Arty Siriluck – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 09 Mar 2023 06:19:41 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เทรนด์ WealthTech โตก้าวกระโดด ‘StashAway’ ลุยภารกิจพาคนไทยลงทุนต่างประเทศ https://positioningmag.com/1383543 Sun, 01 May 2022 03:05:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383543 ปัจจุบันการ ‘ลงทุนในสินทรัพย์’ นั้นง่ายเเละรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้คน ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง สามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งเเต่เงินก้อนน้อยๆ พร้อมโอกาสในการเเสวงหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ

เเม้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เเต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย เเละการมาของ ‘WealthTech’ เหมือนจะเป็น ‘ตัวช่วย’ เเละ ‘ทางเลือก’ ให้ก้าวผ่านกำเเพง
อุปสรรคการลงทุนเเบบเดิมๆ ที่มีมาในอดีตได้ 

วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงภาพรวมของอุตสาหกรรม WealthTech กับ “ทิม – ยศกร นิรันดร์วิชย” CFA กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ StashAway แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนเจ้าใหญ่ในเอเชีย พร้อมเป้าหมายที่หวังจะเเก้ Pain Point เปิดประตูให้คนทั่วไปเข้าถึงการลงทุน เเละเเผนกลยุทธ์การก้าวสู่ top of mind ในตลาดไทย 

WealthTech เปลี่ยนเกมการลงทุน 

ยศกร เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงความสำคัญของ WealthTech ต่อผู้คนทั่วโลกให้ฟังว่า เป็นเทคโนโลยีการลงทุนบริหารความมั่งคั่งที่จะมาดิสรัปวงการผู้จัดการกองทุน โดยมีหน้าที่เเละบทบาทหลักๆ 4 ประการ คือ

  • ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย

สมัยก่อนผู้คนอาจมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว รวมถึงการเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเงินที่ต้องมีค่าใช้จ่าย เเต่ทุกวันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงคำเเนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเเละข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้าง ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ทำให้เราเข้าถึงการลงทุนได้จากแอปพลิเคชันมือถือ

  • มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในยุคที่มีข้อมูลอยู่มหาศาล เทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยทำให้เราสามารถวิเคราะห์การลงทุนได้กว้างเเละลึกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานของข้อมูลได้ เพราะศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของการลงทุนคืออารมณ์ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตัดสินใจลงทุนจากอารมณ์มากกว่าการยึดถือด้านข้อมูลเป็นหลัก

  • ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง

เเพลตฟอร์ม Wealth Tech ทั่วโลกนั้นจะมีอัตราต่ำกว่าผู้เล่นดั้งเดิม ซึ่งบางเจ้าถูกลงกว่า 10 เท่า โดยค่าธรรมเนียมนั้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในระยะยาวที่จะมีผลโดยตรงต่อค่าตอบเเทน

  • เข้าถึงได้มากขึ้น

เทคโนโลยีทำให้ผู้คนเริ่มลงทุนได้โดยไม่ต้องมีขั้นต่ำ เเละใช้จำนวนเงินที่ไม่สูงมากจึงเข้าถึงคนหมู่มากได้ในเวลาที่รวดเร็ว

โดยกระเเสของ ‘WealthTech’ เริ่มต้นมาจากโซนสหรัฐอเมริกาเเละเเคนาดา ก่อนที่จะเข้ามายังเอเชีย ซึ่งในช่วงเเรกผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพหรือบริษัทเทคฯ เเต่ปัจจุบันเริ่มเห็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ระดับโลก ขยับมาเข้าซื้อกิจการบริษัท WealthTech มากขึ้น

อีกเทรนด์ที่มาเเรงก็คือคริปโตเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งบริษัท WealthTech ทั้งหลายต่างให้ความสนใจมากขึ้น เเละมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ เกี่ยวกับคริปโตฯ อย่างเช่น StashAway ที่สิงคโปร์ก็มี Crypto Offering มากขึ้น

ในประเทศไทย เราก็หวังว่าจะเอาเข้ามาได้ในเร็วๆ นี้ เเต่ก็ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตต่างๆ ก่อน

Photo : Shutterstock

เงินทุนไหลเข้า เติบโตอย่าง ‘ก้าวกระโดด’ 

ภาพรวมอุตสาหกรรม WealthTech มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เเละมีการประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตได้ถึง 15-35%

บางสำนักข่าวระบุว่า WealthTech ทั่วโลกมีการบริหารเงินทั้งหมดอยู่ราว 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขจากทาง CNBC ระบุว่า เเค่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา WealthTech ก็มีการบริหารเงินรวมกว่า 1.1 ล้านล้าน
เหรียญเเล้ว (คิดเป็นกว่า 2 เท่าของจีดีพีไทยทั้งประเทศ)

ส่วนในเเง่ของการระดมทุนนั้น เมื่อย้อนไปช่วงทศวรรษก่อนต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะนักลงทุนยังไม่ค่อยเข้าใจใน Business Model เเต่ตอนนี้กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

โดยในปี 2019 อุตสาหกรรม Wealth Tech มียอดการระดมทุนที่ราว 3.5 พันล้านเหรียญ ต่อมาในปี 2021 มีการเติบโตเเบบก้าวกระโดด ด้วยยอดการระดมทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ด้านบวกในวิกฤตโควิด

ในช่วงเเรก StashAway ระดมทุนได้ยาก เเต่ช่วงหลังๆ มานี้ เรากลายเป็นฝ่ายที่เป็นผู้เลือกนักลงทุน สะท้อนให้เห็นเกมธุรกิจที่เปลี่ยนไป

ด้านการเเข่งขันนั้น มีผู้เล่นรายใหม่กระโจนเข้ามาในวงการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย StashAway จะมีคู่เเข่งหลักเฉลี่ยประมาณ 2-5 บริษัทในเเต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดใหญ่อย่างสิงคโปร์ ก็จะมีผู้เล่นหลัก 3-4 บริษัท ส่วนในไทยมีประมาณ 4-5 บริษัท

ในทุกวิกฤตใหญ่ของโลก จะเป็นช่วงที่คนเราสนใจเเละพิจารณาวางเเผนการเงินมากที่สุด จากผลกระทบทางรายได้เเละความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต จึงต้องคิดหาทางว่าจะบริหารการเงินอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นวิกฤต เเละรองรับเหตุที่ไม่คาดฝันอื่นๆ ที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย

StashAway ปักธงเเก้ Pain-Point การลงทุน 

สำหรับ StashAway เป็นเเพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายเเรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่เกิดขึ้นจาก Pain-Point ของผู้ก่อตั้งอย่าง Michele Ferrario ที่ต้องการมองหาโซลูชันการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง อีกทั้งยังต้องเจอค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูงเเละตัวเลือกน้อย

เขาจึงมีเเรงบันดาลใจที่จะสร้างเเพลตฟอร์มเพื่อเเก้ไขปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา โดยร่วมมือผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน คือ Freddy Lim และ Nino Ulsamer ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเเละมีประสบการณ์ด้านการบริหารสินทรัพย์ระดับโลก ต่อยอดขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

StashAway เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มบริหารการลงทุนในรูปแบบแอปพลิเคชัน ที่เปิดให้นักลงทุนเข้าถึงสินทรัพย์ทั่วโลกได้ผ่านการลงทุนใน ETF โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเพียง 4 ปี ซึ่งเร็วกว่าที่แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายใหญ่ของโลกอย่าง Betterment และ Wealthfront

เปิดให้บริการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เเละมีพนักงานราว 200 คน ผ่านการระดมทุนมาแล้ว 6 รอบ (Series D) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Venture Capital ระดับโลกอย่าง Sequoia Capital India, Eight Roads Ventures และ Square Peg เเละมีทุนชำระแล้ว (Paid-Up Capital) รวม 61.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2021)

อุตสาหกรรม Wealth Tech นั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มากๆ เเค่ใน 5 ประเทศที่เราอยู่ก็มี financial wealth มูลค่ามากกว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญเเล้ว จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกเยอะมาก เเละนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดย StashAway ตั้งเป้าจะเป็นเเพลตฟอร์มอันดับหนึ่งในเอเชียให้ได้

วางกลยุทธ์สู่ Top of Mind ของคนไทย 

StashAway จะเน้นชูจุดเด่นด้าน ‘กลยุทธ์การลงทุน’ ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก การปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่เสมอ วิเคราะห์สัญญาณของตลาดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมลงทุนด้วยความเสี่ยงที่เหมาะสม มีความหลากหลาย เเละค่าธรรมเนียมต่ำ

การที่คนไทยมีสัดส่วนการถือครองเงินสดถึง 47% ขณะที่ในสหรัฐฯ ประชาชนจะถือเงินสดเพียง 14% ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงการลงทุนของคนไทย โดยการถือเงินสดนั้นมีความเสี่ยงว่าจะมูลค่าลดลง หากต้องเจออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยส่วนใหญ่ก็มีเงินไม่เพียงพอกับการเกษียณ เเละมีการลงทุนกระจุกตัวเเค่ในตลาดไทย เหล่านี้จึงต้องมีการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจด้าน wealth management ให้มากขึ้น 

ตลาดไทยค่อนข้างใหญ่ มูลค่าเฉพาะกองทุนรวมมีถึง 5 ล้านล้านบาท เเละยังมีคนถือเงินสดอยู่อีกกว่า 47% นับเป็นโอกาสของธุรกิจ WealthTech ดังนั้นการเเข่งขันที่ดุเดือดจึงเป็นเหมือนการร่วมกันสร้างตลาดให้ใหญ่ขึ้น มีจุดเด่นที่เเตกต่างกันไป เป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนมากขึ้น” 

โดยมีเเนวโน้มที่คนไทยจะหันไปลงทุนหุ้นต่างประเทศมากขึ้น เพราะหากเอาสินทรัพย์มาถือไว้ที่ตลาดไทยจะเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังซบเซา เนื่องจากพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นหลักจึงฟื้นตัวยาก อีกทั้งยังไม่มีหุ้นบิ๊กเทคคอมพานีระดับโลก

หลัง StashAway เปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการมาตั้งเเต่ช่วงเดือนก.ย. 2021 ผลตอบรับดีกว่าที่คาด โดยจากนี้ จะมุ่งกลยุทธ์การตลาดไปที่การสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ พร้อมให้ความสำคัญกับทีมดูเเลลูกค้าที่จะคอยซัพพอร์ตอยู่เสมอ ทำการตลาดเพื่อเพิ่มการรับรู้ผ่านทางออนไลน์เเละออฟไลน์ไปพร้อมๆ กัน

เราให้ความสำคัญกับทีมเเละการพัฒนาคนมากๆ เลือกคนที่ถูกเเละใช่ ขั้นต่ำต้องสัมภาษณ์กัน 4 รอบ เราไม่ได้เน้นหาคนที่มีประสบการณ์ตรง เเต่เน้นหาคนเก่ง เชื่อใน mission ของบริษัทเเละมีไฟในการทำงาน พร้อมมี Growth Mindset ที่จะเติบโต ให้ความยืดหยุ่นอย่างการให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เเละลากี่วันก็ได้ในหนึ่งปี เน้นไปที่ความรับผิดชอบในงานเป็นหลัก

เป้าหมายของ StashAway ในตลาดไทย คือการได้เข้าไปอยู่ใน top of mind ของคนไทย เป็นเพื่อนคู่คิดช่วยให้คนไทยลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น พร้อมมีการวางเเผนการเงินที่ดีเพียงพอต่อการเกษียณ

โดยผู้บริหาร StashAway มีคำเเนะนำถึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนว่า

เราต้องตระหนักว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องทำ ให้เงินของเราทำงานไปพร้อมๆ กับที่เราทำงาน โดยควรจะเน้นไปที่การลงทุนระยะยาว ด้วยพลังของผลตอบเเทนทบต้นซึ่งจะต้องใช้เวลา พร้อมกระจายการลงทุน อย่าเก็บไว้ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป เลือกระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม อย่าหลอกตัวเอง ซิ่งหนักก็อาจจะเจ็บได้ เเละต้องรักษาวินัยในการลงทุนอยู่เสมอ

 

 

 

]]>
1383543
‘Mukesh Ambani’ มหาเศรษฐีอินเดีย วางเเผนเตรียมซื้อกิจการ ‘Boots’ https://positioningmag.com/1383538 Fri, 29 Apr 2022 15:52:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383538 มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ‘Mukesh Ambani’ กำลังวางเเผนจะเข้าซื้อกิจการ ‘Boots’ ร้านขายยาเเละสุขภาพชื่อดัง

โดย Mukesh Ambani ชายผู้ร่ำรวยสุดในอินเดียเเละรวยเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ในเอเชีย (ตามการจัดอันดับของ Bloomberg) เจ้าของธุรกิจพลังงานน้ำมันและก๊าซ ที่ครอบครองกิจการทั้งค้าปลีกเเละโทรคมนาคมรายใหญ่อย่าง ‘Reliance’

รายงานของ BBC ระบุว่า Reliance กำลังเตรียมการเพื่อเสนอราคาที่เป็นไปได้ร่วมกับ Apollo Global Management บริษัทด้านการลงทุนในสหรัฐฯ ขณะที่  ‘Walgreens Boots Alliance’ เจ้าของร้าน Boots ในสหรัฐฯ ก็ได้ประกาศทบทวนธุรกิจ เเละมีกระเเสข่าวว่าบริษัทจะขายกิจการ 

หากข้อตกลงดังกล่าวสำเร็จ จะทำให้เเบรนด์ ‘Boots’ ขยายตลาดไปสู่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง รวมถึงการขยายธุรกิจในสหราชอาณาจักรมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนนี้ยังไม่เเน่ชัดว่า Reliance และ Apollo จะถือหุ้นใน Boots ในสัดส่วนที่เท่ากันหรือไม่

เเบรนด์ Boots มีร้านขายยา ร้านสุขภาพและความงามมากกว่า 2,200 แห่งในสหราชอาณาจักร มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 6 พันล้านปอนด์ หรือราว 7.5 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ Financial Times

Boots เเบรนด์เก่าเเก่ที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 173 ปี ต้องประสบปัญหาต่อเนื่องมาหลายเดือน โดยเมื่อเดือนม..ที่ผ่านมา Walgreens Boots Alliance เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มทบทวนทิศทางเเละกลยุทธ์ของ Boots เพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของตลาดสุขภาพในสหรัฐฯ มากขึ้น

 

ที่มา : BBC 

 

 

]]>
1383538
คุยกับ ‘นีรชา เตชคุณวุฒ’ เเห่ง Salesforce มุมคิดผู้บริหารหญิงในบิ๊กเทคคอมพานี https://positioningmag.com/1383493 Fri, 29 Apr 2022 10:53:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383493 เปิดมุมมองความคิดกับนีรชา เตชคุณวุฒผู้บริหารระดับสูงจาก ‘Salesforce’ แพลตฟอร์มการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) อันดับ 1 ของโลกที่ทำงานบนระบบคลาวด์สำหรับการขาย บริการ และการทำตลาด กับเส้นทางชีวิตและการค้นพบสายงานที่ใช่สู่การก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารหญิงที่ประสบความสำเร็จในบริษัทระดับโลก พร้อมเเนวโน้มเทรนด์ CRM ในช่วงนี้

เรียนรู้จาก ‘ความหลากหลาย’  

คุณนีรชา เล่าย้อนให้ฟังถึงการเติบโตท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งมีส่วนช่วยให้เธอสามารถเปิดรับความแตกต่างเเละปรับตัวในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว

โดยเธอเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความที่คุณพ่อเป็น expat ชาวต่างชาติที่ทำงานกับการบินไทย จึงต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศบ่อยครั้ง เธอจึงได้เข้าเรียนในระดับประถมที่สิงคโปร์ จากนั้นย้ายไปเรียนมัธยมต้นที่เนเธอร์แลนด์ ก่อนจะย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่ฮ่องกง

ในช่วงเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ ครอบครัวของเธอได้กลับมาเมืองไทยทุกปีในช่วงปิดเทอมเเละที่บ้านก็พูดภาษาไทยกันเป็นปกติ

เมื่อจบชั้นมัธยมเป็นโอกาสที่นีรชาได้ออกท่องโลกกว้างหาประสบการณ์ใหม่ๆ โดยได้เข้าศึกษาต่อระดับที่มหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างสแตนฟอร์ดในสาขาเศรษฐศาตร์เเละความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จากความฝันเดิมที่จะหวังเข้าทำงานในสหประชาชาติ (UN) หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

เธอเลือกเบนเข็มชีวิตเข้าสู่วงการซอฟต์เเวร์โดยเริ่มทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Oracle ที่ทำให้ได้ค้นพบความชอบของตัวเองที่ต้องการงานที่สนุกไม่จำเจ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นได้ต่อยอดด้านธุรกิจด้วยการเรียนปริญญาโทด้าน MBA ที่สแตนฟอร์ด

จากประสบการณ์ที่หลากหลายในวงการซอฟต์เเวร์ เธอเริ่มหันสนใจในสายงานดูเเลลูกค้าซึ่งมองว่าเป็นงานที่มีการเปลี่ยนเเปลงตลอดเวลา มีความท้าทายเเละความสนุกที่ได้เจอสิ่งใหม่อยู่เสมอ

ปัจจุบันนีรชา ทำงานอยู่กับ ‘Saleforce’ มาได้ 12 ปีเเล้ว ซึ่งได้มีการโยกย้ายเปลี่ยนเเผนกงานอยู่เสมอ ถือเป็นการส่งเสริมจากองค์กรที่ให้พนักงานได้ทดลอง และมีประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำให้เข้าใจภาพรวมการทำงานของบริษัท

จากฝ่ายกลยุทธ์ ขยับมาดูเเลด้านพาร์ทเนอร์ และตอนนี้ตำเเหน่งล่าสุดของเธอคือ รองประธานกรรมการบริหารฝ่าย Global Success and Strategy ที่ดูแลเกี่ยวกับด้าน ‘Customer Success’ โดยตรง

หัวใจของ ‘customer platform’

การเเพร่ระบาดของโควิด-19 นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่สุดของเศรษฐกิจโลก ผู้คนมีการติดต่อสื่อสารผ่านดิจิทัลมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวขึ้นไปบนโลกออนไลน์ทั้งเรื่องออฟฟิศ การขายcละมาร์เก็ตติ้ง

เหล่านี้เป็นส่วนสนับสนุนให้แพลตฟอร์มการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) ของ Salesforce ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก และตลาดไทยก็ถือเป็นท็อปมาร์เก็ตที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยมีลูกค้ารายใหญ่ในไทยอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์, ไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, Anantara Vacation Club, True Money และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่าง Roojai.com

เมื่อถามถึงความต้องการของลูกค้ามีแนวโน้มไปทิศทางใดบ้าง นีรชาตอบว่าลูกค้าต้องการ Personalization มากขึ้น การจัดการเเละแสดงผล Data ข้อมูลต่างๆ ที่ต้องอ่านง่ายเเละเข้าถึงเร็ว รวมถึงต้องการเชื่อมโยงบริการของโปรดักต์ทั้งหมดให้ใช้งานร่วมกันได้

นอกจากนี้ บริษัทในไทยส่วนใหญ่ จะอยากรู้ว่าบริษัทระดับโลกอื่นๆ มีการปรับตัวรับมือกับโควิดอย่างไรหรือมีการปรับแผนนโยบายอย่างไรบ้าง

โดยองค์กรต่างๆ จะมีการปรับโมเดลธุรกิจมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมุ่งเน้นการฟื้นตัวและเพื่อความได้เปรียบทางเทคโนโลยีมากขึ้น

ข้อมูลจาก Gartner ระบุว่า ในประเทศไทย มีการใช้จ่ายด้านบริการคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) เพิ่มขึ้น 31.7% เมื่อเทียบปีต่อปี เป็น 26,800 ล้านบาทในปี 2564 และคาดว่าจะมีการใช้จ่ายด้านบริการคลาวด์สาธารณะเติบโตขึ้นอีก 28.2% เป็น 3.44 หมื่นล้านบาทในปี 2565 

นอกจากนี้ ผู้บริโภครุ่นใหม่ ยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยหันมาเลือกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่ทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เเละฝั่งองค์กรก็มีการทำธุรกิจเเบบคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) มากกว่าขึ้นกว่าเดิมด้วย

ในปีนี้ Salesforce เพิ่งเปิดตัว ‘Net Zero Cloud’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยธุรกิจลูกค้ารวบรวม จัดหมวดหมู่และวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทุกกิจกรรมทางธุรกิจขององค์กร

โดยหัวใจหลักของ  ‘Customer Platform’ สิ่งสำคัญคือการต้องเข้าใจลูกค้า ฟังว่าลูกค้าสนใจด้านใดเป็นพิเศษ มีปัญหาที่ต้องช่วยให้เเก้ไขอย่างไร ซึ่งเเต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีความต้องการที่เเตกต่างกันไป จึงต้องโฟกัสไปที่ Customer Success ผลักดันให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโต

นอกจากนี้ ยังต้องนำเสนอโซลูชันที่มาจาก insight ของลูกค้ามาพัฒนาฟังก์ชันต่างๆ พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือในแบรนด์ ความไว้วางใจ เเละให้ความสำคัญด้าน sustainability ไปพร้อมๆกัน

ปัจจุบัน Salesforce มีพนักงานจำนวนกว่า 75,000 คนทั่วโลก รายได้ในปีที่ผ่านมาพุ่งขึ้นเป็น 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเพิ่มขึ้น 24.66% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

กล้าเเสดงความคิดเห็น อย่าเกรงใจมากเกินไป

เมื่อถามว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลากหลายวงการในบริษัทระดับโลก มีการปรับแนวคิด ปรับการทำงานอย่างไรนั้นคุณนีรชา ตอบว่า

หลายปีที่ทำงานมา มีบ่อยครั้งที่เราเป็นผู้หญิงคนเดียวในห้องประชุม ทุกครั้งเราต้องมีกลยุทธ์ ทำการบ้านมาอย่างดี เข้าใจและเรียนรู้ เตรียมตัวให้พร้อม มีไหวพริบ และสิ่งที่เรียนรู้คืออย่าเกรงใจมากเกินไปต้องยืดหยัดในความคิดของตนเอง กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น

แต่ในช่วงชีวิตก็ต้องมียามที่ท้อแท้เเละหมดกำลังใจ ซึ่งหลักยึดของเธอก็คือครอบครัว

แม้การโฟกัสการทำงานเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าโฟกัสมากเกินไป อาจจะกระทบความสัมพันธ์ของครอบครัวได้ จึงต้องเเบ่งเวลา ไปสังสรรค์ กินข้าวหรือทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ และเอาใส่ใจกันอยู่เสมอ

กิจกรรมวันว่างของคุณนีรชา คือ ชอบดูหนังและอ่านหนังสือ แนวประวัติศาสตร์ Biography อัตชีวประวัติเพื่อเรียนรู้ว่าในช่วงเวลาสำคัญๆ คนเหล่านั้นมีการตัดสินใจอย่างไรและเเก้ไขสถานการณ์อย่างไร ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้

ทั้งนี้ Salesforce เปิดโอกาสให้พนักงานได้จัดกรุ๊ปตามความสนใจในด้านต่างๆ เป็นเหมือนชมรมย่อยๆ เพื่อรวมคนที่มีความสนใจเดียวกันในองค์กร โดยเธอได้ให้การสนับสนุน Salesforce Women’s Network พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้คำเเนะนำถ่ายทอดประสบการณ์การตัดสินใจของผู้บริหารหญิงในภาคส่วนต่างๆ

สุดท้าย ในฐานะที่เป็นผู้บริหารหญิงที่ประสบความสำเร็จ คุณนีรชาฝากถึงผู้หญิงยุคใหม่และคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานว่า

ทุกบทสนทนาคือการเรียนรู้ เข้าใจในความหลากหลาย เรียนรู้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนเเปลง open-minded รับสิ่งใหม่ๆ เสมอ…ในโลกนี้มีทางเลือกและโอกาสอยู่มากมาย จริงจังและพยายามมุ่งมั่นกับสิ่งที่เราอยากทำ กล้าเสนอความเห็นและอย่าเกรงใจมากเกินไป

 

]]>
1383493
อินโดฯ ห้ามส่งออก ‘น้ำมันปาล์ม’ ทุกประเภท สะเทือนตลาดโลก https://positioningmag.com/1383375 Thu, 28 Apr 2022 12:10:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383375 รัฐบาลอินโดฯ สั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มทุกประเภทหลังเกิดปัญหาขาดเเคลนในประเทศ สร้างความวิตกต่อตลาดโลกที่ราคาพุ่งแตะจุดสูงสุดแล้ว

อินโดนีเซีย กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมันสำหรับประกอบอาหารภายในประเทศ จนทำให้ราคาขายในตลาดพุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคในหลายเมืองต้องรอนานเป็นชั่วโมงเพื่อต่อคิวซื้อสินค้าจำเป็น

โดยรัฐบาลจะขยายมาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม เป็นห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มทุกประเภท ทั้งน้ำมันปาล์มดิบ (CPO), น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (RPO), น้ำมันปาล์มโอเลอิน (RBD), น้ำมันทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม (POME) และน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว รวมถึงปาล์มดิบด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าจะระงับการส่งออกเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอินเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สอดคล้องกับการตัดสินใจของประธานาธิบดี หลังจากได้พิจารณาข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากประชาชนเเล้ว” 

โดยรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการจัดสรรปริมาณน้ำมันพืชให้เพียงพอต่อประชากร 270 ล้านคนเป็นลำดับแรก

ประธานาธิบดี Joko Widodo กล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก เเต่กลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันพืชที่ใช้ประกอบอาหาร

โดยรัฐบาลวางแผนกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้ง หากราคาน้ำมันปาล์มในประเทศลดลงเหลือลิตรละ 14,000 รูเปียห์ จากที่ตอนนี้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศพุ่งขึ้นไปที่ลิตรละ 26,000 รูเปียห์ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มคิดเป็น 60% ของปริมาณทั้งหมดในตลาดโลก โดยมีอินเดีย จีน สหภาพยุโรปและปากีสถาน เป็นประเทศนำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่จากอินโดนีเซีย

AFP รายงานว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซีย ยืดเยื้อมานานหลายเดือน อันเป็นผลมาจากกฎหมายที่ไม่รัดกุมและความไม่เต็มใจของผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม ที่ไม่อยากนำสินค้าวางขายในประเทศ เเต่ไปเน้นส่งออกไปขายต่างประเทศแทน เพราะเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันพืชในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ผลิตได้กำไรมากกว่า

ขณะเดียวกัน วิกฤตรัสเซียยูเครนก็มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันพืชพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้

โดยธนาคารโลก ได้เตือนถึงวิกฤตราคาอาหารเเละพลังงานพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ซึ่งครัวเรือนยากจนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพวกเขาต้องแบ่งรายได้มาใช้สำหรับค่าอาหารและพลังงานมากขึ้น

 

ที่มา : Reuters , AFP 

]]>
1383375
3 ทศวรรษ ‘บางกอกแดนซ์’ นำศิลปะการเต้นเข้าถึงผู้คน ปรับทุกยุคสมัย เปลี่ยนรับเทรนด์ใหม่ https://positioningmag.com/1383289 Thu, 28 Apr 2022 10:03:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383289 ย้อนไปเมื่อช่วง 3 ทศวรรษก่อน ศิลปะการเต้น’ ไม่ได้เป็นที่นิยมเเละยอมรับกันในสังคมอย่างเเพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ การทำให้การเต้นเข้าถึงผู้คนได้โดยง่าย คือความท้าทายอันใหญ่หลวง 

Positioning มีโอกาสพูดคุยกับ วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์หรือ ครูต้อย กับเส้นทางของ บางกอกแดนซ์ หรือ Bangkok Dance Academy สถาบันสอนศิลปะการเต้นแห่งแรกในประเทศไทย ความท้าทายเมื่อเทียบกับสมัยก่อนกับปัจจุบัน พร้อมด้วย ‘ครูหลอดไฟ- นวินดา’ ทายาทรุ่นสองที่จะมาเปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจก้าวต่อไป การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน การมาของกระเเส K-Pop เเละการปรับเปลี่ยนเพื่อรับสไตล์ใหม่ๆ 

ก้าวเเรกบางกอกแดนซ์

 ‘ครูต้อย’ ในวัยเด็กต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ พร้อมพิสูจน์ความมุ่งมั่นตั้งใจกับครอบครัว จนได้ไปเรียนเต้นบัลเล่ต์และแจ๊ส จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรเลีย ซึ่งในยุคนั้นถือว่าน้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเช่นนั้น

จากที่สมัยก่อนการสอนบัลเล่ต์ในประเทศไทย มักจะทำเป็นธุรกิจเล็กๆ เเค่ในบ้าน เป็นเเบบ ‘stand alone’ ไม่เเพร่หลายเท่าที่ควร เมื่อกลับมายังบ้านเกิด เธอจึงคิดได้ว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้ศิลปะการเต้นเเพร่หลายเเละเข้าถึงคนหมู่มากให้จงได้ 

จากจังหวะชีวิตในตอนนั้น จึงเริ่มเปิดสถาบันสอนศิลปะการเต้นเเห่งเเรก ที่สยามกลการโรงเรียนดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนั้น

นำศิลปะการเต้นเข้า ‘ห้างฯ

เเม้ผลตอบรับจะดีพอสมควร เเต่ก็ยังมีการเข้าถึงที่จำกัดครูต้อยจึงเกิดความคิดที่ว่าจะนำสถาบันการเต้นเข้าสู่ห้างสรรพสินค้า ที่เป็นเเหล่งศูนย์รวมผู้คนทุกเพศทุกวัย

สมัยก่อนใครจะเรียนบัลเล่ต์ได้ต้องรู้จักต่อกันมาจากคนใกล้ชิด เเต่พอเราเข้าไปอยู่ในเเหล่งสาธารณะที่เข้าถึงง่ายเเล้ว ก็ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยได้เริ่มจัดตั้งสถาบันสอนศิลปะเต้น เเละศูนย์การเรียนรู้ในห้างเสรีเซ็นเตอร์ เป็น
การสร้างเเม็กเนตให้คนที่สนใจเดินเข้ามาหาได้ง่าย

จากนั้นได้มีการประสานงานกับสถาบันอื่นๆ อีก 14 แห่งร่วมมือกันเป็นจนกลายศูนย์การเรียนรู้ครั้งเเรกขึ้นมาเมื่อ 30 กว่าปีก่อน

กระเเสตอบรับก็มีทั้งสองเเบบ เพราะผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ยังมองว่านี่คือการเต้นกินรำกิน เเต่บางกอกเเดนซ์ก็มีหน้าที่ต้องทำให้สังคมเข้าใจว่า ศิลปะสร้างคนได้ เพราะฉะนั้นเด็กที่มาเรียนศิลปะทุกคน ไม่ว่าด้านดนตรี การเต้น วิจิตรศิลป์ทั้งหลาย มันคือการที่จะทำให้คนเราเเข็งเเกร่งขึ้นได้

จากการที่ยุคนั้นการเเข่งขันยังมีน้อยคู่เเข่งยังไม่มีไม่มากนัก เพราะเป็นธุรกิจเฉพาะทาง จึงทำให้บางกอกเเดนซ์เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

“30 ปีก่อนเราเเทบไม่ต้องมีงบโฆษณาเลย เน้นไปที่การประชาสัมพันธ์เเบบปากต่อปาก ต้องจองคิวเรียนต้องรอถึง 2 ปี เป็นการเริ่มธุรกิจที่ดูง่าย เเต่ความยากก็คือการต้องเเข่งกับตัวเอง พยายามเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องเเละทำให้ผู้คนเข้าถึงศิลปะในวงกว้างในได้

สมัยก่อนการทำกิจการด้านนี้ถือว่าง่ายมาก เพราะมีพื้นที่ให้ยืนเยอะมาก มีโอกาสพัฒนาเรื่อยๆ เเต่ทุกวันนี้พื้นที่เต็มมากขึ้น เเละการเต้นไม่ได้เป็นเพียงเเค่สไตล์เเต่การเป็น culture (วัฒนธรรม) ไปเเล้ว 

เคยมีคนบอกว่าการเต้นบัลเล่ย์เป็นของเก่าไปเเล้ว เเต่สำหรับคนที่ชอบก็จะบอกว่าการเต้นเเบบคลาสสิกมีมาเเล้ว 2-3 ร้อยปี มันอยู่ได้เพราะมันมีคุณค่า จะพูดเเบบไหนก็คือของสิ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นความยากในปัจจุบันของครูก็คือการปรับตัวให้เข้าใจคนรุ่นใหม่ เเละต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เข้าใจซึ่งกันเเละกัน

หลักสูตรที่เปลี่ยนตามยุคสมัย 

ในช่วงแรกสถาบันบางกอกแดนซ์ เริ่มเปิดสอนจากบัลเลต์ แจ๊สแดนซ์ นาฏศิลป์ไทย จากนั้นค่อยๆขยายหลักสูตรไปที่ยิมนาสติกลีลา บอลรูม ลาติน

จนถึงปัจจุบันที่ครอบคลุมการสอนศิลปะการเต้นทุกช่วงอายุ ทุกระดับความสามารถ ทุกอาชีพทั้งรูปแบบตะวันตกและตะวันออก ตั้งเเต่แบบคลาสสิคไปจนถึงสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบัลเลต์ แจ๊ส แท๊ป คอนเทมโพรารี่ รำไทย ยิมนาสติก ฮิปฮอป ลีลาสฯ สตรีทเเดนซ์ โดยค่อยๆปรับเสริมเพิ่มเติมตามยุคสมัย

ภายใต้การรับรองโดย กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมนำหลักสูตรจากนานาชาติเข้ามาผสมผสานอีกหลากหลาย อาทิ สถาบัน The Common Wealth Society of Teacher of Dance (C.S.T.D) จากประเทศออสเตรเลีย เพื่อสอนและสอบวัดผลให้นักเรียน ครู นักเต้นสมัครเล่น และนักเต้นมืออาชีพ

จากนักเรียนบางกอกเเดนซ์ 100 คนในยุคเเรก เพิ่มเป็นกว่าหลายหมื่นคนในอีก 31 ปีต่อมา

สมัยก่อนคนยอมอยู่ฝั่งธนเข้ามาเรียน เเต่สมัยนี้เราต้องไปอยู่ใกล้ๆ นักเรียนให้มากที่สุด จึงนำมาสู่การขยายธุรกิจ โดยปัจจุบันมีอยู่ 12 สาขารวมสำนักงานใหญ่ เพื่อให้ผู้คนเดินทางง่าย

ปรับตัว ‘สอนเต้นออนไลน์’ 

เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เเบบไม่คาดคิดขึ้น การเรียนการสอนไม่สามารถทำได้ตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายทั้งผู้สอนและผู้เรียนที่ก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ

นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือครูหลอดไฟ ทายาทรุ่น 2 เเห่งบางกอกแดนซ์เล่าถึงการปรับตัวในช่วงโควิดให้ฟังว่า

สถาบันสอนการเต้นนั้นไม่เหมือนการเรียนหนังสือทั่วไป เพราะต้องมี ‘Physical Contact’ ปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวการจัดท่าทาง เเละต้องใช้สถานที่เรียนที่เหมาะกับการเคลื่อนไหว ดังนั้นการเรียนที่บ้าน จึงมีข้อจำกัดเยอะเเละยอมรับว่าประสิทธิภาพการเรียนการสอนไม่เท่าสถานการณ์ปกติ

ทางบางกอกแดนซ์ จึงวางเเนวทางใหม่ว่าจะไม่ทำเเค่เปิดกล้องเเละสอนไปเรื่อยๆ เท่านั้นเเต่เป็นการสอนเเบบที่ยังคงจิตวิญญาณในการเต้นอยู่ให้มากที่สุดท้าที่จะทำได้

โดยได้รับคำปรึกษาจากสถาบัน The Commonwealth Society of Teachers of Dancing หรือ CSTD ที่นำเสนอการเรียนการสอนศิลปะการเต้นทางออนไลน์รูปแบบใหม่พร้อมงานสัมมนาซึ่งได้มีการเเชร์กับคุณครูของบางกอกเเดนซ์อยู่เสมอ

หลังจากผ่านมานานกว่า 2 ปี ก็เริ่มเห็นความเเตกต่างของเด็กที่ไม่ชอบเรียนออนไลน์เลย กับเด็กที่ปรับตัวเรียนออนไลน์ได้ พยายามประคับประคองกันไปให้ได้คุณภาพดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งไม่ใช่เเค่ทักษะการเต้นเท่านั้น เเต่ยังดูเเลไปถึงสภาพจิตใจของเด็กด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิดก็ทำให้บางกอกแดนซ์ ได้รู้จักกับผู้เรียนมากขึ้น เพราะพวกเขาได้ใช้ความเป็นตัวเองขณะอยู่ที่บ้าน พออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยก็จะมีการสื่อสารอีกเเบบหนึ่งที่ไม่เหมือนในห้องเรียน

เมื่อเป็นศิลปะการเต้น เด็กๆ ต้องปรับตัวอย่างมาก มีความตั้งใจเพิ่มขึ้นหลายเท่า ต้องฉลาดในการปรับตัวเเละพลิกเเพลงจากท่าเดิมที่ต้องใช้พื้นที่ 7 เมตร ต้องเต้นให้ได้ในระยะ 3 เมตรที่บ้าน เป็นความท้าทายเเละน่าชื่นชอบที่เด็กๆ ทำได้

โดยครูหลอดไฟ มองว่า เทคโนโลยีสมัยนี้ไปได้ไกลมากๆเ เละเห็นว่าการเรียนดนตรีผ่านระบบออนไลน์ให้ได้คุณภาพเสียงเรียลไทม์นั้น จะต้องมีซอฟต์เเวร์เเละอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติม

ขณะเดียวกันเทรนด์ Virtual reality หรือ VR เเละ โลกเสมือนจริงอย่าง Metaverse ที่กำลังจะเป็นที่นิยมในอนาคตก็จะมีส่วนช่วยให้การสอนออนไลน์พัฒนาขึ้นไปอีกขึ้นทุกๆอย่างจะเชื่อมโยงกัน

เราต้องรีบศึกษาเเละเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่นี้ ตามให้ทัน Pop-Culture เเละโลกดิจิทัล รวมถึงยึดมั่นในหลักการเดิมของเราทั้งการใช้ศิลปะพัฒนาคนเเละให้ศิลปะเข้าไปหาผู้คนให้ได้มากที่สุด

เมื่อเด็กๆ ฝันอยากเป็นเเบบลิซ่า

ปรากฎการณ์ K- pop ที่สะเทือนวงการเพื่อนทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความใฝ่ฝันจะเป็นศิลปินนักเต้นเเละยูทูบเบอร์มากขึ้น เหล่านี้ทำให้เกิดสถาบันสอนเต้นเเละสตูดิโอใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย

ครูต้อย เห็นว่า ทุกๆ สมัย จะมีสไตล์การเต้นใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในฐานะของผู้รักศิลปะเเละต้องการให้ศิลปะเข้าถึงทุกคน สิ่งเเรกที่เราต้องทำคือเปิดใจเเละชื่นชมในการเปลี่ยนเเปลงใหม่ๆเเต่การที่เราจะนำมาบรรจุในหลักสูตรของบางกอกเเดนซ์หรือไม่นั้น ก็ต้องดูไปตามความเหมาะสม โดยจะมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนเเละการนำไปสานต่อกับสไตล์ต่างๆ ได้

ยิ่งมีสตูดิโอสอนเต้นเปิดใหม่มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาวงการนี้ ให้ผู้คนเข้าถึงศิลปะการเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางกอกเเดนซ์ไม่มีทางที่จะทำได้เพียงลำพัง ต้องผนึกกำลังช่วยกัน จึงขอให้ซื้อตรงเเละมีจรรยาบรรณในสิ่งที่ตัวเองทำ

ส่วนครูหลอดไฟ มองว่า ความนิยมใน K-pop เข้ามาในไทยประมาณ 10 ปีที่เเล้ว ผู้คนสนใจเต้น coverdance มากขึ้น เเละตอนนี้การเต้นมีได้รับความนิยมมากขึ้นผ่านเเอปพลิเคชัน TikTok

การเต้นได้การเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคน ถือเป็นนาทีทองของโรงเรียนสอนเต้น เราก็ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยน เรายังคงต้องคงคุณค่า คุณภาพไว้เหมือนเดิม พร้อมเปิดรับทำสิ่งใหม่เทรนด์ใหม่ๆ เเบบคู่ขนานไปด้วย

โดยทางบางกอกเเดนซ์จะเน้นไปที่การสอนตั้งเเต่เทคนิคพื้นฐาน อย่างการย่ออย่างไรให้ถูกต้อง การถ่ายน้ำหนักให้เป็น ทำให้คนเข้าใจถึงเบื้องหลังท่าต่างๆ ของการเต้น K-Pop หรือสตรีทเเดนซ์ที่ถูกต้อง เเละในระยะยาวเข้าใจได้ว่าศาสตร์การเต้นมันเชื่อมโยงกัน

นอกจากนี้ ยังมีเด็กๆ หลายคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะเรียนเต้นจริงจัง โดยมีลิซ่า BLACKPINK’ เป็นไอดอล

อย่างเเรกที่เราจะเเนะนำคือการเริ่มเรียนการเต้นให้ถูกต้องตั้งใจเเละพ่อเเม่ต้องสนันสนุน มีทัศนคติที่ว่าการเต้นสามารถทำเป็นอาชีพได้ เเละกว่าที่ลิซ่าจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ ต้องผ่านการฝึกฝนมามากมาย ดังนั้นเราต้องมีความอดทนเเละสะสมความภูมิใจในตัวเองเรื่อยๆ เปิดโอกาสให้ตัวเองมากที่สุด

การเรียนศิลปะทุกเเขนง ต้องต่อสู้กับสังคมที่เราอยู่อย่างเเน่นอน ต้องยึดมั่นในความรู้สึกตัวเอง ไม่ท้อเเท้คำพูดของคนอื่น  เราก็จะเริ่มชนะเเล้วในระดับหนึ่ง ด้วยสังคมที่เราอยู่ เด็กๆ รุ่นใหม่จะต้อง ทดลองให้รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ หากมีความสนใจเพียงนิดเดียว เเล้วลองทำดู

เดินหน้าใช้ ‘ศิลปะพัฒนาคน’ 

ตั้งเเต่ช่วงเปิดโรงเรียนเเรกๆ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน บางดอกเเดนซ์พยายามผลักดันให้ภาครัฐเห็นความสำคัญกับด้านศิลปะ จนต่อมาเริ่มมีหน่วยงานมาสนับสนุนด้านกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ ในช่วง 15 ปีให้หลังมานี้ โดยหวังจะให้รัฐสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเเละบรรจุไว้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป

วงการศิลปะในบ้านเราต้องมีการพัฒนา ไม่ใช่เเค่ภาครัฐ เเต่เป็นการพัฒนา mind set ของคนผู้เเละให้ความสำคัญกับศิลปะในการศึกษาภาคปกติ ให้เข้าใจว่าศิลปะช่วยพัฒนาคนได้จริงๆ งบประมาณรัฐจะได้ไปอยู่ถูกที่ พัฒนาให้ถูกจุด

สำหรับทิศทางต่อไปของบางกอกเเดนซ์นั้น ด้วยความที่เป็นธุรกิจครอบครัว จึงปัญหาเรื่อง Gap-Different ความคิดที่เเตกต่างระหว่างวัย เเนวทางเหมือนเดิมเเต่วิธีดำเนินการอาจจะไม่เหมือนกัน จากความเป็นตัวตนที่ไม่เหมือนกัน

เราต้องมีการเติบโตขึ้น ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทาร์เก็ตกลุ่มลูกค้าต้องชัดเจนขึ้น เเละมุ่งเน้นการใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาประยุกต์ใช้กับสิ่งใหม่ๆ หนักเเน่นการสิ่งที่เราจะทำ ใช้เทคโนโลยี สื่อสารให้ทันสมัย ก็เชื่อว่าจะนำมาบางกอกเเดนซ์ไปในทิศทางที่ดีได้ โดยยังคงความเป็นตัวตนของเราได้ในทุกยุคทุกสมัย

 

 

]]>
1383289
ธนาคารโลกเตือน ราคาอาหาร-พลังงาน พุ่งครั้งใหญ่สุดรอบ 50 ปี กลุ่มยากจนกระทบหนัก https://positioningmag.com/1383142 Wed, 27 Apr 2022 10:50:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383142 ธนาคารโลก เตือนผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครน จะทำให้เกิดวิกฤตราคาอาหารพลังงานพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970

โดยการหยุดชะงักในภาคการผลิตจากในพื้นที่ความขัดแย้ง จะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ก๊าซธรรมชาติ ข้าวสาลี น้ำมันพืชเเละฝ้าย

การปรับขึ้นของราคา กำลังเริ่มส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและด้านมนุษยธรรมอย่างมหาศาล ครัวเรือนทั่วโลกต่างกังวลถึงวิกฤติค่าครองชีพ Peter Nagle นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกระบุ

ครัวเรือนยากจนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพวกเขาต้องแบ่งรายได้มาใช้สำหรับค่าอาหารและพลังงานมากขึ้น

ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า ราคาพลังงานอาจจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 50% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

โดยราคาพลังงานที่จะเพิ่มมากที่สุด คือราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรป ซึ่งอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เเละคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องในปีหน้าและปี 2024 แต่ก็ยังจะสูงกว่าระดับราคาในปี 2021 ถึง 15% ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อในวงกว้าง

สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม คาดว่าราคาจะสูงสุดในปี 2021 แต่ก็ยังคงสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้มากโดยสินค้าเกษตรและโลหะ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในปีนี้ ก่อนจะค่อยๆ ลดลงในปีถัดไป

รัสเซียและยูเครน นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชหลักของโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลักหลายรายการ อย่างเช่น ข้าวสาลี น้ำมันพืช และข้าวโพด

 

ที่มา : BBC 

]]>
1383142
สหรัฐฯ เร่งเพิ่มช่องทางเเจกฟรี ‘ยารักษาโควิด’ ตามร้านขายยาเป็น 2 เท่า ให้เข้าถึงง่ายขึ้น https://positioningmag.com/1382997 Tue, 26 Apr 2022 14:10:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382997 รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมขยายช่องทางจ่ายยาต้านไวรัสโควิด-19 ผ่านการเพิ่มจำนวนร้านขายยาในโครงการเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

โดยร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ จะสามารถสั่งยารักษาโควิดฟรีจากรัฐบาลกลางได้โดยตรง ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป

ปัจจุบันร้านขายยาต้องพึ่งพารัฐในการรับยา โดยรัฐบาลจะส่งยาไปให้ร้านขายยาที่ได้รับคัดเลือก รวมทั้งศูนย์ชุมชนโดยตรง ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการจาก 20,000  แห่งในปัจจุบันให้เป็น 40,000 แห่งในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้รับยา Paxlovid ฟรีนั้นต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากมีข้อกำหนดเเละขั้นตอนที่ยุ่งยาก ประกอบการตรวจหาเชื้อเริ่มลดลงและหลายคนก็กังวลผลข้างเคียงของยา

อย่างไรก็ดี ยา Paxlovid ถือจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาโรคโควิด-19 จากผลการทดลองทางคลินิกพบว่า ยาดังกล่าวช่วยให้กลุ่มเสี่ยงสูง มีอัตราการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ถึง 90% ขณะที่ยาขนานอื่นอย่าง molnupiravir และ Remdesivir มีประสิทธิภาพน้อยกว่า

โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ทำการสั่งซื้อยาก Paxlovid มากถึง 20 ล้านเม็ดสำหรับรักษาผู้ป่วยในราคา 530 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18,147 บาท) ต่อคอร์ส ซึ่งบริษัทผู้ผลิตอย่างไฟเซอร์ ได้ตั้งเป้าผลิตให้รัฐบาลได้ 3.5 ล้านคอร์สภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้

แต่นับจนถึงกลางเดือนนี้ รัฐบาลเพิ่งแจกจ่ายไปเพียง 1.5 ล้านคอร์สเท่านั้น และร้านขายยายังมียาเหลือมากกว่า 500,000 คอร์ส

สหรัฐฯ เตรียมจะเพิ่มสถานที่ตรวจหาเชื้อในโครงการ ‘Test to Treat’ เพื่อให้สามารถรับการตรวจหาเชื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แล้วรับยารักษาฟรีทันทีหากมีผลตรวจเป็นบวก ปัจจุบันมีร้านขายยาเข้าร่วมในโครงการ 2,200 แห่ง เเละจะมีร้านเข้าร่วมทางออนไลน์เพิ่มอีก 10,000 แห่งในเร็วๆนี้

 

ที่มา : Reuters 

]]>
1382997
Coca-Cola ปรับใช้ ‘ขวดเเก้วรีฟิล’ รับมือเงินเฟ้อ เริ่มในตลาดละตินอเมริกา-แอฟริกา https://positioningmag.com/1382975 Tue, 26 Apr 2022 09:51:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382975 Coca-Cola ผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่ของโลก มองว่าความต้องการของผู้บริโภคอาจชะลอตัวลง จากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและยังไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้น พร้อมมุ่งเน้นไปที่ขวดแก้วรีฟิล’ ที่ใช้ซ้ำได้เเละราคาไม่แพง ท่ามกลางตลาดที่มีการปรับขึ้นของราคาสินค้าครั้งใหญ่

ความต้องการน้ำอัดลมและอาหารบรรจุหีบห่ออื่นๆ ยังคงแข็งแกร่ง แม้จะมีการปรับราคาสูงขึ้น จากการเเบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ตั้งแต่กระป๋องอะลูมิเนียม น้ำตาล แรงงาน และการขนส่ง

James Quincey ซีอีโอของ Coca-Cola ระบุว่า ความยืดหยุ่นของดีมานด์จะไม่คงอยู่ตลอดไปเเต่อาจจะเพิ่มขึ้นบางช่วงเวลาในอนาคตซึ่งอาจจะเป็นไตรมาสหน้าหรือปีหน้า

ทั้งนี้ P&G บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้ว่าความต้องการของผลิตภัณฑ์ดูแลผู้หญิงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านในสหรัฐฯ มีเเนวโน้มจะอ่อนตัวลง เนื่องจากราคาช่วงฤดูร้อนได้ปรับเพิ่มขึ้น

เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกำลังซื้อของผู้บริโภคที่คาดว่าจะลดลง ทาง Coca-Cola กำลังขยายการจัดจำหน่ายขวดแก้วที่ส่งคืนหรือรีฟิลได้ที่ราคาถูกกว่า ในตลาดเกิดใหม่อย่างละตินอเมริกาและแอฟริกา โดยกำลังทดลองใช้ขวดที่ส่งคืนได้ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ

ตามข้อมูลของ Refinitiv พบว่า รายรับสุทธิของ Coca-Cola เพิ่มขึ้น 16% เป็น 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังการที่บริษัทประกาศระงับการดำเนินงานในรัสเซีย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรประจำปี ราว 4 เซนต์ต่อหุ้นและรายรับสุทธิประจำปีประมาณ 1-2%

 

ที่มา : Reuters 

]]>
1382975
เปิดมุมคิด 3 เเบรนด์ดัง พลิกวิกฤตอุตสาหกรรม ‘เสื้อผ้า’ คว้าโอกาสปรับตัวสู่ดิจิทัล https://positioningmag.com/1382271 Tue, 26 Apr 2022 04:49:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382271 ในยุคที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเเละปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด พร้อมพัฒนาให้ก้าวทันตลาดอยู่ทุกช่วงเวลา เเม้จะต้องเจอวิกฤตที่ไม่คาดฝัน อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นธุรกิจที่มีการเเข่งขันสูง ทั้งรายใหญ่รายย่อย โดยมีทั้งเเบรนด์ที่ประสบความสำเร็จกลายเป็นที่รู้จักโด่งดัง เเละอีกมุมหนึ่งก็มีเเบรนด์ที่ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก

วันนี้เราจะมาเปิดมุมคิดพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทองยุคดิจิทัล จาก 3 เเบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของเมืองไทย อย่างห่านคู่เสื้อยืดที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายทศวรรษ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตามมาด้วยวอริกซ์’ (Warrix) แบรนด์เสื้อผ้า รองเท้ากีฬาที่ท้าชนแบรนด์ระดับโลกด้วยกลยุทธ์ออนไลน์ เเละน้องใหม่ไฟเเรงอย่าง ‘Davie Jones’ เสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย แบรนด์ไทยที่กำลังเป็นที่นิยม

จากรุ่นสู่รุ่น ‘ห่านคู่’ ยกเครื่องดิจิทัล 

เมื่อพูดถึง ‘เสื้อยืด-เสื้อกล้าม’ คลายร้อน ห่านคู่จะเป็นเเบรนด์อันดับต้นๆ ที่คนไทยรู้จักเเละคุ้นเคยอยู่เสมอ หลังอยู่อยู่ในตลาดมายาวนานกว่า 69 ปี

‘คุณากร ธนสารสมบัติ’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานไทยแลนด์ นิตติ้ง จำกัด เล่าว่า ความท้าทายของธุรกิจนั้นมีอยู่ตลอดเวลา เเละมีอยู่ต่อเนื่องก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ต้องเจอคู่แข่งจากต่างประเทศ ที่มีรูปแบบการเเข่งขันที่เเตกต่างกันไป

การตัดสินใจปรับเปลี่ยนเข้าสู่ ‘digital transformation’ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์เเต่ละยุคสมัย หลังมีฐานกลุ่มลูกค้ากว่า 5 เจเนเรชัน

“ออนไลน์เป็นเครื่องมือที่จำเป็นมาก ถ้าเราจะอยู่ได้ถึง 100 ปี เราต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้ง 5 กลุ่มนี้ให้ได้”

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เห็นกลุ่มลูกค้าต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น รวบรวมข้อมูลเพื่อทำการประเมินได้รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น จากการประเมินด้วยข้อมูลที่เคยเป็น mass สู่การประเมินเเบบฉพาะบุคคลได้อย่างเรียลไทม์ เป็นการปรับตัวเพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าได้มากขึ้น

“ในช่วงวิกฤตผู้ประกอบการต้องหัวใจนักสู้ เสี่ยงให้ถูกทาง การลงทุนเทคโนโลยีจึงมีความจำเป็นมาก Digital Platform จะเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในปัจจุบันและรองรับในอนาคต”

โดยห่านคู่ ได้เข้าร่วมกับโครงการกับ ‘The FinLab Thailand’ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัลของเหล่า SMEs ไทย

ทางเเบรนด์ต้องการมุ่งเน้นที่ e-commerce, social commerce รวมทั้งการมีระบบ backend หลังบ้านที่แข็งแกร่ง โดยได้รับคำแนะนำและทำการติดตั้ง ERP เพื่อเชื่อมต่อกับระบบ supply chain เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในได้ดีขึ้นได้มาก

สำหรับจุดเด่นของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในตลาดไทยนั้น คือการมีอยู่หลาย segment หลายกลุ่มลูกค้า เเละนั่นหมายถึง “การมีโอกาสมากขึ้นตามไปด้วย”

-ร่วมมือกับบาบีคิวพลาซ่า เปิดตัวเสื้อยืดรุ่นลิมิเต็ด “GON X ห่านคู่” ขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่

ขณะที่การแข่งขันในระดับภูมิภาค CLMV และจากประเทศจีนก็ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เเบรนด์ต้องขยายการลงทุนแข่งขันกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มทประเทศเพื่อนบ้าน ที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดได้ผ่านการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอยู่

ด้านการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นนั้น แต่ละรุ่นจะมีความท้าทายเป็นของตนเองต่างกันในแต่ละยุค “หลักการคงอยู่ ไม่เปลี่ยน แต่วิธีการและเครืองมือเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงวิธีความคิด การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของคนเหล่านี้คือความท้าทาย” 

“เราในฐานะผู้บริหารต้องถอดตรงนี้ออก แล้วลงมือทำไปด้วยกันเลย ตอนนี้องค์กรของเรามีการทำงานเเบบ Flat Organization สามารถที่จะเข้าถึงผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานได้โดยตรง”

เเม้ว่าเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยที่สำคัญ แต่เรื่องบริหารคนก็สำคัญมากไม่เเพ้กัน การมีวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะปรับเปลี่ยนองค์กร กล้าลองผิดลองถูก ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเรียนรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

“ผู้ประกอบการตระหนักรู้ว่าทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง เมื่อคิดแล้วลงมือทำ ต้องประเมินความเสี่ยง แล้วเดินหน้าลุยการตลาดดิจิทัล อย่าคิดว่าสายแล้วเกินจะทำ เพราะถ้าไม่ทำ เราก็จะหายไปเลย”

Warrix ส่งเเบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกด้วย ‘ออนไลน์‘ 

‘วอริกซ์’ (Warrix) แบรนด์เสื้อผ้ารองเท้ากีฬาของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจมา 8 ปี จากการวางโพสิชันเป็น sportswear มาสู่เสื้อผ้าด้าน ‘healthy active lifestyle’ บริการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและการฟื้นฟู

แม้จะเจอวิกฤตโควิด เเต่ Warrix ก็ยังสามารถทำยอดขายได้สูงสุดเป็นประวัติการของบริษัทได้ จากการปรับสู่ ‘ดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ และเข้าเปิดตลาดที่หลากหลาย อย่างเช่น สถานพยาบาล , ที่พักสำหรับผู้สูงวัย ฯลฯ

วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ซีอีโอบริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด บอกเล่าถึงการตัดสินใจทรานฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลว่า
ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งเเต่ช่วงก่อนโควิด ปี 2017 ตั้งแต่ที่หลังชนะงานประมูล sportswear ทีมชาติไทย

จุดนั้นถือเป็นความท้าทายใหม่ เเละถึงเวลาที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทโดยตรง ตัวเขาเองจึงได้ไปลงคอร์สเรียนธุรกิจดิจิทัล เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ทำให้มีวิสัยทัศน์มาช่วยเร่งสปีดในเรื่องการปรับส่วนต่างๆ ในองค์กร

“ถ้าเราไม่ตัดสินใจทุ่มลงทุนในเรื่องออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2017 เราคงไม่ได้มาอยู่ตรงจุดนี้”

โดยเริ่มจากการพัฒนาช่องทางการค้า e-commerce  ทั้ง Inbox Facebook , LineAds, eCommerce เเละ marketplace ชื่อดังต่างๆ อย่าง Lazada ฯลฯ

ทางโครงการ Smart Business Transformation ( SBTP) โดยธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เเละ the FinLab ได้แนะนำให้ Warrix ได้รู้จักกับระบบบริหารกิจกรรมทางการขายบนช่องทางที่หลากหลายให้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียว และทำให้เราสามารถพัฒนาต่อยอดจากตรงนั้นได้

เหล่านี้ ทำให้เเบรนด์เห็นความสำคัญของ Data Management การลงทุนกับเว็บไซต์ เเละการนำ AI มาใช้

“เราเริ่มลงทุนกับเว็บไซต์สูงขึ้น ใช้เงินทุนไปหลายล้าน ในส่วนตรงกลางเราก็ลิงก์กับระบบซัพพลายต่างๆ หลังบ้าน เราใช้ SAP B1 ติดตั้งใช้งานเรียบร้อย การเชื่อมต่อได้ดีขึ้น จากนั้นก็กลับมาลงทุนที่หน้าบ้านเราให้ดีขึ้นอีก เเละทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเครื่องมือทางการตลาดก็มีออกมาเรื่อยๆ”

เมื่อถามถึงการเข้าสู่เทคโนโลยีโลก Metaverse ของเเบรนด์เสื้อผ้าอย่าง Warrix นั้น เขายอมรับว่ามีความเสี่ยง และยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เเต่ก็มองเป็น high risk, high return

ดังนั้น ต้องมีการแสวงหาความร่วมมือ จับมือกับผู้เชี่ยวชาญ อย่างการจับมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตและบริษัท อินเด็กซ์ ทำ MOU เพื่อร่วมทุนกันซื้อพื้นที่ใน ‘sandbox’

“เราต้องก้าวไปในอนาคต เพื่อไปจับคนกลุ่มใหม่ พาร์ทเนอร์ และความรู้พื้นฐานถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ควรอัปเดตความรู้อยู่เสมอ เพราะการเรียนรู้ทำได้ไม่มีวันจบ มีเครื่องมือทางการตลาดออกมาใหม่มากมาย”

ปัจจุบัน Warrix มีส่วนออนไลน์คิดเป็น 1 ใน 3 ของช่องทางการตลาดทั้งหมด พร้อมมีการจัดงบโฆษณาออนไลน์ ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นรายได้อย่างมาก รวมถึงการใช้ Data Management ในการกระตุ้นยอดขาย

“มีใจสู้ ไม่ยกธงขาวไปก่อน วิกฤตโควิดถือว่าเป็นช่วงที่หนักที่สุด เเต่ผมรู้สึก down แค่วันเดียว เราต้องตัดสินใจเรื่องธุรกิจบนพื้นฐานความจริง ทั้งปัญหาระยะสั้นและระยะยาว”

สำหรับเป้าหมายของ Warrix คือการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น
 การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้เเบรนด์สามารถที่จะขยายธุรกิจเข้าไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม โดยไม่ต้องพึ่งพาเอเจนท์ เพราะเมื่อลูกค้าสนใจสินค้า ก็สามารถเข้าดูสินค้าได้เอง และสั่งได้เองโดยตรงจากเว็บไซต์ของบริษัท หรือตาม marketplace ต่างๆ

-ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ของ www.warrix.co.th ที่มีฟังก์ชั่นการค้นหาสินค้าผ่านการเลือกสี ไซส์ ราคา ขนาด ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น

โดยความท้าทายในการขยายธุรกิจนั้น ก็มีหลายด้าน ทั้งการดิสรัปองค์กร การทำ branding ความท้าทายด้านทรัพย์สินทางปัญญา เเละด้าน digitalization

การสร้างแบรนด์ ให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งให้ได้นั้นมีความสำคัญมาก เพราะการผลิตสินค้าทุกวันนี้ เอาเข้าจริงก็มักจะมาจากโรงงานเดียวกัน แหล่งวัตถุดิบเดียวกัน แบบก็คล้ายๆ กัน แต่ branding เป็นสิ่งที่จะทำให้เราตั้งราคาได้ต่างกัน เเละได้รับความเชื่อถือจากผู้ซื้อต่างกัน

“ตอนเริ่มทำสินค้าเสื้อผ้า มีแต่คนมาเตือนว่าตลาดเสื้อผ้าอยู่ช่วง sunset ช่วงขาลง แต่ไม่จริงเลย มีโอกาสเกิดใหม่ สร้างโอกาสใหม่ได้มากมาย”

ผู้บริหารต้องสร้างแบรนด์ให้ใหม่ หาทางหนีออกมาจากตลาดที่แข่งขันด้วยราคาให้ได้ หันมาสร้างแบรนด์ให้มี value พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ตราบใดที่คนเราต้องใส่เสื้อผ้าออกจากบ้าน ก็จะต้องเกิดดีมานด์ขึ้น ต้องเดินให้ถูกทางไปพร้อมความต้องการของลูกค้า สร้างความน่าเชื่อถือในแบรนด์ เป็นจุดมีความสำคัญมากๆ

Davie Jones เจาะอีคอมเมิร์ซเเบบ ‘คีพคาแร็กเตอร์’ 

Davie Jones เเบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย ที่เริ่มจากการเป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ และเริ่มปรับตัวมาจับตลาดในประเทศ หลังเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2015 ณ ตอนนี้มีการขยายสาขา 50-60 แห่งทั่วประเทศ เน้นช่องทางห้างสรรพสินค้าและทางออนไลน์

ศิพิมพ์ อุ่นวรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและอีคอมเมิร์ซ บริษัท วี.พี.อาร์.เอส. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของแบรนด์ Davie Jones กล่าวว่า ทุกวันนี้ลูกค้าได้เปลี่ยนทางเลือกในการจับจ่าย กำลังการซื้อของลูกค้าบางกลุ่มไม่ได้ลดลง แต่ลูกค้าหันมาช้อปปิ้งออนไลน์เเทน กดซื้อจากไหนก็ได้ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เเบรนด์อยากจะทรานส์ฟอร์มเเละต้องการที่รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด

เราต้องการรู้จักลูกค้าของเรา รู้ความต้องการ รู้สัดส่วนต่างๆ ในตลาด  ซึ่งเมื่อเรามาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว ก็ทำให้เรารู้จักลูกค้าได้เร็วขึ้น เปลี่ยนจาก fast/mass fashion มาสู่ realtime fashion”

ปัจจุบันมีแบรนด์เสื้อผ้าเกิดใหม่มากมาย แต่เราต้องมีตัวตนที่ชัดเจน มีคุณภาพของสินค้าที่ดี ด้วยความที่ Davie Jones มีโรงงานของตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ พร้อมมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างประกอบกัน เมื่อลูกค้าทำการซื้อแล้ว ก็เกิดการ re- purchase กับมาซื้ออีกกับเเบรนด์เรา

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ทำให้เเบรนด์สื่อสารผ่านเว็บไซต์ของตัวเองได้ ต่อไปก็จะขยายไปสู่ตลาดเพื่อนบ้าน ที่มีภาษาใกล้เคียงกันเเละชื่นชอบสินค้าไทย อย่าง สปป.ลาว

ตลอดออนไลน์เป็นโลกที่ต้องรีบเข้าไป จะช่องทางไหนก็ต้องรีบเข้าไปดู ไม่มีคำว่าช้าไป เพราะการที่จะสร้างให้เป็นแบรนด์ที่หนึ่งในใจได้ ต้องสามารถเข้าถึงลูกค้าแม้ในภาวะที่มีปัญหามากมาย ลูกค้าก็ยังสามารถเข้าถึงสินค้าได้

โดยแพลตฟอร์มการขายทางออนไลน์ช่วยให้ยอดขายของ Davie Jones พุ่งกระฉูดช่วงโควิด เเม้จะมีสัดส่วนออนไลน์ประมาณ 20% เท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็น activewear, casualwear, streetwear เเบรนด์จะต้องมีตัวตนที่ชัดเจน อย่าง Davie Jones มี denim jogger มีแบบขาจัมพ์ เอวจัมพ์ หรือแบบเดินด้ายเขียวสะท้อนแสง เห็นปุ๊บก็รู้ว่าเป็นของเเบรนด์เรา พร้อมมีจุดยืนที่แตกต่างจากเจ้าอื่น และมีความชัดเจนในคาแร็กเตอร์สินค้า มีช่องทางการตลาดแน่นอน เเต่ยืดหยุ่นได้เเละปรับตัวตลอดเวลา

 

]]>
1382271
‘Fujitsu’ เตรียมขายธุรกิจสเเกนเนอร์ให้ ‘Ricoh’ เพื่อหันไปมุ่งพัฒนาซอฟต์แวร์ https://positioningmag.com/1382788 Mon, 25 Apr 2022 13:09:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382788 Fujitsu บริษัทผู้ให้บริการด้านไอทียักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมขายธุรกิจสแกนเนอร์ให้กับ Ricoh ผู้ผลิตอุปกรณ์สำนักงาน ในราคาประมาณ 8 หมื่นล้านเยน (ราว 2.1 หมื่นล้านบาท) โดยจะหันไปมุ่งพัฒนาด้านซอฟต์แวร์เเทน 

Nikkei Asia รายงานว่า Fujitsu จะขายหุ้น 80% ของบริษัทในเครืออย่าง PFU ที่ผลิตเครื่องสแกนสำหรับลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่ทาง Ricoh ก็กำลังวางแผนที่จะสร้างบริการที่รวมอุปกรณ์สำนักงานและการประมวลผลข้อมูลภาพไว้ด้วยกัน

Fujitsu จะหันไปมุ่งเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจโลกดิจิทัล เช่น การทำงานทางไกล หรือ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)

โดยทั้งสองบริษัท จะพิจารณาร่วมมือกันในการแปลงข้อมูลสำนักงานให้เป็นดิจิทัล เเละคาดว่าจะมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือนนี้

PFU บริษัทในเครือ Fujitsu ก่อตั้งขึ้นในปี 1960 มีจุดเเข็งด้านเครื่องสแกนในภาคธุรกิจแปลงเอกสารที่เขียนด้วยลายมือเป็นข้อมูลภาพสำหรับสำนักงานโรงพยาบาลเเละธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เเต่ในปัจจุบันตลาดหดตัวลงเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทต่างๆ กำลังเลิกใช้กระดาษ

โดยยอดขายรวมของ PFU ในปีงบประมาณสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2021 ลดลง 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ลงมาอยู่ที่ 1.345 แสนล้านเยน กำไรสุทธิของบริษัทลดลง 34% เป็น 3.9 พันล้านเยนในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19

นับตั้งแต่ช่วงปี 2015 Fujitsu ได้เริ่มขายธุรกิจฮาร์ดแวร์ออกไปบางส่วน เพื่อมุ่งโฟกัสกับธุรกิจซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรต่างๆ รวมถึงบริการการจัดการข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและรัฐบาล โดยได้ขายธุรกิจโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไปแล้ว

เช่นเดียวกับ การปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตรายอื่น ๆ อย่าง Hitachi ที่ตัดสินใจขาย Hitachi Transport System และ Toshiba ก็ขายธุรกิจเครื่องปรับอากาศให้กับ Carrier Global ของสหรัฐอเมริกา

ส่วน RICOH ก็พยายามเปลี่ยนโพสิชั่นเเบรนด์จากผู้ผลิตอุปกรณ์สำนักงานให้เป็นบริษัทผู้ให้บริการดิจิทัล โดยการเข้าซื้อธุรกิจสเเกนเนอร์ครั้งนี้ จะเข้ามาเสริมบริการป้อนข้อมูลอัตโนมัติของแบบฟอร์มใบสมัครสำหรับธนาคารและองค์กรอื่นๆ ผ่านการเชื่อมกับคลาวด์ของ Ricoh เพื่อดำเนินการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

ที่มา : Nikkei Asia 

]]>
1382788