนียมการจัดส่ง 3 กิโลเมตรแรกฟรี กิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 10 บาท โดยค่าคอมมิชชั่น รวมๆ 10.7% ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตเรียบร้อย และช่วยทำการตลาดเพื่อโปรโมตร้านให้มียอดขายเพิ่มขึ้น”

ตัวอย่างการทำตลาดของ Hungry Hub

Om Ordering

เเพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่พัฒนาโดย ออม แพลตฟอร์ม เริ่มต้นจากร้านค้าทั่วเมืองเชียงใหม่เเล้วค่อยๆ ขยายไปหาผู้ประกอบการทุกประเภท ทั้งสินค้าและบริการ รวมถึงร้านอาหาร

Om Ordering บอกว่า ต้องการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้า ให้สามารถเข้าร่วมกับแอปพลิเคชันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม พร้อมให้อิสระในการบริหารจัดการระบบขนส่งทั้ง Drive Thru และเดลิเวอรี่ตามความต้องการของร้านเอง

โดย Om Ordering ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า
  • ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
  • พร้อมใช้งานได้เลยภายใน 1 วัน หลังจากลงทะเบียน
  • ไม่จำกัดประเภทร้านค้า ไม่จำกัดจำนวนเมนูที่จะลงขาย
  • กำหนดเวลาเปิดปิดร้านได้ด้วยตนเอง
  • วางแผนระบบการจัดส่งแบบ Drive Thru และ Delivery ได้ด้วยตนเอง
  • กำหนดค่าขนส่งได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะฟรีค่าส่ง หรือเก็บตามระยะทางจริง
  • มีระบบจัดการสต๊อกหลังบ้าน
ตัวอย่างการทำตลาดของ Om Ordering

Street Food Delivery

อีกหนึ่งสตาร์ทอัพไซส์เล็กที่ขอปักธงเมืองรอง โดยเน้นร้านอาหารดังประจำถิ่น เริ่มให้บริการส่งอาหารในพื้นที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และท่าเรือท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

แอปพลิเคชัน Street มองเห็นช่องว่างธุรกิจว่า เมื่อไม่อาจแข่งสู้เหล่าซูเปอร์แอปฯ ต่างชาติ ได้จึงเลือกทำเลที่ตั้งในการให้บริการเฉพาะต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรองแทน เพราะเจ้าใหญ่ยังไม่ลงมาเล่นในตลาดต่างจังหวัดมากนัก โดยเน้นเจาะร้านอาหารดังประจำท้องถิ่น ที่ยังไม่มีหน้าร้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ต้องการขายของทางออนไลน์หรือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร้านอาหารของตัวเอง โดย Street ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า คือการคิดคิดค่าบริการ 15 % ต่อยอดสั่งซื้อทั้งหมด เเละมีโปรโมชั่นพิเศษโดยการชำระเป็นเงินสด

Fresh!

เเอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่น้องใหม่ ที่มีทีมปั้นเป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เริ่มทยอยรับสมัครร้านค้าเเละไรเดอร์ทั่วประเทศเเล้วในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชูจุดเด่นไม่เก็บค่า GP” จากร้านค้า โดยมีค่าส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท และหากสั่งออเดอร์เกิน 100 บาท มีโปรโมชั่นส่งฟรี

ขณะที่ในส่วนของร้านอาหาร สามารถเลือกได้ว่าทางร้านจะจัดส่งด้วยตัวเอง ให้ลูกค้ามารับเองที่ร้าน หรือใช้บริการไรเดอร์ไปส่งให้ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป (ไม่ได้เปิดร้านอาหาร) ที่มีเมนูเด็ดสนใจอยากขาย เข้าร่วมเเอปฯ Fresh ได้ในชื่อ Fresh Homemade โดยทำอาหารและจัดส่งด้วยตัวเองในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน

ตัวอย่างการทำการตลาดของ Fresh!

OrderMaNow

เป็นระบบรับออเดอร์เดลิเวอรี่เจ้าเล็กๆ เพื่อเจาะกลุ่มร้านอาหารรายย่อยที่มีบริการจัดส่งเอง ไม่มี GP ไม่ต้องลงเเอปพลิเคชัน โดย OrderMaNow ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • รับออเดอร์ทุกทาง Facebook, IG, Line, Twitter แตะลิงก์เดียวสั่งออเดอร์ในร้านได้ทันที ไม่ต้องลงเเอปฯ ไม่ต้อง Login
  • ติดตามยอดขาย ติดตามความพึงพอใจลูกค้าได้
  • ลดข้อผิดพลาดจากการจดออเดอร์ผิด
  • ลดเวลาคุยรับออเดอร์ เก็บฐานลูกค้าไว้กับร้านค้า
  • ได้รับพิกัด Location จากลูกค้า ไม่ต้องเดาที่อยู่ที่จัดส่ง

shaRE ชาลี

เว็บไซต์ระบบเดลิเวอรี่ทางเลือกของคนไทย ที่ทีมพัฒนารวมตัวกันจากกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อช่วยร้านอาหารที่กำลังเดือดร้อนจากวิกฤต COVID-19 โดยแบ่งร้านอาหารออกเป็นแต่ละเขต เเละในอนาคตจะแบ่งเป็นแต่ละอำเภอ เพื่อให้ลูกค้าได้รู้ว่าในพื้นที่ใกล้ที่อยู่ ที่ทำงาน มีร้านอาหารอะไรอยู่บ้าง เป็นการเพิ่มโอกาสนำเสนอตัวตนของร้านท้องถิ่น

โดย shaRE ชาลี ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและไม่มี GP
  • ร้านค้าสมัครง่าย ใช้งานได้ภายใน 20 นาที หลังจากลงทะเบียน
  • ร้านได้รับยอดการขาย 100%
  • เปิดกว้างให้ทุกร้านสามารถมาลงขายได้
  • ไม่จำกัด จำนวนเมนู ที่ลงขายของแต่ละร้าน
  • แบ่งร้านค้าและลูกค้าเป็นเขต
  • สั่งแบบ pre-order เพื่อให้ร้านค้าสามารถรวม order และวางแผนการจัดส่งเองได้ง่าย
  • สั่งอาหารในโซนพื้นที่เดียวกับร้าน ค่าส่ง 30 บาท สั่งอาหารนอกโซน (เกินไปจาก 3 กิโลเมตร ) คิดกิโลละ 10 บาท ตามระยะทางจริง
  • ฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น ติดตามยอดขาย ความพึงพอใจลูกค้าได้ บริหารเมนูและทำโปรโมชั่นเอง
ตัวอย่างการโปรโมตของ shaRE

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเเพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของคนไทย ที่เกิดขึ้นเเละเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง COVID-19 เท่านั้น ยังมีอีกหลายเว็บไซต์ หลายเเอปพลิเคชันที่กระโจนเข้ามาทำธุรกิจส่งอาหารที่มีการเเข่งขันสูง เเต่ก็ยังพอมีช่องว่างของโอกาส ด้วยกลยุทธ์การขยายเจาะท้องถิ่น เน้นความใกล้ชิดกับคนพื้นที่ ค่าการเก็บค่า GP ที่น้อยกว่าหรือไม่เก็บเลย เพื่อเเก้ Pain Point ของร้านอาหาร “เมื่อเเข่งกับยักษ์ใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ เติบโตไปเเบบเล็กๆ” อย่างไรก็ตาม หนทางยังอีกยาวไกลเเละมีอุปสรรคมากมายในวงการนี้ ก็คงต้องเอาใจช่วยเเละจับตามองดูการพัฒนาของฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยต่อไป

 

 

]]>
1288063
เปิดเบื้องหลัง SCB ฉีกเเนวธนาคาร เปิดตัว Robinhood ลงศึกฟู้ดเดลิเวอรี่เเบบ “ไม่เก็บค่า GP” https://positioningmag.com/1282599 Mon, 08 Jun 2020 11:15:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1282599 เปิดเบื้องหลังการฉีกกรอบธุรกิจเเบงก์ของ SCB ข้ามฟากกระโจนลงสนาม “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ทุ่ม 100 ล้านเปิดตัว “Robinhood” เเอปฯ สั่งอาหารน้องใหม่สัญชาติไทย ไม่หวั่นตลาดเเข่งดุมากช่วง COVID-19 เน้นเป็น CSR ไม่หวังกำไร ลดภาระผู้บริโภค เเก้ Pain Point ช่วยร้านค้าขายของไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

“ไอเดียนี้เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ที่ผมต้องสั่งฟู้ดเดลิเวอรี่มากินที่บ้าน แล้วเห็นว่าการสั่งอาหารออนไลน์ในเเต่ละวัน ทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตของคนไทยสูงขึ้นมาก ราคาเเพงขึ้น อีกทั้งร้านค้าที่กำลังเดือดร้อนอยู่เเล้วก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่า GP ถึง 30-35%…ผมจึงฉุกคิดขึ้นมาว่า เราเป็นธนาคารดิจิทัลที่มีทรัพยากรเพียงพอ มีฐานลูกค้า ไม่ต้องลงทุนพันล้านเหมือนสตาร์ทอัพเจ้าอื่น เราสามารถพัฒนาส่วนนี้เพื่อช่วยสังคมได้”

นี่คือจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของ Robinhood”เอปพลิเคชั่นสั่งอาหารน้องใหม่สัญชาติไทย จากอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

ประเด็นการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม GP จากเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ในอัตราที่สูง เป็น Pain Point ที่ถูกถกเถียงในสังคมไทยอย่างมากในช่วงที่ธุรกิจนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เมื่อร้านค้าต้องหันมาพึ่งพาการขายออนไลน์ ผู้ซื้อต้องสั่งอาหารออนไลน์เพราะออกจากบ้านลำบาก จากมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดที่ทำให้เกิด New Normal การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในหลายรูปแบบ

“เราไม่ได้คิดจะเเข่งกับใคร ไม่ได้อยากจะปั้นสตาร์ทอัพให้เป็นยูนิคอร์น เเละก็ไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องทำยอดเท่าไหร่ด้วย เราอยากทำให้ Robinhood เป็นเเอปฯ ที่ช่วยให้ผู้ขายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ผู้ซื้อได้อาหารที่ราคาไม่บวกเพิ่ม คนขับได้รายได้จากการขนส่ง ทุกอย่างจะไม่หักอะไรเลย”

ซีอีโอ SCB ยืนยันว่า Robinhood เป็นหนึ่งใน CSR ของบริษัทที่ “จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม GP ทั้งในช่วงนี้และต่อไป” เเละถ้าหากในอนาคตมีคนใช้จำนวนมาก แนวทางการหารายได้จะเป็นไปในทาง “เสนอสินเชื่อ” ให้ผู้ประกอบการมากกว่าที่จะหันมาหักค่า GP

สำหรับเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ภายใต้ชื่อ “Robinhood” จะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ในอนาคตอาจจะแยกบริษัทออกไป โดยเริ่มต้นจะมีพนักงานดูเเลราว 40-50 คน (ไม่รวมคอลเซ็นเตอร์) ถือเป็นการลงทุนที่จริงจังเเละหวังผลระยะยาว

“ตอนเอาไปเสนอบอร์ดบริหาร ก็ได้รับการสนับสนุนให้ทำเลย อีกทั้งยังถามว่าขยายไปมากกว่าฟู้ดได้ไหม ทีมงานก็ทุ่มเทช่วยกันทั้งเเรงกายเเรงใจ อยากให้เป็นอีกทางเลือกของคนไทย ทีมงานก็มีถามนะว่าเราจะใช้ชื่ออื่นอีกไหม ผมก็ขอว่าให้ใช้ชื่อ Robinhood (โรบินฮู้ด) เถอะ”

โดยชื่อ Robinhood นี้ อาทิตย์ได้เเรงบันดาลใจมากจากสตาร์ทอัพฟินเทคในต่างประเทศที่มีชื่อว่า “Robinhood” เช่นกัน ซึ่งเป็นเเพลตฟอร์มที่กำลังดิสรัปต์ธุรกิจโบรกเกอร์ ด้วยการไม่เก็บค่าคอมมิชชันในการซื้อขายหุ้น

สอดคล้องกับเเนวคิดที่ได้นำมาใช้กับเเอปฯ สั่งอาหาร Robinhood ที่ชูจุดเด่นการไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP จากร้านอาหาร สมัครเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ฟรี ร้านอาหารได้รับเงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมงนับตั้งแต่เกิดการทำธุรกรรม ไม่จำเป็นต้องใช้ SCB รวมถึงในอนาคตร้านอาหารขนาดเล็กก็จะมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วด้วย

โดย SCB ใช้เวลาในการพัฒนา Robinhood ประมาณ 3 เดือน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งทางธนาคารได้จับมือพันธมิตรอย่าง Skootar ในการให้บริการส่งอาหาร และพร้อมจับมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ เพื่อให้บริการเพิ่มในอนาคต คาดว่าช่วงเปิดบริการจะมีร้านอาหารเข้าร่วมกว่า 20,000 แห่ง และภายในสิ้นปีนี้อาจจะเพิ่มเป็น 40,000–50,000 แห่ง โดยเน้นให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน จากนั้นจะขยับไปหัวเมืองใหญ่เเละขยายไปทั่วประเทศ

ส่วนจำนวนเป้าหมายผู้ใช้งาน Robinhood ตอนนี้ SCB ยังไม่มีการตั้งเป้าใดๆ เเต่จะเน้นไปที่การสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีของลูกค้า โดยหวังว่าในช่วง 3 เดือนแรกน่าจะได้รับความนิยมอย่างแน่นอน

เกิดคำถามว่า ก่อนหน้านี้ SCB ได้ร่วมมือกับ GET ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่รายใหญ่ เป็นพันธมิตรด้าน Financial Business จะเป็นการเเย่งตลาดกับพาร์ตเนอร์หรือไม่นั้น ผู้บริหาร SCB ตอบว่ามีการพูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อย โดยทางธนาคารไม่ได้จะทำธุรกิจเดลิเวอรี่เเข่งกับ GET แต่อย่างใด เพราะ GET ก็มีฐานลูกค้าที่เเข็งเเกร่ง มีประสบการณ์มากกว่า และในอนาคตก็สามารถร่วมมือกันได้

ด้านข้อสงสัยจากมุมมองของผู้บริโภคเกี่ยวกับ “ค่าจัดส่ง” ว่าจะคิดตามระยะทางเหมือนเจ้าอื่นหรือไม่ และถ้า Robinhood ซึ่งไม่มีนโยบายที่จะลงทุนทำ “โปรโมชั่น” จะทำให้อัตราค่าส่งเเพงกว่าฟู้ดเดลิเวอรี่รายอื่นหรือไม่นั้น

ซีอีโอ SCB ตอบว่า “ทีมงานเคยมีการดีเบตกันหนักมากในประเด็นค่าส่ง ซึ่งผู้บริโภคคนไทยมักดูที่ค่าส่งเป็นหลัก เเต่ผมเชื่อว่าเเม้เราจะไม่มีโปรโมชั่นมาอัดให้ถูกกว่าเจ้าอื่น เเต่ค่าอาหารเราคิดตามราคาจริง ไม่ได้ไปเพิ่มค่าอาหารเพื่อให้ได้ค่าส่งถูกตามโปรโมชั่นที่เห็นกันในปัจจุบัน ดังนั้น Robinhood ก็จะมีการคิดตามระยะทางเหมือนกับเเอปฯ อื่น ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเเละเทียบ “ราคารวม” ทั้งหมดก่อนกดสั่งได้

“เรายืนยันว่าแนวทางการให้บริการของ Robinhood จะเป็นไปในลักษณะการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและร้านอาหาร มากกว่าการแข่งขันกับผู้ให้บริการเจ้าอื่น การที่เราไม่ต้องทุ่มเงินทำโปรโมชั่น ก็ทำให้เราไม่ต้องไปเก็บค่า GP กับร้านค้า เป็นไปตามจุดประสงค์ว่าต้องการให้ประโยชน์คืนกับสังคม”

ต้องรอดูว่า Robinhood เเอปฯ สั่งอาหารน้องใหม่ จะได้รับเสียงตอบรับอย่างไร เเละพัฒนาต่อไปในทิศทางใด เพราะครั้งนี้ SCB ย้ำชัดว่าจริงจังเเละไม่ได้มาเล่นๆ

]]>
1282599
“ซานฟรานซิสโก” อุ้มร้านอาหาร สั่งห้าม “ฟู้ดเดลิเวอรี่” เก็บค่าคอมมิชชั่นเกิน 15% https://positioningmag.com/1273831 Thu, 16 Apr 2020 11:22:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1273831 ประเด็นดราม่าของบรรดาฟู้ดเดลิเวอรี่ที่คิดค่าคอมมิชชั่นหรือส่วนแบ่งรายได้ (GP) จากร้านอาหารในช่วงวิกฤต COVID-19 ไม่ได้มีเเค่ในไทย โมเดลธุรกิจเเบบนี้ที่ให้บริการในต่างประเทศก็มีการคิดค่าคอมมิชชั่น 10-30% เช่นกัน จนมีการเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาช่วงเหลือร้านอาหารต่างๆ

ล่าสุด “นครซานฟรานซิสโก” ของสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎให้บริษัทผู้ให้บริการส่งอาหารหรือ “ฟู้ดเดลิเวอรี่” เรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นจากร้านอาหารได้ “ไม่เกิน 15%” ชั่วคราว ในช่วงการแพร่ระบาดของ
COVID-19
โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการยกเลิกการใช้มาตรการฉุกเฉินในเมือง หรือจนกว่าร้านอาหารจะสามารถเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานที่ร้านได้ตามปกติ

เงินทุกดอลลาร์ มีผลต่อความเป็นความตายของธุรกิจ 

นับเป็นมาตรการช่วยเหลือสำคัญที่จะช่วยพยุงรายได้ของร้านอาหาร ในช่วงที่ต้องปิดให้บริการเเละมีรายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่เป็นหลัก

London Breed นายกเทศมนตรีนครซานฟรานซิสโก ระบุในเเถลงการณ์ว่า “ร้านอาหารในซานฟรานซิสโก กำลังดิ้นรนให้เปิดบริการได้ ในสถานการณ์ทางการเงินที่ยากลำบากเช่นนี้ ทุกดอลลาร์มีความสำคัญและส่งผลต่อความเป็นความตายของกิจการ ส่งผลต่อการอยู่รอดหรือการต้องเลิกจ้างพนักงานด้วย”

ปกติเเล้ว บริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่อย่าง UberEats, Postmates, Grubhub เเละ DoorDash ที่ให้บริการในซานฟรานซิสโก จะเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นจากร้านอาหารราว 20%-30% ส่งผลให้ร้านอาหารได้กำไรไม่มากนัก โดยเฉพาะร้านอาหารที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก

ฟู้ดเดลิเวอรี่ ช่วย “ร้านอาหาร” 

ก่อนหน้านี้ บรรดาฟู้ดเดลิเวอรี่ก็มีมาตรการออกมาช่วยเหลือร้านอาหารบ้างเเล้ว ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ยกตัวอย่างเช่น Doordash ได้ประกาศลดค่าคอมมิชชั่นลง 50% สำหรับร้านอาหารท้องถิ่นที่เป็นพันธมิตรกว่า 150,000 แห่งในสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย

ส่วนนโยบายของ UberEats, Doordash, Postmates และ Caviar ได้ยกเว้นค่าคอมมิชชั่นให้กับร้านอาหารเจ้าใหม่ที่เข้ามาเป็นพันธมิตร ในพื้นที่ซานฟรานซิสโก ลอสแอนเจลิส แซคราเมนโต และดีทรอยต์เป็นการชั่วคราว
แต่สำหรับร้านอาหารเดิมยังคงต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นตามปกติ

ส่วน Grubhub ได้ประกาศผ่อนผันการชำระค่าคอมมิชชั่นให้กับร้านค้าที่ได้รับการรับรองจากบริษัท เเต่ตอนนี้ยังไม่มีการยกเว้นหรือลดอัตราค่าคอมมิชชั่นให้กับร้านอาหารพันธมิตร

สมาคมร้านอาหารโกลเดนเกต คาดว่ามีร้านอาหารราว 30-40% จากทั้งหมดราว 4,000 ร้านในซานฟรานซิสโกที่ยังคงเปิดให้บริการและจัดส่งอาหารอยู่ในขณะนี้

เจ้าของบาร์แห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก บอกว่าเขาเชื่อว่าธุรกิจสถานบันเทิงและร้านอาหารกว่า 50% กำลังเผชิญกับภาวะ “เสี่ยงปิดกิจการ” จากผลกระทบของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อเเละรุนเเรง

ที่มา : businessinsider , Eater , sfmayor.org

 

]]>
1273831