ผู้ประกอบการ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sun, 30 Jun 2024 04:20:31 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “Cartier Women’s Initiative” ทุนจาก “คาร์เทียร์” เพื่อผลักดัน “ผู้ประกอบการหญิง” ทั่วโลก https://positioningmag.com/1480368 Sat, 29 Jun 2024 11:25:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480368 ครบรอบ 17 ปีโครงการ Cartier Women’s Initiative จาก “คาร์เทียร์” โครงการมอบทุนและเครือข่ายเพื่อช่วยผลักดัน “ผู้ประกอบการหญิง” ทั่วโลกที่ทำธุรกิจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม โดยการพิจารณารางวัลครั้งล่าสุดมี “กรองกมล เดอเลออน” เป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้ทำหน้าที่คณะกรรมการตัดสิน

“Cartier Women’s Initiative” หรือ CWI เป็นโครงการที่ก่อตั้งเมื่อปี 2006 ด้วยจุดมุ่งหมายของ “คาร์เทียร์” ที่ต้องการสนับสนุนรางวัลและเครือข่ายผู้ประกอบการให้กับ “ผู้หญิง” ที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมทั่วโลก โดยที่ผ่านมา 17 ปีโครงการนี้มีการมอบรางวัลให้ผู้ประกอบการสตรีไปแล้ว 330 ราย ใน 66 ประเทศ มูลค่าเงินรางวัลสะสม 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 349 ล้านบาท)

การตัดสินรางวัลจะมอบให้กับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม มีการทำกำไรได้จริง และยังอยู่ในช่วง ‘early stage’ หรือเพิ่งเริ่มทำธุรกิจมาไม่เกิน 6 ปี

โดยรางวัลปัจจุบันมี 11 รางวัล แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • 9 รางวัลที่แบ่งตามภูมิภาคผู้สมัคร ได้แก่ ละตินอเมริกาและแคริบเบียน, อเมริกาเหนือ, ยุโรป, แอฟริกากลุ่มใต้ทะเลทรายซาฮาราและพูดภาษาฝรั่งเศส, แอฟริกากลุ่มพูดภาษาอังกฤษและโปรตุเกส, ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ, เอเชียตะวันออก, เอเชียใต้และเอเชียกลาง, โอเชียเนีย
  • 2 รางวัลเฉพาะทาง ได้แก่ รางวัล Science & Technology Pioneer Award และรางวัล Diversity, Equity & Inclusion Award (*รางวัลล่าสุดที่ไม่จำกัดเพศผู้สมัคร)

เมื่อปี 2024 ที่ผ่านมานั้น ผู้ชนะรางวัลแต่ละสาขา อันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 3 ได้รับเงินรางวัล 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทยนั้นเคยมีผู้ชนะรางวัล CWI หนึ่งคนคือ “สาลินี ถาวรนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสว่าง จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 2014 โดยบริษัทของเธอเป็นโมเดลธุรกิจการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกล

Cartier Women’s Initiative
“กรองกมล เดอเลออน” Vice President ของ Beacon Venture Capital และเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน Cartier Women’s Initiative ปี 2024

นอกจากจะมีผู้ชนะรางวัลแล้ว ปี 2024 ยังเป็นปีแรกที่มีคณะกรรมการตัดสินรางวัลเป็นผู้หญิงไทย คือ “กรองกมล เดอเลออน” ซึ่งเป็น Vice President ของ Beacon Venture Capital มาช่วยพิจารณาผู้สมัครและเป็นที่ปรึกษาให้โครงการ

“วินจี ซิน” ผู้อำนวยการโครงการ CWI ในโอกาสมาเยือนประเทศไทยได้แบ่งปันข้อมูลว่า โครงการ CWI ไม่เพียงแต่ให้ทุนรางวัลเท่านั้น แต่ผู้ที่ชนะรางวัลจะได้อยู่ในคอมมูนิตี้ที่สนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งจากรุ่นพี่ที่ชนะรางวัล กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมกว่า 700 คน ซึ่งจะช่วยให้คำแนะนำการทำธุรกิจและเป็นเครือข่ายในการต่อยอดต่อไปได้ ทำให้ที่ผ่านมาผู้ชนะรางวัล CWI ร้อยละ 94 สร้างรายได้เติบโตขึ้นได้สำเร็จ ร้อยละ 42 ทำกำไรสูงขึ้น และร้อยละ 56 สามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้ในเวลา 3 ปีหลังรับรางวัล

Cartier Women’s Initiative
“วินจี ซิน” ผู้อำนวยการโครงการ Cartier Women’s Initiative

 

ชวนผู้ประกอบการหญิงไทยสมัครชิงรางวัล

ซินบอกด้วยว่า จากการทำโครงการ CWI ในช่วงแรกๆ ของโครงการมักจะพบว่า ปัญหาหลักของ “ผู้ประกอบการหญิง” คือการเริ่มต้นธุรกิจค่อนข้างยาก ต้องอาศัยแรงสนับสนุนที่จะลงมือทำ แต่ในระยะ 5-6 ปีหลังมานี้ ผู้หญิงมีความกล้าที่จะเริ่มต้นธุรกิจสูงขึ้นมาก แต่การจะ ‘สเกล’ ขยายธุรกิจให้เต็มศักยภาพและเข้าถึงแหล่งทุนที่จะทำเช่นนั้นยังคงเป็นโจทย์ยาก ทำให้ CWI จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ได้

ด้านกรองกมลเล่าจากประสบการณ์การตัดสินรางวัลปีล่าสุด พบว่ามีผู้สมัครชาวไทยยื่นใบสมัครมาทั้งหมด 8 คน แต่น่าเสียดายที่ทั้งหมดไม่สามารถก้าวสู่รอบ Top 5 ได้

อย่างไรก็ตาม ซินเสริมว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีสตรีอยู่ในระดับบริหารของบริษัทเป็นสัดส่วนที่สูงมากหากเทียบกับค่าเฉลี่ยโลก ดังนั้น มองว่าผู้ประกอบการหญิงไทยมีศักยภาพที่จะชนะรางวัลนี้ได้ และขอให้ไม่ท้อในการสมัคร เพราะผู้ชนะหลายคนที่ไม่ผ่านเข้ารอบในปีแรก แต่ยังมุ่งมั่นทำธุรกิจและยื่นสมัครอีกครั้งจนชนะได้ในที่สุด

Cartier Women’s Initiative

กรองกมลยังให้คำแนะนำด้วยว่า สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสมัคร CWI ควรจะมีคุณสมบัติ ดังนี้

1.โมเดลธุรกิจมีความยั่งยืน สามารถทำกำไรได้จริง และมีแผนลงทุนเพื่อการเติบโตในระยะยาว หากเป็นไปได้ควรต่อยอดได้มากกว่าตลาดในประเทศ

2.รู้จักธุรกิจของตนเองอย่างถ่องแท้ รู้โอกาสได้เปรียบของธุรกิจตนเองที่เหนือกว่าคู่แข่ง

3.สร้างธุรกิจที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ให้กับสังคมและโลกใบนี้อย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่ง

สำหรับการต่อยอดโครงการ Cartier Women’s Initiative นั้น วินจี ซินกล่าวว่าปัจจุบันโครงการเริ่มขยายโมเดลทำโครงการในระดับท้องถิ่นบ้างแล้วเพื่อทำลายกำแพงภาษาลง หันมาสร้างโครงการโดยใช้ภาษาท้องถิ่นแทนภาษาอังกฤษ เช่น ในประเทศจีน โครงการเริ่มสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในเซี่ยงไฮ้และร่วมมือกับโรงเรียนด้านธุรกิจในประเทศจีนเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ ในอนาคต โครงการมีแผนจะขยายโมเดลนี้ไปยังโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และอาจจะขยายเข้ามาในไทยเร็ว ๆ นี้

Cartier Women’s Initiative

]]>
1480368
ttb business one ต่อยอดฟีเจอร์ใหม่ จาก Pain Point ชาวเอสเอ็มอี จัดการธุรกิจผ่าน ‘มือถือ’  https://positioningmag.com/1362565 Wed, 17 Nov 2021 09:55:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362565 SMEs ไทยปรับตัวเข้าหาดิจิทัล ttb business one จับโอกาสเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ รับโมบายแอปพลิเคชัน เเก้ Pain Point ผู้ประกอบการ จัดการธุรกิจผ่านมือถือได้ในระบบเดียว 

ปัจจุบันธุรกิจ SMEs’ (เอสเอ็มอี) ในไทย มีผู้ประกอบการมากถึง 3 ล้านราย คิดเป็นกว่า 99% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งผลต่อ GDP ถึง 42% มีการจ้างงานเเละกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ

เเต่เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดลากยาวมาเกือบ 2 ปี ผู้ประกอบการรายย่อยรับผลกระทบหนัก ต้องปรับตัวให้อยู่รอด ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเเปลงไป

ในช่วงโควิด SMEs ส่วนใหญ่ยังต้องการความช่วยเหลือ โดย 52% ยังพอประคองตัวไปได้ อีก 10% ไปได้ดี เเต่อีกกว่า 38% อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

ต่อยอดเทคโนโลยีจาก Pain Point ผู้ประกอบการ 

จุดนี้เป็นโอกาสของ ทีเอ็มบีธนชาต ที่จะพัฒนาดิจิทัลโซลูชันttb business one’ มาจับกลุ่มตลาดลูกค้า SMEs โดยเฉพาะ โดยเน้นไปที่การเเก้ Pain Point ของผู้ประกอบการ SMEs ที่มักจะทำธุรกิจผ่านมือถือต้องเจอบ่อยๆ อย่าง

  • การทำธุรกรรมหลายประเภทต้องเข้าหลายระบบ หรือลืมรหัสผ่านเพราะมีหลายอัน
  • ดิจิทัลเเบงก์กิ้งบนคอมพิวเตอร์กับมือถือ ‘เเยกโปรไฟล์กัน’ ทำให้สับสน ใช้งานเฉลี่ย 7 คลิกต่อ 1 ธุรกรรม
  • ไม่รู้ว่าเงินโอนรับเข้ามานั้นมาจากคู่ค้ารายใด ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
  • ไม่รู้วิธีการจ่ายหรือการโอนเงินแบบไหนเร็วที่สุด หรือประหยัดที่สุด
  • โอนจ่ายโดยไม่รู้จำนวนเงินสำรองที่เหลือ
  • ไม่สามารถตั้งเมนู Personalize ได้ตามความต้องการของเเต่ละเเผนกได้

ปัจจุบัน ทีเอ็มบีธนชาต มีลูกค้าธุรกิจและเอสเอ็มอีที่ทำธุรกรรมบนดิจิทัลแบงก์กิ้ง ทั้งโมบายแอปพลิเคชัน และอินเทอร์เน็ต รวมเกือบ 200,000 ราย

หากเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs หันมาใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 60% และลูกค้าธุรกิจทั้งหมดมีจำนวนรายการที่ทำผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้น 160% ขณะที่สัดส่วนการทำธุรกรรมของลูกค้าระหว่างช่องทางดิจิทัลกับช่องทางสาขาเปลี่ยนจาก 40% ต่อ 60% เป็น 80% ต่อ 20% เเล้ว

การออกแบบโมบายแอปพลิเคชันในครั้งนี้ล้วนมาจากความคิดเห็นของลูกค้าจริง ๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้มากที่สุด” สุกัญญา ตรีเสน่ห์จิต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบีธนชาต กล่าว 

ฟีเจอร์ใหม่ คุมธุรกิจได้ผ่าน ‘มือถือ’ 

ผ่านมาได้ 11 เดือน หลังทีเอ็มบีธนชาต เปิดตัวบริการ ttb business one ธนาคารดิจิทัลเพื่อโลกธุรกิจ ในรูปแบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ครั้งนี้ก็ถึงเวลาขยายฟีเจอร์ใหม่ๆ ผ่าน โมบายแอปพลิเคชัน อย่างเต็มรูปเเบบ อิงตามความต้องการของลูกค้า 

โดยคอนเซ็ปต์หลักๆ ของ ttb business one คือการวางจุดเด่นเป็น One Platform ระบบเดียวเข้าได้จากทุกอุปกรณ์ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์เดียวกันทั้งหมด เห็นทุกอย่างในโปรไฟล์เดียวกัน

One to Control คือระบบเดียวทำได้ทุกธุรกรรม ซื้อ ขาย รับ จ่าย ทั้งในและต่างประเทศ ควบคุมธุรกิจได้จากที่เดียว ไม่ต้องเข้าหลายแอป จำหลาย user password เช่น โอนเงินในประเทศ ต่างประเทศ เรียกดูวงเงิน OD 

เเละ One to Command ระบบเดียว มองเห็นภาพรวมและข้อมูลสรุปทางการเงินภายในบริษัท ด้วย Dashboard ที่เรียกดูง่ายและเข้าใจง่าย สามารถสั่งการต่อได้เลย พร้อมระบบมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

“ฟีเจอร์บนมือถือ จะมีทั้งการอนุมัติรายการ ทำรายการที่ง่ายขึ้นไม่ต้องกดหลายครั้ง การเรียกดูรายงานต่าง ๆ ได้ในหน้าจอเดียว พร้อมการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายงานตามที่ต้องการ สามารถควบคุมทุกเรื่องธุรกิจได้จากมือถือ” 

รัชกร ชยาภิรัต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมทางดิจิทัลลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต บอกว่า จากตัวเลขการใช้ธุรกรรมช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยืนยันว่า ttb business one มาถูกทางแล้ว ฟีเจอร์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางดิจิทัลได้เต็มที่ 100% มีข้อมูล Data Insightful ช่วยคาดการณ์กระแสเงินสดเข้า-ออก ภายในบริษัทได้ล่วงหน้า ทำให้บริหารจัดการกระแสเงินสดได้ ซึ่งตอนนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม

“ttb ตั้งเป้าว่าด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีลูกค้ามาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น 60% ภายในสิ้นปี” 

 

]]>
1362565
ญี่ปุ่น เร่งเตรียม ‘เปิดประเทศ’ ฝั่งผู้ประกอบการหวั่นใจ ไม่กล้าสต็อกของ-จ้างงานเพิ่ม https://positioningmag.com/1357566 Thu, 21 Oct 2021 15:08:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1357566 กระบวนการ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ที่ล่าช้า เเละการรุกตรวจโควิดที่จำกัด เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเปิดประเทศของญี่ปุ่นในช่วงสิ้นปีนี้ ผู้ประกอบการเผชิญความไม่เเน่นอน ไม่กล้าสต็อกของ-จ้างงานเพิ่ม

รายได้ยังไม่เพียงพอ บรรดาร้านต่างๆ จึงไม่สามารถจ้างพนักงานที่เคยถูกเลิกจ้างไปเเล้ว เเละไม่สั่งซื้อสต็อกของเพิ่ม จนกว่าพวกเขาจะทราบข้อมูลเเละระยะเวลาที่เเน่ชัด เกี่ยวกับแผนการเปิดประเทศ รวมไปถึงความกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในช่วงฤดูหนาวที่จะถึงนี้

บทวิเคราะห์ของ Reuters ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในช่วงไฮซีชั่น ที่จะมีเม็ดเงินมหาศาลเข้ามาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังประเทศสูญเงินไปเป็นจำนวนมากด้วยวิกฤตโควิด

การเปิดประเทศของญี่ปุ่น จึงเป็นเหมือนเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของ ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ขึ้นมาดำรงตำเเหน่งต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ที่อำลาตำแหน่งไป พร้อมกับคะแนนนิยมที่ลดลงอย่างมาก เพราะไม่สามารถรับมือกับปัญหาการระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้

(Photo by Carl Court/Getty Images)

ความกังวล ‘ช่วงสิ้นปี’

‘ช่วงสิ้นปี’ เป็นโอกาสวำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว บาร์และร้านอาหารในญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทต่างๆ มักจะจัดงานเลี้ยงขนาดใหญ่ให้กับพนักงานตามธรรมเนียมปฏิบัติ หรือจะมีการนัดสังสรรค์กันระหว่างเพื่อนฝูงเเละญาติมิตร

“ร้านของฉันจะจัดอีเวนต์พิเศษในช่วงสิ้นปีมาตลอด แต่ปีนี้กำลังคิดว่าจะยกเลิกหรือไม่ เพราะผู้เชี่ยวชาญบอกว่าไวรัสโคโรน่าระลอกที่ 6 จะต้องมาแน่นอน” มายูมิ ไซโจ เจ้าของร้าน Beer Bar Bitter ในกรุงโตเกียวกล่าว

การล็อกดาวน์เมื่อปีที่เเล้ว ทำให้ร้านของเธอต้องจำใจทิ้งเบียร์ มูลค่ากว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐที่สั่งซื้อมาจากสาธารณรัฐเช็ก ดังนั้นปีนี้เธอจึงต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในทุกกรณี เพราะสิ่งที่เธอเตรียมไว้มันต้องเสียค่าใช้จ่าย

ตามข้อมูลของบริษัทสินเชื่อเอกชน Teikoku Databank เผยว่า ร้านอาหารในญี่ปุ่น 780 กว่าแห่ง ยื่นขอล้มละลายในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนเมษายนปีนี้ และยังมีอีก 298 แห่งนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

“ร้านอาหารจะได้รับอนุญาตให้เปิดได้จนถึงกี่โมง ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การสั่งสต็อกของ”

Photo : Shutterstock

วัคซีนพาสปอร์ตที่ล่าช้า 

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า ทำให้ต้องเจอผลกระทบจากสายพันธุ์เดลตาอย่างหนักหน่วง

เเต่ในช่วงหลังๆ ญี่ปุ่นเริ่มมีอัตราฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลสามารถเริ่มดำเนินการที่จะเปิดประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนและผลการทดสอบโควิด-19

ปัญหาเกี่ยวกับวัคซีนพาสปอร์ตของญี่ปุ่น คือนอกเหนือจากข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ยังไม่ได้แก้ไขแล้ว หน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็ยังไม่มีฐานข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

เทศบาลบางแห่งถึงกับต้องเริ่มดำเนินการเอง อย่างพื้นที่เกาะอิชิงากิ ใช้แอปพลิเคชันมือถือที่ใช้จองวัคซีนเป็นบันทึกการฉีดวัคซีนด้วย นักท่องเที่ยวจึงสามารถแสดงหลักฐานการรับวัคซีน เพื่อที่จะได้ส่วนลดร้านค้าและร้านอาหาร

“ถ้าเราสามารถขยายการใช้งานเพื่อให้เกิดความสบายระหว่างทั้งเจ้าของร้านและลูกค้า เศรษฐกิจของอิชิงากิก็จะฟื้นตัวได้” เทรุยูกิ ทานาฮาระ เจ้าหน้าที่ของเมืองอิชิงากิกล่าว

อีกปัญหาหนึ่งคือ ญี่ปุ่นไม่ได้ทำการรุกตรวจโควิด-19 มากนัก โดยมีอัตราการทดสอบต่อคนน้อยกว่าสหรัฐฯ ถึง 9 เท่า ในช่วงการระบาดใหญ่

ด้านเจ้าหน้าที่คณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่รับมือการระบาดใหญ่ บอกกับ Reuters ว่า รัฐบาลกำลังทดลองใช้แพ็กเกจที่เหมาะสมที่สุดในสถานที่ที่มีการชุมนุมของคนจำนวนมากอย่างสนามฟุตบอล สนามกีฬา ร้านอาหารหรือผับบาร์

“เราจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทั้งธุรกิจส่วนตัวและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อคิดแผนปฏิบัติการที่เฉพาะเจาะจง และเรากำลังพยายามเร่งให้เร็วขึ้น”

ความคิดเห็นของเจ้าของร้านพิซซ่าและคราฟต์เบียร์ DevilCraft ที่มีพนักงาน 20 คน บอกว่า “โครงการใดๆ ก็ตามที่รัฐบาลจะออกมา อย่างน้อยๆ ควรมีกฎบังคับใช้ที่ชัดเจน”

สถานการณ์การระบาดในญี่ปุ่น เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มียอดผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคนต่อวัน เเต่ตอนนี้เริ่มเหลือหลักร้อย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ค่อนข้างเป็นปกติ เเต่ก็ยังคงต้องเตรียมพร้อมกับแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอาจจะกลับมาอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว

]]>
1357566
ส่องโอกาส ‘นักลงทุนจีน’ เเห่ขนเงินบุกตลาดไทย หลังวิกฤต COVID-19 https://positioningmag.com/1313268 Thu, 07 Jan 2021 11:49:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1313268 ความไม่เเน่นอนของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางโรคระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

โดยนักลงทุนจากประเทศจีน ถือเป็นกลุ่มใหญ่ลำดับต้นๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ มาดูกันว่าทิศทางของเม็ดเงินการลงทุนของจีนจะเป็นอย่างไร ธุรกิจที่น่าสนใจ ผู้ประกอบการชาวไทยต้องเตรียมตัว เเละมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมรับโอกาสการลงทุนในปี 2021 นี้

คาดจีน ‘ขนเงิน’ ลงทุนไทย หลัง COVID-19 

สำหรับภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักธุรกิจ SMEs ที่ปรับกลยุทธ์หันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อขยายตลาดในอาเซียน

หากย้อนไปในช่วง 5 ปีก่อน จะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนของจีนในไทยไม่ได้อยู่ในอันดับ 5 แต่ในปี 2561 ประเทศจีนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 เเทนที่ประเทศญี่ปุ่นที่เคยเป็นอันดับ 1 ในการลงทุนในตลาดไทย

มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ให้ข้อมูลว่า สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในปี 2562 มีมูลค่าการลงทุนสะสมรวมอยู่ที่
1.4
แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนในอาเซียนสัดส่วนประมาณ 11% และไทยมีสัดส่วนประมาณ 1% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2558 ที่มีสัดส่วนการลงทุนสะสมเพียง 0.3% เท่านั้น

แม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังค่อนข้างน้อย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น CLMV ที่มีสัดส่วนการลงทุนถึง 4% โดยเฉพาะการลงทุนในเวียดนามที่ค่อนข้างโดดเด่น สะท้อนว่าการลงทุนในไทยยังค่อนต่ำเมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน เเต่ก็มองว่าส่วนนี้ยังสามารถขยายเพิ่มได้อีก

โดย SCB ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจีนขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 170 รายที่มีการลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับไทย พบว่า นักลงทุนกว่า 2 ใน 3 ให้ความสนใจที่จะขยายการลงทุนมายังไทยในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ราว 60% ยังเป็นกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน ถือว่าเป็นโอกาสใหม่ที่สำคัญ

เหตุผลหลักๆ คือ มองว่าไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีความพร้อมและตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่จะสามารถก้าวเป็นศูนย์กลางอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น ต่างจากในอดีตที่นักลงทุนจีนเคยมองว่า ประเทศไทยเป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น

อีกทั้ง ยังมีปัจจัยที่เอื้อให้การลงทุนไทยยังเติบโต จากนโยบายการลงทุนต่างประเทศของจีนที่น่าจะเปลี่ยนไปเพราะภัยโรคระบาด จากเดิมที่เคยมองการลงทุนในสหรัฐฯ เเละยุโรป ก็มีเเนวโน้มจะนำเงินทุนเหล่านั้นมาลงในประเทศ
เเถบอาเซียนเเละไทย ที่มีความรุนเเรงในการเเพร่ระบาดน้อยกว่า

จีนลุยเจาะธุรกิจ ‘บริการ’ ในไทย 

อุตสาหกรรมที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจเริ่มกระจายตัวมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออก และอุตสาหกรรมหนัก อย่าง การลงทุนในระบบรางขนส่ง รถไฟ ฯลฯ

แต่ในระยะหลังนักธุรกิจจีนเริ่มหันมาบุกตลาดไทยมากขึ้น ทั้งในภาคบริการ เทคโนโลยี สาธาณูปโภค โลจิสติกส์ ร้านอาหาร รวมไปถึงการตั้งสำนักงานทนายความรองรับนักธุรกิจจีนในไทย

จากเดิมเม็ดเงินลงทุนจากจีนจะมีขนาดใหญ่ราว 1,000 ล้านบาท เเละจำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมหลัก อย่าง ยางรถยนต์ ต่างจากตอนนี้ที่มีการกระจายการลงทุนมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนมีขนาดเล็กลง อาจเหลือเพียง 500 ล้านบาท แต่เราจะได้เห็นปริมาณโครงการลงทุนว่ามีมากขึ้นเกินความคาดหมาย

โดยพฤติกรรมของนักลงทุนจีน โดยเฉพาะ SMEs (ที่มีขนาดใหญ่กว่าในไทย) ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า จะใช้เงินลงทุนในช่วงแรกน้อยลง เพื่อเรียนรู้ตลาดก่อนขยายธุรกิจในอนาคตตามโอกาสและทิศทางการเติบโต โดยธุรกิจบริการและเทคโนโลยี จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของนักธุรกิจจีนที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อไป

ร้านอาหารจีน
Photo : Shutterstock

เเซงญี่ปุ่น จีนขึ้นเบอร์ 1 ดันเม็ดเงิน FDI ในไทย 5 หมื่นล้าน

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า ในปี 2564 GDP ทั่วโลกน่าจะอยู่ที่ 5.4% ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ติดลบ 4.1%

โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เเละยุโรปจะฟื้นตัว แต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ขณะที่จีนยังเป็นมหาอำนาจใหญ่ชาติเดียวที่ยังเติบโตได้ แม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าก็ตาม

คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ 8.3% เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ที่ 5.4% ถือว่าเป็นโอกาสดีในการทำธุรกิจกับจีน

หากดูข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของโลก จากการประเมินของ UNCTAD ในปี 2564 พบว่า ยังมีแนวโน้มหดตัว -10% จากปี 2563 ที่หดตัวสูงถึง -30-40% หรือคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558 ที่มีเม็ดเงินลงทุน 2.04 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจาก COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์

เเต่จะเห็นว่าภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบน้อยสุด โดยเม็ดเงิน FDI หดตัว -12% เมื่อเทียบกับภูมิภาคยุโรปที่หดตัว -100% สะท้อนการควบคุม COVID-19 ได้ค่อนข้างดี

เมื่อเจาะลึกถึงการลงทุนในไทยของนักลงทุนจากจีน พบว่า ในช่วง 9 เดือนของปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน เเม้การยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะมีอัตราการหดตัว -19% แต่จะเห็นว่าการอนุมัติโครงการมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากการยื่นขอในช่วง 2-3 ปีก่อนทำให้มีเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาในไทยต่อเนื่อง

ปัจจุบันการขอส่งเสริมการลงทุนของจีน ขึ้นแซงหน้าประเทศญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 1 แล้ว โดยมูลค่าเงินทุนที่ได้รับอนุมัติของจีนอยู่ที่ 5.15 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ 2.21 หมื่นล้านบาท

“ในปี 2563 จะเห็นว่าญี่ปุ่นยื่นขอส่งเสริมการลงทุน BOI มากที่สุด แต่จีนได้รับการอนุมัติการลงทุนมากที่สุด”

โดยต่อไป ไทยต้องเร่งในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ไปพร้อมๆ กับปัจจัยสนับสนุน อย่าง การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และต้องจับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยการที่สหรัฐฯ มีผู้นำคนใหม่เป็น “โจ ไบเดน” ก็จะเห็นทั้งนโยบายส่งเสริมและกีดกันทางการค้ามากขึ้น เเละโลกจะแบ่งเป็น 3 ขั้วอำนาจได้แก่ จีน สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา

โอกาสเเละความเสี่ยงที่ควรระวัง

มาณพ ระบุว่า การที่โครงสร้างพื้นฐานในประเทศ CLMV นั้นต้องพึ่งพาจีนมากกว่าไทย เเละมีชายเเดนใกล้กัน ทำให้มีความสัมพันธ์กับนักลงทุนจีนมากกว่า เเต่ไทยก็ยังสามารถวาง ‘จุดเเข็ง’ ของตัวเองได้ ด้วยการเป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเเละเทคโนโลยีที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงความพร้อมเรื่องของบุคลากร ที่จะเป็นตัวต่อยอดกับนักธุรกิจจีนต่อไปได้

“เหตุผลนักลงทุนจีนเลือกมาที่ประเทศไทย เขาไม่ได้มองไปที่การประหยัดต้นทุนเป็นอันดับเเรก ซึ่งต่างกับการไปลงทุนที่ใน CLMV ที่มักจะพิจารณาถึงต้นทุนที่ต่ำกว่า”

สำหรับข้อดีที่เป็นโอกาสต่อไป คือ นักธุรกิจจีนกำลังจะเข้ามาในลงทุนในไทยมากกว่าทุกวันนี้ เเละกระจายตัวไปในหลายภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อตีตลาดไทย หาช่องทางการตลาดโดยตรงเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจไทย

เหล่านี้เป็นโอกาสของนักธุรกิจไทย ที่จะเข้าไปเป็น “พันธมิตรร่วมทุน” หรือจับมือการค้าต่างๆ รวมไปถึงการให้บริการหรือขายบริการให้กับนักธุรกิจจีนที่มาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ดังนั้น จึงต้องเตรียมการทำเข้าใจนักธุรกิจจีนมากขึ้น เพราะคนจีนจากเเต่ละภูมิภาค เเต่ละมณฑลก็มีลักษณะการทำธุรกิจที่เเตกต่างกัน นักธุรกิจจากบริษัทขนาดใหญ่เเละขนาดเล็กก็เเตกต่างกัน เป็นช่องทางที่เราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านกฎระเบียบของไทย ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงของตลาดไทยมากขึ้น

Photo : Shutterstock

ด้าน “ความเสี่ยง” ที่ต้องระมัดระวังนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าเเต่เดิมจีนวางว่าไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก จึงไม่ค่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจบ้านเราเท่าไหร่ ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อดีมานด์-ซัพพลาย เเต่ปัจจุบันเมื่อนักธุรกิจจีนเลือกที่จะเข้ามาตีตลาดไทยเอง ก็ทำให้สมการการเเข่งขันเปลี่ยนเเปลงไป

อีกทั้งนักธุรกิจจีนยังมาพร้อมกับเงินทุน ต้นทุนที่ต่ำกว่า เเละเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า ตลอดจนวิธีการทำงานของนักธุรกิจจีนบางรายก็มีความก้าวร้าวมากกว่านักธุรกิจชาติอื่นๆ เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องทำความเข้าใจให้รอบคอบ

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเเบรนด์จีนขยับขึ้นมามีชื่อเสียงระดับโลกเพิ่มขึ้นมาก สินค้ามีคุณภาพ มีการดีไซน์สินค้า นำไปสู่การเเข่งขันในตลาดที่ดุเดือดมากขึ้น ดังนั้นนักธุรกิจไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ รวมถึงการหาแนวทางเป็นคู่ค้ากับนักธุรกิจจีนเพื่อรับกระเเสเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนต่อไป” 

 

]]>
1313268
กำไร “แบงก์ไทย” ลดฮวบ คาดไตรมาส 3 หดตัวลึก -66.5% หาย 6 หมื่นล้าน สิ้นปี “ทรุดกว่า” https://positioningmag.com/1300840 Fri, 09 Oct 2020 09:48:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300840 ธนาคารพาณิชย์ในไทย เจอพิษ COVID-19 ไตรมาส 3 ปีนี้ คาดกำไรสุทธิหดตัวลึก -66.5% หรือลดฮวบลงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มองไตรมาสสุดท้าย “ทรุดหนักกว่า” จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว คุณภาพหนี้แย่ลง หาทางรับมือหลังหมดมาตรการ “พักหนี้”

จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ยังคงกดดันความสามารถในการ “ทำกำไร” ของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2563 โดยรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม มีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในหลายๆ ภาคส่วน นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังได้รับผลกระทบมากขึ้น จากทิศทางขาลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ด้วย

กำไร “เเบงก์ไทย” ลดฮวบ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ถึงผลประกอบการระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3 /2563 โดยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ จะยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง แม้ระดับกำไรสุทธิอาจจะขยับขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563

โดยคาดว่า กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3/2563 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท หรือ -66.5% YoY เมื่อเทียบกับที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 9.16 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทประกันซึ่งธนาคารถือหุ้นอยู่

อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าวขยับขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ในไตรมาส 3/2563 ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจชะลอลงบางส่วน หลังจากที่มี
นโยบายการตั้งสำรองฯ เชิงรุกในระดับที่สูงมากในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่ “รายได้จากธุรกิจหลัก” ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่โดนกระทบหนักจากวิกฤต COVID-19

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4/2563 คาดว่า การประคองทิศทางรายได้และกำไรสุทธิ จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากต้องรับมือกับการจัดการปัญหาหนี้เสีย การดูแลปรับโครงสร้างลูกหนี้ ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ และอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกัน

Photo : Shutterstock

สินเชื่อ ชะลอตัว – NIM ปรับลด – คุณภาพหนี้แย่ลง

KBANK มองว่า “สินเชื่อ” ของธนาคารพาณิชย์ไทย อาจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.5-4.8% YoY ในไตรมาส 3/2563 จาก 5.1% YoY ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ประกอบกับมีการทยอยชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่บางราย

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่าหลังจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินทยอยครบกำหนดลง มีลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อยบางส่วนเริ่มกลับมาชำระคืนหนี้ในช่วงไตรมาส 3/2563 นี้ด้วยเช่นกัน

โดย NIM ไตรมาส 3/2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.65-2.70% จาก 2.73% ในไตรมาส 2/2563 เป็นผลต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับสินเชื่อปล่อยใหม่ส่วนใหญ่ รวมถึงสินเชื่อรีไฟแนนซ์ในระยะนี้ เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง นอกจากนี้ เพดานใหม่สำหรับดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ก็เริ่มมีผลบังคับแล้ว ตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ด้าน “คุณภาพสินเชื่อ” ในพอร์ตถดถอยลง ตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจ คาดว่า สัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารไทยในไตรมาส 3/2563 จะขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 3.25-3.35% จากระดับ 3.21% ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ประกอบกับคาดว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเร่งจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งด้วยวิธีการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การตั้งสำรองฯ จะยังอยู่ในระดับสูงในไตรมาส 3/2563 แม้จะมีการตั้งสำรองฯ ก้อนใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 2/2563 ดังนั้นสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบประมาณ 1.80-1.95% ในไตรมาส 3/2563 เทียบกับ 2.15% ในไตรมาส 2/2563

“ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ไว้เพื่อรองรับปัญหาคุณภาพหนี้ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทยอยสิ้นสุดลงหลังในเดือนตุลาคมนี้” 

โจทย์ยาก เมื่อ SMEs หมดมาตรการ “พักหนี้”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เมื่อจบไตรมาส 3/2563 สินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนประมาณ 28.5% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากสัดส่วนประมาณ 31.0% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติหลังมาตรการช่วยเหลือรอบแรกทยอยสิ้นสุดลง

“การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง ยังคงเป็นโจทย์ยากและมีความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่เปราะบาง ขณะที่สัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ลากยาวต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต” 

ดังนั้น แม้มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจเป็นการทั่วไปจะทยอยสิ้นสุดลง แต่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะยังคงให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ทั้งลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยในรูปแบบอื่นต่อไป ควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางของธนาคาร หรือผ่านโครงการ DR BIZ มาตรการรวมหนี้ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งยังสามารถเข้าโครงการได้จนถึงสิ้นปี 2563

โดยหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาความสอดคล้องกันระหว่างกระแสรายได้-ภาระหนี้ ซึ่งแยกตามลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและมีจังหวะและโอกาสในการฟื้นธุรกิจแตกต่างกัน

Photo : Shutterstock

ไตรมาสสุดท้าย “ทรุดหนักกว่า” 

การประคองความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ยังคงมีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าหลายๆ ไตรมาสที่ผ่านมา เพราะแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์ แต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่เปราะบางมากเพราะแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ยังไม่สามารถฟื้นกลไกการทำงานกลับมาได้อย่างเต็มที่

“ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะยังเป็นช่วงที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูง ค่าแคมเปญการตลาด ค่าอุปกรณ์และสถานที่ และรายจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งท้ายที่สุด คาดว่าจะมีผลกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยติดลบ YoY ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยระดับกำไรสุทธิมีแนวโน้มลดต่ำลงกว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3/2563 ซึ่งคาดไว้ที่ประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท”

 

]]>
1300840
SME ฮ่องกง ชะตากรรมเเขวนอยู่บนเส้นด้าย เกือบครึ่งคาดอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน หากรัฐไม่ช่วย https://positioningmag.com/1293733 Fri, 21 Aug 2020 15:04:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1293733 ผู้ประกอบการรายย่อยในฮ่องกง กำลังเจอมรสุมหนัก ทั้งผลกระทบจาก COVID-19 เเละสถานการณ์ความขัดเเย้งทางการเมือง โดยผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า SME เกือบครึ่งคาดว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ไม่เกิน 6 เดือน หากรัฐไม่ช่วยให้การสนับสนุนครั้งใหม่

จากการศึกษาของหอการค้าฮ่องกง พบว่า องค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด จากผลกระทบของ COVID-19

ยิ่งไปกว่านั้น ฮ่องกงมี SME ทั้งหมด 340,000 ราย คิดเป็น 98% ของธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การจ้างงานกว่า 45% ของฮ่องกงอยู่ในภาคเอกชน

หอการค้าฯ สอบถามไปยังสมาชิกราว 4,000 ราย ที่มีทั้ง SME และธุรกิจใหญ่ โดยผู้ประกอบการรายย่อยกว่าครึ่งหนึ่ง บอกว่า ผลกระทบจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังต่อเนื่อง อาจทำให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีกไม่เกิน 6 เดือน โดย SME กว่า 60% เเละธุรกิจใหญ่อีก 29% ยอมรับว่ามีสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก เพราะต้องสูญเสียรายได้ไปถึงครึ่งหนึ่ง

โดยผู้ตอบแบบสำรวจดังกล่าว ได้เรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือครั้งใหม่ เเละประกาศมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ในการแถลงนโยบายเดือนต..นี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วเเละชัดเจนขึ้น

ส่วนมาตรการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมานั้น ผู้ประกอบการมองว่า โครงการสนับสนุนการจ้างงาน มูลค่า 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 3.2 เเสนล้านบาท) ที่รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้พนักงานสูงสุดเดือนละ 9,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 3.6 หมื่นบาท) ระหว่างเดือนมิ..-.. เป็นโครงการที่ให้ประโยชน์มากที่สุด รองลงมากคือการแจกเงินสดให้แก่ผู้ใหญ่ชาวฮ่องกงที่พำนักอยู่ถาวร รายละ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 4 หมื่นบาท) และการอุดหนุนอุตสาหกรรมอื่น ๆ

สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ในฮ่องกงนั้นยังน่าเป็นห่วง หลังจากช่วงเดือนมิ.. ต้องเผชิญกับการระบาดระลอก 3 เเละทางการต้องกลับมาเข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกครั้งในเดือนก.ค. โดยร้านอาหารต่างๆ ต้องถูกจำกัดเวลาให้บริการ ขณะที่ธุรกิจบันเทิงและกีฬา เช่น โรงยิม คลินิกเสริมความงาม และโรงภาพยนตร์ ถูกสั่งให้ปิดชั่วคราวในช่วงนั้น

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของฮ่องกง กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2 ติดลบ 9% จากไตรมาสเเรกของปีนี้อยู่ที่ 9.1% ซึ่งถือเป็นการลดลงอย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาส นับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 1974

 

ที่มา  : SCMP 

]]>
1293733
มอง “ฟู้ดเดลิเวอรี่” ของคนไทยในสมรภูมิเดือด “ไม่เก็บ GP – ขอเจาะท้องถิ่น” หนีซูเปอร์เเอปฯ https://positioningmag.com/1288063 Fri, 24 Jul 2020 13:00:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1288063 ฟู้ดเดลิเวอรี่ได้รับความความนิยมเพิ่มขึ้นเเบบพุ่งพรวด ในช่วงการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ร้านอาหารทั้งเล็กใหญ่ ต้องปรับตัวเเบบ 360 องศาเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้

จากเดิมช่วงก่อน COVID-19 ร้านอาหารหลายเเห่ง อาจจะมีสัดส่วนการขายหน้าร้านต่อออนไลน์ ประมาณ 90:10 เเต่หลังจากมีโรคระบาด ผู้คนหลีกเลี่ยงการเดินทาง ร้านอาหารหลายแห่งต้องหันไปพึ่งพาการขายทางออนไลน์เพื่อประคองธุรกิจ บางเเห่งอาจมีสัดส่วนมากถึง 70:30 หรือ 50:50 เลยก็ว่าได้

เเม้หลังคลายล็อกดาวน์ เราจะสามารถออกมาทานข้าวนอกบ้านได้ตามปกติเเล้ว เเต่เทรนด์การสั่งอาหารออนไลน์จะยังคงอยู่ เพราะผู้คนเริ่มคุ้นชินกับความสะดวกสบายเเละชอบมีตัวเลือกที่หลากหลาย ดังนั้นร้านอาหารก็ยังคงต้องมุ่งพัฒนาด้านเดลิเวอรี่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดราม่าเรื่อง ค่าส่วนแบ่งยอดขาย (GP Food Delivery) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าค่า GP” ยังคงสร้างความหนักอกหนักใจกับเหล่าร้านอาหารมาตั้งเเต่ก่อนช่วง COVID-19 แม้แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เจ้าใหญ่ๆ ที่มีฐานลูกค้าติดใจใช้งานจำนวนมาก จะช่วยสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมก็จริง แต่ค่าใช้จ่ายที่ทางร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะที่เรียกเก็บกว่า 30-35% อาจทำให้ร้านเล็กๆ ไม่สามารถสร้างยอดขายให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

เป็นที่ฮือฮาอย่างมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา เมื่อ 2 ธนาคารใหญ่ของไทยอย่าง KBank (กสิกรไทย) เเละ SCB (ไทยพาณิชย์) ฉีกเเนวธนาคาร ลงสนามเเข่งในธุรกิจอาหาร ตามคอนเซ็ปต์แบงก์จะไปอยู่ทุกที่ เเละเป็นมากกว่าธนาคาร

การเปิดตัว Robinhood ของ SCB ก็สั่นสะเทือนวงการฟู้ดเดลิเวอรี่ไม่น้อยด้วยประเด็นจี้จุด Pain Point อย่างการไม่คิด GP ไม่คิดค่าสมัคร โอนเงินไวใน 1 ชั่วโมง ท้าทายคู่เเข่งระดับโลกอย่าง Grab, LINE Man, GET เเละ Food Panda โดยพร้อมจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้

ส่วน KBank ตามมาติดๆ เเละได้ใจผู้ประกอบการไปเต็มๆ เปิดตัว “Eatable” (อีทเทเบิลแพลตฟอร์มตัวช่วยจัดการ “ร้านอาหาร” ไม่ต้องโหลดแอป ไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกอาหาร สั่ง และจ่ายแบบไร้การสัมผัส พร้อมฟังก์ชันฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่กำลังจะเปิดตัวเเบบเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทยได้ปลายปีนี้

อ่านรายละเอียด : เปิดเกม KBank vs SCB เเข่งธุรกิจอาหาร เมื่อแบงก์จะไปอยู่ทุกที่ เเละเป็นมากกว่าธนาคาร

ในศึกสมรภูมิฟู้ดเดลิเวอรี่เมืองไทย ที่มีมูลค่าตลาดราว 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะครองตลาดด้วยเเพลตฟอร์มต่างชาติที่มีทุนหนาสามารถอัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าคนขับเเละมีอัตราค่าส่งที่ถูกมาก

อีกมุมเล็กๆ เราก็ได้เห็นคนไทยเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ออกมาใช้งานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บค่า GP ในอัตราสูง แต่หลายแพลตฟอร์มยังเป็นที่นิยมในบางพื้นที่เท่านั้น เเละยังมีอีกหลายแพลตฟอร์ม ที่ยังต้องได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเสียก่อน

จากการสำรวจดูเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของคนไทย พบว่า ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเเก้ปัญหาค่า GP โดยจะไม่มีการเรียกเก็บหรือเก็บบ้างเเต่น้อยกว่าเจ้าใหญ่ ซึ่งทำให้ค่าส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจนั้นเเพงกว่า

ดังนั้น จุดเด่นของฟู้ดเดลิเวอรี่ท้องถิ่น จึงต้องชูความช่วยเหลือกันและกันหรือคนไทยช่วยคนไทย” พร้อมเลือกเจาะทำเล “ท้องถิ่น” เมืองรองที่เจ้าใหญ่ยังไม่เข้ามาทำตลาดมากนัก เละหาทางออกให้ผู้บริโภค อย่างการเเนะนำว่าร้านอาหาร ควรจะมี Basket Size หรือมูลค่าในการจ่ายเพื่อซื้อสินค้าใน 1 ครั้งที่เหมาะสม จึงจะคุ้มกับค่าส่งหากยอดสั่งซื้อที่ 200-500 บาทขึ้นไป เเต่ถ้าร้านมีบริการจัดส่งลูกค้าของตัวเองในโซนใกล้เคียงก็จะประหยัดได้มาก หรือการคิดค่าอาหารเท่ากับราคาหน้าร้าน (ซึ่งจะถูกกว่าราคาที่บางร้านที่ต้องบวกเพิ่มเพราะโดนคิดค่า GP จากเจ้าใหญ่) ทำให้เมื่อซื้อหลายชิ้นรวมๆ กันเเล้วเฉลี่ยกับค่าส่งที่เเพงกว่าเเต่ราคารวมจะถูกกว่านั่นเอง

วันนี้เราจะมารู้จักกับเหล่าเเพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่พัฒนาโดยคนไทย เเละเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง COVID-19 ว่ามีความน่าสนใจเเละมีจุดเด่นอะไรกันบ้าง

Hungry Hub 

เริ่มจากสตาร์ทอัพไทยอย่างHungry Hub ที่ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ทำเป็นเดลิเวอรี่ เพื่อช่วยร้านอาหารในช่วงวิกฤต COVID-19 จากปกติธุรกิจหลักจะเป็นเเพลตฟอร์มรวมเเหล่งบุฟเฟ่ต์ มี Exclusive Deal แบบ Fixed Price เปลี่ยนร้าน A La Carte ให้เป็นบุฟเฟ่ต์ โดยถ้าจะใช้บริการต้องจองผ่าน Hungry Hub เท่านั้น เช่นร้าน Audrey, Arno’s, Another Hound, Paul Bakery, Vertigo Too เป็นต้น

โดย Hungry@Home ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • ก็บค่าคอมมิชชั่น 10.7%
  • ค่าส่งร้านออกเอง 50 บาทในทุกออเดอร์
  • ลูกค้าจ่ายด้วยบัตรเครดิต ทาง Hungry Hub Support ค่า Fee บัตรเครดิต 3% ให้ฟรี
  • มีทีม Support ช่วยเหลือหลังบ้าน (เรียกรถขนส่งให้ /ดูแลระบบและจัดการขนส่ง / Customer Support
  • ทำการตลาดให้ฟรี ผ่าน Social Media / SMS / Email / Line และ Blogger มากกว่า 40 เพจ

“ความแตกต่างคือเราขายเน้นขายเป็น “Set Menu” สำหรับ 2-4 คนขึ้นอยู่กับแต่ละชุด เริ่มต้นที่ 399 บาท Net ลูกค้าจะได้รับส่วนลด 10-30% พร้อมตัวเลือก หลากหลายจากร้าน อาหารชั้นนำ ค่าธรรมเนียมการจัดส่ง 3 กิโลเมตรแรกฟรี กิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 10 บาท โดยค่าคอมมิชชั่น รวมๆ 10.7% ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตเรียบร้อย และช่วยทำการตลาดเพื่อโปรโมตร้านให้มียอดขายเพิ่มขึ้น”

ตัวอย่างการทำตลาดของ Hungry Hub

Om Ordering

เเพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่พัฒนาโดย ออม แพลตฟอร์ม เริ่มต้นจากร้านค้าทั่วเมืองเชียงใหม่เเล้วค่อยๆ ขยายไปหาผู้ประกอบการทุกประเภท ทั้งสินค้าและบริการ รวมถึงร้านอาหาร

Om Ordering บอกว่า ต้องการจะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้า ให้สามารถเข้าร่วมกับแอปพลิเคชันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม พร้อมให้อิสระในการบริหารจัดการระบบขนส่งทั้ง Drive Thru และเดลิเวอรี่ตามความต้องการของร้านเอง

โดย Om Ordering ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า
  • ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
  • พร้อมใช้งานได้เลยภายใน 1 วัน หลังจากลงทะเบียน
  • ไม่จำกัดประเภทร้านค้า ไม่จำกัดจำนวนเมนูที่จะลงขาย
  • กำหนดเวลาเปิดปิดร้านได้ด้วยตนเอง
  • วางแผนระบบการจัดส่งแบบ Drive Thru และ Delivery ได้ด้วยตนเอง
  • กำหนดค่าขนส่งได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะฟรีค่าส่ง หรือเก็บตามระยะทางจริง
  • มีระบบจัดการสต๊อกหลังบ้าน
ตัวอย่างการทำตลาดของ Om Ordering

Street Food Delivery

อีกหนึ่งสตาร์ทอัพไซส์เล็กที่ขอปักธงเมืองรอง โดยเน้นร้านอาหารดังประจำถิ่น เริ่มให้บริการส่งอาหารในพื้นที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และท่าเรือท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

แอปพลิเคชัน Street มองเห็นช่องว่างธุรกิจว่า เมื่อไม่อาจแข่งสู้เหล่าซูเปอร์แอปฯ ต่างชาติ ได้จึงเลือกทำเลที่ตั้งในการให้บริการเฉพาะต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรองแทน เพราะเจ้าใหญ่ยังไม่ลงมาเล่นในตลาดต่างจังหวัดมากนัก โดยเน้นเจาะร้านอาหารดังประจำท้องถิ่น ที่ยังไม่มีหน้าร้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ต้องการขายของทางออนไลน์หรือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร้านอาหารของตัวเอง โดย Street ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า คือการคิดคิดค่าบริการ 15 % ต่อยอดสั่งซื้อทั้งหมด เเละมีโปรโมชั่นพิเศษโดยการชำระเป็นเงินสด

Fresh!

เเอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่น้องใหม่ ที่มีทีมปั้นเป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เริ่มทยอยรับสมัครร้านค้าเเละไรเดอร์ทั่วประเทศเเล้วในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชูจุดเด่นไม่เก็บค่า GP” จากร้านค้า โดยมีค่าส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท และหากสั่งออเดอร์เกิน 100 บาท มีโปรโมชั่นส่งฟรี

ขณะที่ในส่วนของร้านอาหาร สามารถเลือกได้ว่าทางร้านจะจัดส่งด้วยตัวเอง ให้ลูกค้ามารับเองที่ร้าน หรือใช้บริการไรเดอร์ไปส่งให้ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป (ไม่ได้เปิดร้านอาหาร) ที่มีเมนูเด็ดสนใจอยากขาย เข้าร่วมเเอปฯ Fresh ได้ในชื่อ Fresh Homemade โดยทำอาหารและจัดส่งด้วยตัวเองในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน

ตัวอย่างการทำการตลาดของ Fresh!

OrderMaNow

เป็นระบบรับออเดอร์เดลิเวอรี่เจ้าเล็กๆ เพื่อเจาะกลุ่มร้านอาหารรายย่อยที่มีบริการจัดส่งเอง ไม่มี GP ไม่ต้องลงเเอปพลิเคชัน โดย OrderMaNow ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • รับออเดอร์ทุกทาง Facebook, IG, Line, Twitter แตะลิงก์เดียวสั่งออเดอร์ในร้านได้ทันที ไม่ต้องลงเเอปฯ ไม่ต้อง Login
  • ติดตามยอดขาย ติดตามความพึงพอใจลูกค้าได้
  • ลดข้อผิดพลาดจากการจดออเดอร์ผิด
  • ลดเวลาคุยรับออเดอร์ เก็บฐานลูกค้าไว้กับร้านค้า
  • ได้รับพิกัด Location จากลูกค้า ไม่ต้องเดาที่อยู่ที่จัดส่ง

shaRE ชาลี

เว็บไซต์ระบบเดลิเวอรี่ทางเลือกของคนไทย ที่ทีมพัฒนารวมตัวกันจากกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อช่วยร้านอาหารที่กำลังเดือดร้อนจากวิกฤต COVID-19 โดยแบ่งร้านอาหารออกเป็นแต่ละเขต เเละในอนาคตจะแบ่งเป็นแต่ละอำเภอ เพื่อให้ลูกค้าได้รู้ว่าในพื้นที่ใกล้ที่อยู่ ที่ทำงาน มีร้านอาหารอะไรอยู่บ้าง เป็นการเพิ่มโอกาสนำเสนอตัวตนของร้านท้องถิ่น

โดย shaRE ชาลี ชูจุดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ดังนี้

  • ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและไม่มี GP
  • ร้านค้าสมัครง่าย ใช้งานได้ภายใน 20 นาที หลังจากลงทะเบียน
  • ร้านได้รับยอดการขาย 100%
  • เปิดกว้างให้ทุกร้านสามารถมาลงขายได้
  • ไม่จำกัด จำนวนเมนู ที่ลงขายของแต่ละร้าน
  • แบ่งร้านค้าและลูกค้าเป็นเขต
  • สั่งแบบ pre-order เพื่อให้ร้านค้าสามารถรวม order และวางแผนการจัดส่งเองได้ง่าย
  • สั่งอาหารในโซนพื้นที่เดียวกับร้าน ค่าส่ง 30 บาท สั่งอาหารนอกโซน (เกินไปจาก 3 กิโลเมตร ) คิดกิโลละ 10 บาท ตามระยะทางจริง
  • ฟีเจอร์อื่น ๆ เช่น ติดตามยอดขาย ความพึงพอใจลูกค้าได้ บริหารเมนูและทำโปรโมชั่นเอง
ตัวอย่างการโปรโมตของ shaRE

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเเพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของคนไทย ที่เกิดขึ้นเเละเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง COVID-19 เท่านั้น ยังมีอีกหลายเว็บไซต์ หลายเเอปพลิเคชันที่กระโจนเข้ามาทำธุรกิจส่งอาหารที่มีการเเข่งขันสูง เเต่ก็ยังพอมีช่องว่างของโอกาส ด้วยกลยุทธ์การขยายเจาะท้องถิ่น เน้นความใกล้ชิดกับคนพื้นที่ ค่าการเก็บค่า GP ที่น้อยกว่าหรือไม่เก็บเลย เพื่อเเก้ Pain Point ของร้านอาหาร “เมื่อเเข่งกับยักษ์ใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ เติบโตไปเเบบเล็กๆ” อย่างไรก็ตาม หนทางยังอีกยาวไกลเเละมีอุปสรรคมากมายในวงการนี้ ก็คงต้องเอาใจช่วยเเละจับตามองดูการพัฒนาของฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยต่อไป

 

 

]]>
1288063
KBank มาเเล้ว! เปิดตัว “Eatable” แพลตฟอร์มฟรีช่วยร้านอาหาร ระบบสั่งทานที่ร้าน-ส่งเดลิเวอรี่ https://positioningmag.com/1285636 Mon, 29 Jun 2020 12:35:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285636 ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับ “ธุรกิจร้านอาหาร” ทั้งเรื่องรายได้ การดำเนินการ พนักงานและการปรับปรุงร้านใหม่ รวมไปถึงการที่ร้านค้าต้องหันมาพึ่งพาบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตามบรรยากาศการสังสรรค์ “ทานอาหารนอกบ้าน” ยังคงเป็นเสน่ห์สำคัญของร้านอาหาร

สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายของเหล่าร้านอาหาร ที่ต้องมีการ “ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ไปสู่การเป็นร้านอาหารยุค New Normal แบบ “ครบวงจร” ที่ตอบรับลูกค้าทั้งการทานที่ร้านและเดลิเวอรี่

นี่เป็นที่มาของ “Eatable” (อีทเทเบิล) แพลตฟอร์มตัวช่วยจัดการ “ร้านอาหาร” ที่พัฒนาโดย KBTG บริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทย (KBank) โดยผู้ประกอบการไม่ต้องโหลดแอป ไม่มีค่าธรรมเนียม และสามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกอาหาร สั่ง และจ่ายแบบไร้การสัมผัส ที่กำลังจะเปิดตัวเเบบเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทยได้ปลายปีนี้

ผู้บริหาร KBTG ยืนว่า Eatable เป็นแพลตฟอร์มจัดการร้านอาหารที่มีทั้งส่วนบริการในร้าน รับออเดอร์ เรียกพนักงานหรือรับชำระเงิน เเละมีบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ โดยจะเน้นไปที่ “ประสบการณ์การทานอาหารที่ร้าน” ไม่ได้เน้นไปที่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่โดยตรง ซึ่งมีการเเข่งขันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ มีธนาคารใหญ่อีกเจ้าอย่างไทยพาณิชย์ (SCB) กระโจนข้ามฟากธุรกิจเเบงก์มาลงทุนในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ เปิดตัวเเอป “Robinhood” ท้าชน Grab, LINE Man, GET เเละ Food Panda โดยตรงเเละชูจุดเด่นไม่เก็บค่า GP

อ่านเพิ่มเติม : เจาะลึกทุกมุมของ Robinhood ไขข้อสงสัยปมค่าส่ง โมเดลธุรกิจเเละเเผนสู้ศึก “ฟู้ดเดลิเวอรี่” 

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เล่าถึงที่มาของ Eatable ว่า ทางทีมมีโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเกี่ยวกับร้านอาหารมากนานเเล้ว เตรียมที่จะเปิดตัวมาตั้งเเต่เดือนเมษายน แต่ต้องประสบปัญหาที่ไม่คาดฝันอย่าง COVID-19 เสียก่อน จึงต้องมีการ “รื้อ” เเพลตฟอร์มนี้ทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนทิศทางใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นการสร้างอีโคซีสเต็ม ต่อยอดจาก “เทคโนโลยีแบบไร้สัมผัส” ที่ KBank เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา 

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในประเด็นการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารเข้าสู่มาตรฐานใหม่ คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารในปีนี้จะมีมูลค่าราว 3.8 แสนล้านบาท หดตัวเกือบ 10% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากลูกค้ามีความระมัดระวังตัวในการออกไปทานอาหารนอกบ้าน จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไป ใช้บริการเดลิเวอรี่ในการสั่งอาหารมาทานที่บ้านหรือที่ทำงานแทนมากขึ้น ร้านอาหารยุคใหม่จะต้องผสมผสานการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าทั้งที่ทานที่ร้านและเดลิเวอรี่ไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านช่วงแพร่ระบาดหนักมาแล้ว แต่ร้านอาหารก็ยังฟื้นตัวช้ากว่าปีที่ผ่านมาถึง 70% ถือเป็นภาคธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก

Eatable ไม่ใช่ธุรกิจหลักของเรา เพราะผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของ KBank คือหัวใจหลักของเรา การช่วยให้พวกเขาอยู่รอด มีรายได้ที่ดี ปรับร้านอาหารไปสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืน จะนำไปสู่การต่อยอดบริการเเละผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร ก็เป็นเป้าหมายของเเพลตฟอร์มนี้เเล้ว” เรืองโรจน์ระบุ

ผู้บริหาร KBTG ไม่เปิดเผยถึงงบประมาณในการลงทุน แต่บอกเพียงว่า “เยอะ” ทั้งในส่วนปฏิบัติการและการประสานงาน แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะ “ถ้าลูกค้าแฮปปี้ เขาก็จะอยู่กับเรานาน” 

จุดเด่นของ Eatable

  • รองรับลูกค้าที่ทานที่ร้านและให้จัดส่ง (Dinein, DineOut & Delivery)
  • รองรับนักท่องเที่ยว มีให้ใช้หลายภาษาทั้งไทย อังกฤษเเละจีน (อนาคตจะมีการเพิ่มอีกหลายภาษา)
  • ใช้งานได้ทันที ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปฯ ส่งต่อเป็น URL ไปในหลายโซเชียลมีเดียได้
  • ลูกค้าที่มาทานที่ร้าน เลือกสั่งเมนูที่มีภาพอาหารประกอบ ผ่าน QR Ordering ได้ทันที ไม่ต้องรอพนักงานเสิร์ฟมาบริการ ไม่ต้องสัมผัสเมนูเเบบรูปเล่ม ถ้ามาหลายคน ทุกคนกดสั่งเองได้จากมือถือของตัวเอง รวมบิลเป็นโต๊ะเดียวกันได้
  • หากต้องการสั่งกลับบ้าน กดสั่งผ่าน QR Ordering ไม่ต้องผ่านพนักงาน ไม่ต้องเข้าคิวรอ
  • หากต้องการสั่งเดลิเวอร์รี่ถึงบ้าน จะเป็นการสั่งตรงกับร้านอาหาร โดยทางร้านจะเป็นผู้จัดส่งเองก็ได้ หรือทางร้านจะเลือกวิธีจัดส่งที่คุ้มที่สุดโดย Copy ที่อยู่ลูกค้าไปใส่ในแอปเดลิเวอร์รี่ เช่น Grab, Lalamove, Skootar (ราคาขึ้นอยู่กับเเต่ละผู้ให้บริการ) ซึ่ง Eatable จะคำนวณราคารวม (หักส่วนลดเเละโปรโมชั่น)ให้เลือกเรียบร้อย
  • แจ้งเตือนผ่านไลน์ ตั้งให้แจ้งเตือนด้วย LINE NOTIFY ออเดอร์เข้ามาเมื่อไหร่ รู้ทันที
  • กำหนดเวลารับอาหาร ติดตามสถานะออเดอร์
  • ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนข้อมูลร้านค้า เปลี่ยนเมนูอาหาร เปลี่ยนรูปได้ทันที โดยไม่ต้องรออนุมัติ
  • มีบัญชีสำหรับพนักงาน รองรับการเพิ่มบัญชีแก่พนักงานหน้าร้านให้มีคนช่วยดูแลร้านตอนเจ้าของร้านไม่อยู่
  • ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้บริการ ร้านอาหารนำไปใช้ในร้านได้ฟรี

สำหรับลูกค้าเดลิเวอรี่ สามารถกดลิงก์ที่ร้านอาหารลงไว้ในทุกๆ ช่องทาง แล้วสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ พร้อมตัวเลือกในการส่งเดลิเวอรี่ที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะให้คนของร้านไปส่งเองหรือให้ร้านอาหารเป็นผู้เลือกผู้ให้บริการจัดส่งเจ้าที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งจะมีระบบที่ช่วยแนะนำส่วนลดค่าจัดส่งที่เหมาะสม สำหรับให้ร้านอาหารใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อมอบส่วนลดค่าบริการจัดส่งแก่ลูกค้าที่สั่งอาหารโดยตรงกับทางร้าน” 

Eatable มีกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปเเบบในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งตอนนี้มีบริการเปิด Public Beta แล้วที่เว็บไซต์ eatable.kasikornbank.com เพื่อเปิดให้ร้านค้าที่สนใจร่วมลงทะเบียน

ตอนนี้ Eatable ได้เริ่มทดลองใช้กับร้านสุกี้เรือนเพชร และร้าน BEAST&BUTTER และโรงแรมเครือกะตะธานี มีผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ การเลือกผู้ขนส่งที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้สามารถเลือกต้นทุนค่าส่งที่ต่ำลงด้วย ซึ่งเท่าที่ทดสอบแล้ว ต้นทุนค่าส่งอาหารลดลงประมาณ 12.5%

เจ้าของร้าน “สุกี้เรือนเพชร” เปิดเผยว่า เคยได้ใช้เเพลตฟอร์มในรูปเเบบนี้ที่จีน เเต่ตอนนั้นยังไม่มีใครทำเเอปฯ เเบบนี้ในเมืองไทย เเต่พอคิดจะทำระบบด้วยตนเองก็มีค่าใช้จ่ายสูง จึงจัดการร้านในเเบบดั้งเดิมอยู่ จากนั้นพอทาง KBTG มาติดต่อก็เห็นว่าไอเดียตรงกัน จึงนำมาทดลองใช้ในบางสาขา

เบื้องต้นพบว่า ประหยัดกระดาษเเละความผิดพลาดของพนักงานลดลง เนื่องจากเเต่เดิมให้ลูกค้าสั่งโดยการจดเมนูเอง บางครั้งเขียนเเล้วขีดฆ่าหรืออ่านลายมือไม่ออก การสั่งผ่าน QR Ordering แม่นยำกว่า ลดความเสียหายจากการทำออเดอร์ผิด อีกทั้งยังลด “การเดิน” ของพนักงาน ให้พวกเขาไม่เหนื่อยมาก และหันไปโฟกัสกับการดูแลลูกค้าแทน โดยทางลูกค้าก็มีการใช้ Eatable อย่างคล่องเเคล่วเพราะคุ้นชินกับการสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ ในช่วงล็อกดาวน์มาแล้ว 

ขณะท่ีเเผนต่อไปของ Eatable จะพัฒนาให้สามารถเชื่อมเข้าสู่บริการรับชำระเงินแบบออนไลน์ได้ในเดือนกันยายนปีนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งครบจ่ายจบได้ในช่องทางเดียว และสเต็ปต่อไปหลังจากเปิดตัว 3 เดือนแรกจะมีการพัฒนาไปสู่การให้บริการนอกเหนือจากร้านอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นร้านขายของชำ มินิมาร์ทหรือร้านขายของต่างๆ ได้ในอนาคต 

นอกจากนี้จะมีการจะมีการเปิดตัวมินิโปรแกรม “ไคไท่เตี่ยนไช่” (Kai Tai Dian Cai) บริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอปวีแชท (WeChat) ในช่วงปลายปีนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับการกลับมาเปิดท่องเที่ยวอีกครั้ง “เรายืนยันว่าโปรเเกรม ไคไท่เตี่ยนไช่ จะเปิดให้ร้านค้าได้ลองใช้ 1 เดือน ก่อนที่จะมีการทำ Travel bubble เเน่นอน” 

ทั้งนี้ การพัฒนาไคไท่เตี่ยนไช่ ผ่านวีเเชทเป็นหนึ่งในการต่อยอดการลงทุน “ฟินเทค” ในจีนของกสิกรไทย โดยก่อนหน้านี้ KBTG ได้เปิดตัว 2 บริษัท KX และ Kai Tai Tech ในเซินเจิ้น ดึงศักยภาพการทำงานรูปแบบสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธนาคารไทย

ผู้บริหาร KBTG ปิดท้ายว่า ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะมีร้านค้าใช้ Eatable จำนวนเท่าใด แต่หวังว่าจะดึงดูดให้ร้านอาหารมาเข้าร่วมให้มากที่สุด เพราะถือเป็นการลดต้นทุนด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและร้านอาหารที่มีทุนน้อย ให้สามารถเปลี่ยนแปลงและปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลได้ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมวงการร้านอาหารไทยเลยทีเดียว…

 

 

]]>
1285636
MBK เทหมดหน้าตัก! ลดค่าเช่า 30-70% ต่ออีก 3 เดือน เปิดลานโปรโมชั่นฟรี เยียวยาแม่ค้า https://positioningmag.com/1281293 Sat, 30 May 2020 05:53:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281293
ศูนย์การค้า MBK Center สรุปมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในศูนย์เพิ่มเติม โดยเพิ่มส่วนลดอีก 30-70% นานอีก 3 เดือน โดยมีส่วนลดเป็นขั้นบันได แบ่งเบาภาระผู้เช่าในช่วงวิกฤต COVID-19 

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. เวลาประมาณ 17.00 น. บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ โดย นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ได้นัดประชุมผู้ประกอบการร้านค้าเพื่อรับฟังปัญหาและร่วมกันหารือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID19

ซึ่งมีผู้ประกอบการร้านค้าให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยได้ข้อสรุปคือ

1. สำหรับผู้เช่าสัญญาระยะสั้น แบ่งเป็น ผู้ประกอบการร้านค้าที่ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มอบส่วนลดเป็นสัดส่วนเรียงตามลำดับ ดังนี้ ส่วนลด 70% ในเดือนมิถุนายน 60% ในเดือนกรกฎาคม และ 50% ในเดือนสิงหาคม ผู้ประกอบการร้านค้าประเภทอื่นๆ ให้ส่วนลดค่าเช่า 30% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2563

2. สำหรับผู้เช่าสัญญาระยะยาว มอบส่วนลดค่าเช่าและค่าบริการ 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มิถุนายนสิงหาคม)

3. ร้านค้าที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนประเภทสินค้า สามารถแจ้ง MBK เพื่อให้พิจารณา ได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่ของ MBK Center เป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรืSME และบริษัทยังคงให้ความสำคัญ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการคนไทยได้สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองและมีช่องทางจำหน่ายสินค้า โดยเห็นใจและเข้าใจร้านค้าที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวและต้องการปรับตัวสามารถแจ้งความประสงค์ในการเปลี่ยนประเภทสินค้าได้

4. เปิดพื้นที่ลานโปรโมชันฟรี 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2563 ให้ร้านค้าในศูนย์การค้าฯ สลับกันนำสินค้ามาจำหน่ายในราคาพิเศษ เพื่อสร้างบรรยากาศคึกคักในการจับจ่าย

สุเวทย์ ได้พูดถึงมาตรการลดค่าเช่าของ MBK ว่า “บริษัทได้ลดค่าเช่า เพื่อช่วยเหลือร้านค้าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่มีสถานการณ์ COVID-19 ล่าสุดวันนี้ก็มีการออกมาตรการมาช่วยเหลืออีกครั้ง การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทั่วโลกและเราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อขนาดไหน ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ MBK Center ก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ เช่น ค่าเช่า พนักงานที่ต้องดูแล แต่เราก็เห็นใจและเข้าใจความยากลำบากของร้านค้า โดยเฉพาะร้านค้าที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งเวลานี้น่านฟ้ายังปิด เรามีการประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน มองทางออกหลายๆ ทาง ต้องการให้ทุกคนอยู่และไปด้วยกันได้ เราต้องยืนอยู่ให้ได้และถ้าร้านค้ารายใดไม่ไหวก็ยินดีให้เข้ามาคุยกัน ร้านค้าอยู่กันมานานก็เหมือนคนในครอบครัวที่ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ตอนนี้เราต้องปรับตัว ที่ผ่านมาเอ็มบีเคก็ปรับตัวมาตลอด มีการเพิ่มร้านค้าใหม่ๆ และบริการที่เข้าถึงลูกค้าคนไทยมากขึ้น”
]]>
1281293
รัฐบาลอังกฤษ ขยายมาตรการอุ้มเอกชน ช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน 80% ไปอีก 4 เดือน https://positioningmag.com/1278490 Thu, 14 May 2020 05:34:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1278490 รัฐบาลอังกฤษ ประกาศขยายมาตรการช่วยเหลือพนักงานของบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ไม่สามารถสามารถปฏิบัติงานได้ในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ออกไปอีก 4 เดือนจนถึงเดือน ต.ค.นี้

โดยรัฐบาลยังจะคงให้เงินสนับสนุนเงินเดือนพนักงานต่อไปอย่างน้อย 80% ของอัตราเงินเดือนเดิมเเต่ต้องไม่เกิน 2,500 ปอนด์ (ราว 9.8 หมื่นบาท) ต่อเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลิกจ้างงานเเละปิดกิจการ ซึ่งตามกำหนดเดิมมาตรการนี้จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. เเต่เห็นว่าสถานการณ์การเเพร่ระบาดในอังกฤษยังคงน่าเป็นห่วง จึงขยายออกไปอีก 4 เดือน จนถึงเดือน ต.ค.นี้

Rishi Sunak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ตอนนี้มีพนักงานกว่า 7.5 ล้านคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ เพิ่มขึ้นจาก 6.3 ล้านคนในสัปดาห์ก่อน

ขณะเดียวกันมีบริษัทในอังกฤษราว 9.35 เเสนบริษัทเข้าร่วมโครงการนี้ โดยทางบริษัทต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่ถูกพักงาน 20% (ส่วนรัฐจ่ายเเทนอีก 80%) ให้ครอบคลุมอัตราค่าจ้างเดิม เพื่อให้ยังคงรักษาตำแหน่งงานต่อได้ โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านปอนด์

“มาตรการดังกล่าวจะดำเนินต่อไปทั่วสหราชอาณาจักรจนถึงเดือนต.ค. แต่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรองรับความเป็นไปได้ที่ผู้คนจะทยอยกลับไปทำงานในช่วงเดือน ส.ค.”

กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจของอังกฤษในปีนี้จะร่วงลงถึง 14% จึงต้องมีการขยายมาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชน โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่าชาวอังกฤษวกว่า 72% เห็นด้วยกับการขยายมาตรการนี้ แม้ว่าจะมีกระเเสข่าวว่ามีบริษัทขนาดใหญ่เข้าร่วมโครงการก็ตาม

ทั้งนี้ คาดว่าการยืดมาตรการช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานออกไปอีก 4 เดือนจะทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 10,000 ล้านปอนด์ พร้อมมีมาตรการปล่อยเงินกู้พิเศษให้ธุรกิจอีกราว 14,000 ล้านปอนด์ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลช่วยเหลือเศรษฐกิจมาตั้งเเต่เดือน มี.ค. จะเพิ่มเป็นราว 6,000 หมื่นล้านปอนด์

ด้านสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 สหราชอาณาจักรยังอยู่ในช่วงรุนเเรงด้วยยอดผู้ป่วยสะสมมากกว่า 2.24 เเสนราย มีผู้เสียชีวิตเเล้วกว่า 3.2 หมื่นราย ซึ่งถือว่าเป็นยอดผู้เสียชีวิตที่สูงสุดในยุโรปเเละเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ โดยรัฐบาลอังกฤษต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

ที่มา : BBC , AFP

]]>
1278490