อัตราว่างงาน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 10 Mar 2024 12:53:55 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 อัตราว่างงานในสหรัฐอเมริกา ทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปี แต่นักวิเคราะห์ยังมองว่าเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง https://positioningmag.com/1465720 Sun, 10 Mar 2024 10:24:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1465720 อัตราว่างงานในสหรัฐอเมริกา ทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 3.9% จากสาเหตุสำคัญคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลทำให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น แต่นักวิเคราะห์ยังมองว่าเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง และมองว่ายังมีความห่างไกลจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา ได้รายงานตัวเลขอัตราว่างงานล่าสุด ซึ่งเป็นตัวเลขในเดือนกุมภาพันธ์ โดยตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 3.9% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ตัวเลขอัตราว่างงานในสหรัฐอเมริกาอยู่ในระดับ 3.7% มาเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือนติดกัน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราการว่างงานที่ยังเพิ่มขึ้นสูงคือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อัตราดอกเบี้ยล่าสุดนั้นอยู่ในช่วง 5.25-5.50% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 23 ปี และยังเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วมากที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็ว ส่งผลทำให้ธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงมากขึ้น ส่งผลทำให้หลายบริษัทในสหรัฐฯ ต้องออกมาตรการประหยัดต้นทุน ซึ่งรวมถึงการปลดพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งที่ยังมีการปลดพนักงานในปี 2024 นี้ ไม่ว่าจะเป็น Amazon ไปจนถึงบริษัทผลิตเครื่องสำอางอย่าง Estee Lauder

กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ กล่าวในรายงานว่าทางหน่วยงานกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพื่อหาเบาะแสว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกดูดซับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2022 ได้อย่างไร

ตัวเลขอัตราว่างงานในสหรัฐอเมริกาเคยทำตัวเลขต่ำสุดคือ 3.4% ในเดือนเมษายนปี 2023 ที่ผ่านมา และตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบหลายปี ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นมา

อย่างไรก็ดี จอช เฟอร์แมน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้กล่าวบนโซเชียลมีเดียว่า “ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงดูดี” และยังมองว่าความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อรวมถึงเศรษฐกิจถดถอยนั้นยังคงห่างไกลอยู่

ปัจจุบันเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังถือว่ารอดจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อยู่ และยังสร้างความแปลกใจให้กับนักวิเคราะห์เช่นกันว่าสภาวะดังกล่าวนั้นเศรษฐกิจของแดนมะกันสามารถรอดพ้นสภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตแม้จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงได้อย่างไร

แม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานนั้นเพิ่มสูงขึ้น แต่นักวิเคราะห์บางรายเริ่มมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเองนั้นอาจไม่มีการถดถอยเลยด้วยซ้ำในปีนี้

ที่มา – Reuters, BBC, CNBC

]]>
1465720
ฉากหน้าสถิติ “อัตราว่างงาน” ใน “จีน” อาจดูลดลง แต่ไส้ใน “กลุ่มธุรกิจ SMEs” ยังคงลำบาก https://positioningmag.com/1457143 Mon, 25 Dec 2023 08:56:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457143 หลายเดือนที่ผ่านมาสถิติ “อัตราว่างงาน” ใน “จีน” ดูลดลงและมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ถ้าเจาะลึกในรายละเอียดจะพบว่า “กลุ่มธุรกิจ SMEs” ยังคงเผชิญความยากลำบาก และยังขอให้พนักงานหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าแรง

South China Morning Post รายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนปี 2023 ว่าเป็นปีที่น่าผิดหวัง เศรษฐกิจที่อ่อนแอลงมีผลต่อสภาวะการจ้างงานภายในประเทศ สั่นสะเทือนการทำงานของรัฐบาลที่มีภาระหน้าที่หลักคือการสร้างงานสร้างอาชีพให้เพียงพอเพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมจีนเอง

ข้อมูลทางการจากรัฐบาลจีนระบุว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา “อัตราว่างงาน” ในประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะอัตราว่างงานอยู่ในระดับ 5% มาต่อเนื่อง 3 เดือน ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการควบคุมให้ไม่เกิน 5.5% จึงถือว่าน่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าลงลึกถึงไส้ในของตัวเลขนี้ มีหลายบริษัทที่ใช้วิธีคงสถานะจ้างงานลูกจ้างไว้ แต่ขอให้ลูกจ้าง “หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าแรง” หรือจ่ายน้อยกว่าปกติ เช่น จ่ายเพียง 80% ของเงินเดือนขั้นต่ำ

สถานการณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในโรงงาน/ภาคการผลิตเป็นหลัก ที่ผ่านมามีรายงานจากทางการนครฝัวซาน มณฑลกวางตุ้ง พบว่าความต้องการแรงงานจากกลุ่มธุรกิจภาคการผลิตเริ่มจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 แต่ก็ยังถือว่าฟื้นตัวได้ช้ากว่าภาคธุรกิจบริการ

การลงทุนภาคเอกชนนั้นถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและเป็นผู้จ้างงานหลัก แต่ธุรกิจเอกชนยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เต็มที่ โดยมีการลงทุนเติบโตเพียง 0.5% ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เปรียบเทียบกับการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นถึง 6.5% เห็นได้ว่าปัจจุบันรัฐบาลต้องใช้หัวจักรภาครัฐในการขับเคลื่อนไปก่อน

 

“อสังหาฯ” จีนทรุดตัว ส่งผลซึมลึก

South China Morning Post ยกตัวอย่างสินค้าประเภทหนึ่งที่เคยมีดีมานด์สูงมากนั่นคือ “อะลูมิเนียม” สินค้ากลุ่มนี้เคยเฟื่องฟูมากจนโรงงานมีการจ้างงานพนักงานให้ทำงานถึงสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง แต่บัดนี้คำสั่งซื้อหดตัวลงจนโรงงานเองต้องดิ้นรนเพื่อไม่ให้ขาดทุน

“ในยุคที่อสังหาริมทรัพย์คืออุตสาหกรรมที่ทำกำไรดีที่สุดในประเทศจีน สินค้าอะลูมิเนียมจึงเป็นที่ต้องการทุกที่ในประเทศ รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย” Tong พนักงานคนหนึ่งของโรงงาน Golden World Innovation Aluminum กล่าวกับสำนักข่าว “อย่างไรก็ตาม วิกฤตอสังหาฯ ยังหนักหนาอยู่ในปีนี้ ทำให้โรงงานต้องการแรงงานน้อยลงเรื่อยๆ”

11 เดือนแรกของปี 2023 การลงทุนของภาคธุรกิจอสังหาฯ ในจีนหดตัวลง -9.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามแก้ไขปัญหาแล้วก็ตาม แต่ตลาดอสังหาฯ จีนที่ทรุดลงสร้างรอยแผลให้กับเศรษฐกิจจีนในหลายภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ไม่ใช่แค่อะลูมิเนียม

มีรายงานจากพนักงานในโรงงาน Yaxin Iron และ Steel Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กในมณฑลเหอหนาน ระบุว่าโรงงานหยุดผลิตเหล็กไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และจะหยุดยาวไปจนกว่าจะพ้นเทศกาลไหว้พระจันทร์ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ขณะที่ Raymond Zheng เจ้าของบริษัทขนาดเล็กที่เป็นผู้รับเหมาขุดเจาะและถมที่ในมณฑลกวางตุ้ง ก็ต้องให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือนมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว

นอกจากธุรกิจสินค้าหนักและบริการด้านก่อสร้างแล้ว ธุรกิจที่รับผลกระทบแรงในจีน ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, พลาสติก และ กระดาษและงานพิมพ์

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Simatelex ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากฮ่องกง ตัดสินใจปิดโรงงานในเสิ่นเจิ้นหลังก่อตั้งมานานถึง 38 ปี ทำให้พนักงานโรงงานหลายร้อยคนต้องถูกเลย์ออฟ

Shenli, Forward และ Good Printing ซึ่งทำธุรกิจด้านพลาสติกและกระดาษ ก็ตัดสินใจปิดโรงงานเสิ่นเจิ้นเช่นกัน รวมกันแล้วมีพนักงานถูกปลดไปหลายพันคน

การปิดโรงงานเหล่านี้จะมีผลต่อระบบนิเวศธุรกิจที่แวดล้อมด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร หอพัก โรงแรม ที่มีแหล่งรายได้หลักคือพนักงานโรงงาน ธุรกิจเหล่านี้จะต้องขาดรายได้ กลายเป็นลูกโซ่กระทบต่อเนื่อง

 

ปี 2024 ยังต้องแก้ปัญหาอีกเพียบ

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจเหล่านี้ มุมมองของกลุ่มนำทางเศรษฐกิจจีนมองว่า ปี 2024 จะต้องมีการพัฒนา โดยจีนต้องมีนโยบายเพื่อให้การจ้างงานมีความมั่นคงมากกว่านี้ มีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน และสนับสนุนให้มีรายได้ครัวเรือนสูงขึ้น

ความท้าทายของจีนในปี 2024 ยังมีอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นอัตราว่างงานสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความคาดหวังทางธุรกิจที่อ่อนแอลง การส่งออกลดลง การฟื้นตัวในภาคการผลิตที่เชื่องช้ามาก และหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่พุ่งสูงขึ้น

Natixis วาณิชธนกิจจากปารีส วิเคราะห์ว่าประเทศจีนยังหาอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งมากพอเพื่อทดแทนอุตสาหกรรมอสังหาฯ ไม่ได้

“หากความมั่นใจยังไม่ฟื้นคืนกลับมา ผู้ประกอบการภาคเอกชนน่าจะยังรอดูท่าทีทางเศรษฐกิจต่อไปก่อนตัดสินใจลงทุน” เป็นข้อสรุปจากรายงานวิเคราะห์โดย Guangzhou Institute of Greater Bay Area

Source

]]>
1457143
เศรษฐกิจจีน GDP ไตรมาส 2 โต 6.3% แต่ตัวเลขอัตราว่างงานของวัยรุ่นทำสถิติสูงสุดใหม่แล้ว https://positioningmag.com/1437932 Mon, 17 Jul 2023 03:07:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1437932 การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 นั้นล่าสุดอยู่ที่ 6.3% อย่างไรก็ดียังมีตัวเลขที่น่ากังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราว่างงานของวัยรุ่นหนุ่มสาวจีนได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ ล่าสุดอยู่ที่ 21.3% แล้ว

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดย GDP ของจีนเติบโตได้ 6.3% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าดีที่สุดตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา หลังจากที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีน รวมถึงมาตรการโควิดเป็นศูนย์

ในรายงานดังกล่าว รัฐบาลจีนได้ชี้ถึงการเร่งความพยายามที่จะส่งเสริมรูปแบบการพัฒนาใหม่ โดยเน้นการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง สร้างความสมดุลระหว่างความจำเป็นภายในประเทศและระหว่างประเทศ และยังกล่าวถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างการเติบโตที่มั่นคง การจ้างงาน และราคา ส่งผลให้ความต้องการของตลาดค่อยๆ ฟื้นตัว

ตัวเลข GDP ดังกล่าวต่ำกว่าตัวเลขที่สำนักข่าว Bloomberg ได้ทำผลสำรวจนักวิเคราะห์ซึ่งคาดไว้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ถึง 7% ขณะที่สำนักข่าว Reuters ได้ทำผลสำรวจไว้เช่นกันคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 7.3%

แต่ถ้าหากมองการเติบโตของเศรษฐกิจจีนต่อจากไตรมาส 1 นั้น GDP ในไตรมาส 2 นี้จะเติบโตแค่ 0.8% เท่านั้น

ตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนที่น่าสนใจในไตรมาส 2

  • ตัวเลขการผลิตในเดือนมิถุนายนมีการเติบโต 4.4% ดีกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 2.5%
  • ตัวเลขค้าปลีกในเดือนมิถุนายนมีการเติบโตอยู่ที่ 3.1%
  • อัตราการว่างงานของจีนล่าสุดอยู่ที่ 5.2%
  • อัตราการว่างงานของวัยรุ่นจีนล่าสุดอยู่ที่ 21.3% ทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง
  • ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีกลับมาเติบโตได้ 3.7% เมื่อเทียบกับปี 2022

ความน่ากังวลของเศรษฐกิจจีนเรื่องใหญ่ในเวลานี้คืออัตราว่างงานของวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาจีนมีอัตราการว่างงานของวัยรุ่นที่ 20.4% ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเข้าปราบปรามในหลากหลายอุตสาหกรรมที่จ้างงานวัยรุ่นจบใหม่ แม้ว่ารัฐบาลพยายามผลักดันให้วัยรุ่นออกไปทำงานในเมืองรองแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี สำหรับตัวเลข GDP ในปีนี้รัฐบาลจีนคาดว่าจะมีการเติบโตเพียงแค่ 5% เท่านั้น

นักวิเคราะห์ของ UOB ได้คาดการณ์ก่อนที่ GDP ของจีนจะออกมาในวันนี้โดยให้ความเห็นว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนนั้นอ่อนแอกว่าที่คาดในหลายตัวเลข อาจทำให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลังจากนี้ ขณะเดียวกันก็คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

]]>
1437932
ยอดว่างงานพุ่ง 7.3 แสนคน ซ้ำเติม ‘อาชีวะ-ป.ตรี’ จบใหม่ คนตกงาน ‘ยาวเป็นปี’ เพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1348525 Wed, 25 Aug 2021 08:32:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1348525 สภาพัฒน์ เผยตัวเลขอัตราว่างงานของคนไทย ไตรมาส 2 เเตะ 7.3 แสนคน ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ซ้ำหนักนักศึกษาจบใหม่ตกงานลากยาวเป็นปีเพิ่มขึ้น เเนะรัฐหนุนค่าจ้าง ดูเเลกลุ่มคนเเห่กลับภูมิลำเนา 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เเถลงถึงภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างการว่างงานของประชาชนคนไทยยังอยู่บนความเสี่ยง

โดยล่าสุด อัตราการว่างงาน อยู่ที่ระดับ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจาก 1.96% ในไตรมาส 1 ของปี 2564 คิดเป็นผู้ว่างงานทั้งสิ้นราว 7.3 แสนคน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง

สิ่งที่จะต้องจับตาดูในช่วงนี้คือกลุ่มผู้ว่างงานโดยไม่เคยทำงานมาก่อนหรือผู้ที่จบการศึกษาใหม่ที่มีการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10.04% ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 2.9 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 4.4 แสนคน ลดลง 8.38%  

เเรงงานทักษะสูง หางานยาก-ตกงานยาว 

เมื่อพิจารณาระยะเวลาของการว่างงาน พบว่า ผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น โดยผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าจากช่วงเดียวกันของไตรมาสที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็น 3.18% และ 3.44% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่า การว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง

ภาพรวมตลาดแรงงานเเม้จะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

โดยไตรมาสสอง ปี 2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 2.4% จากการเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานของแรงงานที่ว่างงานและถูกเลิกจ้าง และราคาสินค้าเกษตรที่จูงใจ

ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 1.8% โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากได้แก่

  • สาขาก่อสร้าง 5.1%
  • สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร 5.4%
  • สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า 7.1%

ด้านสาขาการผลิต และการขายส่ง/ขายปลีก การจ้างงานหดตัว’ ลง 2.2% และ 1.4% ตามลำดับ

ทั้งนี้ การจ้างงานที่หดตัวในสาขาการผลิต ซึ่งใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก ขณะที่สาขาการผลิตเพื่อการส่งออกมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ สาขาเครื่องคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์ 

Photo : Shutterstock

ชั่วโมงการทำงาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติที่ 41.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแรงงานที่ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 32%

การว่างงานในระบบ ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนต่อผู้ประกันตน 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยแต่ยังคงสูงกว่าสถานการณ์ปกติ

ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนเพียง 7,964 คน

ผลกระทบจากการระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน

กลุ่มที่ทำงาน WFH ได้ยังมีน้อย 

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงและมีแนวโน้มจะลดลงมากกว่าการระบาดในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงาน/การมีงานทำและรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้

ทั้งนี้ ลูกจ้างภาคเอกชนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด มีเพียง 5.5% หรือมีจำนวน 5.6 เเสนคน จาก 10.2 ล้านคนเท่านั้น และมีกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวน 7.3 ล้านคน ที่จะได้รับผล
กระทบ  

Photo : Shutterstock

“ธุรกิจส่วนใหญ่พยายามคงการจ้างงานเอาไว้ แต่อาจจะมีการลดค่าจ้าง และอาจทำให้มีจำนวนผู้ที่เป็นลักษณะเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ส่วนแนวโน้มการว่างงานในไตรมาส 3 นั้น จะต้องพิจารณาอีกครั้ง”

เเนะรัฐหนุนค่าจ้าง ดูเเลคนเเห่กลับภูมิลำเนา 

การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานจะส่งผลให้แรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น ทางสภาพัฒน์เเนะนำว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่ เข้มข้นกว่า การช่วยเหลือจากการระบาดในระลอกที่ผ่านมา เช่น

ช่วยสนับสนุนค่าจ้างบางส่วนให้กับผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงาน

ให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจากมาตรการควบคุมการระบาด หรือมีความจำเป็น ต้องกักตัว เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่ 

จากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งมีทั้งแรงงานถูกเลิกจ้างและกำลังแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานส่งผลให้ผู้ว่างงานในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันพบว่า ผู้ที่ว่างงานหางานลดลง เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์และแรงงานที่กลับไปทำงานในภูมิลำเนา มีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น จึงควรมีแนวทางการส่งเสริมทักษะอาชีพอิสระที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้สะดวก และฝึกฝนได้ด้วยตนเอง

 

]]>
1348525
ครัวเรือนไทย กังวลรายได้ลด-ไร้งานทำ เเบกหนี้หนัก ค่าครองชีพพุ่ง เข้าไม่ถึงโครงการรัฐ https://positioningmag.com/1346077 Tue, 10 Aug 2021 10:20:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1346077 ล็อกดาวน์โควิดระลอก 3 ซัดหนัก ประชาชนกังวลรายได้ลด-ไม่มีงานทำ เเบกหนี้หนักเเถมค่าครองชีพพุ่ง ดัชนี KR-ECI ลดฮวบ ‘ต่ำกว่าล็อกดาวน์ทั่วประเทศ’ เมื่อปีที่เเล้ว ท่องเที่ยวเจ็บยาว ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์น้อยกว่าเป้า คนไทยบางส่วน ‘เข้าไม่ถึง’ โครงการช่วยเหลือของรัฐ 

ครัวเรือนไทย ‘วิตกกังวล’ ต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพต่อเนื่อง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังรุนเเรง จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูง และยังคงทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับสูงเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงาน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ประจำเดือนก.ค. 64 ปรับลงต่อเนื่องอยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็น ระดับต่ำกว่าช่วงเดือนเม.ย. 63 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ที่ 35.1 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 36.6 จาก 38.9 ในเดือนมิ.ย.

เเบกหนี้หนัก ราคาอาหารสดเเพงขึ้น 

ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ ระดับราคาสินค้า โดยในเดือนก.ค.ดัชนีปรับลดลงอยู่ที่ 31.5 จาก 37.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับระดับอัตราเงินเฟ้อของไทย ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 0.45% ซึ่งหากไม่รวมผลจากมาตรการภาครัฐในเรื่องของการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำค่าไฟ ระดับอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.8%

“ปัจจัยหนุนเงินเฟ้อ นอกจากราคาน้ำมันแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์” 

ขณะที่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังคงถูกกดดันจากความเปราะบางของฐานะการเงินที่สะสมมาจากการแพร่ระบาดในปีก่อนและปัจจุบัน ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้สะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่ 90.5% ของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2564 นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้และจ้างงานเพิ่มขึ้น 

รายได้ลด ไร้งานทำ ท่องเที่ยวไม่ฟื้น 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงพบว่า 64.2 % ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ (64.2%) มีรายได้จากการจ้างงานลดลง

ขณะที่บางส่วน (14.3%) ธุรกิจปิดกิจการและถูกเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมตลาดแรงงานที่มีภาวะเปราะบาง

ล่าสุด ในไตรมาส 2/2564 จำนวนผู้ว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.3 แสนคน โดยทิศทางการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังมีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน

โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคท่องเที่ยว ที่แม้ในเดือนก.ค. 64 จะมีการนำร่องเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่ได้ต้องกักตัวตามเงื่อนไข

แต่สถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ในเดือนก.ค. 64 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาภูเก็ต 14,055 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันอยู่ที่ 5,400 บาท (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน) ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวยังมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ภาครัฐเคยประเมินไว้ (ไตรมาส 3 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 แสนคน)

ขณะนี้ในภูเก็ตก็ได้มีมาตรการคุมเข้มการระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรม รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ไม่สามารถเปิดได้เต็มที่

Photo : Shutterstock

คนไทยบางส่วน ‘เข้าไม่ถึง’ โครงการรัฐ 

ด้านมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐ มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยประคับประคองการดำรงชีพของครัวเรือน ซึ่งช่วงที่สำรวจภาครัฐได้มี 2 โครงการคือ โครงการคนละครึ่งระยะที่สาม และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าร่วมมาตรการพบว่า มีครัวเรือนถึง 30.6% ที่ไม่ได้เข้าร่วมทั้งสองโครงการ เนื่องจากมองว่าขั้นตอนการสมัครมีความยุ่งยาก อีกทั้งโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีเงินออมมีผู้เข้าร่วมเพียง 2.9%

ทั้งนี้ โครงการทั้งสองโครงการได้ออกมาในช่วงก่อนที่สถานการณ์การระบาดจะเผชิญความรุนแรงและมีมาตรการคุมเข้มการระบาดอย่างในปัจจุบัน ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดไม่ได้รุนแรงมาก อาจทำให้โครงการต่าง ๆ จูงใจประชาชนให้เข้าร่วมได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพใน 13 พื้นที่เสี่ยงที่ถูกล็อกดาวน์ ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บางส่วน

“ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดแรงงานต่อเนื่อง ไปจนถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน” 

ดังนั้น ภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดหา จัดสรร และแจกจ่ายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งควบคุมสถานการณ์ เช่น การตรวจเชิงรุกเพราะทุกเวลาที่ผ่านไปคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ภาคประชาชนและประเทศ

สรุป :

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ก.ค. 64) และ 3 เดือนข้างหน้าบ่งชี้ถึงความกังวลของครัวเรือนต่อรายได้และการจ้างงาน ขณะที่ในเดือนส.ค.มีมาตรการล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยิ่งเพิ่มขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายพร้อมกับเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์ รวมถึงในเรื่องของวัคซีนเพื่อให้สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง

 

]]>
1346077
ชาวอเมริกัน ‘ลาออก’ มากสุดในรอบ 20 ปี หมดไฟ-เครียด-เริ่มทบทวนชีวิต ฉุกคิด ‘หางานใหม่’ https://positioningmag.com/1336827 Mon, 14 Jun 2021 11:27:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1336827 ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ยอดว่างงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในอีกมุมหนึ่งก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจลาออกจากงานด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งมาจากความตึงเครียด ภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้ทบทวนชีวิตเเละเริ่มฉุกคิดใหม่เรื่อง ‘career path’ 

The Wall Street Journal นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า ชาวอเมริกันมีอัตราการลาออกจากงานสูงสุดในรอบ 20 ปี นับเป็นความท้าทายใหม่ของภาคธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราการลาออกจากงานของชาวอเมริกันในเดือนเม.. อยู่ที่ 2.7% หรือราว 4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2000

จำนวนผู้ที่ลาออกจากงานปรับตัวสูงขึ้น หลังช่วงวิกฤตโรคระบาด เมื่อคนจำนวนมากต้องการความมั่นคงในหน้าที่การงาน ขณะที่ต้องเผชิญกับวิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ”

เทรนด์การเปลี่ยนงานเเละเปลี่ยนอาชีพใหม่ กระตุ้นให้นายจ้างต้องขึ้นค่าแรงและเสนอการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ โดยความต้องการที่จะเปลี่ยนงานใหม่ ชี้ให้เห็นถึงความหวังเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่าแม้ว่าจะมีอัตราว่างงานจะสูงขึ้นก็ตาม

เมื่ออัตราการเลิกจ้างสูง ก็ทำให้นายจ้างต้องเสียต้นทุนมากขึ้นเช่นกัน จากการที่ธุรกิจต้องหยุดชะงักลง ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงาน ให้ความเห็นว่า การลาออกส่งสัญญาณว่า ตลาดเเรงงานเริ่มเเข็งเเกร่งขึ้น เนื่องจากผู้คนหันมาสนใจหางานที่เหมาะกับทักษะ ความสนใจของตัวเอง และต้องการมีชีวิตส่วนตัวมากขึ้น

(Photo : Shutterstock)

ยิ่งในปัจจุบันมีหลายปัจจัยส่งเสริมให้มีการ ‘เปลี่ยนงาน’ บ่อยขึ้น ประชาชนจำนวนมากปฏิเสธที่จะกลับมาทำงานตามปกติในระบบเดิม เเละลังเลที่จะทำงานในออฟฟิศเหมือนก่อนช่วงก่อนโรคระบาด แต่พวกเขามีเเนวโน้มจะเลือกทำงานทางไกลที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน เริ่มมองเห็นถึงกระเเสการลาออกนี้ จากสำรวจความเห็นพนักงาน 2,000 คนในช่วงเดือนมีนาคมโดย Prudential Financial พบว่า พนักงานกว่า 1 ใน 4 วางแผนหางานใหม่กับนายจ้างรายอื่นในเร็วๆ นี้

หลายคนตกอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) เนื่องจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดจากโควิด-19 ขณะที่บางคนต้องมองหาค่าจ้างที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยการสูญเสียงานของคู่สมรส หรือใช้ช่วงเวลาในปีที่ผ่านมาเพื่อคิดพิจารณาถึงเส้นทางอาชีพและการเปลี่ยนงานใหม่

จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วในสหรัฐฯ เเละมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะงานในภาคการผลิตเเละภาคบริการ จนหลายบริษัทต้องเเย่งชิงเเรงงาน จัดโปรโมชันต่างๆ ให้ผู้สมัคร

โดยร้านอาหารและแฟรนไชส์บางแห่งในสหรัฐฯ ต้อง ‘เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ’ หรือ ‘ให้โบนัสไปจนถึงเเจกสมาร์ทโฟน เพื่อจูงใจให้คนมากลับมาทำงาน แทนการอยู่บ้านและพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

ที่มา : WSJ , businessinsider 

]]>
1336827
ว่างงานพุ่งไม่หยุด เด็กจบใหม่ 5 แสนคนเคว้ง ‘ไม่มีงานทำ’ หนี้ครัวเรือนสูง จำใจกู้นอกระบบ https://positioningmag.com/1333573 Mon, 24 May 2021 07:50:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333573 โควิด-19 สั่นคลอนเศรษฐกิจไทย ไตรมาสเเรกของปี 2564 ว่างงานพุ่ง 7.6 เเสนราย นักศึกษาจบใหม่เกือบแสนคน ‘สุดเคว้ง’ ตำแหน่งงานไม่เพียงพอ เสี่ยงตกงานยาว ด้านหนี้ครัวเรือนสูงไม่หยุด ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ประชาชนต้องควักเงินออมมาใช้ ก่อหนี้บัตรเครดิตเสี่ยงกู้นอกระบบเพิ่ม

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนเเรกของปีนี้ คนไทยว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 7.6 แสนคน คิดเป็น 1.96% เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก นับตั้งแต่เดือน ม..เป็นต้นมา

โดยอัตราการว่างงานของแรงงานในระบบ พบว่า ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 มีจำนวน 3.46 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 3.1% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่การระบาดยังไม่รุนแรงแต่ปรับตัวลดลงจากครึ่งปีหลัง

เเบ่งเป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ประมาณ 8 หมื่นคน ในเดือน มี.. ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง และลูกจ้างของสถานประกอบการที่ขอใช้มาตรา 75 ตาม พ...คุ้มครองแรงงานฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 82,346 คน ลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

Photo : Shutterstock

ส่วนชั่วโมงการทำงานรวมอยู่ที่ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 การทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นถึง 129.1% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4

จากภาพรวมที่ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง สะท้อนการจ้างงานและการทำงานที่ไม่เต็มเวลา ทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน

โดยกำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5% จากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้อยู่นอกกำลังแรงงานอย่างต่อเนื่อง

เเละมียอดผู้มีงานทำในไทยทั้งสิ้น 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% จากการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ดูดซับแรงงานบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างจากภาคเศรษฐกิจอื่นมาตั้งแต่ปี 2563 ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้น รวม 11.07 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรม การจ้างงานปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 0.6% โดยสาขาการผลิตอุตสาหกรรมมีการจ้างงานลดลง 2.2%

ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงเเละมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้ภาคบริการ จ้างงานลดลง 0.7% สาขาการขายส่ง/ขายปลีกลดลง 1.0% และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ลดลง 0.4% และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลง 0.2%

เเต่บางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถขยายตัวได้ เช่น ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และการผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่น ๆ

เด็กจบใหม่ เสี่ยงไร้งานยาว 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า ผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน ในปี 2564 ที่ต้องติดตามเเละเเก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้เเก่

1) แรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) อาจตกงานมากขึ้นหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน

โดยธุรกิจ MSMEs ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ GDP ของ MSMEs ปรับตัวลดลงสูงถึง 9.1% หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจเหล่านี้อาจไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้ รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน และโอกาสการกลับมาฟื้นตัวอาจใช้เวลานานมากขึ้น 

2) แรงงานในภาคท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่

ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคน โดยหากแรงงานถูกเลิกจ้างจะไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในสาขาเดิมได้ในระยะเวลาอันใกล้ และอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาว่าจะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร

3) ตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอจะ รองรับนักศึกษาจบใหม่

กระทบกับการหางานของ นักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และแรงงานคืนถิ่นภายใต้ พ...เงินกู้ฯ ในปี 2563 ซึ่งมีระยะเวลาการจ้างงานประมาณ 12 เดือนกำลังจะสิ้นสุดลง อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานภายใต้โครงการประมาณ 1.4 แสนตำแหน่ง

4) เเรงงานรายได้ลดต่อเนื่อง เสี่ยงตกงานยาว

ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง 6 ไตรมาสติดต่อกันและการว่างงานเพิ่มขึ้นสะท้อนว่าแรงงานมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผู้ว่างงานจากผลกระทบของ COVID-19 มีแนวโน้มเป็นผู้ว่างงานระยะยาวมากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ที่จะมีผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทยด้วย

Photo : Shutterstock

หนี้ครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้าน คนจำใจก่อหนี้บัตรเครดิตกู้นอกระบบเพิ่ม

หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ของปี 2563 มีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยาย 3.9% จาก 4% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว

เเม้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูง

โดยในไตรมาส 4 ปี 2563 สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจาก 2.91% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน

เเต่จากปัญหาตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น จะทำให้รายได้ของแรงงานลดลง และทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น

คาดว่าแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19”

ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง

ด้านความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาการขาดสภาพคล่องรวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ ตอนนี้ประชาชนเริ่มนำเงินออมออกมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น เวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย มาไว้รองรับในระยะถัดไป

 

 

]]>
1333573
โควิดรอบใหม่ ซัดเศรษฐกิจไทย สูญอย่างน้อย 1.6 เเสนล้าน ท่องเที่ยวซึมยาว สะเทือนจ้างงานหลายล้านคน https://positioningmag.com/1314167 Thu, 14 Jan 2021 16:41:39 +0000 https://positioningmag.com/?p=1314167 เศรษฐกิจไทยในปี 2021 ยังเต็มไปด้วยความไม่เเน่นอน หลังเจอ COVID-19 ระลอกใหม่ฉุดการฟื้นตัว รายได้วูบอย่างน้อย 1.6 แสนล้าน ธุรกิจท่องเที่ยวซึมยาว สะเทือนการจ้างงานหลายล้านคน 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 2.5% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5%

เเม้ว่าจะทำให้ไทยพ้นจากภาวะถดถอยในปี 2020 ที่เศรษฐกิจติดลบไปถึง 6.5% เเต่การเเพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งเเต่ช่วงต้นปี ได้กระทบการใช้จ่ายของภาคเอกชน การบริโภค การลงทุนและการท่องเที่ยวในประเทศค่อนข้างมาก 

“COVID-19 รอบใหม่ (เดือนม.ค.-ก.พ.) จะทำให้เกิดค่าเสียโอกาส ไม่ต่ำกว่า 1.6 เเสนล้านบาท จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต้องล่าช้าออกไป ท่ามกลางความไม่เเน่นอน

ส่วนมาตรการการเยียวยาของภาครัฐครั้งล่าสุด คาดว่าจะต้องใช้งบราว 1.7 – 2 แสนล้านบาท เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ให้ปรับลดลงมากนัก

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โรคระบาดยืดเยื้อ ลากยาวถึง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกว่า 2.39 แสนล้านบาท ซึ่งจะฉุดจีดีพีปีนี้ให้เติบโตได้เพียงระดับ 2% เท่านั้น เเละหากสถานการณ์ยาวนานกว่านี้ เชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปเรื่อยๆ 

เมื่อเจาลึกลงไปในภาคการท่องเที่ยว พบว่า หากมาตรการที่รัฐบาลใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 2-3 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 109.6 ล้านคนต่อครั้ง ต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่ 131.8 ล้านคนต่อครั้ง แต่ก็ยังสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 91.2  ล้านคนต่อครั้ง
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2021 คาดว่าจะมีเพียง 4.4 ล้านคนเท่านั้น

โดยมาตรการของรัฐที่คุมเข้มในช่วง 2 เดือน (ม.ค.- ก.พ.) คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้เม็ดเงินในธุรกิจท่องเที่ยวหายไปราว 1.1 แสนล้านบาท

ในกรณีที่ต้องคุมเข้มยาวถึง 3 เดือน จะทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศลดเหลือ 100 ล้านครั้ง เม็ดเงินในธุรกิจท่องเที่ยวจะหายไปถึง 1.5 แสนล้านบาท จึงต้องหวังว่าไทยจะสามารถคุมสถานการณ์ COVID-19 รอบใหม่ให้ได้ภายใน 2 เดือนนี้

สำหรับปัญหาการว่างงาน ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานหลายล้านคน เเม้ช่วงไตรมาส 3-4 ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวบ้าง เเต่อัตราการว่างงานเเละการมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าปกติยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาวของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

TMB Analytics ธนาคารทหารไทย มองว่า จากการที่ไทยมีสัดส่วนพึ่งพาภาคการค้าและการท่องเที่ยวถึง 22% ต่อจีดีพี มีการจ้างงานสูงรวมกันที่ 6.9 ล้านคน ดังนั้นคาดว่าผลกระทบจาก COVID-19 รอบใหม่ จะทำให้รายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยวลดลงรวมกันกว่า 1.4 แสนล้านบาท

ด้าน ‘ค่าเงินบาท’ มีเเนวโน้มว่าจะ ‘แข็งค่า’ ตลอดทั้งปี 2021 โดยมีโอกาสที่จะหลุดจาก 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เเละอาจแข็งค่าไปเเตะระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยหลักๆ เช่น ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เม็ดเงินลงทุนที่ไหลออกจากประเทศไทยไปต่างประเทศยังน้อย รวมถึงการไหลเข้าของเม็ดเงินในตลาดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เเละความท้าทายด้านการส่งออก ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากการเเพร่ระบาดรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ปัจจัยบวก

  • นโยบายเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
  • การลงทุนในเทคโนโลยีท่ีสอดรับกับยุค 5G และกระแส Green Economy
  • โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสู่ New Normal

ปัจจัยลบ

  • COVID-19 ระลอกใหม่
  • ภัยแล้งรุนแรงและยาวนาน
  • ปัญหาขาดแคลนต้คูอนเทนเนอร์
  • ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ

จับตา ‘The Great Reset’ 

มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ภาคธุรกิจไทยต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Megatrend ของโลก หลังวิกฤตโรคระบาด อย่างกระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความ Greener, Smarter และ Fairer

ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัว เพราะประเทศมหาอำนาจของโลกให้น้ำหนักกับประเด็นนี้มากขึ้น และอาจนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าได้ “

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาท่าทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการค้ารอบใหม่ เช่น แนวนโยบายภายใต้ ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ รวมไปถึง ‘แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีน’ ที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีมากขึ้น

ตลอดจนความตกลง RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดโลก ซึ่งมองว่าความตกลง RCEP ที่จะส่งผลดีต่อไทยในการส่งออกสินค้า จากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากการค้าระหว่างคู่เจรจาที่จะคึกคักขึ้น

“ไทยจะได้ผลดีจากการเข้า RCEP เเละมองว่าเวียดนามจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย”

 

]]>
1314167
SCB หั่น GDP หดตัวอีก -7.8% ซ้ำ “แผลเป็น” เศรษฐกิจไทย ระวังปิดกิจการ-ว่างงานพุ่งสิ้นปี https://positioningmag.com/1296786 Mon, 14 Sep 2020 10:22:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1296786 SCB EIC ปรับลดเป้าจีดีพีไทยปี 2563 อีกรอบ ติดลบมากขึ้นเป็น -7.8% จากเดิม -7.3% หลังผลกระทบวิกฤต COVID-19 สร้างแผลเป็นใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจ จับตาปัจจัยความเสี่ยงเพิ่ม ธุรกิจเร่งปิดกิจการมากขึ้น ดันอัตราว่างงานพุ่งสิ้นปี เร่งรัฐดูแลแรงงาน 2.5 ล้านคน ห่วงหนี้ครัวเรือนไต่ระดับเพิ่มเป็น 88% คาดเงินบาทจะอยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลง เป็นไปตามที่คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากยังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอีกหลายประการ เเม้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 มาเเล้วก็ตาม

จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ ที่ EIC ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือเพียง 6.7 ล้านคน ตามนโยบายควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ ที่ยังไม่มีแนวโน้มผ่อนคลาย

อีกทั้งเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้น้อยกว่าที่คาด (ประมาณ 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดประมาณ 6 แสนล้านบาท) รวมถึงเม็ดเงินช่วยเหลือที่จะน้อยลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal cliff) และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง

Photo : Shutterstock

นอกจากนี้ ยังต้องระวังการปิดกิจการในภาคธุรกิจที่เร่งตัวขึ้น ความเปราะบางในตลาดแรงงาน สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ลดลงมากจนน่าเป็นห่วง

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่เศรษฐกิจยังซบเซาและมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ครัวเรือนมีพฤติกรรมเก็บออม (precautionary saving) มากขึ้นส่งผลต่อการฟื้นตัวของบริโภคภาคเอกชนด้วยเช่นกัน

ปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็น -7.8% จากเดิมคาดติดลบเพียง 7.3% ขณะที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะหดตัวที่ -4.0%”

ส่งออกติดลบยาว – ไทยเที่ยวไทย โรงเเรมเล็กฟื้นเร็ว 

จากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ที่หดตัวสูงถึง -12.2% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่วิกฤตต้มยากุ้ง (Q2/1998)  ซึ่งอยู่ที่ -12.5% ทำให้มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ท่ี่ออกมาเท่านั้น

โดย “ภาคการส่งออก” ของไทยเร่ิมปรับดีข้ึนหลังผ่านจุดต่ำสุด แต่การฟื้นตัวมีความแตกต่างกันในรายประเภทสินค้า เช่น สินค้าที่ขยายตัวได้ดีในจีน ได้เเก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ เเละผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าที่ขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ ได้เเก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด อาหารทะเลกระป๋อง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอีกระลอกของ COVID-19 ในประเทศคู่ค้าหลัก เป็นอีกปัจจัยที่อาจชะลอการฟื้นตัวของการส่งออกไทย โดยในปี 2663 EIC คาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวที่ -10.4%

ด้านการท่องเที่ยวจากต่างชาติยังคงซบเซาต่อเนื่อง โดย EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีนี้ เหลือเพียง 6.7 ล้านคน (-83%YOY) ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศจากคนไทย เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวหลังมาตรการปิดเมืองผ่อนคลาย

“โรงแรมขนาดเล็กและราคาถูก จะฟื้นตัวเร็วกว่าโรงเเรมระดับ 4-5 ดาวที่เคยจับกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมในจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือ มีการฟื้นตัวที่เร็วกว่าพื้นที่อื่น” 

จำนวน “ผู้เยี่ยมเยือน” ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยฟื้นตัวขึ้นชัดเจน ยกเว้นพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออกและจังหวัดท่องเที่ยวทางภาคใต้ฝั่งอันดามันยังฟื้นตัวช้า โดยจังหวัดที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดคือ เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีกระกระตุ้นการท่องเที่ยวเเบบโลคอลที่น่าสนใจ

ยอดปิดกิจการพุ่ง “เเรงงานอายุน้อย” ตกงาน 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปแบบช้า เนื่องจากยังมีหลายอุปสรรคกดดัน โดยเฉพาะผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจหรือ scarring effects ที่เกิดจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 

ในช่วงที่ผ่านมา การเปิดกิจการลด แต่การปิดกิจการเพิ่มขึ้นในช่วง 33 สัปดาห์แรกของปีนี้ เเละเพิ่มขึ้น 38.4% ในช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. 

“การปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงจะซ้ำเติมอีกแผลเป็นทางเศรษฐกิจซึ่งก็คือ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน” 

จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 พบว่า อัตราผู้ว่างงานอยู่ที่ 7.45 แสนคน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร่งเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นไปที่ 1.95% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี นอกจากนั้น รายได้ของแรงงานที่ยังมีงานทำก็มีแนวโน้มหดตัวลงมากจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง (-11.5%YOY) ตามจำนวนงานเต็มเวลาและงานโอทีที่หายไป

โดยบางส่วนกลายเป็นงานต่ำระดับ (underemployment) ขณะที่มีจำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) เพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 ล้านคน สะท้อนความอ่อนแอของตลาดแรงงานที่มีในระดับสูง

ทั้งนี้ จำนวนการว่างงานขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยหมวดโรงแรมและร้านอาหาร มีจำนวนเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะได้ผลกระทบจาก COVID-19 ท่ี่รุนแรงกว่า ขณะเดียวกันปัญหาการว่างงานในกลุ่ม “แรงงานอายนุ้อย” ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจนำไปสู่ปัญหาการว่างงานระยะยาว

“หากระดับการปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้นในระดับสูงและยืดเยื้อ ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ การบริโภค และการลงทุน ซึ่งนับเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ” 

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงพฤติกรรม “การออมเพื่อรองรับความเสี่ยง” ในอนาคต (precautionary saving) หลังระดับเงินฝากที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในทุกขนาดบัญชีหลังการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงต้ังแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการเน้นเก็บออมในช่วงเวลาวิกฤต ทำให้ประชาชนจะระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจลดลง

 

ห่วง “หนี้ครัวเรือน” ไต่ระดับเพิ่มเป็น 88%

ด้านรายได้ภาคครัวเรือนที่ “หดตัว” สะท้อนจากวิกฤตในตลาดแรงงาน ขณะเดียวกันยังคงมีหนี้สูง และกันชนทางการเงินต่ำเป็นทุนเดิม

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนจากต้นปี สัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 80% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 88-89% ต่อจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่หดตัว และในจำนวนนี้กันชนทางการเงินไม่พอมีมากกว่า 60% ที่มีเงินใช้ได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น”

ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยมองว่าการบริโภคเอกชนจะหดตัว -2.3%

ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพในธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งในกลุ่มนี้มีรายจ่ายและหนี้ครัวเรือนเกิน 1 ใน 5 ของทั้งหมด และมีความเปราะบางทางการเงิน

“EIC คาดการบริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากรายได้ การจ้างงาน ความเชื่อมั่นที่ลดลงมาก เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ที่ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่ซบเซา ความไม่แน่นอนที่สูง และงบดุลภาคธุรกิจที่แย่ลง”

SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ คาดกนง.คงดอกเบี้ยยาวถึงปี 64

ด้านสภาพคล่องในระบบการเงินโดยรวมยังคงปรับดีขึ้น สะท้อนจากงบดุล ธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เเละยังมีมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออกมาสนับสนุน เป็นผลให้ปริมาณเงินในระบบปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินปรับลดลงต่อเนื่องตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ภาวะการเงินผ่อนคลายลงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี corporate spread ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ความกังวลของนักลงทุนจะปรับลดลงบ้าง จากมาตรการภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุน นอกจากนี้ปริมาณการออกตราสารหนี้ ภาคเอกชนปรับลดลงอย่างมีนัย และปริมาณการออกตราสารทุนในตลาดแรกปรับลดลงมาก

สินเชื่อธุรกิจ SME ส่วนใหญ่หดตัวลง (โดยเฉพาะขนาดเล็กที่วงเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาท) ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญยังขยายตัวได้ดี สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ ด้านสินเชื่อด้อยคณุภาพ (NPLs) และสินเชื่อ Stage2 ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อนจากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

EIC ประเมินว่า แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องผ่านเครื่องมืออื่น ๆ อีก

“กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงปี 2563-64 หลังเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพื่อรักษาขีดความสามารถของการดำเนินนโยบายการเงินไว้” 

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ยังมีต่อเนื่องมาตรการที่อยู่อาศัย Balance Sheet ของ ธปท. (เช่น มาตรการ Soft loan and BSF) และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการเงิน เช่น มาตรการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้และช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย

ขณะที่แรงกดดันด้านแข็งค่าต่อ “เงินบาท” ยังคงมีอยู่ โดยเงินบาทอ่อนค่าในปีนี้จาก risk-off sentiment ซึ่งเป็นผลกระทบของ COVID-19 อย่างไรก็ดี ดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับประเทศคู่ค้า ยังคงแข็งค่าค่อนข้างมากนับจากปี 2557

“EIC คาดเงินบาท ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกชะลอลง อย่างไรก็ตาม มูลค่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ทำให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากนัก” 

Photo : Freepik

เศรษฐกิจโลกฟื้นช้า บริษัทแจ้งล้มละลายสูง 

ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในระยะถัดไปนั้น EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดมาเเล้วในไตรมาสที่ 2 แต่ล่าสุดการฟื้นตัวเริ่มชะลอลงจากการกลับมาปิดเมืองบางพื้นที่ ซึ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป (U-shaped recovery) เนื่องจากยังมีผลกระทบจากการปิดกิจการและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ ซึ่งจะสร้างผลกระทบให้กับระบบเศรษฐกิจในอีกหลายประเทศ ทั้งระยะสั้นเเละระยะยาว

“เศรษฐกิจโลกปรับฟื้นตัวในอัตราท่ี่ชะลอลง โดยยอดใช้บัตร เครดิตเเละเดบิตในสหรัฐฯ ปรับชะลอลง การบริโภคภาคบริการในญี่ปุ่นฟื้นตัวช้า และการลงทุนภาคการผลิตของจีนยังคงต่ำ”

การล้มละลายของธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก โดยในสหรัฐฯ พบว่าจำนวนบริษัทขนาดใหญ่ที่แจ้งล้มละลายอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ GFC ส่วนในญี่ปุ่นพบว่า บริษัทที่แจ้งล้มละลายปรับสูงขึ้นรวดเร็วหลังเกิด COVID-19 แต่ชะลอลงบ้าง หลังมีการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

“ในระยะต่อไปที่การล้มละลายจะยังอยู่ในระดับสูง อัตราการว่างงานทั่วโลกก็มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงเช่นกัน” 

โดยธนาคารกลางหลัก เช่น Fed และ ECB ส่งสัญญาณการเก็บอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน พร้อมผ่อนคลายนโยบายการผ่านมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น มาตรการที่เกี่ยวกับ Balance sheet ของธนาคารกลาง (QE และ Soft loan เป็นต้น)

ความเสี่ยงที่น่าจับตามอง เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ท่ี่เริ่มหมดอายุลงหรือต่ออายุช้าหรือในขนาดเล็กลง ทำให้เกิดหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงการกลับมาระบาดของ COVID-19 เเละระยะเวลาในการค้นพบและนำมาใช้อย่างทั่วถึงของวัคซีน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

รวมไปถึง ความไม่แน่นอนทางนโยบายมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. หาก Joe Biden ชนะตามโพลที่นำอยู่ล่าสุด นโยบายการขึ้นภาษีนิติบุคคลและนโยบายการค้ากับจีน จะเป็นนโยบายสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินโลกในระยะถัดไป

 

อ่านฉบับเต็ม SCB EIC : Outlook ไตรมาส 3/2020 (ที่นี่)

 

]]>
1296786
เศรษฐกิจ “ออสเตรเลีย” สะดุด COVID-19 เข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” ครั้งแรกในรอบ 29 ปี https://positioningmag.com/1295091 Wed, 02 Sep 2020 06:32:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1295091 เศรษฐกิจของออสเตรเลียที่เติบโตมาต่อเนื่องเกือบ 3 ทศวรรษ มีอันต้องสะดุดเพราะพิษ COVID-19 นับว่าเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคครั้งแรก นับตั้งเเต่ปี 1991 หลังจีดีพีปีนี้หดตัว 2 ไตรมาสต่อกัน

สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาส 2 (ระหว่างเดือนเม.. ถึงมิ..) หดตัวลง 7%  ต่อจากไตรมาสเเรกที่หดตัว 0.3% ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคเป็นครั้งแรก หลังจากขยายตัวต่อเนื่องมาตลอด 29 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจออสเตรเลียเคยเเข็งเเกร่ง ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตใด ๆ แม้แต่วิกฤตการเงินโลก ในปี 2008-2009

โดยสถิติของจีดีพีในไตรมาส 2 ดังกล่าว ถือว่าหดตัวมากกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะติดลบราว 5.9% ถือเป็นภาวะหดตัวของจีดีพีรายไตรมาสหนักหน่วงที่สุด ตั้งแต่ปี 1959

สาเหตุหลักๆ ที่สะเทือนเศรษฐกิจของออสเตรเลีย คือการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รัฐบาลต้องบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ภาคครัวเรือนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย การนำเข้าสินค้าลดลง 2.4% การส่งออกภาคบริการลดลงถึง 18.4% ขณะเดียวกัน ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ แม้ว่ารัฐบาลและธนาคารกลางจะมีมาตรการช่วยเหลือเเล้วก็ตาม นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังต้องเผชิญปัญหาภาวะแล้งยาวนานและไฟป่าครั้งใหญ่ด้วย

Gold Coast, Australia. (Photo by Chris Hyde/Getty Images)

ขณะที่อัตราการว่างงานในออสเตรเลีย พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษ ในช่วงการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยในเดือนมิ.อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 7.1% เป็น 7.4% มีผู้ว่างงานเกือบ 1 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดราว 25 ล้านคน ซึ่งถือเป็นอัตราว่างงานที่สูงที่สุดของประเทศ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลคาดว่า เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในไตรมาส 3 เพราะเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดแล้ว เเต่ก็ต้องเจอกับการระบาดใหญ่ในเมืองเมลเบิร์น เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศทำให้ภาคธุรกิจต่างๆต้องฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวัดกันตามตัวเลขจีดีพีเเล้ว นับว่าออสเตรเลียยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศใหญ่ๆ อย่าง อังกฤษ ที่กำลังเผชิญกับ “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” ครั้งเเรกในรอบ 11 ปีเช่นกัน หลังตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 หดตัวถึง 20.4%

การที่รัฐบาลอังกฤษบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ระหว่างช่วงเดือน เม.. – มิ.ซึ่งถือว่า “ช้ากว่า” ประเทศอื่นในยุโรปที่ดำเนินการมาก่อนหน้า มีผลทำให้ในช่วงไตรมาส 2 อังกฤษกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักที่สุดในยุโรป รุนแรงกว่าเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี 

ขณะที่จีดีพีของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ติดลบมากถึง 32.9% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านประเทศดาวรุ่งในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ก็หดตัวถึง 42.9% ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 นั้นถดถอยที่ -12.2% แย่ที่สุดในรอบ 22 ปี 

 

ที่มา : BBC , AFP 

]]>
1295091