“ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) แถลงเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ 4 โครงการที่จะเริ่มจองในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ของบริษัท มูลค่ารวมกว่า 5,800 ล้านบาท ได้แก่
โดยเลือกเปิดตัวในช่วงปลายปีเพราะเริ่มเห็นสัญญาณตลาดคอนโดฯ ว่าเริ่มดีขึ้น วัดจากยอดเปิดตัวคอนโดฯ ใหม่ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 มีไม่ถึง 50% ของที่เคยมีการเปิดช่วงครึ่งปีแรก 2566 แต่ยอดขายกลับตกลงไม่มาก โดยยอดขายช่วงครึ่งปีแรก 2567 คิดเป็น 60% ของครึ่งปีแรกปี 2566
ช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ถือเป็นช่วงที่ยอดขายคอนโดฯ ขึ้นไปสูงกว่าจำนวนคอนโดฯ เปิดใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดมีความต้องการซื้อคอนโดฯ แต่ซัพพลายมีน้อยลง เป็นจังหวะที่ดีที่ศุภาลัยจะเติมซัพพลายลงไปในตลาดได้
มองถึงอนาคตปี 2568 ไตรเตชะชี้ว่าซัพพลายคอนโดฯ เปิดใหม่ก็น่าจะยังไม่สูงมากเช่นกัน เพราะวัดจากการได้รับอนุมัติ EIA ของคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันลดเหลือ 5 โครงการต่อเดือน เทียบกับก่อนโควิด-19 เคยได้รับอนุมัติประมาณ 15 โครงการต่อเดือน ทำให้การเปิดตัวโครงการใหม่ก็น่าจะยังมีไม่มาก
ปี 2568 ศุภาลัยจึงตั้งเป้าว่าจะเปิดคอนโดฯ ใหม่คิดเป็นมูลค่า 2 เท่าของปีนี้ โดยจะมีทั้งคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และเปิดในต่างจังหวัดเพิ่มอีก
ไตรเตชะกล่าวต่อถึงกลยุทธ์ในการเปิดขายคอนโดฯ ปี 2567 ว่า แม้ตลาดจะดีขึ้นแต่เทรนด์ลูกค้ายังอ่อนไหวเรื่องราคาในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ และยังมีสินค้าสร้างเสร็จพร้อมอยู่อยู่ในตลาดด้วย ทำให้ศุภาลัยเลือกจะใช้การทำ “ราคาถูกกว่า” คู่แข่งในทำเลเพื่อมัดใจให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเร็วสำหรับโครงการที่ยังต้องรอการก่อสร้าง
ยกตัวอย่างโครงการที่มั่นใจว่าราคาจะเป็นปัจจัยดึงดูดคือ Supalai Tyme เจริญนคร เปิดราคาเฉลี่ยทั้งตึก 85,000 บาทต่อตร.ม. ในทำเลเจริญนครช่วงกลาง (ด้านใต้ของสะพานตากสิน-ก่อนถึงสะพานพระราม 3) ซึ่งคอนโดฯ อื่นๆ ในย่านนี้ที่อยู่ติดถนนเจริญนครจะทำราคาพุ่งไปที่ 121,000-136,000 บาทต่อตร.ม. แล้วทั้งหมด ทำให้คอนโดฯ ใหม่ของศุภาลัยจะถูกกว่าทำเลถึง 30%
หรืออีกโครงการอย่าง Supalai Blu สาทร-ราชพฤกษ์ ระยะทางประมาณ 500 เมตรจากสถานีบางหว้า ราคาเฉลี่ยโครงการนี้อยู่ที่ 75,000-80,000 บาทต่อตร.ม. ก็จะถูกกว่าคู่แข่งในทำเลซึ่งทำราคาอยู่ราว 90,000 บาทต่อตร.ม. ด้วยช่องว่างราคาที่ต่ำกว่าเกิน 10% ก็เชื่อว่าจะดึงดูดลูกค้าได้มาก
“บอกตามตรงแบบไม่เขินเลยคือเราไม่มีที่ว่างสำหรับความผิดพลาดในไตรมาส 4 ปีนี้ ถ้าเปิดตึกมาจะต้องได้ยอดขายเท่านั้น ทำให้ต้องทำราคาถูกสุดเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจทันที” ไตรเตชะกล่าว
ในแง่บริหารจัดการต้นทุน เอ็มดีศุภาลัยยืนยันว่าโครงการจะยังได้กำไรเพราะต้นทุนที่บริหารได้ดีในปีนี้คือ “ค่าวัสดุและก่อสร้าง” เนื่องจากราคาวัสดุต่ำลงมาแล้วเทียบกับช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับผู้รับเหมาและซัพพลายเออร์มีการแข่งขันประมูลราคากันสูงในปีนี้ จึงทำให้ศุภาลัยได้ราคาต่ำลง
ด้านรายละเอียดโครงการแต่ละแห่งว่ามีจุดเด่นน่าสนใจอย่างไร “ชัยจักร วทัญญู” ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) แจกแจงดังนี้
“Supalai Sense เขารัง ภูเก็ต” เป็นอาคารเล่นระดับบนเชิงเขาเขารัง แม้ตัวอาคารจะสูง 8 และ 9 ชั้น แต่ด้วยความสูงของเขาจะทำให้ได้วิวเหมือนคอนโดฯ 20 ชั้น และเป็นคอนโดฯ เลี้ยงสัตว์ได้อย่างเป็นทางการตึกแรกใน จ.ภูเก็ต และของศุภาลัยด้วย
“Supalai Kram เขาเต่า” จำนวนยูนิตน้อยเพียง 84 ยูนิต ยูนิตส่วนใหญ่เป็นแบบ “2 ห้องนอน” ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการที่พักตากอากาศสำหรับครอบครัว ทำเลรับวิวอ่างเก็บน้ำเขาเต่า และระยะเดิน 400 เมตรจากชายหาดเขาเต่าซึ่งลงเล่นได้จริง
“Supalai Blu สาทร-ราชพฤกษ์” คอนโดฯ คอนเซ็ปต์ออกแบบใหม่มาในธีม “สีน้ำเงิน” พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกจัดเต็มกว่าปกติ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ตัวห้องชุดให้เพดานสูง 2.7 เมตร
“Supalai Tyme เจริญนคร” ทำเลตรงข้ามเอเชียทีค ดันชั้นสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ 2 ชั้นบนสุดที่ชั้น 27-28 เห็นวิวแม่น้ำ 180 องศา
“ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดตัวโครงการระดับอัลตราลักชัวรี “ปอร์เช่ ดีไซน์ ทาวเวอร์ แบงคอก” (Porsche Design Tower Bangkok) ซึ่งเป็น Branded Residence ที่ดีไซน์โดย “Porsche” แห่งแรกในเอเชีย และแห่งที่ 3 ของโลกต่อจากที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา และที่สตุทการ์ท เยอรมนี
ทำเลที่ตั้งของโครงการอยู่ในซอยสุขุมวิท 38 ย่านทองหล่อ ออกแบบเป็นคอนโดมิเนียมสูง 21 ชั้น และทั้งตึกมีเพียง 22 ยูนิต พื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 525 ตร.ม. สูงสุด 1,135 ตร.ม. และเป็นห้องชุดแบบดูเพล็กซ์ (2 ชั้น) หรือ เพนต์เฮาส์ควอดเพล็กซ์ (4 ชั้น)
ไฮไลต์ของโครงการอยู่ที่ “แพสชัน สเปซ” ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถ “ซูเปอร์คาร์” ส่วนตัว เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยใช้เป็นจุดจัดแสดงคอลเล็กชันรถยนต์คันโปรด หรือของสะสมอื่นๆ ที่ชื่นชอบ เปรียบเหมือนมีแกลลอรีหรือพิพิธภัณฑ์เฉพาะบุคคลในพื้นที่กว้างขวาง 100-335 ตร.ม.
พื้นที่แพสชัน สเปซนี้สามารถนำรถซูเปอร์คาร์วิ่งขึ้นมาจอดได้โดยตรง เพราะมีการออกแบบทางลาด ‘The Loop’ ให้รถซูเปอร์คาร์ขับขึ้นได้สะดวก
รวมถึงมีองค์ประกอบตึกที่ได้แรงบันดาลใจจาก Porsche เช่น ยอดตึก ‘The Crown’ เป็นเส้นสีแดงจากไฟท้ายของรถสปอร์ต Porsche หรือ ผนังกระจกห้องชุดที่เปิดออกสู่ระเบียงและสระว่ายน้ำ จะเปิดแบบบานพับขึ้นด้านบน เหมือนกับระบบ ‘Kinetic Move’ ในรถยนต์รุ่น 911 Targa
บริษัทอนันดาฯ แถลงเปิดราคาเฉลี่ยต่อยูนิตของ ปอร์เช่ ดีไซน์ ทาวเวอร์ แบงคอก เริ่มที่ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 525 ล้านบาท) จนถึงสูงสุด 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,400 ล้านบาท) หรือสนนราคาเริ่มตารางเมตรละ 1 ล้านบาท รวมทั้งโครงการมูลค่าแตะ 15,000 ล้านบาทซึ่งถือเป็นโครงการมูลค่าสูงที่สุดที่อนันดาฯ เคยพัฒนามา
อนันดาฯ วางแผนการก่อสร้างโครงการนี้ จะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2568 และพร้อมส่งมอบในปี 2571
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจองห้องชุดในโครงการนี้จะต้องติดต่อส่งข้อมูลแสดงความสนใจเข้ามาก่อน เนื่องจากโครงการถือเป็นสินค้าในระดับสากลที่จะเปิดโอกาสให้กับลูกค้าทั่วโลก อนันดาฯ และ Porsche จะต้องมีการคัดกรองจากฐานลูกค้าของ Volkswagen AG บริษัทแม่ของ Porsche ด้วย (*Volkswagen AG เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์หรูหลายแบรนด์ เช่น Porsche, Lamborghini, Bentley, Audi)
ชานนท์ระบุว่า โครงการนี้ยังคงยึดหลักกฎหมายการครอบครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติไม่เกิน 49% ของคอนโดฯ ตามปกติ หากมีความสนใจจากลูกค้าต่างชาติเกินสัดส่วนดังกล่าว จะมีการพิจารณาสัญญาเป็นให้เช่าระยะยาวต่อไป
]]>Positioning มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงการ “บ้านกรีนเฮ้าส์ รังสิต สเตชั่น – ซ.เวิร์คพอยท์” ของค่ายพฤกษา ซึ่งเป็นโครงการทดลองที่น่าสนใจ เพราะพยายามจะแก้โจทย์ที่ดินแพง บ้านแพง ทำโปรดักส์แนวใหม่ออกมาเพื่อให้แพ็กเกจราคาอยู่ในช่วงที่คนไทยจับต้องได้ง่ายขึ้นคือกลุ่มราคา “ล้านต้นๆ” ขณะเดียวกันก็ยังได้พื้นที่ใช้สอยกว้างพอที่จะอยู่เป็นครอบครัวขนาดเล็กได้
โครงการนี้ทางพฤกษาคาดว่าน่าจะเป็น “ครั้งแรกในไทย” แต่เป็นแนวคิดเดียวกับที่เคยมีแล้วในประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ สองประเทศที่ประสบปัญหาที่ดินแพงมาก่อนเมืองไทย โครงการ “คอนโดอารมณ์ทาวน์เฮาส์” จะเป็นอย่างไร เราจะพาไปเจาะลึกกันต่อด้านล่าง
การจะแก้โจทย์นี้ต้องย้อนไปดูกฎหมายจัดสรรที่ดินของไทย เนื่องจากกฎหมายไทยกำหนดให้ “ทาวน์เฮาส์” ต้องมีขนาดที่ดินไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา ทำให้การลดขนาดทาวน์เฮาส์จนเหลือเล็กจิ๋วเพื่อทำราคานั้นเป็นไปไม่ได้
ทางออกของพฤกษาจึงเป็นการสร้าง “คอนโดฯ” ที่หน้าตาเหมือนทาวน์เฮาส์แทน
เมื่อมองไปเผินๆ จึงทำให้โครงการบ้านกรีนเฮ้าส์หน้าตาเหมือนกับทาวน์เฮาส์ เพราะเป็นบ้านแถวเรียงเข้าไปในแนวลึก หันหน้าเข้าหากัน และแต่ละยูนิตมีชั้น 1 กับชั้น 2 ทุกครอบครัวจะได้อยู่ติดผืนดินทั้งหมด
แบบบ้านนั้นเท่ากันทั้งหมดคือเป็น ห้องชุดพื้นที่ใช้สอย 53 ตารางเมตร เป็นห้องชุด 2 ชั้น หน้ากว้าง 5 เมตร ลึก 6.5 เมตร ฟังก์ชันมี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องนั่งเล่น-ห้องทานอาหาร และ 1 ห้องครัว
ที่ต่างจากทาวน์เฮาส์คือ ไม่มีรั้ว ไม่มีระยะร่นหน้าบ้านไว้สำหรับจอดรถ ประตูเข้าบ้านเป็นกระจกบานเลื่อน ไม่มีบริเวณซักล้างหลังบ้าน จึงไม่มีทางออกหลังบ้านเช่นกัน
ส่วนในบ้านให้อารมณ์ทาวน์เฮาส์จริง เพราะเปิดเข้ามาจะพบกับโซนห้องนั่งเล่น ถัดไปเป็นโต๊ะทานอาหาร แต่ห้องครัวจะมาอยู่ฝั่งหน้าบ้านแทน สามารถเปิดบานเกล็ดระบายอากาศระหว่างทำครัวได้
ขณะที่บนชั้น 2 จะเป็นห้องนอน 2 ห้อง ห้องมาสเตอร์วางเตียงควีนไซส์ได้ ห้องเล็กเหมาะเป็นห้องเด็กวางเตียง 3.5 ฟุต ห้องน้ำของบ้านหลังนี้จะไม่มีแยกโซนเปียก-แห้ง แต่อาจจะติดม่านกันน้ำทีหลัง
จุดสำคัญมากของโครงการบ้านกรีนเฮ้าส์คือใช้ระบบพื้นที่ส่วนกลางแบบเดียวกับคอนโดฯ นั่นหมายความว่า “ที่จอดรถ” ถูกนำไปรวมกันที่ลานจอดรถส่วนกลาง ทุกยูนิตจะได้สิทธิจอดรถ 1 คัน (*ที่จอดรถพอดีจำนวนยูนิต สัดส่วน 100%)
ส่วนหน้าบ้านจะเห็นว่าถนนไม่ใช่ถนนรถวิ่ง แต่เป็นทางเดินกว้างประมาณ 4 เมตร ทางเดินตรงนี้ถือว่าเป็น “พื้นที่ส่วนกลาง” ที่นิติบุคคลจะคอยดูแลกฎและความสะอาดให้ โดยห้ามไม่ให้นำรถทุกชนิดเข้ามา (รวมถึงมอเตอร์ไซค์และจักรยาน) เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
สังเกตว่าทางเดินนี้มีการปลูกต้นไม้ไว้ตรงกลาง และมีกระบะปลูกต้นไม้หน้าบ้านทุกหลัง ซึ่งถือเป็นส่วนกลางเช่นกัน โดยนิติบุคคลจะสนับสนุนการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อให้ลูกบ้านสามารถใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน เก็บพืชผักไปทำอาหารได้
นอกจากนี้ การรักษาความปลอดภัยจะใช้แนวคิดเดียวกับคอนโดฯ คือกรณีไรเดอร์ส่งอาหารหรือขนส่งพัสดุ จะต้องจอดส่งไว้ด้านหน้าประตูรั้วโครงการ ไม่สามารถเข้าไปส่งถึงหน้าบ้านได้ เสมือนคอนโดฯ ทั่วไปที่ต้องฝากไว้กับห้องนิติบุคคลหรือจุดที่จัดไว้เฉพาะ
รวมทั้งโครงการ “บ้านกรีนเฮ้าส์ รังสิต สเตชั่น – ซ.เวิร์คพอยท์” เฟสแรกมี 48 ยูนิต ราคาเริ่ม 1.39 ล้านบาทต่อยูนิต
หากเทียบกับโครงการทาวน์เฮาส์ปกติที่อยู่ติดกันของพฤกษาคือ “พฤกษาวิลล์ รังสิต สเตชั่น – ซ.เวิร์คพอยท์” ซึ่งปัจจุบันขายในราคาเริ่ม 2 ล้านบาท เท่ากับโมเดลแบบบ้านกรีนเฮ้าส์สามารถลดราคาลงมาได้ 30%
ทางเซลส์ดูแลโครงการของพฤกษาให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นหลังจากเปิดขายได้รับการตอบรับดี มียอดจองไปแล้ว 40 ยูนิต ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ 2 คน และมองว่าที่อยู่อาศัยลักษณะนี้ตอบโจทย์กว่าทาวน์เฮาส์เพราะพื้นที่ใช้สอยกำลังพอดี ใช้เวลาทำความสะอาดน้อยลง แต่ก็ยังกว้างพอที่จะมีสเปซในการใช้ชีวิต
ขณะนี้พฤกษายังไม่มีแผนจะขยายไปยังทำเลอื่น แต่ในทำเลเดียวกันนี้ยังมีพื้นที่ที่จะขยายเฟส 2-3 ได้อีกประมาณ 80 ยูนิต หากผลตอบรับเฟสแรกขายหมด
ถือเป็นโมเดลโครงการที่อยู่อาศัยโปรดักส์ใหม่ที่ทำให้ราคาลดลงจากทาวน์เฮาส์ปกติ แต่ยังได้พื้นที่ใช้สอยกว้างพอสมควรสำหรับคน 2-3 คน เหลือเพียงใช้เวลาศึกษาเมื่อลูกบ้านเริ่มย้ายเข้าอยู่จริงว่าวิธีอยู่อาศัยแบบนี้คนไทยจะเข้าใจหรือไม่ แต่ถ้าหากเป็นไปด้วยดี เราอาจจะได้เห็นโมเดลแบบนี้แพร่หลายมากขึ้นก็เป็นได้
]]>อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI ได้กล่าวถึงแผนธุรกิจในปีที่ผ่านมาว่าบริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวมเติบโต 12.1% ถือว่าเติบโตเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม แม้ว่าในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมจะเติบโตแค่ 4.1% ก็ตาม
ผลการดำเนินงานของกรุงเทพประกันภัยในปี 2023 ที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 29,915.7 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิ 3,043.8 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกำไรสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2024 สมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเติบโต 5-6% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่ผ่านมา
สาเหตุสำคัญมาจากประกันภัยสุขภาพที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นักท่องเที่ยวต่างชาติ และชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ
ในส่วนของประกันภัยภาคอสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้เปิดโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูงมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อน้อยกว่า ทำให้มูลค่าที่อยู่อาศัยต่อหน่วยที่เข้าสู่ระบบประกันภัยปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเนื่องไปยังเบี้ยประกันอัคคีภัย แม้ว่าตลาดอสังหาฯ จะได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจนส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคก็ตาม
ทางด้านประกันภัยรถยนต์นั้น แม้ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่โดยรวมจะมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งรถยนต์ EV มีอัตราเบี้ยประกันภัยโดยเฉลี่ยที่สูงกว่ารถยนต์ใช้เชื้อเพลิง ส่งผลให้ปริมาณเบี้ยประกันภัยรถยนต์โดยรวมน่าจะยังคงเติบโตได้ อย่างไรก็ดีผู้บริหารสูงสุดของ BKI กล่าวว่าเบี้ยประกันภัย EV ของบริษัทยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆ
ขณะที่การเติบโตของเบี้ยประกันภัยของกรุงเทพประกันชีวิตนั้นคาดว่าจะเติบโตได้ 8% ในปีนี้ ประธานคณะผู้บริหารของ BKI ชี้ว่าบริษัทจะต้องคิดเรื่องเติบโตควบคู่กับความสามารถในการทำประกันภัยด้วย และมองว่าเป้าตัวเลขดังกล่าวถือว่าเติบโตพอประมาณ
โดยบริษัทเตรียมที่จะส่งประกันภัย 5 รูปแบบออกสู่ท้องตลาด ได้แก่
อภิสิทธิ์ ได้กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ประกันข้างต้นที่จะมีการเปิดตัวในปีนี้นั้นได้พัฒนาจากปัญหาที่เกิดขึ้นของลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันในกรณีของธุรกิจประกันภัยนั้นจะมองแต่เรื่องกำไรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะความเสี่ยงนั้นเกิดเมื่อไหร่ก็ได้
สำหรับการปรับโครงสร้างบริษัทไปเป็น ‘โฮลดิ้ง คอมพานี’ นั้นเขามองว่าการขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และดูว่าลงทุนอะไรนั้นคุ้มค่าหรือไม่
เป้าหมายการเติบโตในปี 2024 นี้กรุงเทพประกันภัยวางเป้าเบี้ยประกันอยู่ที่ 32,500 ล้านบาท
]]>บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด หรือ LPP บริษัทลูกของ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอป เมนท์ จ่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เร็วๆ นี้ โดยวางแผนจะยื่นไฟลิ่งภายในเดือนเมษายน 2567 ทำให้ช่วงนี้ LPP ต้องเปิดตัวต่อสาธารณะมากขึ้นถึงแผนงานที่บริษัทวางไว้ว่าจะเติบโตอย่างไรในอนาคต
“สมศรี เตชะไกรศรี” กรรมการผู้จัดการของ LPP แจกแจงโครงสร้างรายได้ปัจจุบันของ LPP สัดส่วน 65% มาจากธุรกิจบริหารชุมชนหรือก็คือ “นิติบุคคล” ที่เป็นฐานธุรกิจหลักของบริษัท อีก 20% มาจากธุรกิจบริการวิศวกรรม และ 15% มาจากธุรกิจบริการ รปภ. และแม่บ้าน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เริ่มกรุยทางเมื่อปี 2566 เช่น รับสัมปทานบริหารหอพัก บริหารงานขายและการตลาด (sole agent) เพื่อสร้างฐานรายได้ให้หลากหลาย
สมศรีเปิดเผยเป้าหมายรายได้ของบริษัทในปี 2567 ตั้งเป้าไว้ที่ 1,880 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีก่อนหน้า และต้องการผลักดันรายได้ LPP ให้โตต่อเนื่อง จนถึงปี 2569 คาดจะทำรายได้แตะ 2,545 ล้านบาท
โดยธุรกิจหลักของบริษัทคือการบริหารนิติบุคคล ณ สิ้นปี 2566 รับบริหารอยู่ 261 โครงการ รวมลูกบ้านกว่า 4 แสนคน ธุรกิจนี้วางเป้าจะเติบโตอีกปีละประมาณ 30 โครงการ รวมแล้ว ณ สิ้นปี 2569 เชื่อว่าจะมีโครงการที่บริหารชุมชนไม่ต่ำกว่า 350 โครงการ
ปัจจุบันสัดส่วนโครงการที่ LPP รับบริหารนิติบุคคล แบ่ง 60% เป็นโครงการของ แอล.พี.เอ็น. และ 40% เป็นโครงการนอกเครือ (Non-LPN) ที่ได้รับความไว้วางใจให้บริหาร เช่น อนันดาฯ, พฤกษา, แลนด์แอนด์เฮ้าส์, แอส เซทไวส์, โนเบิล
ในกลุ่มโครงการ Non-LPN คือส่วนสำคัญมากที่ LPP จะต้องเจาะตลาดให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้บริหารตั้งแต่เริ่มส่งมอบโครงการ หรือการเข้าไปรับช่วงต่อเมื่อมีโครงการต้องการเปลี่ยนบริษัทบริหารนิติบุคคล
สมศรีระบุว่า จากประวัติที่รับบริหารมา 80% ของโครงการที่ LPP เข้าบริหารจะได้ต่อสัญญาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี แน่นอนว่าส่วนที่เหลืออาจจะ ‘หลุดมือ’ ไปบ้าง เพราะลูกบ้านอาจเกิดความไม่ประทับใจใน LPP หรือต้องการราคาที่ถูกลง
ในด้านราคานี่เองที่สมศรีระบุว่า LPP ไม่เน้นการแข่งขันกดราคาให้ถูกที่สุด แต่แน่นอนว่าปัญหาเรื่อง “ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง” ของลูกบ้านเป็นโจทย์ที่ LPP ต้องการแก้
“ลูกบ้านในโครงการขนาดเล็กที่มีไม่เกิน 300 ยูนิตจะประสบปัญหามากที่สุดด้านค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เพราะตัวหารน้อยกว่าโครงการใหญ่ที่มีหลักพันยูนิต แต่จำนวนพนักงานนิติบุคคลไม่ได้ต่างกันมาก โครงการใหญ่อาจจะใช้พนักงาน 7-8 คน แต่โครงการเล็กก็ยังต้องมีขั้นต่ำ 5 คนในการบริหาร” สมศรีกล่าว
โจทย์นี้ทำให้ LPP ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง พบว่าในต่างประเทศมีการใช้ระบบ “แพลตฟอร์มกลาง” เพื่อบริหาร จนทำให้ลดพนักงานดูแลอาคารเหลือแค่ 1 คนต่ออาคารได้
ภาพคร่าวๆ ของการใช้ “แพลตฟอร์มกลาง” คือการรวมศูนย์บางบริการให้เป็นการใช้ร่วมกันหลายโครงการในหนึ่งพื้นที่ เช่น การซ่อมบำรุง/ตรวจสอบอาคารตามรอบใช้ทีมช่างส่วนกลาง การรับแจ้งซ่อม/คอมเพลนจากลูกบ้านใช้ระบบออนไลน์ในการแจ้ง จะเหลือเพียงงานบางอย่างที่ต้องมีพนักงานประจำตึก เช่น หน้าที่รับพัสดุ/จดหมาย
เมื่อตัดบริการบางอย่างให้รวมศูนย์กันได้หลายโครงการ ก็จะทำให้พนักงานนิติบุคคลต่อหนึ่งโครงการลดลงได้ โดยสมศรีระบุว่าปีนี้ LPP จะเริ่มทดลองใช้ระบบนี้ในบางโครงการก่อน และจะเน้นที่โครงการขนาดเล็กซึ่งมีปัญหาแบกรับค่าส่วนกลางมากที่สุด
สมศรีกล่าวว่า แม้จะหานวัตกรรมลดจำนวนพนักงานต่อไซต์ แต่ในธุรกิจนิติบุคคล “คน” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด การสร้างความไว้วางใจในงานบริการจะต้องผ่านการอบรมตามมาตรฐานของ LPP โดยบริษัทมีกุญแจหลักที่มอบเป็นข้อปฏิบัติให้พนักงานทุกคน คือ “ใส่ใจ” และ “อดทน”
ความอดทนเป็นเรื่องสำคัญมากของพนักงานนิติบุคคล เพราะเนื้องานเป็นงานบริการที่ต้องเจอผู้คนหลากหลายและส่วนใหญ่มาติดต่อเมื่อมีเรื่องเดือดร้อนใจ
“ปีนี้เราจึงเตรียมเพิ่มสวัสดิการใหม่ให้กับพนักงานของเราด้วย คือ ที่ปรึกษาจิตวิทยาออนไลน์ ช่วยให้เขาได้ตรวจสุขภาพจิตของตนเองเป็นประจำ และได้ปรึกษาปัญหาหนักใจจากการทำงานที่ต้องอดทนสูง” สมศรีกล่าวปิดท้าย
]]>Positioning มีโอกาสพูดคุยรายละเอียดกับ “ศรีอำไพ รัตนมยูร” ประธานผู้บริหารสายงานการตลาด บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ถึงคอนเซ็ปต์ของทั้ง 4 แบรนด์ว่าจะเป็นแบบไหน? และแสนสิริยังมีเซ็กเมนต์ใหม่ให้ไปจับอีกหรือ?
“เรามีแบรนด์ที่หลากหลายขึ้นเพราะตลาดมีความ fragment (แยกย่อย) เยอะขึ้น ขณะที่เรามีการออกแบบโครงการโดยยึดลูกค้าเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ทำให้มีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ขนาดโครงการก็อาจจะเล็กลงเพราะเฉพาะตัวมากกว่าเดิม” ศรีอำไพอธิบาย
แสนสิริประกาศมาแล้วว่าจะมี 1 โครงการในทำเลกรุงเทพกรีฑา เป็นโปรดักส์บ้านเดี่ยวราคา 45-70 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 1,800 ล้านบาท
ปกติแบรนด์บ้านระดับบนของแสนสิริจะมี “เศรษฐสิริ” ที่เล่นตลาดราคา 15-30 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น “บูก้าน” ในราคา 30-70 ล้านบาท ส่วน “นาราสิริ” จะเป็นบ้านสุดหรูราคา 60-100 ล้านบาท
ดูเหมือนจะครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์แล้วก็จริง แต่ศรีอำไพระบุว่าลูกค้ามี feedback มาเยอะมากว่าอยากได้บ้านราคาบูก้าน แต่ดีไซน์ยังมีความคอนเซอร์เวทีฟแบบนาราสิริ พูดง่ายๆ คืออยากได้ ‘นาราสิริ จูเนียร์’ ในราคาเอื้อมถึงได้มากขึ้น
เป็นที่มาของการแตกแบรนด์นามสกุล ‘สิริ’ ออกมาใหม่อีกแบรนด์หนึ่งคือ “ณริณสิริ”
แผนจะเปิดทั้งหมด 6 ทำเล แต่มูลค่าโครงการรวมกันเพียง 840 ล้านบาท
เนื่องจากแบรนด์นี้จะเป็นการเข้าตลาดโครงการบ้านเดี่ยวกลางเมืองหรือใกล้เมืองบนที่ดินขนาดเล็กในซอย ทำได้เพียง 5-7 หลัง ราคาหลังละ 20-60 ล้านบาท
ศรีอำไพมองว่า เห็นความต้องการจากกลุ่มลูกค้าที่ไม่เน้นโครงการใหญ่ ไม่ต้องมีส่วนกลางอลังการ แต่ทำเลต้องยังอยู่ในเมืองหรือเข้าเมืองสะดวก และยิ่งมีน้อยหลังกลับยิ่งชอบเพราะต้องการความเป็นส่วนตัวสูง
ถือว่าแมตช์พอดีกับการหาที่ดินของแสนสิริ เพราะยุคนี้หาที่ดินแปลงใหญ่ในเมืองยากมาก หากได้ที่ดินขนาดเล็กมาแต่สามารถพัฒนาโครงการขายได้ก็ถือว่าวิน-วิน
สุดท้ายในกลุ่มแบรนด์ใหม่แนวราบคือ Mabel เป็นบ้านเดี่ยว 5-7 ล้านบาท จะสร้าง 1 โครงการทำเลบางนา กม.26 มูลค่าโครงการ 850 ล้านบาท
ราคาแบรนด์นี้น่าจะไปทับไลน์กับ “อณาสิริ” แต่ศรีอำไพอธิบายว่า Mabel จะต่างออกไปคือการสร้างเป็นบ้านเดี่ยวทั้งหมด ในราคาที่ใกล้เคียงกับบ้านแฝดในอณาสิริ (ซึ่งเป็นโครงการประเภทมิกซ์โปรดักส์ มีได้ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม แล้วแต่ทำเล)
แนวคิดเกิดจากพบกลุ่มลูกค้าที่ยอมแลก ยอมอยู่ในทำเลที่ไกลเมืองออกไปอีก แต่ต้องการพื้นที่ใหญ่ ในแพ็กเกจราคา 5-7 ล้านบาทเท่าเดิม รวมถึงงานดีไซน์ก็จะออกแบบใหม่ไม่เหมือนกับอณาสิริ ส่วนนี้ต้องรอชมภาพกันต่อไป
ปิดท้ายที่คอนโดฯ ใหม่แบรนด์ Pynn จะเปิด 2 ทำเลคือ ศูนย์วิจัย กับ ปรีดี 20 (ยังไม่แจ้งมูลค่าโครงการ)
ศรีอำไพบอกว่า มองง่ายๆ คือการได้ที่ดินคล้ายกับโครงการ Else มา เป็นที่ดินเล็ก 200-300 ตร.ว. ในซอยต่างๆ ไม่สามารถขึ้นคอนโดฯ ขนาดใหญ่ได้
แสนสิริจึงพัฒนาเป็นคอนโดฯ จำนวนยูนิตน้อยไม่เกิน 79 ยูนิต ไม่มีส่วนกลางมากมาย แต่แลกมาด้วยทำเลที่ใกล้เมืองจริงๆ โดยช่วงราคาจะถือว่าเป็น “ระดับกลาง” ของแสนสิริ (แปลว่าน่าจะได้เห็นราคาที่ 100,000 บาทต่อตร.ม.ขึ้นไป)
ทั้งหมดคือแผนการทำแบรนด์ 4 แบรนด์ใหม่ของแสนสิริในปีนี้!
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
]]>“ละเอียด โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ผู้พัฒนาโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” อัปเดตการขายส่วนคอนโดมิเนียม “เดอะ เรสซิเดนเซส แอท ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ทำยอดขายไปมากกว่า 80% แล้ว แม้ยังเหลือเวลาก่อสร้างอีกกว่า 2 ปี
โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ 75% เป็นชาวไทย และ 25% เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งคละกันจากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ลาว เมียนมา กลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น
ถือว่าสัดส่วนต่างชาติที่ซื้อห้องชุดในโครงการมีเพิ่มขึ้น หลังไทยเปิดประเทศทำให้ลูกค้าที่สนใจบินเข้ามาดูทำเลจริงและห้องตัวอย่างได้ก่อนตัดสินใจ หลังจากนี้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 35%
ละเอียดกล่าวว่า ลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่จะซื้อห้องชุดในโครงการไว้เพื่ออาศัยอยู่เอง ขณะที่ชาวต่างชาติจะคละกันทั้งส่วนที่ต้องการลงทุนเป็นสินทรัพย์ และส่วนที่ตั้งใจให้เป็นบ้านหลังที่ 2 สำหรับย้ายมาอยู่เองหรือให้ลูกหลานเข้ามาอาศัย เนื่องจากไทยมีจุดดึงดูดเรื่องมาตรฐานโรงเรียนนานาชาติที่ดีขึ้นแต่ราคาไม่แพงเท่ากับประเทศอื่นในแถบนี้ เช่น สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้
สำหรับโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” แบ่งออกเป็น 4 ส่วนภายใน ได้แก่ 1)โรงแรมดุสิตธานี กำหนดสร้างเสร็จ ครึ่งปีหลัง ปี 2567 2)ศูนย์การค้า Central Park กำหนดสร้างเสร็จ ไตรมาส 2/2568 3)อาคารสำนักงาน Central Park Offices กำหนดสร้างเสร็จ ไตรมาส 3/2568 และ 4)คอนโดฯ เดอะ เรสซิเดนเซส แอท ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค กำหนดสร้างเสร็จ ปี 2569
ด้านราคาคอนโดฯ เดอะ เรสซิเดนเซส แอท ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ละเอียดเปิดเผยราคาแล้วว่า ปัจจุบันห้องชุดเปิดขายราคาเฉลี่ยที่ 350,000 บาทต่อตร.ม. เป็นราคาที่ปรับขึ้นมาแล้วจากวันเปิดขายครั้งแรกในปี 2563
คอนโดฯ แห่งนี้เปิดขายแบบ “ลีสโฮลด์” 30+29.5 ปี (รวม 59.5 ปี) เนื่องจากเป็นที่ดินเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ตัวอาคารคอนโดฯ มีความสูงถึง 69 ชั้น และมีไทป์ห้องหลากหลายตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุด 55 ตร.ม. จนถึงเพนต์เฮาส์ขนาดใหญ่ที่สุด 900 ตร.ม. ทำให้ราคามีความแตกต่างกันมากตามขนาดห้องและความสูง
โดยห้องชุดที่แพงที่สุดที่ขายได้ตามข้อมูลเมื่อต้นปี 2566 ของ AREA บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่าเป็นห้องเพนต์เฮาส์ไซส์ 750 ตร.ม. ที่ขายในราคาตร.ม.ละ 480,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ห้องชุดที่ถือเป็นที่สุดของโครงการนี้คือ “เพนต์เฮาส์ 900 ตร.ม.” บนชั้น 69 ของอาคาร ละเอียดกล่าวว่าบริษัทยังไม่เปิดขาย อยู่ระหว่างกำหนดราคา โดยคาดว่าจะเปิดขายปี 2567 และน่าจะมีเซอร์ไพรส์สร้างเสียงฮือฮาในตลาดอย่างแน่นอน
ปัจจุบันคอนโดฯ ที่มีห้องเพนต์เฮาส์ทำราคาสูงที่สุดในไทย (ทั้งราคาพรีเซลและรีเซล) “ทะลุ 1 ล้านบาทต่อตร.ม.” มีอยู่ 2 แห่ง คือ “สโคป หลังสวน” และ “98 ไวร์เลส” ส่วนเพนต์เฮาส์ในคอนโดฯ ฟรีโฮลด์ระดับท็อปของกรุงเทพฯ แห่งอื่นๆ ต่างไต่ราคาขึ้นไปอยู่ในช่วงมากกว่า 500,000 บาทต่อตร.ม.กันแล้ว
จึงน่าสนใจว่าราคาห้องเพนต์เฮาส์บนดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะเปิดขายในราคาเท่าใด เนื่องด้วยคอนโดฯ ที่เป็นลีสโฮลด์ ปกติแล้วจะทำราคาต่ำกว่าคอนโดฯ ฟรีโฮลด์ประมาณ 20-30% แต่เมื่อเป็นทำเลในซีบีดีกรุงเทพฯ และเห็นวิวสวนลุมพินีเต็มตา ซึ่งทำเลแบบนี้ถือว่าเป็นทำเลทองที่หาคอนโดฯ ฟรีโฮลด์ได้ยาก ราคาจึงอาจจะสูสีมากขึ้น
นอกจากนี้ ต้องรอติดตามราคาของอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ในทำเลใกล้เคียงอย่าง “ONE BANGKOK” ที่มีข่าวแย้มว่าส่วนคอนโดฯ กำลังเริ่มเปิดจองแล้วเช่นกัน
]]>ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดรายงานวิเคราะห์ตลาดสถานการณ์ธุรกิจที่อยู่อาศัยช่วงไตรมาส 2/2566 และคาดการณ์จนถึงสิ้นปีนี้
REIC พบว่า สถานการณ์ครึ่งปีแรก 2566 เริ่มส่งสัญญาณดีมานด์แผ่วลง เนื่องจากหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาส 1/2566 และไตรมาส 2/2566 เริ่มลดลง ไตรมาสแรกมีการโอนกว่า 84,000 หน่วย ลดลง -0.8% YoY และไตรมาสสองโอนกว่า 91,000 หน่วย ลดลง -4.4% YoY
ส่วนมูลค่าการโอนนั้น ไตรมาสแรกมีการโอนมูลค่ากว่า 241,000 ล้านบาท เติบโต +7.9% ส่วนไตรมาสสองมีการโอนมูลค่ากว่า 258,000 ล้านบาท เติบโต +0.5% ถึงแม้ยังเติบโตกว่าครึ่งปีแรกปีก่อน แต่เห็นเทรนด์ได้ว่ามูลค่าการโอนเริ่มเติบโตได้ช้าลง
ดร.วิชัยกล่าวว่า ปี 2566 มีหลายปัจจัยลบที่เข้ามาปั่นป่วนภาคอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็น
เมื่อสถานการณ์หลังผ่านครึ่งปีก็ยังไม่เอื้ออำนวยให้การซื้อบ้าน REIC จึงคาดว่าสถานการณ์โดยรวมทั้งปี 2566 น่าจะแย่ลงจากที่เคยประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
โดย REIC ประเมินว่า จำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้จะลดลงถึง -14.5% เหลือเพียง 336,000 หน่วย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนหน่วยโอนที่ต่ำยิ่งกว่าในช่วงระหว่างเกิดโควิด-19 ในช่วงนั้นเคยมีปีที่มีหน่วยโอนต่ำที่สุดคือปี 2564 มีการโอนกว่า 343,000 หน่วย
ส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์นั้นคาดว่าจะลดลง -8.2% เหลือเพียงกว่า 977,000 ล้านบาท จากที่ปี 2565 ภาคอสังหาฯ เคยทำลายสถิติมีการโอนกรรมสิทธิ์มูลค่าทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก ปีนี้ตลาดกลับหดตัวลงอีกครั้ง
เจาะลึกในแต่ละประเภทที่อยู่อาศัย REIC มองว่าตลาดที่ยังอาการหนักคือ “คอนโดมิเนียม” คาดปี 2566 จะมีการโอนเพียง 84,400 หน่วย ลดลง -21.2% ในแง่มูลค่าการโอนคอนโดฯ จะลดเหลือ 249,000 ล้านบาท ติดลบ -13.5% ตัวเลขเหล่านี้ถือว่าต่ำกว่าในช่วงที่เกิดโควิด-19
ส่วนตลาด “แนวราบ” นั้นยังไม่เจ็บหนักเท่า คาดปี 2566 จะมีการโอน 251,000 หน่วย ลดลง -11.9% ในแง่มูลค่าการโอนตลาดแนวราบจะลดเหลือ 728,000 ล้านบาท ติดลบ -6.2%
ในส่วนของแนวราบนั้น มีจุดที่น่าสนใจคือตั้งแต่เกิดโควิด-19 ขึ้น ผู้ประกอบการต่างหันไปทำตลาด “บ้านหรู” ราคามากกว่า 10 ล้านบาท เพราะเป็นตลาดที่กำลังซื้อสูงและไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเท่าใดนัก ทำให้ตลาดนี้กลายเป็นเครื่องยนต์ตัวหนึ่งที่ช่วยพยุงอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ดร.วิชัยกล่าวว่าตลาดบ้านหรูเริ่มเห็นสัญญาณอิ่มตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 ในส่วนดีมานด์ความต้องการซื้อยังสม่ำเสมอ ขายได้ที่ 1,000-1,500 หน่วยต่อไตรมาส แต่ปัญหาอยู่ที่ซัพพลายการเปิดตัวบ้านหรูซึ่งเริ่มเปิดกัน 2,500 หน่วยต่อไตรมาส ทำให้เกิดซัพพลายเหลือขายมากขึ้น
“เราจะเริ่มเห็นการอิ่มตัวมาตั้งแต่ Q4/65 หน่วยเหลือขายเริ่มเหลือเยอะขึ้นกว่าปกติ เห็นได้ว่าในตลาดจะเริ่มมีคนที่ขายได้กับคนขายไม่ได้ ดังนั้น คนที่กำลังคิดพัฒนาโครงการบ้านหรูอาจจะต้องระวังมากขึ้น” ดร.วิชัยกล่าว
จากสถานการณ์เหล่านี้ ดร.วิชัยจึงฝากถึงผู้ประกอบการอสังหาฯ ว่าจะต้อง “ระวัง” การเพิ่มซัพพลายใหม่สู่ตลาด ควรเน้นระบายสต็อกเดิมไปก่อน
รวมถึงควรดึงดูดลูกค้า “ต่างชาติ” ให้ได้มากขึ้น โดยครึ่งปีแรก 2566 ลูกค้าต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 35,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 24.5% ของตลาดคอนโดฯ เห็นได้ว่าการขายคอนโดฯ เกือบ 1 ใน 4 เป็นการขายให้ลูกค้าต่างชาติ อสังหาฯ ไทยจึงยังต้องพึ่งพากำลังซื้อเหล่านี้
ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าสำคัญยังเป็น “จีน” ซึ่งมีสัดส่วนการซื้อถึง 48% ของลูกค้าต่างชาติทั้งหมด แต่ตลาดที่มาแรงไม่แพ้กัน ได้แก่ “รัสเซีย” ซึ่งนิยมอสังหาฯ ทำเลภูเก็ตและพัทยา รวมถึง “เมียนมา” ซึ่งนิยมเข้ามาซื้อห้องชุดขนาดใหญ่เพื่อเป็นบ้านหลังที่สอง
“สำหรับนโยบายจากรัฐบาลใหม่ อยากเสนอให้มีมาตรการผ่อนปรน LTV อีกครั้งหนึ่ง เพราะการเข้มงวดหลักเกณฑ์ LTV นั้นเห็นชัดมากว่าทำให้คนซื้อบ้านยาก เกิดอัตราปฏิเสธสินเชื่อสูง” ดร.วิชัยกล่าวปิดท้าย
]]>หลังเป็นเจ้าตลาดบ้านหรูมานานหลายปี ต่อจากนี้ “SC Asset” จะเพิ่มน้ำหนักฝั่งธุรกิจ “คอนโดฯ” ให้มากขึ้น ผ่านปรัชญาการพัฒนาแบรนด์ตึกสูงให้เป็น “EVERYBODY’S HIGH RISE” จัดสมดุลพื้นที่ “ส่วนตัว-ส่วนกลาง” ให้ลงตัวสำหรับทุกคน ทุกความต้องการ ทุกไลฟ์สไตล์ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ส่งคอนโดฯ ของบริษัทขึ้นเป็น Top of Mind ภายในปี 2568
หากให้จินตนาการถึงแบรนด์ SC Asset โปรดักส์แรกที่จะผุดขึ้นมาในใจผู้บริโภคคือ “บ้านเดี่ยว” ขณะที่ที่อยู่อาศัยประเภท “คอนโดมิเนียม” กลับไม่อยู่ในโผที่คนจะนึกถึง แม้ว่าบริษัทจะเปิดตัวคอนโดฯ เฉลี่ยปีละ 1 โครงการมาโดยตลอด และอยู่ในตลาดมานานกว่า 20 ปี
“กนกอร หลิมกำเนิด” Chief Operating Officer – Property Development – High Rise บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนธุรกิจของบริษัทว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะเปิดตัวคอนโดมิเนียมคิดเป็นมูลค่าโครงการสะสม 40,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือเท่ากับการเปิดตัวเฉลี่ยปีละ 2-3 โครงการ
เห็นได้ว่าโปรดักส์กลุ่มนี้ของ SC จะเข้าสู่ตลาดมากกว่าที่เคยเป็นมา นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของบริษัทที่จะต้องสร้างแบรนด์ให้คอนโดฯ เป็นที่รู้จัก
ทีมงาน บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น: (ซ้าย) “กนกอร หลิมกำเนิด” Chief Operating Officer – Property Development – High Rise และ (ขวา) “โฉมชฎา กุลดิลก” Head of Corporate Brand and Communications
“โฉมชฎา กุลดิลก” หัวหน้าสายงาน กลยุทธ์แบรนด์ และสื่อสารองค์กร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เสริมว่า ลูกค้าคอนโดฯ วันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y และเริ่มมี Gen Z เข้ามา แต่ด้วยธุรกิจของ SC ที่เน้นโครงการบ้านเดี่ยวมาตลอด ทำให้ลูกค้าคนรุ่นใหม่จะมีภาพจำว่า ‘SC ไม่มีโปรดักส์สำหรับฉันหรอก’
“เราจึงต้องการเปลี่ยน โดยมีเป้าหมายผลักดันให้คอนโดฯ ของ SC ขึ้นมาติด Top of Mind ในใจผู้บริโภคให้ได้ภายในปี 2568” โฉมชฎากล่าว
แต้มต่อแต่ดั้งเดิมที่แบรนด์ SC มีอยู่ในตลาดคือเรื่อง “คุณภาพ” ทั้งด้านงานออกแบบที่ยึดผู้อยู่อาศัยเป็นศูนย์กลาง (Human Centric) และการก่อสร้างที่เน้นความคงทนถาวร รวมถึงเรื่อง “งานบริการหลังขาย” ที่พร้อมแก้ไขปัญหา ซ่อมแซม ดูแลลูกบ้านหลังส่งมอบอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมมีความซับซ้อนกว่านั้น เพราะลักษณะการอยู่อาศัยต่างจากในหมู่บ้านแนวราบ
“วิถีชีวิตในคอนโดฯ จะมีพื้นที่ผสมทั้ง ‘ส่วนตัว-ส่วนกลาง’ มากกว่าบ้านเดี่ยวซึ่งคนจะอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวเป็นหลัก” โฉมชฎากล่าว “รวมถึงคนในคอนโดฯ ส่วนใหญ่มักจะมีไลฟ์สไตล์หลากหลายมาก มีความคิด ความต้องการใช้งานพื้นที่คอนโดฯ ที่ไม่เหมือนกัน”
ตัวอย่างส่วนกลางคอนโดฯ Reference สาทร-วงเวียนใหญ่ by SC Asset
กนกอรอธิบายต่อว่า จากการศึกษาของบริษัทพบว่าคนรุ่นใหม่มักจะมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตในคอนโดฯ 2 แบบ แบบแรกคือพฤติกรรมที่ต้องการอยู่ร่วมในชุมชน (community) ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม มีกิจกรรมทำร่วมกัน และแบบที่สองคือ พฤติกรรมการอยู่อาศัยอย่างสงบ เป็นส่วนตัว
ที่น่าสนใจคือ หลายคนไม่ได้มีพฤติกรรมแบบใดแบบหนึ่งตลอดเวลา แต่ต้องการอยู่อาศัยทั้งสองแบบในคนเดียว ขึ้นอยู่กับอารมณ์ในแต่ละวัน
อินไซต์นี้จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในการออกแบบการอยู่อาศัยให้ตอบสนองได้ทุกความต้องการ แต่นั่นคือจุดตั้งต้นให้ SC สร้างปรัชญาแบรนด์คอนโดฯ ใหม่ มี Brand DNA ใหม่เป็น ‘EVERYBODY’S HIGH RISE’ หรือเป็นอาคารสูงสำหรับทุกคน สามารถใช้พื้นที่ทั้งในแบบส่วนตัวและส่วนกลางได้อย่างสมดุล
กนกอรยกตัวอย่างการออกแบบส่วนกลางให้ตอบโจทย์ได้ทั้งสองรูปแบบพฤติกรรม เช่น “Workshop Space” สามารถจองใช้ส่วนตัวผ่านแอปพลิเคชันของ SC ที่ชื่อว่า รู้ใจ (Ruejai) ขณะเดียวกัน บริษัทจะส่งเสริมการสร้าง community ในคอนโดฯ ด้วยการจัดคลาสต่างๆ ใน Workshop Space ตามความสนใจ เช่น จัดดอกไม้ ที่จะดึงดูดคนที่ชอบการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
โฉมชฎากล่าวต่อว่า การออกแบบส่วนกลางคอนโดฯ ในแต่ละทำเลของ SC ไม่ได้สร้างมาในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด แต่จะมีการวิจัย เก็บข้อมูลในพื้นที่ เพื่อหาอินไซต์ว่าคนในทำเลนั้นๆ มีพฤติกรรมอย่างไร
“การทำ community ของเรา เราต้องเข้าใจก่อนว่าคนแถวนี้ชอบเก็บตัวหรือชอบมาสังสรรค์กัน แล้วเขาชอบกิจกรรมแบบไหน เช่น ชอบสัตว์เลี้ยง ชอบอ่านหนังสือ ชอบกีฬา การเก็บข้อมูลพวกนี้จะทำให้เราพัฒนาโครงการต่อไปได้ดีขึ้นเรื่อยๆ” โฉมชฎากล่าว
โดย SC มีการลงทุนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสูงขึ้นมากในระยะหลัง ส่วนหนึ่งเพื่อทำการวิจัยดาต้าความต้องการของลูกค้าซึ่งผลลัพธ์จะสะท้อนให้เห็นในโปรดักส์ต่อจากนี้อย่างชัดเจน
กนกอรกล่าวว่า ปี 2566 นี้ SC จะเปิดโครงการแนวสูงใหม่ทั้งหมด 3 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแบรนด์ใหม่ “COBE” 2 ทำเล ที่รัชดา-พระราม 9 และ เกษตร-ศรีปทุม ส่วนอีกโครงการหนึ่งเป็นคอนโดฯ ระดับอัลตราลักชัวรีที่บริหารโดย SCOPE
เชื่อว่าตั้งแต่นี้ไป การสื่อสารแบรนด์คอนโดฯ ของ SC จะช่วยให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ เป็นแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่กระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา แต่ยังมีจิตวิญญาณความจริงใจและใส่ใจในแบบฉบับของ SC อยู่เต็มเปี่ยม!
สำหรับผู้ที่สนใจปรัชญา EVERYBODY’S HIGH RISE จาก SC Asset สามารถติดตามชมเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ https://m.scasset.com/EI_W พร้อมดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการคอนโดมิเนียมของ SC Asset ได้ที่ https://m.scasset.com/EJuy หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ SC Asset หรือโทร.1749
]]>ค่ายเอพี ไทยแลนด์ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเจ้าตลาดย่านห้าแยกลาดพร้าว เพราะเคยเปิดมาแล้ว 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ “Life ลาดพร้าว” ที่เปิดตัวปี 2560 จำนวนมากกว่า 1,600 ยูนิต และ “Life ลาดพร้าว วัลเลย์” เปิดตัวปี 2561 จำนวนกว่า 1,100 ยูนิต โดยโครงการแรกนั้น Sold Out ขายหมดไปแล้ว ขณะที่โครงการที่สองขายไป 75%
เมื่อสต็อกสินค้าในย่านของบริษัทเหลือไม่สูง เอพีจึงได้ฤกษ์เปิดขายโครงการที่สาม คือ “Life พหลฯ-ลาดพร้าว” มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท แต่ครั้งนี้มาด้วยจำนวนยูนิตน้อยลงเหลือ 598 ยูนิต
“นิยมาพร โต๊ะสงวนพันธ์” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาดและการขาย ธุรกิจกลุ่มสินค้าคอนโดมิเนียม บมจ.เอพี ไทยแลนด์ เปิดเผยว่า ทำเลห้าแยกลาดพร้าวยังคงมีดีมานด์สูง ทำให้บริษัทเลือกที่จะเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่ม
โดยทำเล Life พหลฯ-ลาดพร้าว จะตั้งอยู่ระหว่างโลตัส ลาดพร้าวกับกองบังคับการปราบปราม (ทำให้ได้ชื่อเล่นว่าเป็น ‘Life กองปราบ’) ระยะทางจาก BTS ห้าแยกลาดพร้าวประมาณ 200 เมตร นับว่าอยู่ห่างจากตัวสถานีมากขึ้นกว่าสองโครงการแรก แต่จะขยับเข้าไปใกล้ “เซ็นทรัล มิกซ์ยูส” โครงการใหม่ของเซ็นทรัลในทำเลนี้ โดยอยู่ฝั่งตรงข้ามคอนโดฯ เยื้องไป 300 เมตร
การเปิดโครงการใหม่ให้ต่างจากโครงการเดิมของบริษัท นิยมาพรกล่าวว่า เอพีได้ศึกษาความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมโครงการแรกและโครงการที่สอง จึงพบว่ายังมีดีมานด์ในย่านนี้ที่ต้องการรูปแบบคอนโดมิเนียมที่มีความเป็นส่วนตัว ยกระดับความหรูหรามากขึ้น
เป็นที่มาของการออกแบบ Life พหลฯ-ลาดพร้าวให้มียูนิตน้อยลง แต่ยังคงมีส่วนกลางที่ใหญ่ กินพื้นที่รวม 6 ชั้น และพื้นที่ส่วนกลางมีความหรูหรา โดยนำหินอ่อน 4 แบบเข้ามาใช้ในงานตกแต่งส่วนกลาง หนึ่งในนั้นเป็นหินอ่อนเนโร ชาแนลจากคาร์รารา ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นแหล่งหินอ่อนหรูหราระดับโลก
ขณะที่เลย์เอาต์แบบห้องจะมีถึง 19 แบบให้เลือก แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ
ไฮไลต์ของโครงการจะเป็นห้องแบบ Vertiplex ที่มีชั้นลอย เพราะในบริเวณห้าแยกลาดพร้าวจะมีอีกโครงการเดียวที่มีห้องลักษณะนี้และยังอยู่ระหว่างขาย คือ ไนท์บริดจ์ สเปซ รัชโยธิน ทำเลสถานี BTS พหลโยธิน 24 ซึ่งทางโครงการไนท์บริดจ์จะเรียกว่าห้องชุดแบบ Duo Space แต่ลักษณะเหมือนกันคือทำห้องเพดานสูงและใส่ชั้นลอยเข้าไปในห้องชุด
สำหรับที่ Life พหลฯ-ลาดพร้าว จะมีห้องแบบ Vertiplex ทั้งหมด 15% ของโครงการ ตั้งอยู่บนชั้น 35-39 เท่านั้น เพื่อให้เทกวิวเมือง
โครงการนี้จะเริ่มเปิดขายวันที่ 17-18 มิถุนายน 2566 ห้องแบบ Simplex 1 ห้องนอน 35 ตารางเมตร เริ่ม 4.99 ล้านบาท และ ห้องแบบ Vertiplex 28.5 ตารางเมตร ราคาเริ่ม 6.29 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยทั้งโครงการ 145,000 บาทต่อตร.ม.
Life พหลฯ-ลาดพร้าว จะก่อสร้างเสร็จไตรมาส 2/2567 เสร็จรวดเร็วเพราะเป็นคอนโดฯ เริ่มสร้างก่อนเปิดขาย เริ่มงานก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2564 ทำให้ปัจจุบันสร้างไปแล้วถึง 80% ของตึก
ด้านภาพรวมทำเลห้าแยกลาดพร้าว หากนับในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบสถานี BTS ถือว่าเป็นทำเลที่คอนโดมิเนียมชุกชุมมากๆ รวมแล้วมีเปิดตัวสะสมมากกว่า 10 โครงการในพื้นที่ หรือถ้าเลยไปจนถึงรอบๆ แยกรัชโยธินก็ยังมีอีกหลายตึก
นิยมาพรให้ข้อมูลว่า เหตุที่ทำเลนี้ ‘เนื้อหอม’ เพราะด้วยยุทธศาสตร์การเดินทางแล้ว ห้าแยกลาดพร้าวสามารถเชื่อมต่อไปได้หลายเส้นทาง ทั้งถ.พหลโยธิน ถ.ลาดพร้าว ถ.วิภาวดีรังสิต เลยไปแยกรัชโยธินเชื่อมเข้าถ.รัชดาภิเษก
ขณะที่การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ใช้ได้ทั้ง BTS สายสีเขียว และ MRT สายสีน้ำเงิน ไม่ไกลจากสถานศึกษาและแหล่งงานสำคัญ เช่น ม.เกษตรศาสตร์, ปตท. สำนักงานใหญ่, ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ หรือจะเข้ากลางเมืองก็ไปถึงสยามสแควร์ – ชิดลม – เพลินจิต ได้ในเวลา 15-20 นาที
เมื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์จึงดึงดูดผู้ซื้อ/ผู้อยู่อาศัยหลายประเภท ทั้งนักศึกษา คนทำงานในย่าน คนทำงานกลางเมือง แม้กระทั่งนักธุรกิจจากต่างจังหวัดก็มีซื้อไว้เป็นที่พักสำหรับเข้ามาติดต่อธุรกิจในกรุงเทพฯ เป็นครั้งคราว เพราะอยู่ไม่ไกลจากสนามบินดอนเมือง
นิยมาพรระบุว่า ปัจจุบันโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขายที่อยู่ติดถนนพหลโยธินระหว่างห้าแยกลาดพร้าวจนถึงรอบแยกรัชโยธิน มี 4 โครงการ ได้แก่ Life ลาดพร้าว วัลเลย์, เดอะ เครสท์ พาร์ค เรสซิเดนเซส, ไนท์บริดจ์ สเปซ รัชโยธิน และ แมสซารีน รัชโยธิน มีจำนวนยูนิตรวมกันประมาณ 6,000 ยูนิต เหลือขายราว 1,000 ยูนิต
ส่วนโครงการระหว่างขายที่เป็นกลุ่มทำเลบนถนนรองหรือในซอย เช่น เมทริส ลาดพร้าว, เมทริส ดิสทริค ลาดพร้าว, เดอะ ไลน์ ไวบ์, เดอะ ไลน์ พหลโยธิน พาร์ค, แอสปาย รัชโยธิน
ด้านราคาคอนโดฯ ห้าแยกลาดพร้าว นิยมาพรกล่าวว่า ราคาจะอยู่ที่ 120,000-190,000 บาทต่อตร.ม. ขึ้นอยู่กับทำเลและสเปควัสดุ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในช่วง 145,000-150,000 บาทต่อตร.ม. ถ้าเป็นคอนโดฯ ริมถนนใหญ่
ราคาที่กล่าวนี้ยอมรับว่าปรับขึ้นช้าในช่วงโควิด-19 ด้วยตลาดไม่อำนวย อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมนักลงทุนยังคงได้ยีลด์ปล่อยเช่าประมาณ 4.5% ต่อปี โดยห้องสตูดิโอย่านนี้ปล่อยเช่าได้ที่ราคา 15,000 บาทต่อเดือน
นิยมาพรเชื่อว่าปีนี้น่าจะทำยอดขาย Life พหลฯ–ลาดพร้าว ได้ไม่ต่ำกว่า 30% และปีหน้าหลังตึกสร้างเสร็จน่าจะเร่งให้ยอดขายไปได้เร็วยิ่งขึ้น
]]>